ความเป็นมาของประเพณียี่เป็ง

ประเพณียี่เป็ง หรือประเพณีเดือนยี่ เป็นประพณีเก่าแก่ของล้านนาที่ถือปฏิบัติกันมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๔ ในสมัยอาณาจักรหริภุญชัยได้มีประเพณีเดือนยี่และทำพิธีลอยโขมดแล้ว (มณี พยอมยงค์, ๒๕๔๗, หน้า ๒๓๕; สงวน โชติสุขรัตน์, ๒๕๑๑, หน้า ๑๑๕) ในเวลาค่ำคืนของวันเพ็ญเดือนยี่ มีการจัดแต่งเครื่องสักการบูชาใส่กระทง จุดธูปเทียนและนำปล่อยลงในน้ำ แสงไฟจะกระทบกับน้ำ เกิดเป็นเงาขึ้นวับๆ แวมๆ มองเห็นเป็นเสมือนแสงพะเนียงไฟผีโขมด ซึ่งผีโขมดนี้ เป็นชื่อเรียกผีป่า ที่ออกหากินในเวลากลางคืน มีพะเนียงไฟมองเห็นเป็นระยะอย่างผีกระสือ ชาวล้านนาจึงเรียกว่า ลอยโขมด (มณี พยอมยงค์, ๒๕๔๗, หน้า ๒๔๔)

สะตวง ในประเพณียี่เป็ง

ตำนานที่กล่าวถึงที่มาของประเพณียี่เป็งมีอยู่หลายตำนาน เช่น ในหนังสือตำนานโยนกและจามเทวีวงศ์ กล่าวว่า ประเพณีลอยโขมด หรือลอยไฟ เป็นประเพณีดั้งเดิมที่สืบเนื่องกันมาตั้งแต่โบราณกาลแล้ว การลอยโขมด เกิดขึ้นที่อาณาจักรหริภุญไชย (จังหวัดลำพูนในปัจจุบัน) เมื่อ จ.ศ.๓๐๙ หรือประมาณ พ.ศ. ๑๔๙๐ ช่วงพุทธศัตวรรษที่ ๑๔ มีกลุ่มคนมอญหรือเม็งที่อาศัยอยู่ในเมืองหริภุญไชยได้อพยพหนีอหิวาตกโรคที่เกิดขึ้นในเมือง

สะเปา ในประเพณียี่เป็ง สะตวง ในประเพณียี่เป็ง ภาพใกล้

ผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก จึงพากันอพยพออกจากหริภุญชัยไปอยู่ที่เมืองสะเทิมหรือสุธัมมวดี และต่อไปยังเมืองหงสาวดีเป็นเวลาถึง ๖ ปี ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวหลายคนก็มีครอบครัวใหม่ที่นั่น และเมื่อทราบข่าวว่าอหิวาตกโรคในหริภุญชัยได้สงบลงแล้ว พวกที่คิดถึงถิ่นเดิมต่างพากันเดินทางกลับหริภุญไชย เมื่อถึงวันครบรอบปีที่ได้จากพี่น้องที่เมืองหงสาวดี จึงจัดดอกไม้ธูปเทียน เครื่องสักการะ พร้อมทั้งเครื่องอุปโภคบริโภค ใส่ลงใน สะเปา ลักษณะคล้ายเรือ หรือใส่ในสะตวงหรือกระทงลอยลงน้ำแม่ปิง น้ำแม่กวง แม่ทา เพื่อส่งความระลึกถึงญาติพี่น้องที่ยังอยู่เมืองหงสาวดี จึงเป็นมูลเหตุของการลอยสะเปาหรือลอยโขมด หรือลอยกระทงนับแต่นั้นมาถึงปัจจุบัน (สงวน โชติสุขรัตน์, ๒๕๑๑, หน้า ๑๑๗ – ๑๑๘; ศรีเลา เกษพรหม, ๒๕๔๒, หน้า ๕๘๕๑; ประสงค์ แสงงาม, สัมภาษณ์, ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๑)

