การทำบอกไฟ
ในช่วงใกล้เข้าสู่ช่วงเทศกาลยี่เป็ง หรือประเพณีเดือนยี่ ตามวัดวาอารามและบ้านสล่าบอกไฟ จะมีการจัดเตรียมทำบอกไฟชนิดต่างๆ เพื่อใช้จุดเป็นพุทธบูชา บูชาพระเกศแก้วจุฬามณี จุดบูชาประกอบพิธีเทศน์มหาชาติหรือตั้งธรรมหลวง และเป็นเครื่องเล่นของเด็กๆล้านนา ทำให้บรรยากาศแห่งยี่เป็งเต็มไปด้วยสีสันที่สนุกสนาน บอกไฟล้านนา หรือดอกไม้ไฟที่ทำขึ้นมีหลายชนิด เช่น บอกไฟยิง บอกไฟข้าวต้ม บอกไฟหมื่น บอกไฟขึ้น บอกไฟจักจั่น บอกไฟดอก บอกไฟดาว บอกไฟน้ำต้น หรือบอกไฟมะขี้เบ้า บอกไฟช้างร้อง บอกไฟเทียน เป็นต้น ส่วนเด็กๆก็มักจะเล่นบอกถบ หรือประทัด หรือจุดมะผาบ และสะโปก เพื่อให้เกิดเสียงดัง เป็นสัญลักษณ์เพื่อแสดงว่าประเพณียี่เป็งมาถึงแล้ว
บอกไฟที่นิยมจุดบูชาในช่วงประเพณียี่เป็ง เน้นที่เกิดประกายแสงงดงาม เพราะใช้จุดในเวลากลางคืน ตั้งแต่พระอาทิตย์ลับฟ้าเป็นต้นไป บอกไฟที่นิยมจุด ได้แก่ บอกไฟยิง บอกไฟข้าวต้ม บอกไฟดอก บอกไฟดาว บอกไฟบะขี้เบ้า หรือบอกไฟน้ำต้น การทำบอกไฟแต่ละชนิดมีสูตรการทำ ซึ่งแตกต่างกันไปตามสูตรของสล่าหรือช่างแต่ละคน
บอกไฟชนิดต่างๆ
สล่าคัณโฑ อินทรแกล้ว (สัมภาษณ์, ๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๑) ประธานกลุ่มอนุรักษ์ขี้เฝ่า บ้านสันทรายต้นกอก ตำบลฟ้าฮ่าม อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ได้เล่าถึงการทำบอกไฟชนิดต่างๆ ในสมัยก่อน ใช้วัสดุ เช่น เปลือกกระเทียม กากมะพร้าว ถ่านข้าวนึ่ง ตำละเอียดผสมกับดินประสิวและขี้ขาง บางสูตรใส่น้ำมันงาด้วย เมื่อประมาณ 15 ปีที่ผ่านมานี้ จึงมีการนำเอาแมก (เศษเหล็กที่ได้จากการกลึงล้อเครื่องบิน) และโพแทสเซียมคลอเรต (ที่นิยมเรียกสั้นๆ ว่า คลอเรต) มาใช้แทนวัสดุตามธรรมชาติ (เปลือกกระเทียม กากมะพร้าว)
บอกไฟยิง คือบอกไฟเล็กชนิดหนึ่งที่อัดเฝ่าหรือดินปืนลงในกระบอกไม้ขนาดเล็ก ยาวประมาณ ๘ นิ้ว คาดด้วยหวาย และเจาะรูใส่ชนวน บ้างเรียกบอกไฟชนิดนี้ว่า “บอกไฟลูกหนู” เป็นบอกไฟชนิดหนึ่งในหลายชนิด ที่ประชาชนนิยมเล่นในภาคเหนือ ในงานเทศกาลต่างๆ เช่น ปีใหม่เมือง ประเพณียี่เป็ง งานเทศน์มหาชาติ (อานนท์ ไชยรัตน์, สัมภาษณ์, ๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๑)ปัจจุบันนิยมแข่งขันกัน โดยกำหนดระยะทางให้บอกไฟยิงไปยังจุดหมายที่กำหนด เช่น ระยะ ๙ เมตร ถ้าบอกไฟยิงของใครใกล้จุดที่กำหนดมากที่สุด จะเป็นผู้ชนะ ถ้าพ้นเลยจุดที่กำหนดไว้ จะไม่ได้รับการพิจารณา
