ประเพณีทานก๋วยสลาก
ประเพณีทานก๋วยสลาก หรือสลากภัต เป็นประเพณีทางพระพุทธศาสนาที่สำคัญที่แสดงออกถึงความสามัคคีกันในการมาพร้อมหน้าในบรรดาหมู่ญาติพี่น้อง เพื่อการทำบุญถึงญาติที่ได้ล่วงลับไปแล้ว ประเพณีนี้ ได้ปฏิบัติสืบทอดกันมาช้านาน ในดินแดนล้านนา เริ่มถือปฏิบัติตั้งแต่ครั้งใดไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด การทานก๋วยสลาก เริ่มราววันเพ็ญเดือน๑๒ เหนือ หรือประมาณเดือนกันยายน และสิ้นสุดในเดือนเกี๋ยงดับ หรือประมาณเดือนตุลาคมของทุกปี ซึ่งถือว่าเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม เพราะชาวบ้านว่างจากการงานและเป็นช่วงที่ยังอยู่ในฤดูฝน พระภิกษุสามเณรยังคงจำพรรษาอยู่ในวัดอย่างพร้อมเพรียง ในภาคกลางก็มีการทำบุญเหมือนกันนี้ เรียกว่า “การทำบุญสลากภัต” จะแตกต่างกันที่ระยะเวลา ภาคกลางมักเริ่มทำในช่วงเดือน ๔ เดือน ๕ เดือน ๖ ซึ่งเป็นระยะที่ผลหมากรากไม้สุกงอม และเป็นช่วงที่ว่างจากการงานไม่มีการเก็บเกี่ยวใดๆ (บุญเลิศ ครุฑเมือง, ๒๕๓๗, หน้า ๑๙๙)
ในอดีต การจัดประเพณีทานก๋วยสลาก ถือเป็นธรรมเนียมว่า จะต้องจัดที่วัดสำคัญก่อน ในจังหวัดเชียงใหม่ จะต้องเริ่มจัดหรือตานก๋วยแรกที่วัดเชียงมั่นก่อนแห่งอื่น เพราะถือว่าเป็นวัดของพญามังรายมหาราช ผู้สร้างเมืองเชียงใหม่ ในจังหวัดลำปาง จะเริ่มจัดวัดปงยางคกก่อนวัดอื่น เพราะเป็นวัดต้นตระกูลของเจ้าเจ็ดตน (หนานทิพย์ช้าง) (สงวน โชติสุขรัตน์, ๒๕๑๒, หน้า ๑๔) ในจังหวัดน่าน เริ่มจัดประเพณีทานก๋วยสลากที่วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร ซึ่งเป็นวัดหลวงก่อน จึงจะจัดประพณีนี้ที่วัดอื่นๆได้ แต่ปัจจุบันจัดให้มีประเพณีนี้ขึ้นตามสะดวก (บุญเลิศ ครุฑเมือง, ๒๕๓๗, หน้า ๒๐๐)