ความเป็นมา

ศูนย์สนเทศภาคเหนือ ได้ถือกำเนิดขึ้นตามนโยบายของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในด้านการเรียนการสอน และการวิจัยเป็นสำคัญ โดยเฉพาะการเปิดสอนกระบวนวิชาต่างๆ ที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับท้องถิ่นล้านนา ซึ่งจำเพาะถึงจังหวัดในเขตภาคเหนือตอนบน 8 จังหวัด และการขยายขอบเขตให้กว้างขวางมากขึ้น โดยครอบคลุมทั้งภูมิภาคภาคเหนือ คือ 17 จังหวัด ในเวลาต่อมา สำนักหอสมุดในฐานะที่เป็นหน่วยงานบริการของมหาวิทยาลัยได้ตระหนักและเล็งเห็นความจำเป็นในการเสาะแสวงหา รวบรวม สะสมข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวกับล้านนาและภูมิภาคภาคเหนือโดยรวม สำหรับให้บริการแก่ผู้ใช้ที่ต้องการศึกษา ค้นคว้า และเรียนรู้เรื่องราวของท้องถิ่นภาคเหนือ โดยในระยะเริ่มแรก ได้จัดตั้ง "โครงการพิพิธภัณฑ์และหอศิลปลานนา" ขึ้นเมื่อพ.ศ.2524 จากการริเริ่มของผู้ช่วยศาสตราจารย์สุภาพ สุจินดา ผู้อำนวยการสำนักหอสมุด ในขณะนั้น ต่อมาโครงการดังกล่าวได้เปลี่ยนชื่อเป็น "หน่วยพิพิธภัณฑ์และศิลปล้านนา" และ "หน่วยเอกสารล้านนา" ตามลำดับ ต่อมาในปี พ.ศ.2534 อาจารย์ ดร. ม.ร.ว. รุจยา อาภากร ผู้อำนวยการสำนักหอสมุดได้มีนโยบายในการพัฒนาหน่วยเอกสารล้านนาให้มีขอบเขตภาระงานที่กว้างขวางขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสูตรการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยที่เปลี่ยนแปลงไป กล่าวคือนอกจากมีการขยายกรอบของการศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับล้านนาให้กว้างขวางออกไปถึงภูมิภาคภาคเหนือแล้วยังขยายต่อไปถึง "ไทศึกษา" เป็นประการสำคัญอีกด้วย โดยสำนักหอสมุดได้ปรับเปลี่ยนหน่วยเอกสารล้านนามาเป็น "ศูนย์สนเทศภาคเหนือ" มีฐานะเป็นงานหนึ่งของฝ่ายบริการทรัพยากรสารนิเทศกลาง นับแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

วัตถุประสงค์

สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้จัดตั้งศูนย์สนเทศภาคเหนือภายใต้วัตถุประสงค์ดังนี้
  1. เพื่อแสวงหา รวบรวม และให้บริการทรัพยากรสารนิเทศที่เกี่ยวข้องกับภาคเหนือ
  2. เพื่อเป็นศูนย์ข้อมูลท้องถิ่นที่สนับสนุนการศึกษาค้นคว้าและวิจัยเกี่ยวกับภาคเหนือ
  3. เพื่อเผยแพร่ข้อมูลภาคเหนือในรูปแบบต่างๆ แก่ชุมชน มีการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม เพื่ออำนวยความสะดวก รวดเร็วแก่ผู้รับบริการในการเข้าถึงข้อมูล รวมถึงการสนับสนุนข้อมูลทางศิลปวัฒนธรรมภายใต้ขอบเขตและพันธกิจของสำนักหอสมุด
  4. เพื่อทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมของภาคเหนือ โดยรักษาความเป็นเอกลักษณ์ของชุมชนท้องถิ่นภาคเหนือในด้านข้อมูล

