ประเภทของอาหารพื้นบ้านล้านนา

ขนม/อาหารว่าง

ชาวล้านนามีขนม (อ่านว่า เข้าหนม) เป็นอาหารประเภทของหวาน ปรุงด้วยแป้งและกะทิ และน้ำตาล หรือน้ำอ้อย โดยปกติมักจะทำขนม เมื่อมีเทศกาล โอกาสพิเศษ หรือพิธีกรรมเท่านั้น และมักจะเป็นการเตรียมเพื่อทำบุญ เช่น วันพระ วันสำคัญทางพุทธศาสนา วันสงกรานต์ งานประเพณี งานทำบุญ ขนมที่นิยมทำ เช่น ขนมจ็อก ข้าวต้มหัวงอก ขนมลิ้นหมา ข้าววิตู ขนมกล้วย ขนมศิลาอ่อน หรือซาลาอ่อน ขนมวง ข้าวแต๋น (รัตนา พรหมพิชัย, 2542, 820) ของว่าง เช่น เหมี้ยง กระบอง (ผักทองทอด ปลีทอด) หลังอาหารชาวล้านนานิยมรับประทานเหมี่ยง เรียกว่า "อมเหมี้ยง"

คั่ว

คั่ว หรือขั้ว ในความหมายทางล้านนา คือการผัด เป็นวิธีการปรุงอาหารที่นำน้ำมันปริมาณเล็กน้อย และใส่กระเทียวลงเจียว แล้วใส่เครื่องปรุงลงไปผัด ใช้ไฟปานกลาง อีกแบบหนึ่งคือ คั่วแบบไม่ใส่น้ำมัน เพียงใส่น้ำลงไปเล็กน้อย พอน้ำเดือด จึงนำเครื่องปรุงลงผัด คนจนอาหารสุก และปรุงรสกลิ่นในระหว่างนั้น เช่น คั่วมะเขือถั่วฝักยาว (คั่วบ่าเขือบ่าถั่ว) คั่วลาบ การคั่วเมล็ดพืช เช่น คั่วงา คั่วถั่วลิสง ใช้วิธีคั่วแบบแห้ง คือไม่ใช้ทั้งน้ำและน้ำมัน (รัตนา พรหมพิชัย, 2542, 646; สิรวิชญ์ จำรัส, สัมภาษณ์, 18 มิถุนายน 2550)

จอ

เป็นการปรุงอาหารประเภทผัก โดยการนำน้ำใส่หม้อตั้งไฟปรุงด้วย เกลือ กะปิ ปลาร้าเมื่อน้ำเดือดจึงใส่ผักลงไป จากนั้นจึงเติมรสเปรี้ยวด้วยน้ำมะขามเปียกหรือมะขามสด (ไม่นิยมน้ำมะนาว มะเขือเทศ มะกรูด) การจออาจใส่กระดูกหมูด้วยก็ได้ ชนิดผักที่มีการนำมาจอ เช่น ผักกาด ผักหนาม ผักกูด ผักบุ้ง ซึ่งบางแห่งนิยมใส่ถั่วเน่าแข็บผิงไฟ และน้ำอ้อย ลงไปด้วย (อัมพร โมฬีพันธ์, สัมภาษณ์, 6 กรกฎาคม 2550)

ตำ/ยำ

ตำ (อ่านว่า ต๋ำ) เป็นอาหารประเภทเดียวกับยำ มีวิธีการปรุง โดยนำส่วนผสมต่างๆ พร้อมเครื่องคลุกเคล้ากันในครก เช่น ตำขนุน (ตำบ่าหนุน) ตำมะขาม (ตำบ่าขาม) ส่วนประกอบหลัก ได้แก่ เกลือ กระเทียม หัวหอม พริกแห้งหรือพริกสด กะปิ ถั่วเน่าแข็บ (ถั่วเน่าแผ่น) ปลาร้า ซึ่งทำให้สุกแล้ว (รัตนา พรหมพิชัย, 2542, 2406; ประทุม อุ่นศรี, สัมภาษณ์, 25 มิถุนายน 2550)

ยำ ใช้กับของที่สุกแล้ว เช่น ยำจิ๊นไก่ ทำด้วยไก่ต้ม ยำผักเฮือด (ผีผักเฮือดนึ่ง) ยำจิ๊นแห้ง (เนื้อต้ม) ปรุงเครื่องยำ หรือเรียกว่า พริกยำ ในน้ำเดือด แล้วนำส่วนผสมที่เป็นเนื้อ หรือผักต้มลงไป คนให้ทั่ว (รัตนา พรหมพิชัย, 2542, 5515 ; สิรวิชญ์ จำรัส, สัมภาษณ์, 18 มิถุนายน 2550)

