Tha Thai Version Eng Version Eng  
     
˹á лླբͧҹ ླҹ ҹླҹ 㹾Ըաҹ ػФس ԧǢͧ
 
 
 
 
แบบสอบถามความคิดเห็น
 
Last update: 07/19/2012
 
 
สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์
เว็บไซต์และฐานข้อมูลประเพณีล้านนา โดย
สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
และ
สำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

อนุญาตให้ใช้ได้ตาม
สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ
แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง
 
by
ประเพณีปีใหม่เมือง
วันเน่า
             วันเน่า เป็นวันที่สองของปีใหม่เมือง วันนี้ยังไม่ถือว่าเป็นปีใหม่ เป็นช่วงที่พระอาทิตย์ยังเนาอยู่ระหว่างราศีมีนกับราศีเมษ ในแง่โหราศาสตร์ถือเป็นวันไม่ดี ไม่ส่งเสริมมงคล และเชื่อว่าหากใครด่าทอ ทะเลาะ วิวาทกัน จะทำให้ปากเน่าเหม็นเป็นอัปมงคลตลอดทั้งปี วันนี้จะไม่ดุด่า ว่าร้ายให้แก่กัน ตามประเพณีแล้ววันนี้เป็น "วันดา" คือวันที่ต้องเตรียมสิ่งของต่างๆเพื่อใช้ทำบุญในวันรุ่งขึ้น และตลอดทั้งวัน เด็กๆ บ่าว สาว เฒ่า แก่ จะพากันไปขนทรายที่แม่น้ำ เข้าวัด เพื่อก่อเป็นเจดีย์ทราย
             เหตุที่ทางล้านนาเรียกวันนี้ว่าวันเน่า เพราะเชื่อตามวรรณกรรมที่มีการกล่าวขานกันมาว่า นานมาแล้วยังมีพญาตนหนึ่งได้ตายจากไปในวันหลังวันสังขารล่อง แล้วกลายไปเป็นเปรตหัวเน่า คนจึงเรียกวันนี้ว่าวันเน่า วรรณกรรมดังกล่าวได้แก่ธัมม์ หรือธรรมเรื่องอานิสงส์ปีใหม่ กล่าวว่า
             พระพุทธเจ้าได้ตรัสเล่าแก่พระเจ้าปเสนทิโกศลว่า พระยาสุริยะครองเมืองกลิงคราษฏร์ เลี้ยงผีปีศาจไว้มากมาย ตายไปในวันหลังสังขารล่องหนึ่งวัน ไปเกิดเป็นเปรตหัวเน่าอยู่นอกฟ้าจักรวาล ครั้นภายหลังภริยาสองนางตายไปเกิดเป็นเปรตอยู่ด้วยกัน เปรตทั้งสองนางจึงช่วยกันล้างหัวเน่าของพญา จึงเรียกว่าวันนี้ว่า วันเน่า

             คนล้านนามีความเชื่อเรื่องวันเน่าว่า ถ้าหากผู้ประสงค์จะปลูกเรือนไม้ไผ่ ให้รีบตัดไม้ภายในวันนี้ เพราะเชื่อว่าไม้จะไม่เน่าและไม่มีมอดหรือปลวกมากินไม้ดังกล่าว
             วันเน่าหรือวันเนานี้ บางปีจะมีสองวัน บางปีจะมีวันเดียว ส่วนมากจะมีวันเดียว ที่มีสองวันเพราะการนับวันตามแบบจันทรคตินั้น สี่ปีจะมีเดือนเดือนสิบ ๒ หนแบบไทยล้านนาครั้งหนึ่ง หรือสี่ปีจะมีเดือนแปด ๒ หนตามแบบไทยภาคกลางครั้งหนึ่ง หรืออาจเกี่ยวข้องกับการคำนวณวันเวลาตามแบบโหราศาสตร์ที่ตกทอดกันมาแต่ดั้งเดิม (โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา, ๒๕๕๑, หน้า ๑๔)
 
