Tha Thai Version Eng Version Eng  
     
˹á лླբͧҹ ླҹ ҹླҹ 㹾Ըաҹ ػФس ԧǢͧ
 
 
 
 
แบบสอบถามความคิดเห็น
 
Last update: 07/19/2012
 
 
สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์
เว็บไซต์และฐานข้อมูลประเพณีล้านนา โดย
สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
และ
สำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

อนุญาตให้ใช้ได้ตาม
สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ
แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง
 
by
ประเพณีปีใหม่เมือง
วันปากปี
             วันปากปี๋ วันที่สี่ของประเพณีปีใหม่ จัดว่าเป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งในเทศกาลปีใหม่ ถือเป็นวันแรกของปี วันนี้คนล้านนาจะกินแกงขนุนกันทุกครอบครัว เพราะเชื่อว่าจะหนุนชีวิตให้เจริญก้าวหน้า ช่วงสายๆชาวบ้านจะมารวมตัวกันที่ใจบ้าน เพื่อทำบุญเสาใจบ้าน หรือส่งเคราะห์บ้าน บางแห่งอาจจะต่อด้วยพิธีสืบชะตาหมู่บ้าน และพากันไปขมาคารวะ ดำหัว พระเถระผู้ใหญ่ตามวัดต่างๆ ในตอนค่ำของวันนี้จะมีการบูชาเทียน สืบชะตา ลดเคราะห์ รับโชค เพื่อให้เกิดความเป็นมงคลแก่ครอบครัว
 
กินแกงขนุน

            ในวันปากปีดังกล่าว มีความเชื่อของคนล้านนาอีกอย่างหนึ่งที่น่าสนใจคือ การที่ทุกหลังคาเรือนจะมีการทำอาหารที่เหมือนกันเกือบทุกบ้าน คือการทำแกงขนุน หรือภาษาชาวบ้านเรียกว่า "แก๋งบ่าหนุน" โดยเชื่อกันว่า เมื่อได้ทานแกงดังกล่าว
 
 
            จะช่วยส่งหนุนให้เกิดความเจริญรุ่งเรือง ประกอบกิจการงานใดก็สำเร็จผล มีคนมาอุดหนุนค้ำจุนอีกทั้ง เกิดสิริมงคลในครอบครัว ทั้งนี้เหตุผลของการทานแกงขนุนดังกล่าว อาจจะมาจากชื่อขนุน ที่มีความหมายถึงการเกื้อหนุน ค้ำจุน ครอบครัวให้เจริญรุ่งเรืองหรือตลอดปีของคนล้านนา (น้อย ปราใจประเสริฐ. ชาวบ้านแม่อีด ตำบลเชียงดาว อำเภอชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่, สัมภาษณ์, ๑๘ มกราคม ๒๕๕๒)
 
บูชาข้าวลดเคราะห์

            ในช่วงเช้าของวันปากปี พิธีกรรมจะเริ่มต้นที่วัดของแต่ละหมู่บ้าน ซึ่งเรียกว่า การบูชาข้าวลดเคราะห์ เป็นการนำเอาข้าวมาปั้นเป็นก้อน จำนวน ๙ ก้อนหรือตามอายุของแต่ละบุคคล ต่อจากนั้นนำไปถวายแด่พระประธานและพระสงฆ์ในพระวิหาร ซึ่งบางแห่งเรียกพิธีกรรมนี้ว่า การบูชาเคราะห์ปีใหม่ หรือ บูชาสระเคราะห์ ในบางชุมชนหรือบางหมู่บ้านจะกระทำกันที่บ้านเรือนของตน โดยมีปู่อาจารย์จะมาทำพิธีให้ที่บ้าน ซึ่งเป็นอันเสร็จพิธีช่วงเช้าของวันปากปี แต่บางแห่งก็ไม่มีปรากฏพิธีกรรมดังกล่าวนี้เลย (โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา, ๒๕๕๑, หน้า ๓๑)
 
