Tha Thai Version Eng Version Eng  
     
˹á лླբͧҹ ླҹ ҹླҹ 㹾Ըաҹ ػФس ԧǢͧ
 
 
 
 
แบบสอบถามความคิดเห็น
 
Last update: 07/19/2012
 
 
สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์
เว็บไซต์และฐานข้อมูลประเพณีล้านนา โดย
สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
และ
สำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

อนุญาตให้ใช้ได้ตาม
สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ
แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง
 
by
ประเพณีปีใหม่เมือง
วันพญาวัน
             วันพญาวัน วันที่สามของประเพณีปีใหม่เมือง ถือเป็นวันเถลิงศก เปลี่ยนศักราชเริ่มต้นปีใหม่ วันนี้มีการทำบุญทางศาสนาแต่เช้าตรู่ และอุทิศกุศลไปถึงญาติผู้ล่วงลับ เรียกว่า "ทานขันข้าว" บางแห่งว่า "ทานกวั๊ะข้าว" หลังจากนั้นนำตุงปักลงบนกองเจดีย์ทราย และคนเฒ่าคนแก่ก็อยู่ร่วมพิธีเวนทานเจดีย์ทราย ถวายช่อตุงปีใหม่ และฟังเทศนาธรรมอานิสงส์ปีใหม่ ช่วงบ่ายเป็นช่วงไปดำหัว เพื่อขอขมาคนเฒ่าคนแก่ พ่อแม่ ครูอาจารย์ ไปสรงน้ำพระพุทธรูป เจดีย์ วันนี้คนล้านนาจะทัดดอกไม้นามปี เพื่อให้เกิดความเป็นมงคลแก่ชีวิต เช่น พ.ศ. ๒๕๕๒ ให้ทัดดอกเก็ดถว๋า (ดอกซ้อน) โดยให้เสียบที่มวยผม (พระครูอดุลสีลกิตติ์, ๒๕๕๑, หน้า ๔) นอกจากนี้ ยังนิยมเริ่มต้นเรียนศาสตร์ศิลป์ต่างๆ เป็นต้นว่า มนต์คาถา สักยันต์ หรือทำพิธีสืบชะตา ขึ้นบ้านใหม่ ไหว้ครู และในหลายพื้นที่ยังมีกิจกรรมแห่ไม้ค้ำศรี หรือไม้ค้ำโพธิ์ เพื่อสืบต่ออายุพระศาสนา และค้ำชูอุดหนุนให้แก่ชีวิตเจริญรุ่งเรือง
 
ทานขันข้าว

            การทานขันข้าว เป็นการถวายอาหารให้แก่ผู้ที่ล่วงลับ อาจเป็นของที่ผู้ตายชอบทาน หรืออาหารขนมทั่วไป ใส่ในถาดหรือตะกร้าและมีซองปัจจัยเขียนคำอุทิศไว้หน้าซอง
เช่น ศรัทธานายปั๋น นางคำ อุทิศถวายแด่แม่อุ้ยแก้ว ผู้ล่วงลับ บางคนก็จะถวายเป็นบุญสำหรับตัวเองเรียกว่าทานไว้ภายหน้า หมายเอาว่าสะสมกองบุญไว้สำหรับตัวเองในอนาคต หรือในปรโลกถ้าเผื่อบางทีไม่มีผู้ที่จะทำบุญอุทิศไปหาเรา บางคนถวายทานแด่ เจ้ากรรมนายเวร เทวบุตร เทวดา พ่อเกิด แม่เกิด ฯลฯ แล้วแต่จิตศรัทธา บัวผัน แสงงาม ชาวบ้านหมู่ 6 ตำบลเชียงดาว อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่, สัมภาษณ์ ๑๘ มกราคม ๒๕๕๒)
            การทำบุญอุทิศไปหาผู้ล่วงลับไปแล้วนี้ หากจะทานไปหาผีตายเก่าเน่านานที่ตายธรรมดา ก็จะเข้าไปถวายในวัด แต่หากผู้ล่วงลับไปแล้วเป็นผีตายโหง เป็นผีตายร้าย ไม่ได้ตายดี ก็จะทานขันข้าวนอกวัด คือนิมนต์พระภิกษุหรือสามเณรออกมารับทานที่นอกกำแพงวัด เพราะถือว่าผีตายร้ายผีตายโหงและตายไม่ดีอื่นๆ เข้าไปในเขตวัดไม่ได้ (โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา, ๒๕๕๑, หน้า ๒๔)