นึ่ง

นึ่ง หรือหนึ้ง เป็นการทำให้สุกด้วยไอน้ำร้อนในไห หรือที่สำหรับการนึ่ง มี 2 ลักษณะ คือ การนึ่งโดยตรง โดยที่อาหารนั้นไม่ต้องมีเครื่องห่อหุ้ม เช่น การนึ่งข้าว นึ่งปลา นึ่งกล้วยตาก นึ่งเนื้อตาก อีกลักษณะหนึ่ง คืออาหารนั้นจะห่อด้วยใบตองก่อน ได้แก่ การนึ่งขนมที่ห่อใบตอง เช่น ขนมจ็อก ขนมเกลือ และพวกห่อนึ่งต่างๆ อาหารที่ใช้วิธีนึ่ง มักจะเรียกตามชื่ออาหารนั้นๆ ลงท้ายด้วยนึ่ง เช่น ไก่นึ่ง ปลานึ่ง กล้วยนึ่ง (รัตนา พรหมพิชัย และรังสรรค์ จันต๊ะ, 2542, 7339)

ห่อนึ่ง หรือห่อหนึ้ง เป็นวิธีประกอบอาหารชนิดหนึ่ง ใช้เนื้อสัตว์ เช่น ไก่ ปลา หรือใช้หัวปลี หน่อไม้ มาคลุกเคล้ากับเครื่องปรุง ห่อด้วยใบตองแล้วนำไปนึ่ง ห่อนึ่งจะเรียกตามชนิดของอาหารที่นำไปนึ่ง ห่อนึ่งจะเรียกตามชนิดของอาหารที่นำมาปรุงเช่น ห่อนึ่งไก่ ห่อนึ่งปลา หน่อนึ่งปลี ห่อนึ่งหน่อ เป็นต้น (สมลักษมิ์ นิ่มสกุล และคณะ, 2546, 14; วิมลพรรณ ลิขิตเอกราช และนิภาภรณ์ ปิ่นมาศ, 2546, 21; อัมพร โมฬีพันธ์, สัมภาษณ์, 6 กรกฎาคม 2550)

น้ำพริก

น้ำพริก (อ่านว่า น้ำพิก) เป็นอาหารหรือเครื่องปรุงชนิดหนึ่ง มีส่วนประกอบหลัก คือ พริก เกลือ หอม กระเทียม เป็นต้น อาจมีส่วนผสมอื่นๆ เช่น กะปิ ถั่วเน่าแข็บ ปลาร้า มะเขือเทศ ข่า ตะไคร้ เพิ่มเข้าไป แล้วแต่จะปรุงเป็นน้ำพริกแต่ละชนิด วิธีการปรุง จะนำส่วนผสมทั้งหมดมาโขลกรวมกันในครก เช่น น้ำพริกหนุ่ม น้ำพริกกบ น้ำพริกปลา (รัตนา พรหมพิชัย, 2542, 3247; ศรีวรรณ จำรัส, สัมภาษณ์, 14 มิถุนายน 2550, ศิริพร โปร่งคำ, สัมภาษณ์, 21 มิถุนายน 2550)

ปิ้ง/ย่าง/ทอด

ปิ้ง เป็นการนำอาหารที่ปรุงเสร็จแล้วมาปิ้งเหนือไฟไม่แรงนัก ปิ้งจนสุกเกรียมกรอบ (วิมลพรรณ ลิขิตเอกราช, 2545, 39) เช่น ปิ้งปลา ปิ้งไก่ ปิ้งหมู

ย่าง เป็นการทำอาหาร หรือการทำให้เครื่องปรุงสุก โดยวางสิ่งของนั้นเหนือไฟอ่อนจนสุกตลอดถึงข้างใน อาจใช้เวลาค่อนข้างนาน (วิมลพรรณ ลิขิตเอกราช, 2545, 39) เช่น การย่างไส้อั่ว

ทอด เป็นการทำให้อาหารสุกด้วยน้ำมัน ตั้งไฟให้ร้อน ใส่อาหารลงทอดให้เหลืองสุกตามที่ต้องการ (วิมลพรรณ ลิขิตเอกราช, 2545, 39) เช่น การทอดแคบหมู แคบไข ไส้อั่ว