ส่งเคราะห์บ้าน

            พิธีส่งเคราะห์บ้าน เป็นพิธีทำบุญเสาใจบ้าน ใจบ้าน คือบริเวณที่ตั้งของเสาใจบ้าน หรือสะดือบ้าน ตั้งอยู่กลางหมู่บ้าน จะมีหลักไม้จำนวน ๕ ต้น บางแห่งมีหอพ่อบ้าน หรือต้นไม้ใหญ่เป็นสัญลักษณ์ เสาใจบ้านเป็นศูนย์รวมจิตวิญญาณของหมู่บ้าน ที่สิงสถิตของเหล่าเทพยาดาอารักษ์
ประเพณีปีใหม่เมือง พิธีการจะประกอบด้วย การจัดทำรั้วราชวัตร ประดับด้วยต้นกล้วย ต้นอ้อยและอื่นๆ อย่างสวยงาม แล้วเตรียมอาสน์สงฆ์ไว้ด้วย จากนั้นให้โยง ฝ้ายล้วงหรือด้ายสายสิญจน์จากเสาใจบ้านต่อ ๆ กันทุกหลังคาเรือน และจะทำแตะไม้ไผ่สานขนาด ๙๐ X ๙๐ เซนติเมตรจำนวน ๙ แผง แล้วใช้ดินเหนียว หรือแป้งข้าว ปั้นเป็นรูปสัตว์ เช่น ช้าง ม้า หมู เป็ด ไก่ เป็นต้น อย่างละ ๑๐๐ ตัว วางบนแตะนั้น พร้อมทั้งใส่เครื่องบูชาต่าง ๆ อันประกอบด้วย ข้าว อาหารคาวหวาน ผลไม้ต่าง ๆ กล้วย อ้อย หมาก พลู เมี่ยง บุหรี่ และให้ใช้ไม้ทำ หอกดาบแหลนหลาวหน้าไม้ปืนธนู วางบนแตะทั้ง ๙ นั้น
เพื่อเตรียมทำพิธีส่งเคราะห์บ้าน หรือพิธีส่งนพเคราะห์ทั้ง ๙ ซึ่งบางทัศนะคติของชาวล้านนาได้ให้ความหมายว่า เป็นการส่งให้แก่ท้าวเวสสุวัณณ์ ผู้เป็นเจ้าเป็นใหญ่ในหมู่ภูตผีปีศาจทั้งหลาย และเป็นท้าวโลกบาลผู้หนึ่งซึ่งมีหน้าที่ในการดูแลรักษาโลกให้เป็นปรกติสุข

หลังจากนั้นในช่วงเวลาประมาณ ๑๐:๐๐ น. ชาวบ้านก็จะเริ่มทยอยเข้ามาสู่บริเวณปะรำพิธี ซึ่งตั้งอยู่กลางหมู่บ้าน หรือใจบ้านในภาษาล้านนา เพื่อร่วมประกอบพิธีดังกล่าว โดยพิธีจะเริ่มที่แต่ละครอบครัว จะนำเอาเสื้อผ้าของสมาชิกทุกคนในครอบครัว และทรายกลางแม่น้ำมารวมไว้ตรงกลางปะรำพิธี พร้อมกับนำข้าวปลาอาหาร ขนมนมเนยที่เตรียมมาจากบ้าน มาใส่ไว้ในแตะทั้ง๙ แตะที่เตรียมไว้

อีกอย่างหนึ่งที่ขาดไม่ได้ในพิธีส่งเคราะห์ และสืบชะตาบ้าน คือ แต่ละบ้านหรือแต่ละครอบครัวจะโยงด้ายสายสิญจน์ไปรอบ ๆ บ้าน แล้วเอาไปผูกเชื่อมต่อกับบ้านใกล้เรือนเคียง โดยพิธีกรรมการส่งเคราะห์บ้านจะเริ่มจากปู่อาจารย์ จะทำการกล่าวโอกาสส่งเคราะห์ในแต่ละทิศ โดยการนำแตะไม้ไผ่ที่ประกอบไปด้วยเครื่องพลีกรรมต่างๆ ไปวางไว้ในแต่ละทิศจนครบทั้ง๘ ทิศและอีกหนึ่งแตะจะนำมาวางไว้ที่กลางปะรำพิธี จากนั้นปู่อาจารย์ก็จะเริ่มพิธีการส่งเคราะห์ โดยการกล่าวโอกาสส่งเคราะห์บ้าน
            หลังจากปู่อาจารย์กล่าวโอกาสส่งเคราะห์จบ ชาวบ้านผู้ร่วมในพิธีจะนำน้ำขมิ้นส้มปล่อยมาพรมที่ศีรษะของตนเองพร้อมกับสะบัดลงไปที่แตะจนครบทั้ง ๙ แตะ ถือเป็นการส่งเคราะห์ของตนเองลงไปในแตะดังกล่าว (รังสรรค์ จันต๊ะ และวิลักษณ์ ศรีป่าซาง, ๒๕๔๘; โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา, ๒๕๕๑, หน้า ๓๑ -๓๒)
 
