การทานข้าวใหม่ และทานข้าวหลาม-ข้าวจี่
ในชนบทบางท้องที่นอกจากจะทำบุญทานหลัวหิงไฟพระเจ้าแล้ว ก็จะทำพิธีทำบุญทานข้าวใหม่ ข้าวล้นบาตร ไปพร้อมๆ กันในช่วงของประเพณีเดือน ๔ เมื่อชาวบ้านนำข้าวเปลือกเข้ายุ้งฉางแล้ว จะนำข้าวนั้นไปทำบุญข้าวใหม่ ก่อนที่จะนำไปข้าวนั้นไปสีเพื่อรับประทาน การทำบุญในวาระนี้เรียกว่า “ทานขันข้าวใหม่” เพื่อเป็นการอุทิศส่วนกุศลไปถึงเทวดาขุนน้ำ ปู่ย่าตายาย พ่อแม่ที่เป็นเจ้าของไร่นามาแต่เดิม สำรับอาหารประกอบไปด้วยข้าวนึ่งสุก พร้อมกับอาหารที่นิยมกันตามท้องถิ่น (ศรีเลา เกษพรหม, ๒๕๔๒, หน้า ๒๗๕๕)
นอกจากประเพณีทานข้าวใหม่แล้ว ในบางท้องที่มีการทำบุญทานข้าวจี่ ข้าวหลาม ชาวบ้านจะนำเข้าที่ได้จากท้องนามาประกอบอาหารประเภทต่างๆ เช่น ข้าวจี่ ข้าวหลาม ข้าวเม่า ข้าวต้ม ข้าวต้มกะทิ ข้าวหนมจ๊อก ข้าวต้มใบอ้อย โดยนำอาหารเหล่านี้ไปถวายพร้อมกับอาหารคาวประเภทอื่นๆ ในขณะเดียวกันก็ถือโอกาสทานขันข้าว คือถวายอาหารเพื่ออุทิศส่วนกุศลไปให้ญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว
ข้าวจี่ คือของกินเล่นชนิดหนึ่ง โดยการนำก้อนข้าวเหนียวเสียบปลายไม้แล้วปิ้งบนเตาถ่านให้ข้าวเหลืองกรอบและมีกลิ่นหอม ส่วนข้าวหลามนั้น คือข้าวเหนียวถูกหลามให้สุกในกระบอกไม้ไผ่ชนิดหนึ่งที่มีเยื่อหนา โดยกรอกข้าวเหนียวที่เป็นข้าวสารเติมน้ำไว้ตั้งแต่ตอนเย็น พอถึงตอนเช้าข้าวที่แช่น้ำไว้จะพองตัว นำกระบอกไม้นั้นไปผิงไฟกับถ่านแดงจนข้าวสุก การปอกข้าวหลามนั้นนิยมถากผิวไม้ส่วนที่ไหม้ไฟออกให้เหลือเนื้อไม้ไผ่สีขาวหุ้มข้าวหลามไว้ (บำเพ็ญ ระวิน, ๒๕๔๒, หน้า ๒๗๕๓)
ในการทานข้าวใหม่ ศรัทธาจะนำเอาข้าวเปลือกและข้าวสาร มาทานเป็นข้าวล้นบาตร หรือเรียกว่า “หล่อข้าวบาตร” หรือ บางแห่งเรียกว่า “ทานดอยข้าว” ตรงกลางวิหารปูเสื่อกะลาไว้ ๒ จุด แต่ละจุดตั้งบาตรไว้ ๑ ลูก เมื่อชาวบ้านนำข้าวมาเทลงไปในบาตรข้าวเปลือกกองหนึ่ง และบาตรข้าวสารกองหนึ่ง กองข้าวสารเรียกว่า “เงินดอย” ส่วนกองข้าวเปลือกเรียกว่า “เงินคำ” ซึ่งข้าวที่ได้นี้พระภิกษุสามเณรจะเก็บไว้นึ่งกินในช่วงเวลาที่ฝนตกหนัก ออกบิณฑบาตไม่ได้ ปัจจุบันชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่มีไร่นา การทำบุญข้าวล้นบาตรจึงค่อยๆ หมดไป เพราะไม่มีข้าวเปลือกไปหล่อบาตร บางแห่งจึงมีแต่การ “ทานดอยข้าวสาร” เท่านั้น (ศรีเลา เกษพรหม, ๒๕๔๒, หน้า ๒๗๕๕) การทานข้าวล้นบาตรนี้ นอกจากจะเป็นการบูชาแม่โพสพ ขอบคุณเทวดาอารักษ์ และบำรุงพระศาสนาด้วยการให้ผลผลิตแก่วัดแล้ว ยังเป็นโอกาสให้คนชุมชนแสดงความเอื้อเฟื้อต่อผู้ยากไร้หรือผู้ที่ประสบปัญหาได้ผลผลิตน้อยในปีนั้น นับเป็นการสร้างสามัคคีในชุมชนโดยผ่านพิธีกรรมทางศาสนาอีกด้วย