บอกไฟข้าวต้ม เป็นบอกไฟขนาดเล็ก เป็นที่นิยมอย่างมากของเด็กๆในล้านนา วิธีการทำ ใช้ดินเฝ่า(ดินปืน) ห่อด้วยกาบกล้วยแห้ง หรือใบกล้วยแห้ง ใส่สายชนวนตรงส่วนท้าย แล้วพันด้วยเชือกฟางหรือเชือกกล้วยให้แน่น เหมือนข้าวต้มมัด นำมามัดกับ แส้พร้าว (อ่านว่า แส้ป้าว) คือก้านใบมะพร้าว การจุด ให้จับที่ตัวบอกไฟอย่างหลวมๆ ใช้ไม้ขีดหรือก้านธูปจุดสายชนวน พอสายชนวนไหม้เข้าสู่ตัวบอกไฟ บอกไฟจะพุ่งขึ้น หรือใช้วิธีจุดสายชนวน โดยจับส่วนปลายก้านมะพร้าวแล้วแกว่งเหวี่ยงขึ้นไป เพื่อให้บอกไฟพุ่งขึ้นในแนวดิ่งมากขึ้น บอกไฟจะพุ่งขึ้นสูงมากกว่าการจับที่ตัวบอกไฟ
บอกไฟดอก และบอกไฟบะขี้เบ้า (บอกไฟน้ำต้น) บอกไฟ 2 ชนิดนี้ เป็นบอกไฟที่ใช้วัสดุในการทำเหมือนกัน แต่ต่างกันที่ภาชนะที่ใช้และจำนวนของวัสดุที่ใช้บรรจุลงไปในบอกไฟ เพื่อให้เกิดดอกเป็นพุ่มสูงและกว้าง กล่าวคือ ด้านภาชนะที่ใช้บรรจุขี้เฝ่า บอกไฟดอก ใช้กระบอกไม้ไผ่หรือกระป๋องสเปรย์เป็นภาชนะบรรจุขี้เฝ่า สำหรับบอกไฟบะขี้เบ้า ใช้ภาชนะดินเหนียวเผา คล้ายโอ่งเล็ก จึงมีผู้เรียกว่า บอกไฟโอ่ง ส่วนด้านจำนวนวัสุดขี้เฝ่า บอกไฟดอกบรรจุขี้เฝ่ามากกว่า เมื่อจุจึงมีความแรง
ความสูงและกว้างมากกว่า (คัณโฑ อินทรแกล้ว, สัมภาษณ์, ๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๑) บอกไฟทั้งสองชนิดนี้ นิยมจุดกันมากในช่วงประเพณียี่เป็ง เนื่องจากมีประกายไฟเป็นพุ่มสวยงาม เปรียบเสมือนดอกไม้เงิน ดอกไม้คำ หรือฝนห่าแก้ว ที่ปรากฏในธรรมมหาชาตินครกัณฑ์ เป็นเวสสันดรชาดกกัณฑ์สุดท้าย ที่กล่าวถึงเหตุการณ์พระเวสสันดรเสด็จออกจากป่ากลับเข้าสู่นคร ปรากฏเป็นฝนห่าแก้วตกทั่วแผ่นดิน บ้างอธิษฐานด้วยข้าวตอกดอกไม้จุดเป็นพุทธบูชา เพื่อให้ชีวิตโชติช่วงเหมือนดอกไฟที่พวยพุ่ง
บอกไฟดอก เป็นบอกไฟที่ไม่ค่อยมีอันตราย จึงเป็นที่นิยมทำกันแทบทุกวัดในล้านนา ดังนั้น จึงมีสูตรการทำบอกไฟขึ้นหลายสำนัก เกิดจากการทดลอง และลองผิดลองถูกของพระภิกษุสามเณร เพื่อให้เกิดดอกและสีที่สวยงาม บอกไฟดอกมี ๒ ประเภทด้วยกัน คือ ประเภทสวยงาม และประเภทโลดโผน
บอกไฟดอกประเภทสวยงาม ใช้วัสดุน้อยกว่าประเภทโลดโผน เน้นดอกไฟสวยงาม และพุ่มกว้าง วิธีการทำส่วนมากใช้ดินไฟ(ดินประสิว) ผสมกับขี้ขาง (เสื้อสูบรถยนต์ที่กลึงแล้วอย่างละเอียด) ผสมกับมาด (กำมะถัน) และถ่านตามสัดส่วน แล้ว ต๊อกลงในกระบอกไม้ไผ่ คือการอัดลงในกระบอกไม้ไผ่ซาง ไม้ไผ่ที่ใช้คือส่วนโคนของไม้ไผ่ เนื่องจากมีความหนากว่าส่วนปลาย อัดให้แน่นพอดี ปิดส่วนก้นกระบอกด้วยดินเหนียวแห้ง การจุด ฝังกระบอกลงไปที่พื้นดิน และอัดดินรอบๆให้แน่น ให้ปากกระบอกโผล่พ้นดิน เพื่อใส่สายสายชนวนจุดไฟแล้วลงรูปากกระบอก
