Tha Thai Version Eng Version Eng  
     
˹á лླբͧҹ ླҹ ҹླҹ 㹾Ըաҹ ػФس ԧǢͧ
 
 
 
 
แบบสอบถามความคิดเห็น
 
Last update: 07/19/2012
 
 
สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์
เว็บไซต์และฐานข้อมูลประเพณีล้านนา โดย
สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
และ
สำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

อนุญาตให้ใช้ได้ตาม
สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ
แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง
 
by
ประเพณีปีใหม่เมือง
ตำนานปีใหม่เมือง
             ปีใหม่เมืองของชาวล้านนาไม่ปรากฏชัดเจนว่าเกิดขึ้นเมื่อใด ในเรื่องนี้ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. มณี พยอมยงค์ ศิลปินแห่งชาติ พ.ศ. 2549 สาขาวรรณศิลป์ ปราชญ์แห่งล้านนาได้ประมวลความจากตำนานต่างๆ ว่า ชนชาติไทยรับเอาประเพณีวันสงกรานต์ เป็นวันขึ้นปีใหม่นี้มานับพันปีแล้ว
ประเพณีปีใหม่เมือง             ตำนานปีใหม่เมืองจากคัมภีร์เทศนาธรรมเรื่อง อานิสงส์ปีใหม่เมืองและคำเวนทานปีใหม่(ทวี เขื่อนแก้ว ,๒๕๔๑, หน้า ๗๐) กล่าวถึงตำนานปีใหม่เมืองไว้ว่า ธรรมบาลกุมาร บุตรของมหาเศรษฐี อายุเพียง ๗ ขวบ เป็นผู้ฉลาดหลักแหลม เรียนรู้ภาษาสรรพสัตว์ จนเป็นที่เรื่องลือไปทั่ว ท้าวกบิลพรหมผู้อยู่บนสรวงสวรรค์จึงลงมาถามปัญหา ๓ ข้อ ว่า "ตอนเช้า กลางวัน และกลางคืนศรีของคนอยู่ที่ไหน" โดยให้เวลา ๗ วัน ท้าวกบิลพรหมจะลงมาเอาคำตอบ ถ้าหากธรรมบาลกุมารตอบปัญหาไม่ได้จะต้องถูกตัดหัว และถ้าหากตอบถูกท้าวกบิลพรหมจะยอมถูกตัดเศียร เวลาล่วงมาได้เกือบ ๗ วัน ธรรมบาลกุมารยังไม่ได้คำตอบ แต่เผอิญไปนั่งอยู่ไต้ต้นไม้ต้นหนึ่งได้ยินเสียงนกคุยกันว่า "ตอนเช้าศรีอยู่ที่ใบหน้า กลางวันอยู่ที่หน้าอก และกลางคืนอยู่ที่เท้า" ครบวันที่ ๗ จึงนำคำตอบนี้ตอบแก่ท้าวกบิลพรหม และเป็นคำตอบที่ถูกต้อง ท้าวกบิลพรหมจึงยอมถูกตัดเศียร แต่เศียรของท้าวกบิลพรหมนั้นมีอานุภาพร้ายนัก หากตกใส่แผ่นดินก็จะเกิดอัคคีไหม้ทั่วทั้งแผ่นดิน หากตกลงในน้ำ น้ำก็จะแห้งขอด หากตกในอากาศ ฟ้าฝนก็จะไม่ตกเกิดความแห้งแล้ง
ท้าวกบิลพรหมจึงให้ลูกสาวทั้ง ๗ นางนำเศียรใส่พานไปไว้ในถ้ำคัณธธุลีในเขาไกรลาศ และเมื่อครบปีให้ธิดา ๗ นาง ผู้เป็นลูกผลัดกันอัญเชิญออกมาแห่ในช่วงสงกรานต์ เพื่อให้ผู้คนในโลกมนุษย์รับรู้ถึงการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ปีใหม่
            เรื่องธรรมบาลกุมารนี้ เข้าใจว่าล้านนารับอิทธิพลมาจากไทยภาคกลาง แต่ผลจากการศึกษาการชำระปฏิทินล้านนาโดยนักวิชาการร่วมกับปราชญ์ท้องถิ่น (ยุทธนา นาคสุข, ๒๕๔๖, หน้า ๔๔) พบว่า อดีตคติของชาวล้านนาให้ความสำคัญต่อขุนสังขานต์ ในลักษณะบุคลาธิษฐาน หมายถึงพระอาทิตย์ เป็นสุริยะเทพ และจากคัมภีร์สุริยยาตร์ได้กล่าวถึงการล่องของสังขานต์ในแต่ละปีนั้น มีขุนสังขานต์เป็นตัวเอก และมีนางเทวดามารอรับขุนต์สังขานต์ การล่องของขุนสังขานต์มีความยิ่งใหญ่อลังการ และมีบุคลิกลักษณะที่แตกต่างกันไป ตามวันที่สังขานต์ล่องในแต่ละปี เช่น สีเครื่องนุ่งทรง เครื่องประดับ การถือสิ่งของในแต่ละมือ อิริยาบถ พาหนะ ทิศการเสด็จ ฯลฯ และคำทำนายมีอิทธิพลต่อ ประเพณีปีใหม่เมือง
ความเปลี่ยนแปลงของโลกมนุษย์ เช่น เหตุการณ์สำคัญ ศึกสงคราม ของถูกของแพง ปริมาณน้ำฝน พืชพรรณธัญญาหาร เป็นต้น จากการศึกษาดังกล่าว พบว่าไม่มีการกล่าวถึงหรือให้ความสำคัญต่อท้าวกบิลพรหมและนางสงกรานต์เลย
 
