เพลงที่ใช้ในพิธีกรรม

เพลงเค้าห้า

เพลงเค้าห้า เป็นเพลงขนาดสั้น มีสำเนียงไปทางมอญ มีหน้าทับพิเศษเฉพาะเพลง สำหรับชื่อเพลง สันนิษฐานว่า คงเรียกชื่อตามต้นไม้เคล็ดพิธีของการฟ้อนผีเมงชาวเหนือ เรียกต้นไม้หว้านี้ว่า ต้นห้า บ่าห้า หรือเค้าห้า (Eugenia spp.) อันเป็นต้นไม้ประจำชมพูทวีป ต้นบ่าห้า หรือเค้าห้าที่ใช้ในการฟ้อนผีเมง ถือเป็นต้นไม้ในพิธีกรรม เนื่องจากมีความเชื่อว่าผีจะต้องมาพักที่ต้นไม้นี้ก่อนที่จะเข้าไปในผาม (ปะรำ) อันเป็นเสมือนวิญญาณจะลงมาพักอยู่ที่ต้นไม้ประจำชมพูทวีป ก่อนที่จะมาสู่สถานที่ประกอบพิธีกรรม ดังนั้น จึงมีการนำเอากิ่งของบ่าห้ามาปลูกไว้ที่หน้าผาม การทำพิธีเชิญผีเข้าผาม จะทำที่ใต้ต้นไม้นี้ ดนตรีจะประโคมเพลงเค้าห้าและเพลงมอญ ชื่อของเพลงเค้าห้า จึงอาจมาเค้ามาจากต้นไม้ดังกล่าว

นอกจากนี้ ที่ลานหน้าผามบริเวณต้นบ่าห้า ยังเป็นสถานที่สำหรับเจ้าหรือผี ใช้เป็นที่ฟ้อนดาบ โดยใช้เพลงเค้าห้าประกอบการฟ้อนดาบอีกด้วย ทั้งนี้ แม้ว่าผีมด จะไม่มีต้นไม้เคล็ดพิธีนี้ แต่ก็ยังใช้เพลงนี้บรรเลงประกอบการฟ้อนด้วยเช่นกัน เพลงเค้าห้ายังใช้บรรเลงสอดคล้องคู่กันกับเพลงมอญ ฟ้อนผีตลอดพิธีการฟ้อน และใช้ในโอกาสที่เจ้าหรือผีจะกินเครื่องเซ่นหรืออาหารที่จัดมาเลี้ยงโดยเค้าผี ซึ่งเป็นประธานของผีในตระกูลนั้นถือดาบ ซึ่งจุดเทียนปักไว้ตรงปลายดาบชี้ไปยังอาหารเดินวนรอบสำหรับนำผีตนอื่นๆ ซึ่งเป็นเจ้าระดับเค้าผีถือดาบที่จุดเทียนเดินตามประธานการฟ้อน ส่วนผีระดับธรรมดา ก็จะเดินตามมาเป็นขบวน ดนตรีจะบรรเลงเพลงเค้าห้าประกอบตลอดพิธี เค้าผีจะเดินวนรอบสะโตก หรือโต๊ะที่วางอาหาร 3 รอบ ก็อันเป็นเสร็จพิธีการกินอาหารของผี

รายการอ้างอิง

สนั่น ธรรมธิ. 2542. “เพลงเค้าห้า.” ใน สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ เล่ม 9. กรุงเทพฯ: มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์.

เพลงมอญ

เพลงมอญฟ้อนผี เรียกกันสั้นๆ ว่า เพลงมอญ เป็นเพลงสำคัญเพลงหนึ่งในจำนวน 4 เพลงที่ใช้บรรเลงประกอบการฟ้อนผีป่าของชาวเมืองลำปาง เพลงนี้มักจะใช้เป็นเพลงอันดับแรกของพิธีกรรมการฟ้อน

ท่วงทำนองของเพลงมอญ นอกจากจะมีความไพเราะ เป็นที่คุ้นหูของชาวบ้านกันดีแล้ว หน้าทับหรือลีลาจังหวะ ตลอดจนสำเนียงของกลองนั้น ชวนให้เกิดความคึกคัก กระตุ้นให้ฟ้อนเป็นอย่างยิ่ง ข้อที่น่าจะพิจารณา คือเป็นเพลงที่มีหน้าทับเฉพาะหรือหน้าทับพิเศษ กล่าวคือลีลาจังหวะของกลองได้ถูกออกแบบมาให้เล่นเฉพาะเพลงนี้เท่านั้น ไม่สามารถนำเอาหน้าทับทั่วไปมาใช้กับเพลงนี้

ความเร็วของจังหวะ (tempo) สำหรับการบรรเลงเพลงมอญนั้น สามารถบรรเลงได้ทั้งแบบช้าและเร็ว แล้วแต่สถานการณ์หรือบรรยากาศในการฟ้อน เช่น บรรเลงประโคมเริ่มพิธีกรรม คล้ายการเปิดผาม (ปะรำ) หรือเชิญผีเข้าผาม ปกติมักจะบรรเลงไม่เร็วนัก หากบรรยากาศของการฟ้อนเริ่มเข้าสู่ความสนุก ก็จะบรรเลงให้เร็วขึ้น เพื่อสร้างความเร้าใจและทำให้จังหวะกระชับแน่นยิ่งขึ้น