            วันนี้พระภิกษุสามเณรเองก็ต้องตื่นแต่เช้ามากๆ เช่นเดียวกัน เพราะชาวบ้านมักนิยมมาทำบุญทานขันข้าวมากว่าปกติ บางครั้งพระสงฆ์อาจจะแยกย้ายกันทำพิธีเช่นว่านี้หลายแห่ง ตามกุฏิพระ ศาลาวัด วิหาร ศาลาบาตร ตามมุมต้นไม้ต่าง ๆ เนื่องจากผู้คนมาทานขันข้าวในวันพญาวันมากกว่าวันพระและวันศีลปกติ เสียงพระให้พรดังไปทั่วบริเวณที่ผู้คนมาทานขันข้าว เด็กวัดหรือ "โขยม" ตามภาษาล้านนา ช่วยกันขนของที่ผู้คนนำมาถวายพระไปเก็บ การทานขันข้าวนี้ไม่จำกัดว่าจะต้องทานเฉพาะพระสงฆ์เท่านั้น บางคนอาจนำไปทาน ให้แก่พ่อแม่ ปู่ย่าตายาย ผู้เฒ่าผู้แก่หรือผู้ที่ตนเคารพนับถือ เรียกว่า "ทานขันข้าวคนเฒ่าคนแก่" หรือ บางพื้นที่มีการนับถือผีปู่ย่า ซึ่งเป็นผีบรรพบุรุษ ผีเสื้อบ้าน สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คนในพื้นที่นับถือ ผู้คนก็จะนำขันข้าวนี้ไปถวายด้วยเพื่อขอปกปักษ์รักษาให้ทุกคนอยู่ดีมีสุข และถือเป็นการสุมาคารวะในช่วงปีใหม่เมือง (เจริญ มาลาโรจน์, สัมภาษณ์, ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๒)
ตุงไส้หมู
 