            ตำนานเกี่ยวกับการกำเนิดปีใหม่เมือง ปรากฏในธรรมพื้นเมืองเรื่อง "อานิสงส์ปีใหม่เมือง" ซึ่งมีหลายสำนวน สำนวนที่ร้านภิญโญ ตลาดหนองดอก อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน จัดพิมพ์เผยแพร่เพื่อใช้ในการเทศนาเนื่องในประเพณีปีใหม่เมือง กล่าวถึงการกำเนิดของปีใหม่เมืองไว้ว่า

            ที่นี่จักกล่าวยังตำนานปีใหม่ก่อนแล ผู้มีผญาพึงจักรู้ดังนี้เทอะ

            อตีเต กาเล ในอตีตาล่วงแล้วมาก่อนนั้น ยังมีเศรษฐีสองผัวเมียมีข้าวของสัมปัตติมากนัก เท่าว่าบ่มีลูกเต้าบุตตาบุตรีไว้สืบตระกูลแล ที่ใกล้บ้านเศรษฐีนั้นยังมีผัวเมียแถมคู่หนึ่ง ทุกข์ยากไร้อนาถาหาเช้ากินค่ำ  อันว่าสองผัวเมียนี้เล่า ยังมีลูกเต้าไว้สองคนพี่น้อง ชายผู้เป็นพ่อนั้นมักจักถงเหล้าบ่ขาดทั้งวันก็มีแล ยังมีในวันหนึ่งชายผู้นั้นมันได้ถงเหล้ามากนัก มันก็กล่าวซึ่งเศรษฐีนั้นว่า

            ดูราท่านเศรษฐีเหย ท่านนี้นามั่งมีข้าวของเงินคำสัมปัตติมากเท้า หากว่าบ่มีประโยชน์เล่าอันใด ส่วนว่าตัวเรานี้นา ถึงจักทุกข์ไร้ก็ยังดีกว่าท่านมากนัก  เหตุว่าเรานี้มีลูกไว้สืบแทนตระกูลแล ส่วนอันว่าเศรษฐีนั้นกล่าวว่า ถึงเราบ่มีลูกเต้าหญิงชาย เราก็มีข้าวของหลายไว้จ่ายใช้ บ่หันว่าจักได้เคืองขีแลนาท่านเฮย