มอบ

เป็นวิธีการปรุงอาหารที่นำปูนามาโขลกให้ละเอียด คั้นเอาแต่น้ำ ใส่กระทะ ตั้งไฟอ่อนๆ เคี่ยวจนหอม ปรุงน้ำพริก ผักที่เป็นส่วนผสม เป็นผักชนิดเดียวกับแกงแค ใส่ข้าวคั่วและไข่ลงไปและมีกลิ่นหอมของปู (สมลักษมิ์ นิ่มสกุล และคณะ, 2546, 20; สิริวิชญ์ จำรัส, สัมภาษณ์, 18 มิถุนายน 2550) บางคนเรียก มอกปู (บุปผา คุณยศยิ่ง, 2542, 5077)

ลาบ/หลู้

เป็นวิธีการปรุงอาหารโดยการสับให้ละเอียด เช่น เนื้อสัตว์ ทั้งนี้เพื่อนำไปปรุงกับเครื่องปรุงน้ำพริก ที่เรียกว่า พริกลาบ หรือเครื่องปรุงอื่นๆ (ประธาน นันไชยศิลป์, สัมภาษณ์, 3 กรกฎาคม 2550) เรียกชื่อลาบตามชนิดของเนื้อสัตว์ เช่น ลาบไก่ ลาบหมู ลาบงัว ลาบควาย ลาบฟาน (เก้ง) ลาบปลา นอกจากนี้ ยังเรียกตามการปรุงอีกด้วย ได้แก่ ลาบดิบ ซึ่งเป็นการปรุงลาบเสร็จแล้ว แต่ยังไม่ทำให้สุก โดยการคั่ว คำว่าลาบ โดยทั่วไป หมายถึง ลาบดิบ อีกประเภทหนึ่งคือ ลาบคั่ว เป็นลาบดิบที่ปรุงเสร็จแล้ว และนำไปคั่วให้สุก และมีลาบอีกหลายประเภท ได้แก่ ลาบเหนียว ลาบน้ำโทม ลาบลอ ลาบขโมย ลาบเก๊า ลาบแม่ ชาวล้านนามีการทำลาบมานานแล้ว แต่ไม่ปรากฏว่าเมื่อใด เป็นอาหารยอดนิยมและถือเป็นอาหารชั้นสูง (รัตนา พรหมพิชัย, 2542, 5937-5944)

ส้า

เป็นวิธีการปรุงอาหารที่นำเอาเครื่องปรุงเช่น เนื้อปลา พริกสด หอมแดง กระเทียมมาย่างไฟให้สุกก่อนโขลกเครื่องปรุงทั้งหมดให้เข้ากัน เติมน้ำปลาร้าที่ต้มเตรียมไว้ นำมาคลุกเคล้ากับผักสดที่ล้างเตรียมไว้แล้ว เช่น ส้าผักแพระ ส้ายอดมะม่วง จะปรุงรสให้เปรี้ยวด้วยมะกอกป่า หรือมะนาว (ศรีวรรณ จำรัส, สัมภาษณ์, 14 มิถุนายน 2550; รัตนา พรหมพิชัย, 2542, 6807)

หมักดอง

ชาวล้านนาทำอาหารประเภทหมักดองไว้สำหรับใช้เป็นเครื่องปรุงรส และเป็นส่วนผสมของตำรับอาหาร เช่น ถั่วเน่าเมอะ ถั่วเน่าแข็บ หรือถั่วเน่าแผ่น สำหรับใช้ในการปรุงรสแกงต่างๆ เช่น น้ำเงี้ยว หรือจอ เช่น จอผักกาด สำหรับทำน้ำพริก เช่น น้ำพริกถั่วเน่าเมอะ น้ำพริกถั่วเน่าแข็บ หรือสำหรับเป็นกับข้าว เช่น นำถั่วเน่าเมอะมาห่อใบตองแล้วนำมาย่างไฟ รับประทานกับข้าวนึ่งร้อนๆ กับเครื่องเคียง เป็นพริกหนุ่ม ทำหน่อโอ่ โดยดองแล้วนำไปต้มให้สุก จิ้มด้วยน้ำพริกข่า เป็นต้น (สุมาลี ทะบุญ, สัมภาษณ์, 27 มิถุนายน 2550; นงเยาว์ วิริยะ, สัมภาษณ์, 2 กรกฎาคม 2550)