ทานตุงปีใหม่

            หลังจากทานขันข้าว บ้างก็กลับบ้านนำเอาธงหรือตุงไปปักพระเจดีย์ทราย บ้างก็ให้ลูกหลานเป็นผู้นำมาปักที่กองเจดีย์ทรายตรงลานวัด บางแห่งก็นิยมนำน้ำใส่ขันสะหลุงมาบูชารดลงที่กองเจดีย์ทรายนั้นด้วย การถวายทานด้วยตุงปีใหม่นี้ มีคติว่าการทานตุงนั้นมีอานิสงส์ สามารถช่วยให้ผู้ตายที่
มีบาปหนักถึงตกนรกนั้นสามารถพ้นจากขุมนรกได้ โดยหางตุงหรือชายตุงจะกวัดแกว่งไปถึงยมโลก ให้ผู้ที่ตกนรกนั้นเกาะชายตุงขึ้นสู่สวรรค์ ในการทำบุญอุทิศเจดีย์ทรายหรือทุงนั้น"ปู่อาจารย์"หรือมัคนายกจะกล่าวนำศรัทธาประชาชนไหว้พระรับศีล และอาราธนาพระปริตร พระสงฆ์จะเจริญพระพุทธมนต์แบบย่อพอควรแก่เวลา จากนั้นปู่อาจารย์จะโอกาสเวนทานถวายเจดีย์ที่ศรัทธาประชาชนรวมกันสร้างขึ้น ดังมีคำกล่าวโอกาสเวนทานสำนวนหนึ่งดังนี้
            วันนี้เป็นวันดีปีใหม่ เถิงขวบไคว่พระญาวัน เป็นผู้เข้าใจหันเลยหลิ่งหลู้ คึดขวาดรู้มาหลายพากันขนดินทรายมาสู่วัดเล่า ทำเป็นรูปพระเจ้าเรียกว่าเจดีย์ทราย ได้ยกสัตว์ในอบายออกมาเป็นอันมาก ตามดั่งธัมม์พระพุทธเจ้าหากเทศนา ในอดีตกาละเมื่อก่อน บ่ใช่เป็นความซ่อนลี้ อันมีเป็นความจริง ยังมีมนุสส์ชายญิงในโลก กระทำบาปแล้วไปบังเกิดในอบาย มีพระบุญผายผ่านเผ้า นามกรเจ้าชื่อว่ามหาเถรเทพมาลัย ท่านได้เดินไปกรายแลไปใกล้ สัตต์ในอบายเลยสากราบไหว้ท่านตนบุญมี ขอพออุดหนุนอินดูผู้ข้า หื้ออว่ายหน้าไพสู่ทางดี ที่นั้นลูกสิกข์พระมุนีตนผ่านเผ้าก็ได้ถามว่า สูเจ้ากระทำบาปเยื่องใดพ่องจา ฝูงสัตว์อบายก็เจียรจาตอบต้าน กล่าวชอบตามกรรมมี เมื่ออยู่ในโลกีย์โลกห้อง กระทำบาปไว้พร้อม ต่าง ๆ นานา ที่เขาได้กระทำมาต่อหน้ามหาเถรเจ้า เขาก็ยกมือสาใส่เกล้า จักหื้อหมู่พี่น้องเมืองคน กระทำบุญอย่างใดเล่าจักได้พ้นจากอบายนี้ชา เขายกมือสาก้มกราบ ว่าข้าเจ้าขอฝากยังข่าวสาร ที่ข้าเจ้าอยู่บ่สำราญไปบอก แก่ชาวเมืองนอกชมพูพ่อเชื้อเผ่าวงศ์วาน อันลูกหลานฝูงเป็นเปรตผี อันอยู่ยังโขงเขตอบาย หื้อสูเจ้าทังหลายกระทำบุญไปบ่ขาด หื้ออุทิศบุญนั้นฝากไปหา ฝูงญาติกาเขาเจ้า อันหนึ่งเล่าหื้อสูเจ้าได้สร้างเจดีย์ทราย หื้อมีจิตใจผ่องแผ้ว เอาไปไว้ที่ข่วงแก้วทังสาม หื้อแปลงใจบานงามสะอาด แล้วหื้ออังเชิญสารีริกธาตุ อันมีในหมื่นโลกธาตุจักรวาล อังเชิญมาประดิษฐานเจดีย์ทรายที่สร้างไว้ พอหื้อครบเจ็ดวันนี้ไซร้ สัตตเม ทิวเส ครั้นนครบเจ็ดวันมาไคว่ ฝูงเม็ดทรายน้อยใหญ่ขอเป็นทรายตามเดิม ส่วนหมู่ฝูงญาติพี่น้อง ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างญาติของตน ได้ยินพี่น้องพระมหาเถรมาลัยบอกกล่าว ฝูงพี่น้องเล่าเลยมีปสาทศรัทธา พากันขนดินทรายมาก่อไว้ในข่วงแก้วทังสาม พากันทานอุทิศไปรอด ชู่ปูนจอดติถี เป็นวันดีใสบ่เส้า พวกเขานั้นเล่าก็พ้นจากอบาย ด้วยกุศลผลบุญอันญาติพี่น้องทังหลาย ได้ทานเจดีย์ทรายอุทิศส่วนกุศลไปหื้อเขาเจ้า เพราะเหตุนี้ ศรัทธาผู้ข้าทังหลาย ทังญิงชายหนุ่มเฒ่าก็ได้สร้างเป็นประจำปีเล่าเป็นลำดับมา แม้นศรัทธาผู้ข้าทังหลายได้สร้างเจดีย์วันนี้ไซร้ ขอเกิดผลได้ดีงาม เป็นแป้นกระดานคำอันใหญ่ ขอให้ไปปิดไว้ยังประตูอบาย ขออย่าได้ไปกลายแลไปใกล้ ขอพลันได้รอดพ้นอบาย ไปจุจอด เวียงแก้วยอดเนรพาน
            อิมานิ มยํ ภนฺเต วาลุกานิ สปริวารานิ ติรตนสฺส โอโณชยาม สาธุโณภฺนเต ติรตนํ ปฏิคณฺหาตุ อมฺหากัง ทีฆรตฺตํ หิตาย สุขายะฯ
(โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา, ๒๕๕๑, หน้า ๒๕-๒๖)
 