            ส่วนว่าชายขี้เหล้านั้น มันก็จาคำไปว่า ดูราท่านเศรษฐี หากว่าท่านได้ตายหนีไปหน้า อันว่าข้าวของเงินคำทั้งหลาย ก็จักเป็นของสาธารณ์ดายปางเปล่าแลนาท่านเฮย

             เมื่อนั้นชายเศรษฐีได้ยินคำชายผู้นั้นกล่าวดั่งนั้น ก็มีใจใคร่ได้ยังลูกไว้สืบแทนตระกูล ก็พากันไปกระทำยังพลีกรรมกราบไหว้ ใต้ต้นไม้โพธิ์ไทร วิงวอนขอลูกเต้า ต่อรุกขเทวดาเจ้าก็มีแล ส่วนว่ารุกขเทวดาอันรักษาอยู่ต้นไม้ รู้ว่าเศรษฐีมีศีลมีธรรมบ่ขาดดั่งอั้น ก็ไปจาบอกเล่าต่อตนอินทราเจ้าได้รู้ชุประการ ส่วนว่าพญาอินทรารู้แล้วก็บ่ช้า รีบเสด็จไปกราบไหว้ ขอเทวบุตรเจ้าตนมีบุญลงมาเกิด เอากำเนิดในท้องนางเศรษฐี ครั้นว่าสิบเดือนมีมารอดแล้วเล่า นางก็ประสูติลูกเต้าเป็นชาย พ่อแม่จึงใส่ชื่อหมายไว้ว่าธรรมปาละ อาจารย์เจ้าทั้งหลายกล่าวไว้ว่า นามนี้เป็นผู้รักษาธรรมก็เพื่ออั้นแล

             ในกาลไปภายหน้า เจ้าธรรมปาละนั้นก็ได้เรียนยังสรรพสิปปา อันว่าเจ้าธรรมปาละนั้นมีผญาองอาจ จบฉลาดไตรเพททั้งมวลแล สมัตถะรู้ยังเสียงสัตว์ต่างๆ นานาได้ชะแล

             ตทา ในกาลนั้นเล่า ยังมีมหาพรหมเจ้าชื่อกปิลตนองอาจ รู้ว่าเจ้าน้อยนาฏธรรมปาลกุมาร มีผญาเชียงคราญจบฉลาด ท้าวตนองอาจก็มาอิจฉาขอยมากนัก ก็รีบเสด็จมาสู่ ยังที่อยู่ธรรมปาลบ่ช้า แล้วก็เอ่ยถามยังปริศนา ว่า

             ดูรากุมารเหยหนุ่มเหน้า เรารู้ว่าเจ้านี้มามีผญาฉลาด เหตุนั้นเราใคร่ถามยังปริศนา ครั้นว่าเจ้านี้เล่าสมัตถะแก้ได้ เรานี้ไซร้จักตัดหัวเราหื้อขาด ครั้นว่าเจ้านี้บ่อาจแก้ได้ยังปริศนา รอดเจ็ดวันมาครบไคว่แล้วดังอั้น คอแห่งเจ้านั้นเที่ยงว่าจักขาดตายเป็นผี อันว่าปริศนามีดังนี้เล่า คือยามเช้าสิริหรือราศีคนเราอยู่ที่ไหน บทถัดไปว่ายามกลางวันสิริหรือราศีคนเราอยู่ที่ไหน บทถ้วนสามถัดไป ว่ายามค่ำนั่นเล่า สิริหรือราศีแห่งคนหนุ่มเฒ่าอยู่ที่ไหนนั้นชา

