การทำว่าวไฟ หรือโคมไฟ

ว่าวไฟหรือปัจจุบันนิยมเรียก โคมไฟ เป็นว่าวทรงกระบอก มักใช้ปล่อยให้ลอยขึ้นสู่อากาศในช่วงกลางคืน วิธีการทำ ใช้หลักการเดียวกันกับการทำว่าวฮม แต่ใช้กระดาษน้อยกว่า เช่น ใช้ ๑๒ แผ่น ติดกาวต่อกันเป็นทรงกระบอก ด้านบนใช้กระดาษ ๒ แผ่นติดกาวตัดเป็นวงกลม ส่วนปากใช้ไม้ไผ่เหลาขนาดประมาณ ๑ เซนติเมตร กว้างประมาณ ๑.๕๐ เมตร ขดเป็นวงกลมเท่ากับขนาดปากของโคมไฟ ติดกาวยึดติดกับกระดาษว่าวส่วนปากโคม เมื่อกาวแห้งติดกันดีแล้ว ให้ใช้ลวด ๒ เส้น มาผูกติดโครงไม้ไผ่ครึ่งวงกลมทั้งสองข้างเป็นกากบาท เพื่อใช้สำหรับติดขี้ย้า คือชันที่หล่อให้เป็นทรงกระบอก จึงเรียกว่า หมงขี้ย้า

ว่าวไฟ

ว่าวไฟอาศัยความร้อนจากลูกไฟที่ผูกติดกับแกนกลาง ทำให้ว่าวลอยขึ้นสู่อากาศ ลูกไฟที่ผูกติดแกนกลางของตัวว่าวหรือโคมในอดีตที่กล่าวมานั้น ใช้ขี้ย้าหล่อเป็นแท่ง ปัจจุบันนิยมใช้กระดาษชำระชุบขี้ผึ้งเทียนพรรษา เนื่องจากในวัดต่างๆ มีเศษเทียนพรรษาที่เหลือจากการจุด และเทียนพรรษาที่ยังไม่ได้ใช้จำนวนมาก ช่างทำโคมจึงมักจะบูชา(ซื้อ) มาต้มให้ละลาย แล้วนำกระดาษชำระ ๑ ม้วน ตัดออกเป็น ๒-๓ ส่วน นำมาชุบขี้ผึ้งไว้เป็นลูกไฟ บ้างชุบด้วยน้ำมันก๊าดหรือน้ำมันพืช แต่ชุบขี้ผึ้งให้คุณภาพดีกว่า เพราะน้ำขี้ผึ้งเมื่อถูกความร้อนไม่หยดมากระหว่างที่ลอย และให้แสงสว่างที่นานกว่าน้ำมันก๊าซและน้ำมันพืช (กำพล คุณวโร, ภิกขุ, สัมภาษณ์, ๑ ธันวาคม ๒๕๕๑)

การปล่อยว่าวไฟ

การปล่อยว่าวไฟ หรือโคมไฟ ต้องอาศัยความร่วมมือกัน อย่างน้อย ๒ – ๓ คน เนื่องจากต้องระมัดระวังมิให้ลูกไฟไหม้กระดาษ ดังนั้น การปล่อยว่าว ต้องมีคนช่วยกันจับประคองตัวโคมไม่ให้แกว่ง วิธีการปล่อยว่าวไฟ เริ่มจากการจับตัวว่าวขึ้นมาโดยให้ปากว่าวอยู่ด้านล่าง ก้นว่าวอยู่ด้านบน นำลูกไฟมัดติดตรงแกนลวดกึ่งกลางปากโคม ดึงตัวโคมให้ด้านในกลวงเป็นช่องทรงกลมโล่งๆ อาจจะจับแกว่งไปแกว่งมาให้อากาศเข้าไปพองตัวว่าว ให้ตัวว่าวเป็นรูปทรงกระบอก จากนั้นจุดลูกไฟแกนกลาง ความร้อนจะดันตัวโคมให้พองตัว สักครู่ว่าวจะขยับลอยขึ้น เรียกว่า ลู่มือ ให้จับว่าวให้แน่น และตั้งจิตอธิษฐานให้พบกับแสงสว่าง ปล่อยทุกข์โศก โรคภัยไข้เจ็บ หรือกล่าวคำบูชาพระเกศแก้วจุฬามณี และเมื่อพร้อมที่จะปล่อย บางคนนำ บอกไฟน้ำตก และประทัดที่ผูกติดกับแกนลวดและจุดชนวน หรือผูกสวยข้าวตอกดอกไม้ติดไปกับว่าวด้วย เพื่อสักการะพระเกศแก้วจุฬามณี เมื่อว่าวทำท่าจะขึ้น ให้ ฮ่ม หรือ ต๊อกก๊อก คือการโยกว่าวขึ้นลงสองสามครั้งแล้วจึงปล่อยมือ เพื่อเพิ่มแรงดันอากาศข้างในตัวโคม เมื่อได้จังหวะให้ทุกคนปล่อยพร้อมกัน อาจจะนับ หนึ่ง สอง สาม แล้วปล่อยมือพร้อมกัน ว่าวจะลอยไปตามทิศทางลม แลเห็นเป็นดวงไฟงดงามยิ่งนัก และเมื่อลูกไฟในตัวว่าวดับ ว่าวก็จะร่วงลงสู่พื้นดิน