สืบชะตาหมู่บ้าน

            หลังจากเสร็จสิ้นพิธีส่งเคราะห์บ้าน ต่อมาก็จะเป็นการสืบชะตาหมู่บ้าน โดยพิธีจะเริ่มที่ผู้นำหมู่บ้านจะทำการอาราธนานิมนต์พระภิกษุสงฆ์สามเณรจำนวน ๕ รูป ๗ รูปหรือ ๙ รูป(ตามแต่หมู่บ้านดังกล่าวนั้นจะมีพระภิกษุสงฆ์จำพรรษามากน้อยเพียงใด) เพื่อมาเจริญพุทธมนต์ซึ่งก่อนหน้าพิธีกรรมดังกล่าวปู่อาจารย์จะกระทำการขึ้นท้าวทั้งสี่ เพื่อเป็นสัญญาณให้ท้าวจตุโลกบาล รับรู้ถึงพิธีกรรมดังกล่าว อีกทั้งช่วยคุ้มครองการทำพิธีกรรมดังกล่าว ให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ซึ่งพิธีกรรมการขึ้นท้าวทั้งสี่ จะเป็นพิธีที่ต้องกระทำไม่ว่าจะเป็นงานมงคลหรืออวมงคลของคนล้านนา ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน จากนั้นเมื่อพระสงฆ์มาถึงปะรำพิธีที่ประกอบพิธีกรรม ปู่อาจารย์ก็จะนิมนต์พระสงฆ์ขึ้นนั่งบนอาสนะที่เตรียมไว้ โดยปู่อาจารย์จะเริ่มนำกล่าวไหว้พระสวดมนต์ พร้อมทั้งขอศีล จากนั้นปู่อาจารย์จะกล่าวอาราธนาพระปริตรเพื่อที่พระสงฆ์จะได้เริ่มสวดพุทธมนต์ โดยปู่อาจารย์จะนำด้ายสายสิญจน์ ที่โยงมาจากแต่ละบ้านและโยงมาจากกองเสื้อผ้า และกะละมังที่บรรจุน้ำขมิ้นส้มปล่อยให้แก่พระสงฆ์ผู้ทำพิธี มีการประเคนบาตรน้ำพุทธมนต์แก่พระสงฆ์รูปแรกผู้เป็นประธานสงฆ์ จากนั้นพระสงฆ์จะเจริญพุทธมนต์ เสร็จแล้วชาวบ้านจะถวายจตุปัจจัยแด่พระสงฆ์ พร้อมทั้งพระสงฆ์กล่าวอนุโมทนาพิธีเป็นอันเสร็จพิธี
 
 
            หลังจากพิธีส่งเคราะห์บ้านและสืบชะตาบ้านเสร็จสิ้น บรรดาชาวบ้านผู้มาร่วมพิธีจะแบ่งน้ำขมิ้นส้มปล่อย ที่พระสงฆ์ทำการเจริญพุทธมนต์เสร็จเรียบร้อยแล้ว และนำเอาเสื้อผ้าของตนพร้อมกับทรายกลางน้ำกลับบ้าน โดยนำทรายดังกล่าวไปหว่านบริเวณรอบๆ บ้านด้วยความเชื่อที่ว่า สามารถป้องกันภูตผีปีศาจและเป็นสิริมงคลแก่บ้านเรือนของตน ในส่วนของน้ำขมิ้นส้มปล่อย จะนำมาสรงน้ำพระบนหิ้งพระของตน ตลอดจนนำไปประพรมให้แก่ลูกหลาน ที่ไม่ได้ไปร่วมพิธีส่งเคราะห์ และสืบชะตาบ้านดังกล่าว ถือเป็นอันเสร็จพิธีส่งเคราะห์ และสืบชะตาบ้านในวันปากปีของล้านนา (โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา, ๒๕๕๑, หน้า ๓๒ )
 
ดำหัวผู้อาวุโส ผู้นำชุมชน

            วันนี้เป็นวันเริ่มดำหัวบุคคลสำคัญของชุมชน การดำหัวแบบนี้ นิยมร่วมกันทำทั้งหมู่บ้านโดยจะมีการปรึกษาหารือกันว่าจะไปดำหัวใครบ้าง เช่น คนแก่คนเฒ่าที่มีอายุมากที่สุดในชุมชน กำนัน พ่อหลวง นายอำเภอ ผู้ว่าราชการ ชาวบ้านทุกคนจะต้องนำของดำหัวมารวมกัน และจัดริ้วขบวน ฟ้อนรำแห่โหมประโคมฆ้องกลองกันอย่างเอิกเกริกงดงาม
            เครื่องพิธีสำหรับดำหัวนั้น ประกอบด้วย เครื่องเคารพซึ่งประกอบด้วยข้าวตอกดอกไม้ ธูปเทียน น้ำขมิ้นส้มปล่อย และของบริวารอื่น ๆ เช่น มะม่วงมะปรางแตงกวา กล้วยอ้อย ขนม ข้าวต้ม หมากพลู บุหรี่ หรือเงินทองใส่ไปด้วยก็ได้ หรืออาจจะมีเสื้อผ้า กางเกง ผ้าซิ่น ผ้าขนหนูหรือของที่ระลึกอื่น ๆ จัดตกแต่งใส่พานหรือภาชนะเรียบร้อยสวยงาม