             ครั้นว่าท้าวกปิลมหาพรหมจากล่าวแล้ว ก็รีบคลาดแคล้วหายไปก็มีแลนา ที่นั้นธรรมปาลกุมารนั้นเล่า ได้ฟังปริศนาแห่งพรหมเจ้าไขปัน ก็มีใจตันกีดช้อม เหตุบ่อาจแก้ยังปริศนานั้นได้ ตราบต่อเท่ารอดเจ็ดวันไคว่เทิงมา ธรรมปาลนั้นนาคิดฉันใดก็บ่ออก เป็นดั่งมีหนามมายอกหัวใจ เจ้ารีบคลาไคลไปยั้งอยู่ ที่ไต้ต้นไม้โพธิ์ไทรคู่ใหญ่กว้าง อันเป็นที่อยู่สร้างแห่งสกุณาทั้งหลายก็มีแล

             ที่นั้นยังมีนกหัสดิลิงค์สองตัวผู้แม่ ตัวใหญ่แท้มีงวงงาดังช้าง ก็มาอยู่สร้างในรังมัน ที่นั้นนกตัวแม่ก็จาคำไปว่า

             ดูราสูเหย วันพรูกนี้ก็หากเป็นวันศีล เราจักไปหากินที่ใดกันนี้ชา ที่นั้นนานกตัวผู้ ก็กล่าวอู้ว่าวันพรูกนี้มารอด สองเรานี้บ่ต้องจักไปสอดแดนไกล เหตุว่าเราจักได้กินชิ้นมนุสสา ด้วยเหตุว่าเจ้าบุญหนาธรรมปาลกุมารนั้นไซร้ บ่อาจแก้ปริศนาได้ อันท้าวกปิลมหาพรหมพันธนันไว้แต่หัวทีนั้นแล

             ที่นั่นนกตัวแม่นั้นก็ย้อนถามนกตัวผู้ ว่าปริศนานั้นมีอยู่ฉันใดชา จงกล่าวจาบอกชี้ หื้อได้รู้แจ้งถี่เทอะราแด่เทอะ ส่วนนกตัวผู้ก็กล่าวว่า ปริศนานั้นมีสามข้อ จักย่อๆ พอเข้าใจ บทแรกเค้าหัวที่ว่า ยามเช้าสิริหรือราศีคนเรานี้อยู่ที่ไหน มีคำแก้ไขไว้ว่า ยามเมื่อเช้าสิริหรือราศีคนเรานั้นอยู่ที่หน้า เหตุนั้นคนโลกหล้าหญิงชาย ครั้นตื่นเช้ามา จึงเอาน้ำล้างหน้าเพื่ออั้นแล

             ปริศนาบทถ้วนสองนั้นเล่า ว่ายามเมื่อกลางวัน สิริหรือราศีคนเรา อยู่ไหน หากมีคำไขกล่าวแก้ ว่าสิริหรือราศีที่แท้หากอยู่ที่หน้าอก เหตุนั้นเล่าคนหนุ่มเฒ่าหญิงชาย ครั้นกาลยามสายเที่ยงแล้วดังอั้น จึงเอาน้ำเย็นใสสะอาด มาลูบลาดยังอกตน ก็เพื่ออั้นแลนา อันว่าปริศนาบทถ้วนสามนั้นเล่า ถามว่ายามแลงค่ำนั้นสิริหรือราศีคนเราอยู่ที่ไหน มีคำไขว่าเวลาค่ำนั้น สิริหรือราศีของคนเรานั้นอยู่ที่ตีน เหตุนั้นคนหญิงชายทั้งหลายนั้นเล่า ครั้นจักเจ้านอนพักผ่อนกายา จึงเอาน้ำมาซ่วยล้างตีนก็เพื่ออั้นแล

             นกหัสดีลิงค์สองตัวแม่ผู้ อันจากล่าวอยู่บนต้นไม้ อันว่าเจ้าหน่อไท้ธรรมปาลนั้นเล่า อันนอนอยู่พื้นเค้าโพธิ์ไทร ครั้นได้ยินคำไขกล่าอู้ แห่งนกสองตัวผู้แม่ ก็รู้แจ้งแก่ยังปริศนานั้นชุอันๆ ก็มีแล