การปล่อยว่าวไฟ และคนปล่อยว่าวไฟ การปล่อยว่าวไฟ มองจากด้านล่าง การปล่อยว่าวไฟ หลายกลุ่มคน การปล่อยว่าวไฟ ลอยขึ้นฟ้า

ปัจจุบันมีการนิยมปล่อยว่าวไฟ หรือ โคมไฟ เป็นจำนวนมากตามโอกาสต่างๆ เช่น เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๙ จังหวัดเชียงใหม่เป็นเจ้าภาพกีฬาซีเกมส์ ได้จัดให้มีการปล่อยว่าวไฟจำนวนกว่า ๓,๐๐๐ ลูกขึ้นสู่ท้องฟ้า (สมพล ไวโย และอุดม รุ่งเรืองศรี, ๒๕๔๒, หน้า ๖๒๖๑) และที่ธุดงคสถานล้านนา ตำบลหนองหาร อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ จัดให้มีเทศกาลปล่อยว่าวไฟเป็นประจำทุกปีเป็นจำนวนหลายพันลูก และร้านอาหารขันโตกนิยมให้นักท่องเที่ยวได้ร่วมกิจกรรมปล่อยว่าวก่อนเดินทางกับที่พัก ว่าวไฟหรือโคมไฟ จึงเป็นเสมือนสัญลักษณ์ความเป็นล้านนาที่ใช้ประชาสัมพันธ์ท่องเที่ยวในเทศกาลต่างๆในล้านนา

ความเชื่อเกี่ยวกับการปล่อยว่าวไฟ

ชาวล้านนาเชื่อว่าพระธาตุประจำปีเกิดของผู้ที่เกิดปีเส็ด (ปีหมา) คือพระเกศแก้วจุฬามณี ซึ่งประดิษฐานอยู่บนสวรรค์ ดังนั้น การสักการะพระธาตุเกศแก้วจุฬามณี คือการปล่อยว่าวฮมหรือว่าวไฟ พร้อมกับบูชาด้วยสวยดอกไม้ธูปเทียน โดยนำผูกติดกับตัวว่าวขึ้นไป เพื่อสักการะ หรือบุคคลทั่วไปก็สามารถบูชาว่าวฮม ว่าวไฟ เพื่อสักการะพระเกศแก้วจุฬามณีได้เช่นกัน ดังปรากฏในเทศน์ธัมม์พื้นเมืองเรื่อง พระมาลัยโปรดโลก กล่าวว่าผู้ใดอยากขึ้นสวรรค์ให้บูชาพระเกศแก้วจุฬามณี ปราชญ์ล้านนาได้รจนาคำสักการะพระเกศแก้วจุฬามณีเป็นภาษาบาลี ว่า

ตาวติงสา ปุเรรัมเม เกสาจุฬามณี สรีระปัพพะตา ปูชิตา สัพพะเทวานัง ตัง สิระสา ธาตุง อุตตะมัง อะหัง วันทามิ สัพพะทา ฯ

ปัจจุบันยังมีความเชื่อว่า ว่าวฮมและว่าวไฟสามารถปล่อยเคราะห์ได้ จึงมักมีการนำเอาเล็บและเส้นผมใส่ลงไปในสะตวง เพื่อลอยเคราะห์ให้ออกไปจากตัว บ้างผูกจดหมายเขียนคร่าวร่ำ (ค่าวฮ่ำ) และใส่เงินเป็นรางวัลให้สำหรับผู้เก็บว่าวที่ตกได้ (พระครูอดุลสีลกิตติ์ (ฐานวุฑโฒ), สัมภาษณ์, ๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๑)

ในอดีตเชื่อว่าว่าวไฟหรือโคมไฟตกที่บ้านใคร จะทำให้บ้านนั้นโชคร้าย หรือเป็นบ้านร้าง เนื่องจากรับเคราะห์ของคนที่ได้อธิษฐานปล่อยเคราะห์ แต่ปัจจุบันความเชื่อแบบนี้ไม่ได้ยึดถือกันแล้ว แต่การปล่อยโคมในปัจจุบัน ถ้าโคมไม่ได้มาตรฐานขนาดสัดส่วน อาจจะตกใส่บ้านเรือนและทำให้เกิดเพลิงไหม้ได้ หรือไปรบกวนเส้นทางการบินของเครื่องบินอาจทำให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินได้