การทำสะเปา
การลอยประทีปและเครื่องสักการะทางน้ำ หรือเรียกว่า ล่องละเปา หรือไหลเรือสำเภาไฟ ในสมัยโบราณตามตำนานเมืองลำพูน ฉบับใบลานผูกของวัดบ้านโฮ่งหลวง จังหวัดลำพูน กล่าวถึงการลอยสะเปาทางน้ำในสมัยหริภุญไชยไว้ว่า ราวพุทธศัตวรรษที่ ๑๔ ได้เกิดอหิวาตกโรคที่เกิดขึ้นในเมือง ผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก จึงพากันอพยพออกจากหริภุญไชยไปอยู่ที่เมืองหงสาวดี เป็นเวลาหลายปี เมื่อทราบข่าวอหิวาตกโรคในเมืองหริภุญชัยได้สงบลงแล้ว จึงต่างพากันเดินทางกลับคืนสู่หริภุญไชย แต่หลายคนไม่ได้กลับมา เนื่องจากมีครอบครัวใหม่ ส่วนผู้ที่กลับมาแล้วคิดถึงญาติพี่น้อง ที่ยังอยู่เมืองหงสาวดี ในช่วงเดือนยี่เป็ง จึงได้จัดดอกไม้ธูปเทียนเครื่องสักการะ พร้อมทั้งเครื่องอุปโภคบริโภคใส่ลงใน “สะเปา” ลอยลงน้ำแม่ปิง น้ำแม่กวง เพื่อระลึกถึงญาติพี่น้อง จึงเป็นมูลเหตุของการลอยสะเปาหรือลอยกระทงนับแต่นั้นเป็นต้นมา (มณี พยอมยงค์, ๒๕๔๓, หน้า ๗)
การลอยสะเปา จึงเป็นการทำบุญบริจาคทาน อุทิศส่วนกุศลแก่ผู้ล่วงลับ และแก่ตนเองในภายภพหน้า ในอดีตชาวบ้านวัวลาย ตำบลนันทาราม อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ นิยมทำสะเปากันที่วัด โดยชาวบ้านช่วยกันทำสะเปาเป็นรูปเรือลำใหญ่ วางบนแพไม้ไผ่ และนำสะตวง พร้อมด้วยข้าวของต่างๆ ทั้งหม้อ ไห เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม เครื่องอุปโภค บริโภคต่างๆ ใส่ลงไปในสะเปา ในช่วงหัวค่ำของวันยี่เป็ง จึงพากันหามสะเปา พร้อมแห่ด้วยฆ้องกลองจากวัดไปลอยที่แม่น้ำปิง และทำพิธีเวนทานที่ท่าน้ำก่อนปล่อยสะเปาลอยลงไป ขณะที่สะเปาลอยไปได้ระยะหนึ่ง จะมีคนยากจนคอยดักรอสะเปากลางแม่น้ำ เพื่อนำเอาของอุปโภคต่างๆมาใช้อุปโภคและบริโภค จึงเป็นการบริจาคทานอีกรูปแบบหนึ่ง (พระครูอดุลสีลกิตติ์ (ฐานวุฑโฒ), สัมภาษณ์, ๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๑) ปัจจุบัน ในจังหวัดเชียงใหม่ โดยคณะสงฆ์ในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ได้ฟื้นฟูวัฒนธรรมการลอยสะเปาขึ้น และต่อมาเทศบาลนครเชียงใหม่ได้สนับสนุนงบประมาณแก่วัดต่างๆในเขตเทศบาลฯ สำหรับจัดทำสะเปา เพื่อนำไปลอยตามประเพณีที่แม่น้ำปิง โดยชุมชนต่างๆ เช่น บ้านเจ็ดยอด บ้านสันป่าข่อย บ้านวัวลาย บ้านวัวลาย นันทาราม หมื่นสาร วัดเกตุ ฯลฯ ได้จัดทำสะเปารูปเรือลำใหญ่ นำไปลอยในคืนยี่เป็งที่แม่น้ำปิงบริเวณท่าวัดศรีโขง ตำบลฟ่าฮ่าม
ประเพณีล่องสะเปาจาวเวียงละกอน