แห่ไม้ค้ำศรี ไม้ค้ำโพธิ์

            ในวันพญาวันนี้ บางท้องที่นิยมทานไม้ค้ำศรี (ไม้ค้ำโพธิ์) ไม้ค้ำศรี(ออกเสียงว่าสะหลี)จะเป็นไม้ง่าม อาจทำมาจากไม้สัก ไม้ประดู่ ไม้ฉำฉา หรือไม้เนื้อแข็งแกะสลักสวยงาม จะมีกรวยดอกไม้ธูปเทียน และกระบอกไม้อ้อ หรือไม้ไผ่บรรจุน้ำ และทรายผูกติดกับไม้ง่ามไปด้วย ตรงบริเวณง่ามของไม้ก็จะมีหมอนรองไว้
ประเพณีปีใหม่เมือง

เชื่อว่าจะหนุนค้ำจุนพระศาสนา ให้อยู่ยืนยาวตลอดไปตลอดห้าพันพระวัสส   การทานไม้ค้ำศรีนี้ถือคติว่า

๑. เพื่อเป็นสัญลักษณ์ในการค้ำชูพระศาสนาให้ยาวนานต่อไป
๒. เพื่อเป็นการสืบชะตา ค้ำอายุตัวเอง และเสริมศิริมงคลในวันขึ้นปีใหม่

            ในบางวัดมีต้นโพธิ์ใหญ่กิ่งก้านสาขามากมาย ได้โอกาสนี้ใช้ไม้ค้ำโพธิ์ยึดค้ำกิ่งก้านสาขาไว้ไม่ให้โน้มลงมาจนกิ่งหักได้ (โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา, ๒๕๕๑, หน้า ๒๖)


            ต้นไม้ศรี หรือ ต้นโพธิ์ คือ ต้นไม้ที่พระพุทธเจ้าประทับอาศัยร่มเงา ในคืนที่ทรงพิจารณาสภาวธรรม และก่อนการตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จากหนังสือสังขยาโลก กล่าวถึงตำนานการค้ำโพธิ์ว่า อดีตมีพระภิกษุรูปหนึ่งออกธุดงค์ในป่าลึก ระหว่างทางเห็นต้นไม้แห้งตายต้นหนึ่งมีลำต้นสวยงาม คิดว่าจะนำต้นไม้ต้นนี้กลับไปที่วัดที่จำพรรษาอยู่ แต่ก็ได้มรณภาพไปเสียก่อน ด้วยเหตุนี้จิตจึงผูกพันกับต้นไม้นี้ จึงไปเกิดเป็นตุ๊กแกอยู่ในโพงไม้ต้นนี้ และตุ๊กแกได้ไปดลใจชาวบ้านให้รู้ว่าท่านเกิดเป็นตุ๊กแก และขอให้ชาวบ้านช่วยให้พ้นจากทุกข์ โดยการนำต้นไม้ต้นนี้ไปค้ำต้นโพธิ์ที่วัด ตุ๊กแกจึงพ้นจากความทุกข์และไปเกิดเป็นมนุษย์ในภพต่อมา ( รัตนา พรหมพิชัย, ๒๕๔๒ หน้า ๖๖๒๒)
            ด้วยความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับพุทธประวัติขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า และตำนานที่กล่าวมา ต้นโพธิ์จึงเป็นต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ ห้ามตัดฟันโดยเด็ดขาด และมีข้อห้ามตัดไม้ศรี ปรากฏในความเชื่อเรื่องขึด เรียกว่า "รานศรี" ชาวล้านนายังมักนำไม้ค้ำ สะพานเงิน สะพานคำ จากพิธีสืบชะตามาวางไว้บนค่าคบของต้นโพธิ์ เพราะเชื่อว่าจะทำให้มีอายุยืนยาว
 