บอกไฟประเภทโลดโผน ใช้ส่วนผสมของเฝ่าที่แรงกว่าประเภทสวยงาม ทำให้เสียงของการพวยพุ่งดัง เป็นพุ่มสูงและกว้างกว่าประเภทสวยงาม ส่วนผสมใช้ดินไฟ(ดินปะสิว)ตำละเอียดผสมกับขี้เหล็กจากการตีมีดหรือจากโรงกลึงคั่วไฟผสมกับมาด(กำมะถัน) และถ่าน ผสมแล้วได้เฝ่ามีน้ำหนักประมาณ ๕ – ๑๐ กิโลกรัม อัดลงกระบอกไม้ซางหรือปัจจุบันนิยมใช้ท่อเหล็ก การจุด ใช้วิธีขุดดินฝัง จุดสายชนวนหย่อนลงรูปากบอกไฟ
บอกไฟบะขี้เบ้า (หมากขี้เบ้า) หรือบอกไฟน้ำเต้า บอกไฟน้ำต้น บอกไฟโอ่ง การเรียกชื่อขึ้นอยู่กับรูปทรงของบอกไฟ เป็นบอกไฟดอกขนาดเล็ก ถ้าเป็นบอกไฟบะขี้เบ้า มีลักษณะทรงกลมเหมือนรังแมงขี้เบ้า ที่วางไข่ตามมูลควาย ส่วนที่มีรูปทรงน้ำเต้าและน้ำต้น มีลักษณะเหมือนคนโฑ หรือในภาษาล้านนาเรียกว่า น้ำต้น หรือบางแห่งเรียกว่า น้ำเต้า เพราะมีรูปทรงคล้ายผลน้ำเต้า ส่วนผสม ประกอบด้วย ดินไฟ (ดินประสิว) ขี้ขาง (เสื้อสูบรถยนต์กลึงอย่างละเอียด) ถ่านข้าวนึ่ง แม็กซ์ (เศษวัสดุที่กลึงมาจากล้อแมกซ์เครื่องบิน) และมาด(กำมะถัน) นำมาผสมกันเป็นขี้เฝ่าหรือเฝ่าลงในขี้เบ้าหรือภาชนะดินเหนียวเผา ด้านก้นขี้เบ้าดินเหนียวเผา อัดด้วยดินเหนียวแห้ง ใส่สายชนวน และปิดด้วยกระดาษแก้วตรงปากบอกไฟ เพื่อกันความชื้น ใช้จุดบริเวณที่โล่ง เช่น ลานหน้าวิหาร ลานวัด ลานบ้าน หรือลานกว้างที่พอเหมาะกับรัศมีของประกายไฟ และอธิษฐานบูชาคุณพระพุทธเจ้าด้วยข้าวตอกดอกไม้ เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตนเอง
สูตรการทำบอกไฟบอก
สูตรการทำบอกไฟมีหลายสูตรจากหลายสำนัก จากการถ่ายทอดมาจากครูอาจารย์ ที่ได้จากการทดลองทำกันมาในอดีต ผู้ผลิตและเจ้าของสูตรบอกไฟ ซึ่งเรียกว่า สล่าบอกไฟ ส่วนใหญ่ผู้คิดค้นสูตรบอกไฟดอก มักจะเป็นพระภิกษุสามเณรตามวัดต่างๆ เนื่องจากมีหน้าที่ “ต๊อกบอกไฟ” สำหรับจุดในวัดในช่วงประเพณียี่เป็ง จึงทำให้มีชื่อสูตรบอกไฟเป็นชื่อวัดเป็นส่วนใหญ่ เช่น สูตรบอกไฟวัดพระนอนขอนม่วง สูตรบอกไฟวัดสันกำแพง หรือเรียกเป็นชื่อหมู่บ้าน หรือชื่อสล่า เช่น สล่าเมืองพานดอยวัน สล่าเมืองก๊ะแม่ริม สล่าคำเมืองพร้าว สล่าสันทรายต้นกอก เป็นต้น ปัจจุบัน ยังมีการคิดค้นพัฒนาสูตรบอกไฟกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดความสวยงามทั้งสีสันและประกายไฟ ในที่นี้ ขอยกตัวอย่างสูตรบอกไฟของสล่าคัณโท อินทรแกล้ว (สัมภาษณ์, ๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๑) บ้านสันทรายต้นกอก ตำบลฟ้าฮ่าม อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่