ไปกาดวันเน่า

            วันนี้ตลาดเช้าของแต่ละหมู่บ้านจะคึกคักเป็นพิเศษ ตั้งแต่เช้ามืดจะมีคนเต็มตลาด ทั้งพ่อค้าแม่ค้าและชาวบ้านชาวเมือง ที่มาจับจ่ายใช้สอยเพื่อซื้อของกินของใช้ต่างๆ นานาที่จำเป็นต้องใช้ในประเพณีปีใหม่เมือง เช่น ช่อ ตุง ข้าวตอก ดอกไม้ หมากเหมี้ยง เสื้อผ้า ครัวดำหัว ผลไม้ ฯลฯ เพื่อใช้ในการทำบุญและดำหัวผู้มีพระคุณ
 
 
            สมัยโบราณลูกสาวของแต่ละบ้านจะตื่นเช้าเป็นพิเศษ เพื่อมาตำข้าวแป้ง หรือโขลกแป้งข้าวเหนียวไว้ทำขนมจ็อกหรือขนมเทียน หนุ่มๆ ก็จะตื่นเช้าเป็นพิเศษเช่นกัน เพื่อถือโอกาสไปอู้สาวตำข้าว หนุ่มใดชอบสาวใด ก็จะไปยังผามมองที่สาวคนนั้น ไปตำข้าวแป้ง ผามมองหรือโรงกระเดื่องนี้ ในอดีตจะมีทุกบ้าน บางท้องถิ่นสามสี่บ้าน จะรวมกันใช้ผามมองร่วมกัน จึงเป็นโอกาสพบปะระหว่างหนุ่มสาวได้พบกัน (โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา, ๒๕๕๑, หน้า ๑๕)
 
เตรียมขนมและอาหารปีใหม่

            วันนี้ช่วงสายๆ แม่บ้านพ่อเรือนจะช่วยกันเตรียมขนมหรือข้าวหนมที่จะใช้ทำบุญ ดำหัวและเลี้ยงแขก เป็นของฝากญาติพี่น้องที่มาเยี่ยมเยือน ในอดีตพ่อเรือนมักจะนิยมดองเหล้าไว้ล่วงหน้า โดยใช้กรรมวิธีแบบโบราณ ใช้ส่าเหล้าหมักกับข้าวสารไว้ในไห และจะเปิดดื่มเพื่อเลี้ยงแขกในช่วงปีใหม่พอดี ส่วนข้าวหนมที่มักนิยมทำกันในช่วงปีใหม่ ได้แก่ ข้าวหนมจ็อก ข้าววิตูหรือข้าวเหนียวแดง ข้าวต้มหัวงอก ข้าวต้มมัด ข้าวหนมจั้น ข้าวแคบ ข้าวควบ ข้าวแตน ข้าวหนมเกลือ ข้าวหนมลิ้นหมา ฯลฯ แป้งทำข้าวหนมก็ได้จากการนำข้าวไปตำที่ครกกระเดื่อง ไม่ได้ซื้อหากันอย่างปัจจุบันนี้ ส่วนอาหารก็มักจะเป็น ห่อนึ่งปลีใส่เนื้อไก่ ใส่วุ้นเส้น ห่อนึ่งหน่อส้มใส่ไก่ แกงอ่อม แกงฮังเล ชิ้นสม(แหนม) เป็นต้น (น้อย ปราใจประเสริฐ ชาวบ้านแม่อีด ตำบลเชียงดาว อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่, สัมภาษณ์, ๑๘ มกราคม ๒๕๕๒)
 
ขนทรายเข้าวัด

            ประเพณีขนทรายเข้าวัด ส่วนใหญ่นิยมขนทรายกันในวันเน่า มีบางท้องถิ่นขนทรายในวันพญาวัน ทรายส่วนใหญ่ในอดีตจะต้องพากันเดินไปเอาทรายที่แม่น้ำใหญ่ เพราะช่วงเดือดเมษายนน้ำจะแห้งขอด จะเกิดหาดทรายขึ้นทั่วไป เช่น คนในเมืองเชียงใหม่จะถือขันสลุงไปตักทรายแม่น้ำปิงตรงเชิงสะพานนวรัตน์ มาก่อเจดีย์ทรายที่วัดของตน (ดุสิต ชวชาติ. ปู่อาจารย์, สัมภาษณ์, ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๑) ขณะขนทรายเข้าวัด กล่าวคำขนทรายเข้าวัดเป็นภาษาบาลีว่า "อะโห วะตะ เม วาลุกัง ติระตะนานัง สัพพะปาปัง วินัสสันตุ" วนไปวนมาจนขนทรายเสร็จ (โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา, ๒๕๕๑, หน้า ๑๗)
ประเพณีปีใหม่เมือง