             ครั้นว่าวันถ้วนเจ็ดมารอดแล้ว ท้าวต้นแก้วกปิลมหาพรหมก็เสด็จมาสู่ ไปที่อยู่ธรรมปาลกุมาร เพื่อจักขอฟังยังคำกล่าวแก้ปริศนา อันได้สัญญาว่าไว้ ส่วนเจ้าหน่อไท้ธรรมปาลกุมาร ก็ไขยังปริศนานั้นได้ชุประการ

             ยามนั้นท้าวกปิลมหาพรหมตนองอาจ รู้ว่าหัวตนจักขาดไปจากบ่า ก็เรียกยังลูกหล้าทั้งเจ็ดนางมาหา แล้วก็สั่งจาว่าไว้ หื้อรู้เสี้ยงไคว่ตามมี ว่าครั้นหัวพ่อนี้ขาดแล้ว หื้อลูกแก้วเอาขันมาใส่ไว้ อย่าหื้อได้ตกลงไปภายใด ครั้นว่าหัวพ่อนี้ตกลงใส่ปฐวี จักเป็นอัคคีไฟลุกไหม้ ครั้นว่าตกลงใส่สาคร น้ำจักแห้งเขินเป็นเกาะดอนบ่ช้า ครั้นว่าเอาโยนขึ้นฟ้าภายบน ฟ้าฝนจักบ่ตกแถ้ง บ้านเมืองจักแห้งแล้งบ่มีประมาณ เหตุดั่งอั้นหื้อนงคราญลูกพ่อไท้ หื้อผลัดเปลี่ยนกันเอาขันใส่ไปไว้ที่ในถ้ำใหญ่เขาไกรลาส อย่าหื้อขาดชุปีแด่เทอะ

             ครั้นว่าท้าวกปิลพรหมจาบอกเล่าลูกทั้งเจ็ดนางแล้ว ก็เอาดาบแก้วตัดยังคอตนบ่ช้า แล้วยื่นยังหัวหื้อนางหน่อหล้าธิดา อันมีนามาชื่อสร้อย ว่านางอ่อนน้อยทุงสเทวี อันทรงรูปงามดีผู้เค้า เอาขันใส่ยังหัวพ่อเจ้าแห่แหนกันไป สู่ดงไพรเขาไกรลาส บ่ได้ขาดชุวันปีใหม่ก็มีหั้นแล

             อันว่าราชธิดาแห่งท้าวกปิลพรหมทั้งเจ็ดนั้นเล่า นางผู้เป็นเค้าชื่อทุงสเทวี นางผู้ถ้วนสองชื่อนามมีว่าโคราสัสสา นางผู้ถ้วนสามนั้นนาชื่อราคะสัสสะ นางผู้ถ้วนสี่ชื่อมณฑาเทวีหน่อเหน้า นางผู้ถ้วนห้านั้นเล่าชื่อสิริณียอดสร้อย นางผู้ถ้วนหกชื่อนางอ่อนน้อยกิมินทาหน่อไท้ นางผู้ถ้วนเจ็ดนั้นไซร้ชื่อมโหตระบุญหนา ครั้นว่าสังขารมาไคว่รอด นางแก้วยอดทั้งหลาย ก็ผลัดเปลี่ยนกันเอาขันใส่ ยังหัวพรหมพ่อไท้แล้วแห่แหนกันไปบ่ขาดชุปี ก็มีแลนา (ธรรมพื้นเมืองเรื่อง "อานิสงส์ปีใหม่เมือง" ร้านภิญโญ ตลาดหนองดอก อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน)
 
 
Northern Thai Information Center (NTIC),
Chiang Mai University Library in collaboration with Information Technology Service Center
239 Huay Kaew Rd., Mueang District, Chiang Mai, Thailand 50200
Tel: +66 (0) 5394 4514, +66 (0) 5394 4517 email: ntic@lib.cmu.ac.th
Copyright © 2009-2016 Chiang Mai University. All Rights Reserved.