ขอบเขตของข้อมูลภาคเหนือ

ข้อมูลภาคเหนือ หมายถึงข้อมูลที่อยู่ในขอบเขตเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับภาคเหนือในทุกๆ ด้าน ได้แก่ ศิลปวัฒนธรรม ศาสนา การศึกษา การท่องเที่ยว สภาพภูมิศาสตร์ เศรษฐกิจท้องถิ่น สังคม การเมืองการปกครอง ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ฯลฯ เป็นข้อมูลในเขตพื้นที่ภาคเหนือ 17 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ พิษณุโลก ตาก สุโขทัย กำแพงเพชร พิจิตร เพชรบูรณ์ แม่ฮ่องสอน นครสวรรค์ และอุทัยธานี โดยเน้นหนักในเขตภาคเหนือตอนบน 8 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ นอกจากนี้ ยังหมายรวมถึงดินแดนที่มีวัฒนธรรมคล้ายคลึงกัน โดยเน้นภาคเหนือตอนบน ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น รัฐฉานในประเทศพม่า แคว้นยูนนานในประเทศจีน และทางตอนเหนือ ของประเทศลาว เป็นต้น

สารนิเทศที่ให้บริการ

ศูนย์สนเทศภาคเหนือมีทรัพยากรสารนิเทศสำหรับให้บริการแก่ผู้ใช้ ดังนี้
  1. เอกสารข้อมูลภาคเหนือ ซึ่งแบ่งได้ 2 ประเภท คือ
    1. เอกสารตัวพิมพ์ ได้แก่ หนังสือ ตำรา รายงานการประชุมสัมมนา และหนังสืออ้างอิง ซึ่งจัดเก็บตามระบบการจัดหมู่แบบทศนิยมของดิวอี้ โดยเรียงไว้ตามลำดับของเลขเรียกหนังสือ ตั้งแต่หมวด 000-900 ส่วนกฤตภาคและแฟ้มข้อมูลเฉพาะเรื่อง จัดเก็บโดยการเรียงลำดับตามหมายเลขของเอกสาร รวมทั้งจุลสารซึ่งจัดเก็บตามลำดับอักษรของหัวเรื่อง
    2. เอกสารตัวเขียน หรือ เอกสารโบราณ ได้แก่ คัมภีร์ใบลาน พับสา สมุดข่อย และเอกสารต้นฉบับ ซึ่งเอกสารตัวเขียนเหล่านี้จัดเก็บตามระบบการจัดหมวดหมู่เอกสารโบราณ รวมทั้งสิ้น 23 หมวด คือ หมวดพระวินัย พระสูตร พระอภิธรรม คัมภีร์บาลี บทสวดมนต์ อานิสงส์ ชาดก โอวาทคำสอน ประเพณี/พิธีกรรม/พระราชพิธี ธรรมทั่วไป นิยายธรรม นิยายพื้นบ้าน ตำนานพระพุทธศาสนา ตำนานเมือง/ราชวงศ์ กฎหมาย/กฏข้อบังคับต่างๆ ตำราอักษรศาสตร์ กวีนิพนธ์ร้อยกรอง/วรรณคดี ตำราโหราศาสตร์ ตำรายา ตำราต่างๆ จดหมายเหตุราชการ/บุคคล รวมหลายหมวด และเบ็ดเตล็ด
  2. เอกสารหายาก เป็นเอกสารเพื่อการค้นคว้าวิจัยชั้นสูงที่มีคุณค่าและหาได้ยากในห้องสมุดต่างๆ ส่วนใหญ่ไม่สามารถหาซื้อได้จากสำนักพิมพ์หรือร้ายขายหนังสือทั่วไป อาทิ หนังสืออนุสรณ์งานศพ และหนังสือที่จัดพิมพ์ในโอกาสพิเศษต่างๆ เป็นต้น
  3. เอกสารจดหมายเหตุมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นเอกสารที่มีเรื่องราวเกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประกอบด้วยหนังสือราชการ รายงานการประชุม ผลงานทางวิชาการของอาจารย์และข้าราชการของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการ และเอกสารอื่นๆ อาทิ โปสเตอร์ และแบบแปลนอาคารของหน่วยงานต่างๆ ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นต้น
หน้าถัดไป ->