            การขนทรายเข้าวัดเพื่อก่อเป็นเจดีย์ทราย มีคติในการกำหนดรูปแบบที่แตกต่างกันไป เช่นก่อเป็นเจดีย์ทรายเล็กๆ เท่าจำนวนอายุ ก่อเจดีย์ทรายตามจำนวนสมาชิกในครอบครัว เมื่อก่อเสร็จ ให้นำตุงเทวดา ตุงคน ตุงไส้หมู ตุงสิบสองราศี ช่อ ข้าวตอกดอกไม้ปักประดับเป็นพุทธบูชา บางวัดก็นิยมสานเสวียนเป็นชั้นๆ ขึ้นไป ๓ ชั้น ๕ ชั้น หรือทำเจดีย์ทรายขนาดใหญ่ ๙ ชั้น เรียกว่า "เจดีย์ทรายสุดซ้าว" เพราะเปรียบเทียบความสุงยาว ขนาดเท่ากับลำไม้ไผ่ที่เป็นแกนเสวียนสุงถึงปลายสุดไม้ไผ่ เจดีย์ขนาดใหญ่จำเป็นต้องใช้ทรายจำนวนมาก ดังนั้นการทำเจดีย์ทรายสุดซ้าว จะต้องอาศัยความสามัคคีความร่วมมือจากชาวบ้าน ในชุมชนเป็นอย่างมาก
            ตำนานการขนทรายเข้าวัด มีความเป็นมากล่าวไว้ว่า พระเจ้าปเสนทิโกศลได้เสด็จไปเมืองสาวัตถีพร้อมบริวาร ทรงทอดพระเนตรเห็นทรายที่ขาวสะอาดที่ชายหาด ด้วยพระราชศรัทธาในพระรัตนตรัย จึงทรงก่อทรายเป็นเจดีย์ ๘ หมื่น ๔ พันองค์ แล้วอุทิศเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา และสังฆบูชา เมื่อพระองค์ไปเฝ้าพระพุทธเจ้าก็ได้ทูลถามถึงอานิสงส์ การก่อเจดีย์ทรายดังกล่าว พระพุทธเจ้าตรัสว่า
การที่มีจิตเลื่อมใสศรัทธาก่อเจดีย์ทรายถึง ๘ หมื่น ๔ พันองค์หรือเพียงองค์เดียวก็ได้อานิสงส์มาก คือ จะไม่ตกนรกหลายร้อยชาติ ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ ก็จะเพียบพร้อมไปด้วยยศถาบรรดาศักดิ์ มีบริวารและเกียรติยศชื่อเสียง หากตายก็จะได้ขึ้นสวรรค์ พรั่งพร้อมด้วยสมบัติและมีนางฟ้าเป็นบริวาร" ดังนั้นการก่อพระเจดีย์ทราย ถือว่าเป็นอุทเทสิกเจดีย์ (พระเจดีย์ที่สร้างขึ้นเป็นเครื่องเตือน ให้น้อมรำลึกถึงพระพุทธคุณ เช่นเดียวกับพระพุทธรูป) ถือว่าได้อานิสงส์มาก ด้วยเหตุนี้จึงถือเป็นคตินิยมทำสืบต่อกันมา
            อีกตำนานหนึ่งกล่าวว่า สมัยพระพุทธเจ้าเป็นชายสามัญมีนามว่าติสสะ เป็นคนยากจนเข็ญใจ แสวงหาเลี้ยงชีพด้วยการตัดฟืนขาย แต่เป็นผู้มีศีลธรรมดีเป็นที่รักของประชาชน อยู่มาวันหนึ่งติสสะเดินออกจากบ้านเข้าไปในป่า เห็นมีลำธารไหลผ่านมีหาดทรายขาวสะอาดงดงามนัก ติสสะมีจิตปสาทะอยากทำบุญ จึงได้เอาทรายมาก่อเป็นพระเจดีย์ แล้วฉีกเสื้อที่ตัวเองสวมอยู่นั้นฉีกเป็นตุงหรือธงปักลงบนยอดเจดีย์ แล้วอธิษฐานว่า "อิมินา ปุญญกมเมนา ทัง วาลุกเจติยัง กตรา สุขี อัตตานัง ปริหารันโต นิพพานะปัจจโยมันหิ เม นิจิจจัง" ด้วยอำนาจการก่อพระเจดีย์ทรายนี้ ขอให้ข้าพเจ้าบริหารตนให้มีความสุขและเป็นปัจจัยแห่งพระนิพพานเจ้าเถิด และขอให้บุญเกื้อหนุนให้เกิดมาเป็นพระพุทธเจ้ามาโปรดสัตว์โลก เมื่อพระโพธิสัตว์ติสสะบำเพ็ญบารมีเต็มที่แล้วตายลง ต่อมาได้เกิดเป็นพระพุทธเจ้าในยุคปัจจุบัน (รังสรรค์ จันต๊ะ, ๒๕๔๘)