ขบวนแห่ไม้ค้ำ


            ขบวนแห่มีการประโคมโหมแห่ด้วยเครื่องแห่พื้นเมือง เช่นแห่กลองมองเซิง แห่กลองปู่เจ่ แห่กลองสิ้งหม้อง ในขบวนจะมีพ่อบ้านแม่บ้านถือช่อ(ธงสามเหลี่ยม) หมากสู่ม หมากเบ็ง ต้นผึ้ง ต้นเทียน หาบหรืออุ้มสลุงบรรจุน้ำขมิ้นส้มปล่อย น้ำสุคันโธทกะ น้ำอบน้ำหอมซึ่งเป็นเครื่องสักการะ คนเฒ่าคนแก่ผู้ชายตบมะผาบ วาดลายเชิงอวดกัน บ้างก็ฟ้อนดาบ ส่วนไม้ค้ำก็จะหามแห่ หรือตกแต่งบนรถให้งดงาม พอขบวนถึงวัด ก็จะนำ
ไม้ค้ำโพธิ์ขึ้นค้ำ โดยชายหนุ่มหาญที่แข็งแรงจะช่วยกันดึงไม้ค้ำขึ้นค้ำต้นโพธิ์ เพราะไม้ค้ำแต่ละต้นต้นใหญ่มาก พอค้ำเสร็จก็นิมนต์พระมารับการถวายไม้ค้ำโพธิ์ จะมีการรดน้ำส้มปล่อยที่ตัวไม้ค้ำเพื่อขอขมาครัวทาน และรับพรจากพระเป็นอันเสร็จพิธี
 
ดำหัวคนเฒ่าคนแก่

            ตอนบ่ายของวันพญาวันนี้ บางที่บางแห่งก็จะมีการไปดำหัวหรือคารวะผู้เฒ่าผู้แก่ บิดามารดา ญาติพี่น้อง ผู้มีอาวุโส ผู้มีบุญคุณ หรือผู้ที่มีความเคารพนับถือ เพื่อเป็นการขอขมาลาโทษหรือภาษาล้านนาเรียกว่า "ไปสุมา คราวะ" เนื่องจากในปีที่ผ่านมาอาจทำให้ท่านโกรธเคือง หรือได้ล่วงล้ำด้วยกาย วาจา ใจ ก็ไปขอขมา และขอพรปีใหม่ เครื่องอุปโภคบริโภคที่นำไปดำหัว ได้แก่ข้าวตอกดอกไม้ ธูปเมือง ผ้านุ่ง เช่น เสื้อ ผ้าซิ่น ผ้าขาวม้า ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว มีขนมอาหารที่ทำในช่วงปีใหม่ เช่น ข้าวแตน ข้าวหนมจ็อก แหนม ห่อนึ่ง เป็นต้น ผลไม้ที่ออกมากในช่วงปีใหม่ก็จะมีมะปรางซึ่งจะใส่ในชะลอมสานไว้อย่างงดงาม นอกจากนั้นก็จะมีหมากพลู และปัจจัยใส่ในซองจดหมายแล้วแต่ความสมควร (โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา, ๒๕๕๑, หน้า ๒๙)
            การดำหัวเริ่มต้นจากการกล่าวคำสุมาคารวะ โดยผู้อาวุโสในที่นั้นยกมือไหว้กล่าวนำ ดังนี้

            "ในโอกาสที่ปี๋เก่าได้ล่วงพ้นมาแล้ว ปีใหม่แก้วก็มารอดมาเถิง ผู้ข้าทั้งหลากก็มาร่ำเปิงเถิงยังอดีตปาเวณีอันดีงามแต่ก่อน บ่ห่อนละเสียยังศรัทธา จึงพากันน้อมนำมายัง ข้าวตอก ดอกไม้ ไทยทาน วัตถุบริวารทานและน้ำส้มปล่อย เพื่อจักมาสุมาคารวะ หากได้ล่วงล้ำด้วย กาย วาจา ใจ ด้วยเจตนาก็ดีบ่เจตนาก็ดี ขอท่านจุ่งมีเมตตาลดโทษ และขอหื้อท่านจุ่งโปรดปันศีลปันพรชัยหื้อเปนมังคละ แก่ผู้ข้าทั้งหลายแด่เทอะ"
            จากนั้นประเคนขันข้าวตอกดอกไม้ น้ำส้มปล่อย และเครื่องสักการะดำหัว
            ผู้ใหญ่รับแล้วก็จะเอามือจุ่ม้นำส่มปล่อลูบศีรษะ และอาจสลัดพรมน้ำส้มปล่อยแก่ผู้มาดำหัวด้วยความเมตตา
            ผู้ใหญ่จะให้โอวาท ปันพร เมื่อจบคำพร ...อายุวัณโณ สุขัง พลัง ...ทุกคนกล่าวคำว่า "สาธุ" พร้อมกัน เป็นอันเสร็จพิธี (ศรีจันทร์, ๒๕๔๘, หน้า ๗๕ -๗๖)
 