ล่องสะเปาจาวเวียงละกอน นับเป็นประเพณีที่ขึ้นชื่อของจังหวัดลำปาง เนื่องจากมีการสืบสานประเพณีนี้อย่างต่อเนื่อง และมีส่วนราชการ การท่องเที่ยวฯ และภาคเอกชน เข้ามาสนับสนุนให้เป็นกิจกรรมหลักประเพณียี่เป็งของจังหวัดลำปาง จนเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในปัจจุบัน
การล่องสะเปาของชาวลำปางไม่ปรากฏหลักฐานเด่นชัดนักว่ามีมาตั้งแต่สมัยใด แต่ปรากฏในสมัยเจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิต(พ.ศ.๒๔๔๐ – ๒๔๖๕) เจ้าผู้ครองนครองค์สุดท้าย ได้แต่งดาสะเปาหลวง ทำเป็นรูปเรือที่หน้าคุ้ม ในเรือมีข้าวปลาอาหารและ รูปปั้นทาสีทาสาช้างม้าวัวควาย สะเปาหลวงสร้างเป็นรูปเรือแบบเรือสำเภา มีเสากระโดง มีโคมร้อย เป็นโคมราวเล็กๆ ก่อนจะแห่สะเปาเจ้าบุญยวาทย์ฯ จะกระทำพิธีสระเกล้าดำหัวลงในสะเปาก่อน หลังจากนั้นข้าราชบริพารและชาวเมืองนำสะเปาน้อย ตามแห่เป็นขบวนจากคุ้มหลวงลงที่ท่าน้ำ ท่าช้างเผือก(หลังจวนผู้ว่าราชการจังหวัดลำปางปัจจุบัน)ราษฏรฝั่งแขวงเวียงเหนือต่างก็ถือสะเปาน้อย ร่วมลอยพร้อมกันสองฝั่งแม่น้ำ กล่าวกันว่าพ่อเจ้าฯโปรประเพณีล่องสะเปา ถึงกับตั้งชื่อธิดา ๒ องค์ว่า เจ้าหญิงสะเปาแก้ว และเจ้าหญิงสะเปาคำ (จากคำบอกเล่าของเจ้าหญิงบุษบง) และมีเรื่องเล่าถึงเรือสะเปาที่มาเกยตื้นที่เด่นสะเปา ที่ท่าน้ำแม่วัง จังหวัดลำปาง จึงได้ชื่อหมู่บ้านสะเปาสืบมาจนถึงปัจจุบัน (บุญชู วงค์รักษ์, สัมภาษณ์, ๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๑)
ความเชื่อประเพณีล่องสะเปา จังหวัดลำปาง
ประเพณีล่องสะเปาของชาวลำปางกระทำกันในวันเพ็ญ เดือนยี่เป็ง ( ตรงกับเดือน ๑๒ ของภาคกลาง ) หรือวันลอยกระทง กระทำเพื่อ
- ขอขมาต่อแม่น้ำคงคา บูชาพระนารายณ์ที่รักษาแม่น้ำคงคาตามความเชื่อของศาสนาพราหมณ์
- บูชารอยพระพุทธบาทที่ประดิษฐ์ ณ หาดทรายแม่น้ำนัมมทา อันเป็นการเจริญพุทธานุสติรำลึกต่อองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
สะเปารูปนก
สะเปารูปนก นิยมใช้วัสดุจากกาบกล้วยและมะพร้าวทั้งเปลือก (ผาครึ่ง) วิธีการทำแล้วแต่สล่าแต่ละคนจะสร้างสรรค์ให้มีความสวยงาม ข้างในสะเปามีของคาวหวานและข้าวตอกดอกไม้ ชาวล้านนามีความเชื่อว่า ถ้าได้ล่องสะเปารูปนกเปรียบเสมือนได้บูชาแม่กาเผือก ผู้ให้กำเนิด พระพุทธเจ้า ๕ พระองค์ ตามเรื่องเล่าในคัมภีร์พระพุทธศาสนา
สะเปารูปเรือ
สะเปาเรือ ลักษณะเหมือนเรือ ใช้วัสดุในการทำเป็นไม้แผ่นบางพอประมาณ ตกแต่งตามความพอใจ เช่น ใช้กระดาษสีตัดเป็นเส้นทากาวติดรอบสะเปา มีความเชื่อกันว่า ถ้าได้ล่องสะเปารูปเรือ ถ้าเราเสียชีวิตไปก็จะได้ขี่สะเปาใหญ่ส่งเรา ข้ามแม่น้ำใหญ่สู่สวรรค์ หรือเปรียบเสมือนเรือข้ามพ้นวัฏฏะสงสารไปสู่นิพพาน