การทำซุ้มประตูป่า

ก่อนจะถึงวันยี่เป็ง ประมาณ ๑-๒ วัน ชาวล้านนาจะเตรียมจัดตกแต่งประตูบ้านแบะประตูวัด ด้วยซุ้มประตูป่า โดยนำต้นกล้วย ใบมะพร้าว ต้นอ้อย ต้นข่า โคมหูกระต่าย โคมเงี้ยวหรือโคมชนิดอื่นๆ ดอกตะล่อม(บานไม่รู้โรย) ดอกคำปู้จู้ (ดาวเรือง) ฯลฯ ตกแต่งเป็นซุ้มประตูป่าอย่างงดงาม มีจุดมุ่งหมาย เพื่อเป็นเครื่องสักการะถวายการต้อนรับพระเวสสันดรในวันยี่เป็ง ครั้งเสด็จออกจากป่าเข้าสู่เมือง ซึ่งปรากฏในเวสสันดรชาดก อันเป็นชาติสุดท้ายของพระโพธิสัตว์ก่อนจะประสูติเป็นพระพุทธเจ้า

การทำซุ้มประตูป่า

พระครูอดุลสีลกิตติ์ (ฐานวุฑโฒ) (สัมภาษณ์, ๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๑) ผู้รู้ด้านประเพณีล้านนากล่าวว่า ในช่วงประเพณีเดือนยี่เป็ง ชาวล้านนานิยมที่จัดเทศนาธรรมเรื่อง เวสสันดรชาดก และในกัณฑ์ที่ ๑๓ กัณฑ์สุดท้ายหรือนครกัณฑ์ เป็นการพรรณนาเกี่ยวกับเหตุการณ์หลังจากพระเวสสันดรทรงลาผนวช และทรงเครื่องกษัตริย์เสด็จกลับจากป่าหิมพานต์เพื่อเข้าครองนครสีพี ชาวบ้านชาวเมืองต่างดีใจจึงประดับตกแต่งเมืองด้วยซุ้มประตูป่าอย่างงดงาม จากเรื่องราวที่ปรากฏในเวสสันดรชาดกนี้คนล้านนาจึงจำลองฉากเวสสันดรชาดกมาไว้ยังบ้านของตนเอง ด้วยการตกแต่งประดับประดาจำลองเป็นป่าหิมมพานต์ และเชื่อว่าถ้าใครตกแต่งซุ้มประตูป่าได้งดงาม อาจทำให้พระเวสสันดรเสด็จหลงเข้ามาในซุ้มประตูป่าที่จำลองเป็นป่าหิมพานต์ภายในบ้านของของเรา จะทำให้ได้อานิสงส์อย่างมาก

ซุ้มประตูป่าที่ตกแต่งสมบูรณ์

การสร้างซุ้มประตูป่า นอกจากมีคติความเชื่อ ในเรื่องการต้อนรับการเสด็จกลับจากป่าของพระเวสสันดรแล้ว ยังเป็นซุ้มที่ใช้จุดผางประทีส เพื่อบูชาพระเจ้าห้าพระองค์ โดยจุดไว้ในโคมหูกระต่ายหรือโคมชนิดอื่นๆ ที่ใช้ในการประดับตกแต่ง