ตำนานประเพณียี่เป็งที่พบในคัมภีร์ใบลานที่ใช้เทศนาธัมม์ตามวัดต่างๆในล้านนา เช่น คัมภีร์อานิสงส์ประทีส คัมภีร์อานิสงส์ผางประทีส และคัมภีร์อานิสงส์ยี่เป็ง ลอยประทีสโคมไฟ เป็นคัมภีร์ที่มักใช้เทศนาธัมม์ในช่วงประเพณียี่เป็ง ในคัมภีร์เหล่านี้ ได้กล่าวถึงตำนานหรือมูลเหตุแห่งการบูชาและอานิสงส์ที่เกิดจากการบูชาผางประทีส ไว้ดังนี้

ประเพณียี่เป็ง โคมไฟ

ธัมม์หรือคัมภีร์ชื่อ อานิสงส์ประทีส กล่าวไว้ว่า หลังจากพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ธรรมแล้วได้ประทับอยู่เมืองสาวัตถี และเสด็จไปโปรดพระมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และเสด็จกลับลงมาโปรดพระพุทธบิดา เมื่อถึงเดือน ยี่เป็ง มีเทวบุตรตนหนึ่ง ชื่อ สยามาเทวบุตร พร้อมด้วยบริวารต้องการสักการบูชาพระพุทธเจ้าด้วยประทีส จึงแปลงกายเป็นนก ใช้ปากและเท้าถือผางประทีสบินไปพร้อมนกแปลง ซึ่งเป็นบริวาร ประทักษิณรอบพระพุทธเจ้า ๓ รอบ ได้เกิดอัศจรรย์แสงประทีสสว่างไสวไปทั่วชมพูทวีป คนทั้งหลายเห็นเป็นอัศจรรย์ยิ่งนัก จึงได้พากันมาทูลถามพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์จึงเทศนาธรรมถึงอานิสงส์การจุดประทีสเป็นพุทธบูชาว่า การสักการบูชาประทีสในเดือนยี่เป็ง ถือเป็นการบูชาพระรัตนตรัย นอกจากนั้น อานิสงส์การบูชาประทีสยังส่งผลทำให้ผู้ถวายทานมีรูปร่างและผิวพรรณงดงามไปทุกๆ ชาติ เป็นที่รักแก่คนและเทวดาทั้งหลาย (อุดม รุ่งเรืองศรี, ๒๕๔๒, หน้า ๗๘๘๖)

ผางประทีป ประเพณียี่เป็ง

ธัมม์หรือคัมภีร์ชื่อ อานิสงส์ผางประทีส กล่าวไว้ว่า พระเจ้าห้าพระองค์ ได้แก่ พระกกุสันธะ พระโกนาคมนะ พระกัสสปะ พระโคตม (พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน) พระศรีอริยะเมตไตร ที่ทั้งห้าพระองค์ได้กำเนิดจากแม่กาเผือกเป็นไข่ห้าฟอง และวันหนึ่งขณะที่แม่กาออกไปหาอาหารได้เกิดพายุ ทำให้ไข่ทั้งไข่ฟองพัดตกจากรังไหลไปตามแม่น้ำ และมีแม่ไก่ แม่นาค แม่เต่า แม่โค และแม่ราชสีห์เก็บไปเลี้ยง เมื่อไข่ทั้งห้าฟองฟักออกมาเป็นมนุษย์เพศชาย และได้บวชเป็นฤๅษีทั้งห้า

เมื่อฤๅษีทั้งห้าได้พบกัน จึงไตร่ถามถึงมารดาของแต่ละองค์ แต่ละองค์ก็ตอบว่า แม่ไก่เก็บมาเลี้ยง แม่นาคเก็บมาเลี้ยง แม่เต่าเก็บมาเลี้ยง แม่โคเก็บมาเลี้ยง และแม่ราชสีห์เก็บมาเลี้ยง ฤๅษีทั้งห้าจึงสงสัยว่าแม่ที่แท้จริงของตนเป็นใคร จึงพากันอธิษฐานขอให้ได้พบแม่ ด้วยคำอธิษฐานจึงทำให้พกาพรหมผู้เป็นแม่ได้แปลงกายเป็นกาเผือกบินลงมาเล่าเรื่องในอดีตให้ฤๅษีทั้งห้าฟัง และได้บอกว่าหากคิดถึงแม่ ให้น้ำด้ายดิบมาฟั่นเป็นตีนกา แล้วจุดเป็นประทีสบูชาในเดือนยี่เป็ง (อุดม รุ่งเรืองศรี, ๒๕๔๒, หน้า ๗๘๙๐)

