ก่อนจะถึงวันปีใหม่ บรรยากาศในทุกหมู่บ้านคึกคักด้วยการจัดเตรียมช่อตุงปีใหม่ พ่ออุ้ยแม่อุ้ยนั่งตัดตุง หลากหลายสี |
|
มีตุงไส้หมู ตุงรูปคน ตุงสิบสองราศี ส่วนแม่เรือนพ่อเรือนปัดกวาดแผ้วถางบ้านให้สะอาดงดงาม เพื่อชำระล้างความสกปรกที่หมักหมมมาตลอดทั้งปี และต้อนรับสิ่งดีงามที่จะเกิดขึ้นในปีใหม่ |
|
การคำนวณวันขึ้นปีใหม่ในแต่ละปี โหราจารย์หรือผู้รู้ด้านวัฒนธรรมล้านนาจะเป็นผู้คำนวณ และประกาศปีใหม่เมืองของปีนั้นๆ เรียกว่า ปักขะทืนล้านนา หรือหนังสือปีใหม่เมือง โดยถือเอาวันที่ราศีมีนย้ายเข้าสู่ราศีเมษ ซึ่งอาจจะไม่ตรงกันในแต่ละปี |
|
เมื่อตรวจสอบถูกต้องแล้วจึงประกาศให้ชาวเมืองรับรู้ และปฏิบัติตนตามประเพณี เช่น วันที่ ๑๔ เมษายน อาจเป็นวันสังขานต์ล่อง ๑๕ เมษายน อาจเป็นวันเน่า ๑๖ เมษายน อาจเป็นวันพญาวัน เป็นต้น
ปัจจุบัน ชาวล้านนานิยมทำบุญ และทำกิจกรรมเทศกาลปีใหม่เมือง ตามวันหยุดราชการในปฏิทินสากล วันที่ ๑๓ เมษายน เป็นวันสังขานต์ล่อง ๑๔ เมษายน เป็นวันเน่า ๑๕ เมษายน เป็นวันพญาวัน
|
|
ประเพณีปีใหม่ของชาวล้านนา มีคติความเชื่อเกี่ยวกับขุนสังขานต์หรือขุนสังกรานต์ ซึ่งแตกจากความเชื่อของชาวไทยภาคกลาง คือไม่ได้กล่าวถึงท้าวกบิลพรหมและธรรมบาลกุมารแต่อย่างใด แต่กล่าวถึงขุนสังขานต์ในลักษณะ บุคลาธิษฐาน หมายถึงพระอาทิตย์ เป็นตัวแทนของการเปลี่ยนศักราชในแต่ละปี และมีอิทธิพลต่อความเปลี่ยนแปลงของโลกมนุษย์ จากการคำนวณตามคัมภีร์สุริยยาตร์ |
|
|