            นอกจากการขนทรายเข้าวัดจะได้รับอานิสงส์ตามตำนานที่กล่าวมานี้แล้ว อีกประการหนึ่ง การขนทรายเข้าวัด ถือเป็นการชดเชยใช้หนี้คืนให้แก่ธรณีสงฆ์ เป็นการขอขมาต่อ "ข่วงแก้วทั้งสาม" (ลานพระรัตนตรัย) เพราะในอดีต ลานวัดจะปูด้วยทรายทั่วทั้งบริเวณ เรียกว่า "ลานทราย" มีคติความเชื่อว่าลานทรายเปรียบเสมือนทะเลสีทันดรที่รอบล้อมจักรวาล ส่วนโบสถ์วิหารหรือพระเจดีย์เปรียบเป็น เขาพระสุเมรุศูนย์กลางของจักรวาล ยอดสูงสุดของพระเจดีย์ที่เรียวแหลม เหมือนจะทะลุฟ้าขึ้นไปนั้นคือเป้าหมายสูงสุดของสัตว์ทั้งหลาย อันอาศัยอยู่ในมงคลจักรวาลเรานี้ นั่นคือเมืองแก้วมหาเนรพาน หรือพระนิพพานเป็นที่สิ้นสุด (โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา, ๒๕๕๑, หน้า ๑๗) ดังนั้น ทรายที่อยู่ตามลานวัดนั้นถือเป็นของสงฆ์ ทั้งนี้มีคติความเชื่อที่ว่าการนำของสงฆ์ออกไปโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้น จะเป็นปาบอย่างใหญ่หลวง เนื่องจากการเดินเข้าข่วงลานวัดแล้วเดินออกไปจากวัด อาจจะมีดินทรายที่เยียบย่ำติดเท้าออกไปด้วย โดยที่เราไม่รู้ตัว เมื่อถึงเทศกาลปีใหม่เมือง ก็จะมีการขนทรายเข้าวัดเพื่อใช้หนี้สงฆ์จะได้ชดเชยบาปที่เม็ดทายติดตัวออกไป และทรายที่ขนมานั้นยังก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการบูรณปฏิสังขรณ์ หรือนำไปใช้เพื่อปลูกสร้างสิ่งต่างๆ ภายในวัดให้เกิดประโยชน์ต่อไป
 
ตุงปีใหม่

            ในวันเน่า คนแก่คนเฒ่า หรือผู้ที่มีฝีมือในการตัดตุง ก็จำนำกระดาษว่าวหลากสีมาตัดเป็นตุงรูปลักษณะต่างๆ เช่น ตุงไส้หมูหรือช่อพญายอ ตุงเทวดา ตุงคน ตุงสิบสองราศี ช่อนำทาน เพื่อเตรียมไว้ปักเจดีย์ทรายในวันพญาวัน ไม้ที่นิยมนำตุงไปมัดติด เช่น ต้นเขือง กิ่งไผ่ ต้นข่า ต้นกุ๊ก เป็นต้น การถวายทานตุงนี้ คนล้านนาเชื่อว่าหากเราตายไปตกอยู่ในนรกภูมิ ตุงที่เราทำถวายทานเป็นพุทธบูชานั้น จะไปกวัดแกว่งให้เราเกาะชายตุงนั้นไว้ ตุงจะนำพาเราให้รอดพ้นจากนรกอเวจี นำขึ้นไปสู่สรวงสวรรค์
 