อุ๊ก/ฮุ่ม

อุ๊ก เป็นวิธีการทำอาหารของชาวล้านนาชนิดเดียวกับ "ฮุ่ม" คือเป็นการทำอาหารประเภทเนื้อสัตว์ที่ค่อนข้างเหนียว เช่น เนื้อวัว เนื้อไก่ หรือเนื้อเค็มตากแห้ง (ที่เรียกว่า จิ๊นแห้ง) หากใช้เนื้อไก่ จะเรียกว่า อุ๊กไก่ หากใช้เนื้อวัว หรือเนื้อเค็มตากแห้ง จะเรียกว่า จิ๊นฮุ่ม ซึ่งลักษณะของอาหารประเภทนี้ เนื้อจะเปื่อย และมีน้ำขลุกขลิก (สุนทร บุญมี, 2549, 58; นงเยาว์ วิริยะ, สัมภาษณ์, 2 กรกฎาคม 2550)

ฮุ่ม เป็นการประกอบอาหารประเภทเนื้อสัตว์ โดยหั่นเนื้อเป็นชิ้นโต ปรุงอย่างแกง แล้วเคี่ยวด้วยไฟอ่อน ๆ ให้เนื้อนั้นเปื่อยนุ่มและเหลือน้ำแกงเพียงเล็กน้อย เช่น จิ๊นฮุ่ม (อินทร วงค์กุฎ, สัมภาษณ์, 26 มิถุนายน 2550)

อ็อก

เป็นการปรุงอาหารโดยนำอาหารห่อใบตอง นำใส่หม้อหรือกระทะ เติมน้ำลงไปเล็กน้อย หรือนำเอาอาหารพร้อมเครื่องปรุงใส่ในหม้อ เติมน้ำเล็กน้อยยกตั้งไฟ นิยมทำกับอาหารที่สุกเร็ว เช่น ไข่ ปลา มะเขือยาว เรียกชื่ออาหารตามชนิดของส่วนผสม เช่น อ็อกปลา อ็อกไข่ (ไข่ป่าม หรือป่ามไข่) อ็อกบ่าเขือ (อ็อกมะเขือ) (รัตนา พรหมพิชัย, 2542, 7832-7833; สิรวิชญ์ จำรัส, สัมภาษณ์, 18 มิถุนายน 2550)

เคี่ยว

เครื่องปรุงรสอาหารของชาวล้านนา ที่ใช้วิธีเคี่ยว เช่น น้ำปู (อ่านว่า ”น้ำปู๋”) เป็นวิธีการที่นำปูมาโขลกให้ละเอียด คั้นเอาแต่น้ำ แล้วนำไปเคี่ยวบนไฟแรงๆ จนเหลือแต่น้ำปูในหม้อ 2 ใน 3 ส่วน แล้วจึงลดไฟให้อ่อนลง เติมเกลือ บางคนชอบเผ็ด ก็โขลกพริกใส่ลงไปด้วย (รัตนา พรหมพิชัย, 2542, 3246; สุมาลี ทะบุญ, สัมภาษณ์, 27 มิถุนายน 2550) การเคี่ยวอีกอย่างหนึ่ง การเคี่ยวหัวน้ำเหมี้ยง นำเอาน้ำเหมี้ยงที่ได้จากเหมี้ยงที่นึ่งแล้ว มาเคี่ยวเช่นเดียวกับน้ำปู หัวน้ำเหมี้ยงใช้เป็นเครื่องปรุงในการทำน้ำเหมี้ยง (อุทิตย์ เป็งมล, สัมภาษณ์, 10 กรกฎาคม 2550)

เจียว

เจียว (อ่านว่า เจี๋ยว) เป็นวิธีการปรุงอาหารที่ใส่น้ำ แล้วตั้งไฟให้เดือด ใส่กะปิ เกลือหรือน้ำปลา ปลาร้า กระเทียม หอมหัวเล็ก พริกสด ลงไปปรุงรส จากนั้นจึงใส่ผัก หรือไข่ขณะที่น้ำเดือด หรือจะปรุงรสทีหลังก็ได้ แต่งกลิ่นด้วยต้นหอม ผักชี หรือพริกไทย ถ้าชอบเผ็ด ก็ใส่พริกสด หรือพริกสดเผาแกะเปลือก ใส่ลงไปทั้งเม็ด หรือจะใช้กินกับเจียวผักนั้น เจียวมีลักษณะคล้ายจอ แต่ไม่มีรสเปรี้ยว ปริมาณน้ำแกงน้อยกว่าจอ เช่น เจียวผักโขม เจียวไข่มดแดง เป็นต้น (รัตนา พรหมพิชัย, 2542, 1367; ศรีวรรณ จำรัส, สัมภาษณ์, 14 มิถุนายน 2550)