หรือจะจัดอย่างพานบายศรี พุ่มดอกไม้ทำนองเดียวกับการแห่ครัวทาน (เครื่องไทยทาน)ก็ได้ และนิยมทำเครื่องสักการะล้านนา ประกอบด้วยต้นดอก ต้นผึ้ง ต้นเทียน หมากสุ่ม หมากเบง หอบอุ้มหรือหามแห่ไปในขบวน การไปดำหัวนี้จะไปตั้งแต่เช้าก็ได้แล้วแต่สะดวก แต่การไปดำหัวเป็นขบวน มักไปตอนเย็นประมาณ ๑๕.๐๐-๑๗.๐๐ นาฬิกา เพราะเป็นเวลาที่เย็นสบายไม่ค่อยร้อน เมื่อขบวนดำหัวไปถึงบ้านผู้อาวุโส ผู้เป็นหัวหน้าก็จะนำพานข้าวตอก ดอกไม้ ธูปเทียน และน้ำเข้าหมิ้นส้มปล่อยรวมทั้งของที่นำไปดำหัว ไปมอบให้ด้วยความเคารพ และกล่าวขอขมาลาโทษเป็นทำนองว่า



            "วันนี้เป็นวันเดือนชีปีใหม่หมู่ลูกหลานทั้งหลาย ได้มาขอขมาลาโทษพ่ออุ๊ย แม่อุ๊ย (หรือบอกชื่อผู้รับการดำหัว) แม้นว่าพวกข้าเจ้าทังหลายได้ปากล้ำคำเหลือ ล่วงเกินด้วยประการใด ๆ ก็ดี ขอพ่ออุ๊ย แม่อุ๊ย (หรือบอกชื่อผู้รับการดำหัว) ได้หื้อขมาลาโทษแก่ฝูงข้าเจ้าทังหลายด้วยเทอะ"
            ผู้รับดำหัวจะรับประเคนของแล้วเอาผ้าขาวม้าหรือผ้าสไบพาดบ่าแล้วให้พรด้วยโวหารว่า
            เอวังโหนตุ ดีแล อัชชะในวันนี้ ก็เป็นวันดี ศรีอันประเสริฐ ล้ำเลิศกว่าวันทังหลาย บัดนี้รวิสังขารก็ล่วงพ้นไปแล้ว ปีใหม่แก้วก็มารอดมาเถิง ลูกหลานทังหลายก็บ่ละเสียยังรีต บ่รีดเสียยังปาเวณี เจ้าทังหลายก็ได้น้อมนำมายังมธุบุปผาและสุคันโธทกะ สัพพะวัตถุนานาทังหลาย มาขอสมาคารวะตนตัวผู้ข้า ว่าฉันนี้แท้ดีหลี
แม้นว่าเจ้าทังหลายได้ปากล้ำคำเหลือ ขึ้นที่ต่ำ ย่ำที่สูง ผิดด้วยกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ดั่งอั้นก็ดี ผู้ข้าก็จักอโหสิกรรมหื้อแก่สูเจ้าทังหลาย แม่นว่าสูเจ้าทังหลายจักไปสู่จตุทิสสะ อัฐทิสสะ วันตกวันออกขอกใต้หนเหนือค้าขายวายล่อง ท่องเทียวบ้านเมือง และอยู่บ้านชองหอเรือนก็ดี จุ่งหื้ออยู่ชุ่มเนื้อเย็นใจ หื้อเป็นที่ปิยะมะนามักรักจำเริญใจแก่หมู่คนและเทวดา แล้วจุ่งหื้อก้านกุ่งรุ่งเรืองไปด้วยโภคะธนะธนัง ข้าวของเงินคำสัมปัตติทังหลาย แม่นจักกินก็อย่าหื้อได้ผลาญ จักทานก็อย่าหื้อได้เสี้ยง หื้อมีอายุยืนยาวนั้นแท้ ดีหลี สัพพี ติโย... อายุ วัณโณ สุขัง พลัง
            เมื่อผู้ให้พรกล่าวจบต่างก็ยกมือจรดเหนือหัวพร้อมเปล่งเสียง "สาธุ" พร้อม ๆ กัน เสร็จแล้วผู้รับการดำหัว ก็จะรับธูปเทียนไปใส่ในพานใหญ่ที่เตรียมไว้ เอามือจุ่มลงในน้ำขมิ้นส้มปล่อยแล้วลูบศีรษะของตน เป็นกิริยาว่าได้ดำหัวแล้ว และนำน้ำขมิ้นส้มปล่อยเทลงในขัน ต่อจากนั้นมีการรดน้ำผู้ที่เคารพหรืออาจมีการสนทนาสักครู่หนึ่ง ฝ่ายที่ไปคารวะก็จะลากลับแต่หากเจ้าภาพจะไปเลี้ยงดูคารวะแล้ว การเลี้ยงก็จะเริ่มตั้งแต่ตอนนี้เป็นต้นไป อนึ่งการดำหัวนี้ไม่นิยมกระทำก่อนวันพญาวัน และควรกระทำให้เสร็จสิ้นหลังช่วงสงกรานต์ไม่เกินเจ็ดวัน (โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา, ๒๕๕๑, หน้า ๒๙-๓๑; สงวน โชติสุขรัตน์ม, ๒๕๑๕, หน้า ๑๘-๒๓)
 