สูตรบอกไฟดอก ๓ กิโลกรัม
๑. | ดินไฟ (ดินปะสิว) | ๓ | กิโลกรัม |
๒. | ขี้เหล็ก | ๔ | กิโลกรัม |
๓. | มาด (กำมะถัน) | ๖ | ขีด |
๔. | ถ่านข้าวนึ่ง | ๓-๔ | ขีด |
๕. | แมกซ์ | ๑ | ขีด |
สูตรบอกไฟดอก ไม้ไผ่ขนาด ๔๐-๕๐ เซนติเมตร
๑. | ดินไฟ (ดินปะสิว) | ๓ | กิโลกรัม |
๒. | ขี้เหล็ก | ๔ | กิโลกรัม |
๓. | มาด (กำมะถัน) | ๓ | ขีด |
๔. | ถ่านข้าวนึ่ง | ๖ | ขีด |
กระบอกใส่เฝ่า (ส่วนผสม) ใช้ไม้ไผ่หวาน/ไม้ไผ่ซาง แกน ๑ นิ้วสำหรับขนาด ๔๐ เซนติเมตร แกน ๖ หุน สำหรับ ๕๐ เซนติเมตร
สูตรบอกไฟดอกเมืองพาน เชียงราย ไม้ไผ่ขนาด ๔๐-๕๐ เซนติเมตร
๑. | ดินไฟ (ดินปะสิว) | ๘ | ขีด |
๒. | ขี้เหล็ก | ๑๐ | ขีด |
๓. | มาด (กำมะถัน) | ๓ | ขีด |
๔. | ถ่านข้าวนึ่ง | ๒ | ขีด |
๕. | แมกซ์ | ๒ | ขีด |
๖. | คอเรต | ๒ | ขีด |
สูตรการทำบอกไฟบะขี้เบ้า
การทำบอกไฟของสล่าบอกไฟคัณโท อินทรแกล้ว อายุ ๕๕ ปี ประธานกลุ่มอนุรักษ์ขี้เฝ่าภูมิปัญญาท้องถิ่น ตำบลฟ้าฮ่าม อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นสล่าบอกไฟ ซึ่งได้รับการถ่ายทอดการทำบอกไฟจากพระครูถาวรรัตนวัตร (ตุ๊ลุงแก้ว) วัดศรีบุญเรือง ตำบลไชยสถาน อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ และนายเลิศ สุวรรณ บ้านท่าลุก ตำบลสันผีเสื้อ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ สล่าคัณโทเริ่มศึกษาการบอกไฟ ตั้งแต่อายุ ๙ ขวบ สูตรการทำบอกไฟของกลุ่มฯ มีดังนี้
๑. | ดินไฟ (ดินปะสิว) | ๑๒ | กิโลกรัม |
๒. | ขี้ขาง | ๑๒ | กิโลกรัม |
๓. | ถ่านข้าวนึ่ง | ๒ | กิโลกรัม |
๔. | แม็กซ์ | ๑ | ขีด |
๕. | มาด (กำมะถัน) | ๒ | กิโลกรัม |
เฝ่าประมาณ 1 กิโลกรัม ทำบอกไฟบะขี้เบ้าขนาดเล็กสุดได้ 10 ลูก เฝ่าประมาณ 1.50 กิโลกรัม ทำบอกไฟบะขี้เบ้าขนาดใหญ่แบบจัมโบ้ได้ 1 ลูก
สูตรการทำบอกไฟบะขี้เบ้า/บอกไฟดอก แต่ละขนาดไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับการเพิ่มหรือลดถ่านข้าวและแม็กซ์ เช่น ลูกเล็กหรือกระบอกเล็ก ใช้วิธีเพิ่มถ่านข้าวและแม็กซ์ เพื่อเพิ่มแรงดัน ส่วนลูกใหญ่หรือกระบอกใหญ่ ใช้แรงดันน้อย ใช้วิธีลดถ่านข้าวและแม็กซ์ไปตามสัดส่วน
- เดือยสำหรับใช้เป็นที่อัดเฝ่าลงบะขี้เบ้าดินเหนียว
- การอัดเฝ่าลงบะขี้บ้าดินเหนียวเผา
- การทำชนวน
- ติดกระดาษกันชื้น