ตุงเปิ้ง ตุงไส้หมู
 
            ในตำนานหิรัญนครเงินยางเชียงแสนกล่าวถึงการทานตุงว่า ทำให้มนุษย์สามารถหลุดพ้นจากการตกนรกไว้ว่า สิงห์กุฏฏอำมาตย์เอาธงคือตุงและหยาดน้ำ ครั้นสิ้นชีวิตต้องเสวยวิบากในนรก พญายมถือว่าได้ผลทานตุงและทานน้ำส่งกุศลให้ขึ้นสวรรค์ ยังมีเรื่องพรานฆ่าเนื้อเบื่อปลา เคยเห็นตุงพระประธานองค์ใหญ่วัดศรีโคมคำอันพายุพัดไปมาดูงามแก่ตายิ่งนัก จึงสร้างตุงผืนใหม่ถวายบูชา ครั้นตายไป ก่อนลงขุมนรกก็มีตุงที่ตนถวายทานแล้วนั้นพันกายให้พ้นจากนรก
            เมื่อตติยศักราชได้ ๙๐๖ ตัว ปีชวด อัฐศก เดือน๗ เพ็ญ มีชาวขานนำตุงรูปภาพผืนหนึ่งมาบูชาพระประธานใหญ่ พอถวายแล้วก็เอาขึ้นแขวนบนเพดาน แล้วก็พลาดตกลงมาตาย ธงผืนนั้นก็รับเอาชายผู้นั้นไปขึ้นสวรรค์ ไปปรากฏที่พระเกศแก้วจุฬามณี (โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา, ๒๕๕๑, หน้า ๑๘)
            ด้วยเหตุนี้ในช่วงประเพณีปีใหม่ ชาวล้านนาจึงมีบูชาตุงและก่อเจดีย์ทรายถวายเป็นพุทธบูชา เนื่องด้วยอานิสงส์ดังกล่าว
ตุงไส้หมู
 
พิธีลอยเคราะห์วันเน่า

            พิธีลอยเคราะห์วันเน่า เป็นพิธีกรรมแบบโบราณในปัจจุบันไม่นิยมทำกันแล้ว ปรากฏในหนังสือตำราพิธีส่งเคราะห์แผนโบราณ โดย ตรีรัตน์ แม่ริม เขียนถึงพิธีลอยเคราะห์วันเน่าไว้ว่า

            เมื่อถึงวันเน่า(เนาว์)ของสงกรานต์ ปีใหม่เมืองเหนือทุกๆ ปี ถ้าท่านต้องการให้หมดเคราะห์หมดภัย ให้อยู่สุขสบายนั้น ก็ให้ทำพิธีส่งเคราะห์ลอยเคราะห์วันเน่าตามพิธีโบราณ ให้ทำในวันเน่านั้นแล

            ให้ทำสะตวงหยวก ๑ อัน กว้างยาว ๑ ศอกเท่ากัน แล้วให้เอาดินมาปั้นรูปต้นไม้และสัตว์ที่เป็นกำเนิดของท่านใส่ และใส่เครื่องครัว ข้าวปลาอาหาร ลูกส้มของหวาน พร้าวตาลกล้วยอ้อย ข้าวตอกดอกไม้ ช่อ ๔ ตัวปักไว้ ๔ มุมสะตวง เทียน ๔ เล่มปัก ๔ ทิศของสะตวง เมื่อถึงวันเน่าตอนเย็นๆ ก็เตรียมเครื่องบูชาไปสู่ท่าน้ำแม่ใหญ่ พร้อมแล้วให้อ่านคำโอกาสลอยเคราะห์ว่า

