เพลงพื้นบ้านล้านนา

พรพรรณ วรรณา (2542 : 4757-4758) ได้กล่าวถึงเพลงพื้นบ้านล้านนา ในหนังสือสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ เล่ม 9 ดังนี้

ชีวิตของชาวล้านนาแต่เดิมนั้น ผูกพันอยู่กับเสียงเพลงเกือบตลอดเวลา ตั้งแต่วัยทารก มีเพลงขับกล่อม ในวัยเด็ก มีเพลงประกอบการละเล่นต่างๆ ที่ทำให้การละเล่นนั้นสนุกสนาน เมื่อถึงวัยหนุ่มสาว ก็มีประเพณีการแอ่วสาว ซึ่งหนุ่มๆ จะนำเครื่องดนตรีประเภทสะล้อ ซึง เปี๊ย บรรเลงไปตามทางขณะไปเยือนหญิงที่ตนหมายปอง มีการขับลำนำที่เรียกว่า จ๊อย ส่วนในงานพิธีและงานรื่นเริงตามเทศกาลต่างๆ เช่นในพิธีขึ้นบ้านใหม่ พิธีบวชนาค ฟ้อนผีมดผีเม็ง เซ่นผีบรรพบุรุษ จะประกอบไปด้วยการบรรเลงดนตรี การขับร้องเพลงและการแสดงเพลงปฏิพากย์ที่เรียกว่า “ซอ” แม้ในช่วงสุดท้ายที่ชีวิตดับสูญ เพลงก็มีบทบาทที่จะบรรเลงในพิธีชักปราสาทบรรจุศพเข้าสู่ป่าช้า

เพลงพื้นบ้านล้านนานั้น อาจจัดแบ่งได้หลายวิธี เช่น แบ่งตามเวลาและโอกาสการแสดงออก อาจจะแบ่งได้เป็นเพลงร้องเล่น เพลงพิธีกรรม เพลงกล่อมเด็ก ฯลฯ ในที่นี้จะจัดแบ่งเพลงตามลักษณะของการแสดงออก โดยคำนึงถึงองค์ประกอบ 2 อย่าง คือ ดนตรี และเนื้อร้อง ซึ่งแบ่งเป็นประเภทใหญ่ๆ ได้ดังนี้

  1. เพลงที่ไม่มีเนื้อร้อง หรือเพลงบรรเลง หมายถึงเพลงที่เกิดจากการบรรเลงด้วยเครื่องดนตรีล้วนๆ โดยไม่มีการขับร้อง เพลงประเภทนี้ มีทั้งการบรรเลงเดี่ยวๆ และการเล่นประสมวง โอกาสในการเล่นดนตรีมีทั้งการขับกล่อมอารมณ์ในยามว่าง การเล่นดนตรีของชายหนุ่มเวลาไปแอ่วสาวตอนกลางคืนการเล่นในงานรื่นเริงต่างๆ เป็นต้น
  2. เพลงที่มีเนื้อร้องแต่ไม่มีดนตรีประกอบ แบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ
    1. บทเพลงทางมุขปาฐะ คือการขับร้องเพลงที่จดจำสืบทอดกันต่อ ๆ มา หรือเป็นการขับร้องที่เกิดจากปฏิภาณ ไหวพริบ เพลงเหล่านี้จะใช้ขับร้องกันเล่นๆ เช่น
      • จ๊อย คือการขับร้องเดี่ยวที่เอื้อนเสียงทอดยาวแบบเดียวกับการขับลำนำของไทยภาคกลางชายหนุ่มมักขับจ๊อยในยามที่เดินทางไปแอ่วสาวเวลากลางคืน
      • เพลงสำหรับเด็ก มีเพลงกล่อมเด็ก เช่น เพลงอื่อ และเพลงประกอบการเล่นของเด็ก เช่น เพลงสิกก้องก๋อ เพลงสิกชุ่งชา-สิกจุ้งจา เป็นต้น
      • บทซอเบ็ดเตล็ด เป็นการขับซอของชาวบ้านล้านนาแต่โบราณ โดยเฉพาะการขับเล่นๆ เพื่อความครึกครื้น (“ซอ” หมายถึงการขับร้องบทเพลงมิได้หมายถึงเครื่องดนตรี) บทซอเบ็ดเตล็ดเหล่านี้เป็นบทเพลงพื้นบ้านล้านนาที่สืบทอดทางมุขปาฐะ มีเนื้อหาหรือลีลาที่แสดงให้เห็นอารมณ์ขันของชาวบ้านที่รักความสนุกสนาน บทซอเบ็ดเตล็ด มีหลายชนิด เช่น ซอก้อม ซอบ่ฮู้จบ ซอก๊บเกิ่ง ซอลายอำ ซอลายสอง เป็นต้น
    2. บทเพลงที่มาจากวรรณกรรมลายลักษณ์ หมายถึงบทเพลงที่กวีล้านนาได้แต่งขึ้นเป็นลายลักษณ์ มีปรากฏต้นฉบับมาแต่โบราณในใบลานและในพับ (ปั๊บ) หนังสา (ลักษณะเดียวกับสมุดข่อย) วรรณกรรมเหล่านี้ แต่งด้วยคำประพันธ์สามารถนำมาอ่านด้วยทำนองเสนาะในโอกาสต่างๆ ด้วยลักษณะลีลาของการขับร้อง จึงจัดเป็นเพลงพื้นบ้านล้านนาประเภทหนึ่ง เช่น คร่าวซอหงส์ผาดำ โคลงนางอมรา เป็นต้น
  3. เพลงผสม ได้แก่ เพลงที่มีเนื้อร้องและดนตรีบรรเลงประกอบ เป็นการผสมระหว่างเพลงประเภทที่ 1 และประเภทที่ 2 เข้าด้วยกัน เพลงประเภทนี้ คือ “ซอ” นั่นเอง เป็นเพลงพื้นบ้านล้านนาที่อยู่ในลักษณะ “เพลงปฏิพากย์” คือมีผู้ขับร้องชายหญิง ซึ่งเรียกว่า “ช่างซอ” ขับร้องโต้ตอบกันเรียกว่าเป็น “คู่ถ้อง” (คำ “ถ้อง” หมายถึงการโต้ตอบกัน) ท่วงทำนองซอแต่ดั้งเดิมมีหลายทำนองด้วยกัน แต่ละทำนองจะมีลีลาในการเอื้อนเสียงและลีลาแตกต่างกันออกไป

รายการอ้างอิง

พรพรรณ วรรณา. 2542. “เพลงคำเมือง.” ใน สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ เล่ม 9. กรุงเทพฯ: มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์.

บทความอื่นเกี่ยวกับเพลงล้านนา | ไปหน้าฟังเพลง