การบูชาผางประทีส (ผางประทีป) และการทำผางประทีส

ผางประทีส วางรวมกลุ่ม

ผางประทีส หรือผางประทีป เป็นเครื่องสักการบูชาในพระพุทธศาสนา คำว่า ผาง คือ ภาชนะดินเผาคล้ายถ้วยเล็กๆ ใช้เป็นถ้วยสำหรับใส่ขี้ผึ้งหรือน้ำมันและไส้ของประทีสที่ทำมาจากเส้นฝ้าย ส่วนคำว่า ประทีส คือแสงสว่าง

ในช่วงประเพณียี่เป็ง ชาวล้านนานิยมจุดผางประทีสเป็นพุทธบูชา สืบเนื่องมาจากตำนานพระพุทธเจ้าห้าพระองค์ ได้แก่ พระกกุสันธะ พระโกนาคมนะ พระกัสสปะ พระโคตม (พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน) พระศรีอริยะเมตไตร พระพุทธเจ้าทั้งห้าพระองค์ได้ถือกำเนิดจากแม่กาเผือก และวันหนึ่งขณะที่แม่กาออกไปหาอาหารได้เกิดพายุทำให้ไข่ทั้งห้าฟองของแม่กาเผือกถูกพัดตกจากรังไหลไปตามแม่น้ำ มีแม่ไก่ แม่นาค แม่เต่า แม่โค และแม่ราชสีห์เก็บไปเลี้ยง เมื่อไข่ทั้งห้าฟองฟักออกมาเป็นมนุษย์เป็นเพศชาย และได้บวชเป็นฤๅษีทั้งห้าองค์ เมื่อฤๅษีทั้งห้าได้พบกัน จึงไต่ถามถึงมารดาของแต่ละองค์ แต่ละองค์ก็ตอบว่า แม่ไก่เก็บมาเลี้ยง แม่นาคเก็บมาเลี้ยง แม่เต่าเก็บมาเลี้ยง แม่โคเก็บมาเลี้ยง และแม่ราชสีห์เก็บมาเลี้ยง ฤๅษีทั้งห้าองค์จึงสงสัยว่า แม่ที่แท้จริงของตนเป็นใคร จึงพากันอธิษฐานขอให้ได้พบแม่ ด้วยคำอธิษฐาน จึงทำให้พกาพรหมผู้เป็นแม่ได้แปลงกายเป็นกาเผือกบินลงมาเล่าเรื่องในอดีตให้ฤๅษีทั้งห้าฟัง และได้บอกว่าหากคิดถึงแม่ ให้นำด้ายดิบมาฟั่นเป็นตีนกาจุดเป็นประทีปบูชาในวันยี่เป็ง ด้วยอานิสงส์แห่งการถวายประทีสตีนกา จึงทำให้ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าทั้งห้าพระองค์ (คัมภีร์อานิสงส์ผางประทีส, ม.ป.ป.)

ผางประทีส วางซ้อนกัน ชาวล้านนานิยมจุดผางประทีสเป็นพุทธบูชา

วิธีการทำผางประทีส

นายแก้ว ใจแก้ว (สัมภาษณ์, ๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๑) ผู้ผลิตผางประทีส หมู่ 8 บ้านสันผีเสื้อ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นผู้ผลิตผางประทีสมานานหลายสิบปี ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับการทำผางประทีสไว้ดังนี้

การทำถ้วยผางประทีส

ถ้วยผางประทีส
  1. ตำดินเหนียวให้ละเอียด ด้วยครกไม้ขนาดใหญ่ ลักษณะเดียวกันกับครกตำข้าว ปัจจุบันนิยมใช้เครื่องบดดิน
  2. ผสมดินตำละเอียดแล้วกับน้ำ นวดให้เข้ากัน ให้เหนียว
  3. นำดินมาวางบนแท่นปั้นดิน แล้วปั้นตามขนาด  ลักษณะคล้ายถ้วย และใส่ขอบลายหยักโดยใช้ฝากระป๋องน้ำอัดลมแบบจีบประกบกันทาบกับขอบผางประทีส
  4. เมื่อปั้นและใส่ขอบลายเรียบร้อยแล้ว สำหรับผางประทีสเล็ก ให้นำเข้าเตาเผาได้เลย  ส่วนผางประทีสขนาดใหญ่ ต้องนำมาผึ่งแดดให้แห้งเสียก่อน ก่อนนำเข้าเตาเผา
  5. เมื่อผางประทีสสุกได้ที่ รอให้เย็นก่อน แล้วจึงนำออกจากเตา และนำมาล้างฝุ่นขี้เถ้า และผึ่งให้แห้ง

การทำไส้ผางประทีสตีนกา

  1. ชุบฝ้ายสีขาวกับขี้ผึ้งเหลวผสมน้ำมันมะพร้าว
  2. ผึ่งฝ้ายที่แช่เรียบร้อยให้แห้ง ห้ามตากแดด เพราะจะทำให้ขี้ผึ้งละลายได้
  3. ฟั่นฝ้าย ทำให้เป็นสามแฉกแบบตีนกา ให้ขนาดพอดีกับผางประทีส
    ฟั่นฝ้าย  ทำให้เป็นสามแฉกแบบตีนกา
  4. ใส่ไส้ตีนกาวางลงตรงกลางถ้วย โดยให้ฝ้ายสามแฉกเป็นฐาน และฝ้ายแกนตั้งขึ้น
    ใส่ไส้ตีนกาวางลงตรงกลางถ้วย
  5. ต้มขี้ผึ้งในหม้อต้มน้ำหรือถ้าทำจำนวนมาก ให้ต้มในปีบขนาดใหญ่หรือกระทะ จนเหลวเป็นน้ำเทียน
    การต้มขี้ผึ้ง
    กะทะต้มขี้ผึ้ง
  6. หยอดเทียนเหลวลงในผางประทีส จากนั้นผึ่งในที่ร่มให้แห้ง
    หยอดเทียนเหลวลงในผางประทีส

ความเชื่อในการบูชาผางประทีส

พ่อหนานดุสิต ชวชาติ (สัมภาษณ์, ๒๑ พฤศจิกายน .๒๕๕๑) ผู้รู้ด้านประเพณีล้านนา ได้กล่าวถึงการบูชาผางประทีสว่า ชาวล้านนาจุดผางประทีส เพื่อเป็นพุทธบูชาพระเจ้าห้าพระองค์ตามตำนานแม่กาเผือก และจุดบูชาเพื่อตอบแทนบุญคุณผู้มีพระคุณ ชาวล้านนาจึงนิยมจุดผางประทีสบูชา เพื่อสักการะต่อสิ่งต่างๆที่ได้ใช้ประโยชน์ เช่น ประตูบ้าน บ่อน้ำ ยุ้งข้าว เตาไฟ บันได หน้าต่าง ฯลฯ นอกจากนี้ ยังเป็นการบูชาแสงสว่าง เชื่อว่าจะทำให้มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด มีแสงสว่างนำทางชีวิตให้โชติช่วงชัชวาลดั่งแสงจากผางประทีส ด้วยเหตุนี้ช่วงประเพณียี่เป็งจึงสว่างไสวเต็มไปด้วยแสงผางประทีส

จุดผางประทีสเผื่อบูชายุ้งข้าว