ประเพณีทานหลัวหิงไฟพระเจ้า
ประเพณีทานหลัวหิงไฟพระเจ้า คือการนำเอาฟืนมาเผา เพื่อให้พระพุทธเจ้าได้ผิงไฟ จัดขึ้นในช่วงเดือน ๔ เหนือ หรือประมาณเดือนธันวาคมถึงมกราคม ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำของเดือน เป็นช่วงที่มีอากาศหนาวเย็น ชาวล้านนามีความเชื่อว่า พระพุทธเจ้าหรือพระพุทธรูปในวิหารก็รู้สึกถึงความหนาวเย็นเช่นเดียวกับคนเรา จึงร่วมกันหาไม้ฟืนมาจุดเผาไฟผิงให้เกิดความอบอุ่น ประเพณีนี้เป็นประเพณีที่เกิดขึ้นสอดคล้องกับบริบททางสภาพแวดล้อม เนื่องจากในดินแดนล้านนาเป็นพื้นที่ๆมีความหนาวเย็นมาก รวมทั้งมีป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ ต้นไม้ขึ้นหนาแน่น และมีความชื้นสูง การผิงไฟนอกจากจะให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายแล้ว ยังขับไล่ความชื้นในอากาศที่เป็นสาเหตุของการเจ็บป่วย (มณี พยอมยงค์, ๒๕๓๐, หน้า ๗๙)
คำว่า “หลัว” เป็นภาษาล้านนา หมายถึง ฟืน ส่วนคำว่า “หิง” หมายถึง การผิงไฟ และคำว่า “พระเจ้า” หมายถึง องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประเพณีทานหลัวหิงไฟพระเจ้ามีการปฏิบัติสืบเนื่องกันมาอย่างแพร่หลายทั่วไปในล้านนา แต่ปัจจุบันเหลืออยู่เพียงไม่กี่แห่ง ส่วนมากจะเป็นวัดที่อยู่แถบชนบทห่างไกล และสามารถเสาะหาฟืนได้ง่าย ได้แก่วัดยางหลวง และวัดป่าแดด อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ประเพณีนี้มักจะทำควบคู่ไปกับประเพณี “ทานข้าวล้นบาตร” เพื่อบูชาแม่โพสพ และทานข้าวใหม่ให้แก่วัด บางแห่งก็เรียกรวมว่าเป็นประเพณี “ทานข้าวใหม่-หิงไฟพระเจ้า” (สนั่น ธรรมธิ. นักวิชาการศึกษาชำนาญการพิเศษ, สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, สัมภาษณ์, ๒๓ มกราคม ๒๕๕๓) หลังจากสิ้นเดือน ๓ เหนือ หรือประมาณเดือนธันวาคม พระ เณร และขโยมวัด จะพากันออกไปหาฟืนในป่า เพื่อเตรียมไว้สำหรับทานหลัวหิงไฟพระเจ้าในเดือนยี่เป็ง