จากการที่เพลงมอญสามารถบรรเลงได้ทั้งแบบช้าเร็ว อารมณ์และรสของดนตรี จึงมีความแตกต่างกัน เมื่อบรรเลงช้า นักดนตรีจะมีโอกาสได้ “ผั่น” (ปั่น) หรือ “แหม่”หรือขยายออก ซึ่งเป็นเทคนิคการเล่นแบบเก็บ หรือใส่ลูกเล่นกันอย่างเต็มที่ หากบรรเลงแบบเร็ว โอกาสที่จะใส่ลูกเล่น ก็มีน้อย ผู้บรรเลงก็จะเล่นออกไปทางกระชับ หนักแน่น จากการที่เพลงมอญ เป็นเพลงที่ให้รสทางดนตรีได้หลากหลายดังกล่าว แม้ว่าเพลงนี้จะถูบรรเลงตลอดทั้งวัน ซ้ำไปวนมามากครั้งเพียงใดก็ตาม ก็ยังสามารถปลุกอารมณ์ทั้งผีและคนดูในผามให้วนเวียนอยู่ในบรรยากาศของพิธีการนี้ได้ตลอดทั้งวัน ไม่มีเบื่อหน่าย เหมือนดังตกอยู่ในมนต์สะกดของบทเพลงนี้

โอกาสของการบรรเลง

  1. ใช้เป็นเพลงเปิดผาม ทั้งการฟ้อนแบบผีมดและผีเมง
  2. ใช้เป็นเพลงเริ่มต้นของการฟ้อน หลังจากการหยุดพักรับประทานอาหารกลางวัน หรือพักช่วงส้นๆ ระหว่างการฟ้อน
  3. ในกรณีที่ผีเมงลง (เข้าประทับทรง) และออก โนมีการจ่งผ้า หรือโหนผ้าที่อยู่กลางปะรำ ซึ่งต้องใช้เพลงมวยบรรเลงประกอบ เมื่อดนตรีวางเพลง หรือจบเพลงมวยแล้ว นิยมใช้เพลงมอญ เป็นเพลงเริ่มต้นเข้าไปสู่บรรยากาศการฟ้อนอีก
  4. บางครั้งสถานการณ์อาจเปลี่ยนไป มีการใช้เพลงอื่นมาประกอบการฟ้อน เช่น เพลงรำวง เพลงลูกทุ่ง หรือแม้กระทั่งเพลงยอดนิยมร่วมสมัย เมื่อต้องการพลิกบรรยากาศให้กลับมาเป็นแบบขนบธรรมเนียมประเพณี ดนตรีก็จะใช้เพลงมอญเป็นเพลงเริ่มต้นอีก

ดังนั้น เพลงมอญ จึงนับว่าเป็นเพลงหลักของพิธีการฟ้อนผีมดและผีเมง โดยเฉพาะในจังหวัดลำปาง เป็นสื่อ ซึ่งเป็นที่เข้าใจกันอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นคน (ร่วมพิธี) หรือ ผี (คนทรง) และชาวบ้านที่อยู่ในวัฒนธรรมนี้ หรือผู้ที่มีความคุ้นเคยกับวัฒนธรรมแบบนี้

เพลงลูกคุยเวิย (อ่าน “ลูกกุยเวิย”)

เพลงลูกคุยเวิย หรือ หละคุยเวิย แปลว่า กำปั้นเร็ว มีชื่อเรียกกันง่ายๆ สั้น แบบปัจจุบันว่า เพลงมวย มีทำนอง ลีลา และจังหวะที่ให้ความคึกคัก เร้าใจ สามารถกระตุ้นให้นักมวยตลอดจนผู้ดูให้เกิดความคึกคักฮึกเหิมได้อย กีฬาชกมวยที่จัดให้มีขึ้นในภาคเหนือตอนบนแต่ครั้งก่อน ใช้วงปี่พาทย์ (อ่าน “วงป้าด”) บรรเลงเพลงมวยประกอบการชก ปัจจุบัน กีฬาชกมวยเป็นธุรกิจอย่างหนึ่ง จึงเปลี่ยมาเป็นวงกลองแขกปี่ชวาแบบภาคกลาง หรือมีการใช้เครื่องบันทึกเสียงแทน ด้วยเหตุเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย

ด้วยเสียงดนตรีอันชวนให้เกิดความคึกคัก และสร้างบรรยากาศให้เกิดความดุเดือด เพลงลูกคุยเวิย จึงเหมาะใช้กับการฟ้อนแบบ “ผีเมง. ในช่วงของการ “จ่องผ้า” หรือ “โหนผ้า” ซึ่งจัดเป็นช่วงที่บรรยากาศของการฟ้อน พลิกผันจากการฟ้อนแบบธรรมดากลายเป็นบรรยากาศที่ดุเดือดในทันทีทันใด กล่าวคือขณะที่กำลังฟ้อนอยู่นั้น หากว่ามีร่างทรงถูกเจ้าเข้า หรือเจ้าออกจากร่าง สังเกตได้จากร่างทรงจะจับผ้าจ่องเดินไปมา หรือกำลังทำท่าจะโหน นักดนตรีจะเปลี่ยนเพลง “ลูกคุยเวิย”

รายการอ้างอิง

ณรงค์ สมิทธิธรรม. “เพลงมอญ เพลงลูกคุยเวิย.” ใน สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ เล่ม 9. กรุงเทพฯ: มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์.

รายการหนังสือที่เกี่ยวข้อง | บทความอื่นเกี่ยวกับเพลงล้านนา | ไปหน้าฟังเพลง