ประเพณียี่เป็ง ลอยโคม

ธัมม์หรือคัมภีร์ชื่อ อานิสงส์ยี่เป็ง ลอยประทีสโคมไฟ ปรากฏในหนังสือ ธรรมเทศนาพื้นเมืองเรื่อง อานิสงส์ยี่เป็ง ลอยประทีปโคมไฟ (๒๕๓๐) กล่าวไว้ว่า เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่เชตวนาราม พระองค์ได้เทศนาชาดกเรื่อง อานิสงส์ยี่เป็ง ลอยประทีสโคมไฟ ว่า ในยุคของพระพุทธเจ้าชื่อโกนาคมนะ ครั้งหนึ่งพระสาวกชื่อ อุตตระ ได้เข้านิโรธสมาบัติในถ้ำสุตคูหาในดอยสิริทัตกะ และเมื่อออกจากนิโรธสมาบัติได้เกิดนิมิตว่า หากผู้ใดได้ถวายทานแก่พระองค์ในวันพรุ่งนี้จะได้อานิสงส์เป็นอย่างมาก และได้เล็งเห็นด้วยญาณว่า มีชายทุกข์ไร้เข็ญใจผู้หนึ่งจะรอถวายทานแก่พระองค์ รุ่งเช้าพระองค์จึงได้อุ้มบาตรไปโปรดยังบ้านชายผู้นั้น ชายผู้นั้นเกิดปิติศรัทธาเลื่อมใสเป็นอย่างยิ่ง จึงได้ถวายข้าวกับแคบหมูแก่พระองค์ และอธิษฐานขอให้ได้เป็นสาวกของพระพุทธเจ้าพระศรีอริยะเมตไตร ที่จะมาบังเกิดในภายภาคหน้า เมื่อพระอุตตระได้กล่าวอนุโมทนาแล้ว ก็เสด็จกลับนำเอาแคบหมูมาบีบเป็นน้ำมันลงในผางประทีส และจุดบูชาพระพุทธเจ้าโกนาคมนะ ซึ่งวันนั้นเป็นวันเดือนยี่เป็งพอดี พอจุดประทีสบูชาแล้วนั้น แผ่นดินที่หนาได้สองแสนสี่หมื่นโยชน์ก็ไหวเป็นที่อัศจรรย์ พญาโสกราชาจึงได้ทูลถามพระพุทธเจ้า ว่า เป็นเพราะเหตุใด พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า มีชายทุกข์ไร้เข็ญใจได้ถวายแคบหมูใส่บาตรแก่พระอุตตระเถรเจ้า และพระอุตตระเถรเจ้าได้นำมาใส่ผางประทีสจุดเป็นพุทธบูชา เมื่อจุดบูชาในวันเดือนยี่เป็งจะมีผลานิสงส์มากนัก

ประเพณียี่เป็ง

พระพุทธเจ้าได้เทศนาธัมม์อานิสงส์เดือนยี่เป็งลอยประทีสโคมไฟให้ภิกษุทั้งหลายฟังว่า หากได้บูชาประทีสโคมไฟในวันเดือนยี่เป็ง จะได้ผลานิสงส์ผิวพรรณงดงามเป็นที่รักแก่คนและเทวดา ไม่มีโรคภัยเบียดเบียนและได้ไปเกิดบนสรวงสวรรค์ และในตอนท้ายของธัมม์กล่าวต่อไปว่า ในเดือนยี่เป็งบุคคลใดที่ทำประทีปโคมไฟ ไปลอยในแม่น้ำน้อยใหญ่ หนองวัง และโบกขรณี เพื่อบูชารอยพระพุทธบาตรริมฝั่งแม่น้ำเมืองนาคราชบาดาลก็ดี เมื่อเกิดมาในชาตินี้ จะได้เป็นพญาใหญ่โต

ในแผ่นดิน ผิวพรรณงดงามดั่งพระจันทร์วันเพ็ญ มีฤทธิ์ปราบได้ทวีปทั้งสี่ เป็นที่เกรงขาม มีปัญญาหลักแหลม มีทรัพย์สมบัติ ช้าง ม้า วัว ควาย ข้าคน และได้เกิดบนสรวงสวรรค์ชั้นฟ้า