ดำหัวพระเจ้า/พระธาตุเจดีย์

            ดำหัวพระเจ้า คือการไปแสดงความคารวะต่อพระพุทธรูปที่สำคัญประจำเมือง เช่น พระเสตังคมณีหรือพระแก้วขาววัดเชียงมั่น พระพุทธสิหิงค์และพระเจ้าทองทิพย์ที่วัดพระสิงค์ พระเจ้าเก้าตื้อที่วัดสวนดอก เป็นต้น หรือพระธาตุเจดีย์ที่สำคัญ เช่น พระธาตุดอยสุเทพ พระธาตุศรีจอมทอง

            การไปดำหัวสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในอดีตนิยมไปกันเป็นหมู่คณะ อาจจะเริ่มต้นในวันสังขานต์ล่องเรื่อยไปจนถึงวันปากปี ปากเดือน ปากวัน ปากยาม เพราะสถานที่แต่ละแห่งอาจจะอยู่ไกลกัน ต้องใช้เวลาเดินทาง การดำหัวก็จะใช้ข้าวตอกดอกไม้ธูปเทียนบูชา และสรงด้วยน้ำขมิ้นส้มปล่อย (ดุสิต ชวชาติ. ปู่อาจารย์, สัมภาษณ์, ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๑)
 
ดำหัวกู่(อัฐิ)

            การดำหัวกู่ คือไปดำหัวที่บรรจุอัฐิของบรรพบุรุษที่อยู่ในวัดหรือป่าช้า หรือกู่อัฐิของบรรพกษัตริย์และเจ้าผู้ครองนครที่ได้ทำคุณงามความดีไว้กับบ้านเมือง เช่นกู่เจ้านายฝ่ายเหนือที่วัดสวนดอก ผู้ที่เป็นลูกหลานก็จะนำดอกไม้ธูปเทียน น้ำขมิ้นส้มปล่อยไปสรงเพื่อเป็นการสักการะบูชาดำหัวในช่วงปีใหม่ (ดุสิต ชวชาติ. ปู่อาจารย์, สัมภาษณ์, ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๑)
 
ความเชื่อบางประการเกี่ยวกับวันพญาวัน

            ในหนังสือองค์ความรู้ปีใหม่เมือง (โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา, ๒๕๕๑ หน้า ๔๓) กล่าวว่า วันพญาวันควรทำลาบเป็นอาหาร เพราะทานลาบในวันนี้จะทำให้มีโชคลาภตลอดปี

            สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ เล่ม๑๒ กล่าวถึงความเชื่อบางประการเกี่ยวกับวันพญาวันว่า             ในหนังสือองค์ความรู้ปีใหม่เมือง (โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา, ๒๕๕๑ หน้า ๔๓) กล่าวว่า วันพญาวันควรทำลาบเป็นอาหาร เพราะทานลาบในวันนี้จะทำให้มีโชคลาภตลอดปี

            พญาวันมาในวันอาทิตย์ ยักษ์มาอยู่เฝ้าแผ่นดิน ห้ามทำการมงคลกรรมในวันอาทิตย์

            พญาวันมาในวันจันทร์ นางธรณีมาอยู่เฝ้าเผ่นดิน กระทำมงคลกรรมในวันจันทร์ในปีนั้นดีนัก

            พญาวันมาในวันอังคาร พญาวัวอุศุภราชมาอยู่เฝ้าแผ่นดิน ทำการมงคลกรรมในวันอังคารดีนัก

            พญาวันมาในวนพุธและวันพฤหัสบดี นาคมาอยู่เฝ้าแผ่นดิน กระทำการมงคลกรรมใดๆ ในวันพุธได้ผลดี

            พญาวันมาในวันศุกร์ ช้างมาอยู่เฝ้าแผ่นดิน กระทำการใดๆ ในวันศุกร์ของปีนั้นให้ผลสมบูรณ์ดีี
 
 
Northern Thai Information Center (NTIC),
Chiang Mai University Library in collaboration with Information Technology Service Center
239 Huay Kaew Rd., Mueang District, Chiang Mai, Thailand 50200
Tel: +66 (0) 5394 4514, +66 (0) 5394 4517 email: ntic@lib.cmu.ac.th
Copyright © 2009-2016 Chiang Mai University. All Rights Reserved.