            ดูกราเจ้ากู ข้าเกิดมาเพื่อเจ้ากูแล เท่าว่าเราอยู่จิ่มกัน ภัยก็เกิดมีมาชะแล เจ้ากูจุ่งรับเอายังเคราะห์วัน เคราะห์ยาม เคราะห์ปี เคราะห์เดือน เคราะห์กำเนิดเกิดมา สรรพเคราะห์ทั้งมวล อันมีในตนตัวแห่งข้านี้ไปกับตนเจ้ากู แล้วจุ่งกระทำนำมา ยังวุฒิสวัสดี ลาภะ ยัสสะ สัมปัตติ อันมาก แล้วจุ่งหื้อเป็นที่ไหว้ปูชาระหะ วันทาระหะแก่คนแลเทวดาทั้งหลาย ขอหื้อผู้ข้ามีศรีทีฆาอายุมั่นยืนยาว มั่งมูลทุ่นเท้า เป็นดังจักวรรดิคหบดี แลสิมพลีเถรเจ้านั้นเสี้ยงปีนี้ทั้งมวล แก่ผู้ข้าแด่เทอะ

            ว่า ๓ รอบแล้วเอาสะตวงเวียนแวดหัวผู้บูชานั้น๓ รอบแล้วปล่อยลอยแม่น้ำไปเสีย เอาน้ำส้มปล่อยสระหัวลงในสะตวงนั้นด้วย แล้วกลับบ้านอย่าเหลียวคืนหลัง กลับถึงบ้านเลย

            รูปต้นไม้และรูปสัตว์ที่ทำด้วยดินใส่ในสะตวงนั้น ผู้เกิดปีชวด ไม้ศรีมหาโพธิ์ รูปผีเสื้อยักษ์๑ ตัว เกิดปีฉลู ไม้บุนนาค๑ รูปหมา๑ตัว ปีขาล รูปผีเสื้อยักษ์๑ตัว ไม้ไผ่๑กอ ปีเถาะรูปไม้ชมพู๑ต้นไก่๑ตัว ปีมะโรงรูปต้นข้าว๑กอ รูปไก่๑ตัว ปีมะเส็ง รูปไม้หัด๑ต้น ผีเสื้อยักษ์๒ตัว ปีมะเมีย รูปไม้แก รูปหมา๑ตัว ปีมะแม ปีวอก ต้นไม้ทองกวาว๑ต้น หมา๑ตัว ปลา๑ตัว ปีระกา รูปไม้มะกอกรูปเสือโคร่ง๑ตัว ปีจอ รูปไม้มะตาเสือรูปเสือ๑ตัว ปีกุน รูปดอกบัว๑กอ รูปผียักษ์๑ ตัว

            รูปเหล่านี้ ถ้าคนที่บูชานั้นเกิดปีใดก็ ให้ทำรูปนั้นๆ วางไว้กลางสะตวง เอารูปสัตว์วางไว้พื้นของต้นไม้ คล้ายกับมาพักพึ่งอาศัยอยู่ร่มไม้นั้นแล จบลอยเคราะห์วันเน่าแล (โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา, ๒๕๕๑, หน้า ๑๙ - ๒๐)
 
ความเชื่อบางประการเกี่ยวกับวันเน่า

            วันเน่าไม่ควรด่าทอ สาปแช่งหรือกล่าวคำร้ายต่อกัน ปากจะเน่าจะเหม็น เป็นอัปมงคลไปทั้งปีวันเน่าควรตัดไม้ไผ่ที่จะสร้างบ้าน มอดปลวกจะไม่มากินเชื่อว่าถ้าดุด่าลูกหลานเรื่องใด เด็กจะนิสัยแบบนั้นไปตลอดทั้งปี (โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา, ๒๕๕๑, หน้า ๑๗; บัวผัน แสงงาม ชาวบ้านหมู่ 6 ตำบลเชียงดาว อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่, สัมภาษณ์ ๑๘ มกราคม ๒๕๕๒)
 
Northern Thai Information Center (NTIC),
Chiang Mai University Library in collaboration with Information Technology Service Center
239 Huay Kaew Rd., Mueang District, Chiang Mai, Thailand 50200
Tel: +66 (0) 5394 4514, +66 (0) 5394 4517 email: ntic@lib.cmu.ac.th
Copyright © 2009-2016 Chiang Mai University. All Rights Reserved.