อบเชย


 
            สำหรับอบเชยไทย มีชื่ออื่น คือ อบเชย อบเชยต้น มหาปราบ เซียด ฝักดาบ (พิษณุโลก) พญาปราบ (นครราชสีมา) ฮักแกง โกเล่ (กะเหรี่ยง-กำแพงแสน) เนอม้า (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี) สุรามริด (ภาคใต้, พิษณุโลก, นครราชสีมา) โมง โมงหอม (ชลบุรี) เคียด กะทังหัน (วุฒิ วุฒิธรรมเวช, 2540, 501)
 
            อบเชย เป็นพืชในวงศ์ Lauraceae มีหลายชนิด คือ อบเชยเทศ อบเชยจีน อบเชยชวาอบเชยญวณ (เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, บรรณาธิการ, 2548, 89-91) วุฒิ วุฒิธรรมเวช (2540) กล่าวถึงอบเชย 3 ชนิด คืออบเชยไทย อบเชยเทศ และอบเชยจีน อบเชยไทย เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง สูง 4-10 เมตร ใบรูปหอกปลายเรียวแหลม โคนแหลม มีเส้นใบตามยาว 3 เส้น ใบหนาสีเขียวเข้ม ยาว 4-6 นิ้ว เปลือกต้นหนาประมาณ 3-5 มิลลิเมตร กลิ่นหอม เกิดตามป่าดงดิบเขาสูง มีมากทางภาคเหนือ ดอกเล็ก สีเหลืองอ่อน เป็นช่อ ผลรูปใข่เท่าปลายนิ้วก้อย เป็นพวงห่างๆ สีเขียว เกิดตามป่าดงดิบเขาทั่วไป ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด อบเชยต้น หรือมหาปราบ เปลือกมีผิวหยาบ หนา กลิ่นไม่หอมเท่าอบเชยเทศ (วุฒิ วุฒิธรรมเวช, 2540, 500) อบเชยเทศ มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Ceylon cinnamon หรือ True cinnamon ได้จากพืชที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cinnamomum verum J.S. Presl มีชื่อพ้องว่า C. zeylanicum Garc.ex Bl. (เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, บรรณาธิการ, 2548, 89-91) เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ใบรูปหอกปลายและโคนแหลม เส้นใบตามยาว 3 เส้น ใบค่อนข้างหนา ขอบและผิวเรียบมัน สีเขียวเข้ม ดอกเล็กเป็นช่อสีเหลืองอ่อน ผลรูปไข่ ผิวเปลือกเรียบบาง หนา 2-3 มิลลิเมตร กลิ่นหอม ส่งมาจากอินเดียและศรีลังกา เคยพบในประเทศไทย (2539) ในป่าดงดิบเขาค่อนข้างสูงแถบชายแดน มีอยู่เป็นดงอบเชยมากมายหลายร้อยต้น บางต้นสูง 10-15 เมตร ผิวเปลือกเรียบบาง พอๆ กับอบเชยที่นำเข้า กลิ่นหอมจัด (วุฒิ วุฒิธรรมเวช, 2540, 501) อบเชยจีน มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Chinese cinnamom; False cinnamon; Cassia lignea; Chinese cassia และ Cassia bark ได้จากพืชที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cinnamomum aromaticum nees มีชื่อพ้องว่า C.cassia Nees ex Bl. และ C. cassia Presl (เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, บรรณาธิการ, 2548, 89-91) อบเชยจีนมีเปลือกหนากว่าอบเชยเทศเล็กน้อย กลิ่นหอม ส่งมาจากประเทศจีน (วุฒิ วุฒิธรรมเวช, 2540, 501) อบเชยชวา มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Batavia cassia; Batavia cinnamom และ Panang cinnamon มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cinnamomum burmanii Blume อบเชยที่ขายกันในตลาดกรุงเทพฯ ในนามของอบเชยเทศ เป็นอบเชยชวา กลิ่นหอมสู้อบเชยลังกาไม่ได้ มักใช้ผสมเครื่องเทศพวกมัสมั่น และข้าวหมกไก่ (เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, บรรณาธิการ, 2548, 89-91) อบเชยญวณ มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Cinnamomum louririi Nees ชื่อพ้อง C. obtusifolium Nees var. loureirii Perr. et Eb. (เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, บรรณาธิการ, 2548, 89-91)
 
        
อบเชยไทย มีสรรพคุณ คือ เปลือกต้น รสหอมสุขุม บำรุงดวงจิต แก้อ่อนเพลีย ทำให้มีกำลัง ขับผายลม บำรุงธาตุ แก้บิด แก้ไขสันนิบาต ใช้ปรุงยานัตถุ์ แก้ปวดศรีษะ รากและใบ รสหอมสุขุม ต้มดื่มแก้ไข้จากการอักเสบหลังคลอด ขับลม บำรุงธาตุ แก้ท้องอืดเฟ้อ (วุฒิ วุฒิธรรมเวช, 2540, 500)

อบเชยเทศ มีสรรพคุณ คือ ราก รสหอมสุขุม แก้ลมอัมพฤกษ์ ปลุกธาตุให้เจริญ แก้พิษร้อน แก้ไขสันนิบาต เปลือกต้น รวเผ็ดหวาน แก้ลมอัณฑพฤกษ์ ปลุกธาตุอันดับให้เจริญ แก้ไขสันนิบาต แก้อ่อนเพลีย ขับผายลม (วุฒิ วุฒิธรรมเวช, 2540, 501)

อบเชยจีน สรรพคุณเหมือนอบเชยเทศ (วุฒิ วุฒิธรรมเวช, 2540, 501)

 
 
 
            

เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, บรรณาธิการ. (2548). เครื่องปรุงในอาหารไทย. นนทบุรี: ศูนย์พัฒนาตำราการแพทย์แผนโบราณ.

วุฒิ วุฒิธรรมเวช. (2540). สารานุกรมสมุนไพร: รวมหลักเภสัชกรรมไทย. กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์.