บูชาเทียนปีใหม่

            ในช่วงค่ำ จะเป็นพิธีกรรมในส่วนของครอบครัวที่จะกระทำกันในบ้านเรือนของตน พิธีกรรมดังกล่าวคือ การจุดเทียนบูชาบ้านเรือนหรือคนล้านนาเรียกว่า ต๋ามเตียนปู่จาพระเจ้า

โดยเทียนดังกล่าวจะมีอยู่สามเล่ม คือ เทียนบูชาลดเคราะห์ เทียนบูชาสืบชะตา และเทียนบูชาโชคลาภ บางท้องถิ่นจะมีการ "ต๋ามขี้สายเท่าอายุ" (การจุดเส้นไฟเท่าจำนวนอายุ) ขี้สายหรือเส้นไฟนี้จะทำมาจากเส้นด้ายพื้นเมือง นำไปชุบขี้ผึ้งหรือไขมัน หรือน้ำมันมะพร้าว ปัจจุบันนิยมชุบน้ำมันพืชที่ใช้ในครัวเพราะง่ายดี พอค่ำลง ก็จะเอาขี้สายเท่าอายุไปจุดบูชาที่ลานพระธาตุเจดีย์ในวัด หรืออาจจุดที่ลานทรายหน้าพระวิหาร ตรงที่สายตาพระเจ้าตก หรืออาจจุดที่ลานบ้านของตัวเองก็ได้ การต๋ามขี้สายเท่าอายุนี้ บางท่านก็ว่า เป็นการเผาอายุสังขารเก่าให้พ้นไป บางท่านก็ว่าเป็นการเผาเสนียดจัญไร อุบาทว์ อาถรรพณ์ ขึดขวงต่างๆ ที่ติดตัวเรามาให้หมดสิ้นไป บางท้องถิ่นก็ให้เพิ่มขี้สายไปอีกเส้นหนึ่ง ถือว่าเป็นการสืบชะตาตัวเรา ให้รุ่งเรืองรุ่งโรจน์ประดุจเปลวไฟในปีใหม่ที่มาถึงนี้ (โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา, ๒๕๕๑, หน้า ๓๓)
 
ความเชื่อบางประการเกี่ยวกับวันปากปี

            วันปากปีควรกินข้าวกับแกงขนุน เพราะจะมีสิ่งดีๆ มาอุดหนุนค้ำจุนตลอดปี วันนี้นิยมสืบชะตา บูชาเทียนสะเดาะเคราะห์ รับโชค เพราะเชื่อว่าจะคุ้มครองไปตลอดทั้งปี ปลูกพืชพรรณไม้ผลวันนี้ก็เชื่อว่าจะได้ผลผลิตที่อุดมสมบูรณ์ (โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา, ๒๕๕๑, หน้า ๔๓; บัวผัน แสงงาม. ชาวบ้านหมู่ ๖ ตำบลเชียงดาว อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่, สัมภาษณ์, ๑๘ มกราคม ๒๕๕๒)
 
 
Northern Thai Information Center (NTIC),
Chiang Mai University Library in collaboration with Information Technology Service Center
239 Huay Kaew Rd., Mueang District, Chiang Mai, Thailand 50200
Tel: +66 (0) 5394 4514, +66 (0) 5394 4517 email: ntic@lib.cmu.ac.th
Copyright © 2009-2016 Chiang Mai University. All Rights Reserved.