เสามงคล และเสานาง

เสามงคลและเสานาง

เสามงคล และเสานาง เป็นเสาที่มีความสำคัญ จะต้องเลือกเสาจากไม้แก่นที่มีความแข็งแรงทนทานกว่าไม้อื่นๆ เพื่อนำมาเกลา หรือสำนวนชาวล้านนาว่า “ซ้อมเสา” จนสวยงามเรียบร้อยดี การจัดไม้เสาให้เป็นเสามงคลนั้น เพื่อที่จะให้เสานั้นมีความศักดิ์สิทธิ์ และเป็นมงคลสำหรับเรือนจริงๆ

นอกจากนี้จะต้องป้องกันมิให้เสาตกมัน จึงต้องมีพิธีตัดและเกลาเสา รวมทั้งพิธีแก้เสนียดจัญไร (ขึด) ตามที่กล่าวข้างต้นนั้นด้วย เสามงคลนั้นเปรียบเสมือนพ่อ ส่วนเสานางนั้นเปรียบเสมือนแม่ ในพิธีการฝังเสามงคล หรือเสานางในสมัยก่อนจะต้องหาชาวบ้านที่มีชื่อมงคล เช่น แก้ว คำ เงิน ทอง มั่น แก่น มาเป็นคนช่วยหามเสา และยกเสาลงหลุม เพื่อจะได้เกิดความเป็นสิริมงคล รวมทั้งรองใบไม้มงคลก้นหลุมตามตำรา เสาทั้งสองต้นนี้ ต้องฝังให้ตรงแนวกัน คือเสามงคลฝังทางด้านหัวนอน หรือเสาที่ ๒ นับจากเสาด้านหัวนอนในห้องนอน เสานางอยู่ทางด้านปลายตีนตรงกันข้าม (มณี พยอมยงค์, ๒๕๓๐, หน้า ๑๗๗)

ก่อนที่จะมีการยกเสามงคล จะต้องมีการทำขวัญเสามงคลเสียก่อน โดยปู่อาจารย์จะเรียกขวัญเป็นทำนอง และมีสิ่งของบูชา ประกอบด้วย มะพร้าว ๑ ทะลาย กล้วย ๑ เครือ ต้นกุ๊ก ต้นกล้วย ต้นอ้อย ห่อหมาก ห่อพลู ด้ายดิบขาว ๑๐๘ เส้น โดยนำเอาของทั้งหมดมัดติดเสา เมื่อเตรียมเรียบร้อยแล้วก็จะหามเสามายังที่จะฝัง แล้วปู่อาจารย์จะเรียกขวัญ และนำสิ่งของบูชามัดติดเสาพร้อมเอาน้ำขมิ้น ส้มป่อย พรมเสาและเจ้าของเรือนทุกๆคน

พิธีปกเสามงคล

สำหรับการฝังเสามงคลและเสานาง จะต้องฝังเสามงคลก่อน และตามด้วยเสานาง แล้วจึงฝังเสาอื่นๆตามมา เสาทุกเสาจะมีแผงยันต์ปิดไว้ที่ปลายเสา แผงยันต์มักจะทำด้วยผ้าขาว ผ้าแดง สังกะสีหรือแผ่นเงิน ตามแต่ฐานะของเจ้าของ เพื่อป้องกันเสนียดจัญไรที่จะเกิดขึ้น เมื่อฝังเสาเสร็จแล้วจะผูกด้านสายสิญจน์ไว้โดยรอบ รอไว้ ๓-๗ วันหลังจากทำพิธีแล้วจึงเอาออกได้ (มณี พยอมยงค์, ๒๕๓๐, หน้า ๑๗๕)

พิธีปกเสานาง