แกง

แกง (อ่านว่า แก๋ง) เป็นอาหารประเภทน้ำ ที่มีปริมาณน้ำแกงอยู่ในระดับใกล้เคียงกับส่วนประกอบต่างๆ ในหม้อ มีวิธีการทำ โดยใส่น้ำ พอเดือด ใส่เครื่องปรุง แล้วใส่ส่วนประกอบหลักที่ต้องการแกงตามลำดับ บางสูตร นิยมคั่วเครื่องแกงกับน้ำมันเล็กน้อย จนเครื่องแกงและส่วนผสมอื่น เช่น หมู ไก่ จนมีกลิ่นหอมก่อน จึงจะเติมน้ำลงไป และจึงใส่เครื่องปรุงอื่นๆ ตามไป เมื่อน้ำเดือด หรือเมื่อหมู หรือไก่ได้ที่แล้ว เครื่องปรุงหลัก ได้แก่ พริก หอมแดง กระเทียม ปลาร้า กะปิ ถ้าเป็นแกงที่มีเนื้อสัตว์ เป็นเครื่องปรุงด้วย จะใส่ตะไคร้ ขมิ้น เพื่อดับกลิ่นคาว เช่น แกงอ่อมไก่ (รัตนา พรหมพิชัย, 2542, 472; สิรวิชญ์ จำรัส, สัมภาษณ์, 18 มิถุนายน 2550; ประทุม อุ่นศรี, สัมภาษณ์, 25 มิถุนายน 2550; ดีกิจ กัณทะกาลังค์, สัมภาษณ์, 20 มิถุนายน 2550; เทียนชัย สุทธนิล, สัมภาษณ์, 19 มิถุนายน 2550)

แอ็บ

เป็นการนำอาหารมาคลุกเคล้ากับเครื่องปรุงก่อน ปรุงเสร็จแล้วนำมาห่อด้วยใบตอง นำไปปิ้ง หรือนึ่ง เช่น แอ็บปลา แอ็บกุ้ง แอ็บอี่ฮวก (รัตนา พรหมพิชัย, 2542, 8111; อัมพร โมฬีพันธ์, สัมภาษณ์, 6 กรกฎาคม, 2550)

รายการอ้างอิง

ฉลาดชาย รมิตานนท์.  (2545).  น้ำพริกล้านนา.  . กรุงเทพฯ: ครัวบ้านและสวน.
ดีกิจ  กัณทะกาลังค์.  (2550).  สัมภาษณ์.  20 มิถุนายน.
เทียนชัย สุทธนิล.  (2550).  สัมภาษณ์.  16 มิถุนายน.
บุญยัง ชุมศรี และชรินทร์ แจ่มจิตต์.  (2542). ยำ ใน สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ (เล่ม 11,
           หน้า 5517). กรุงเทพฯ: มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์.
บุปผา คุณยศยิ่ง.  (2542).  มอก.  ใน สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ (เล่ม 10, หน้า 5077). 
           กรุงเทพฯ: มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์.
ประทุม อุ่นศรี.  (2550).  สัมภาษณ์. 25 มิถุนายน.
ประธาน นันไชยศิลป์(2550).  สัมภาษณ์.  3 กรกฎาคม.
รัตนา  พรหมพิชัย.  (2542).  แกง.  ใน สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ (เล่ม 1, หน้า 472-491).
            กรุงเทพฯ: มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์.
        .  (2542).  ขั้ว-คั่ว.  ใน สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ (เล่ม 2, หน้า 646-650). 
           กรุงเทพฯ: มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์.
        .  (2542).  เข้าหนม.  ใน สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ (เล่ม 2, หน้า 820). กรุงเทพฯ:
           มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์.
        .  (2542).  เจียว.  ใน สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ (เล่ม 4, หน้า 1713-1714). 
           กรุงเทพฯ: มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์.
         . (2542).  ตำ.  ใน สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ (เล่ม 5, หน้า 2406). กรุงเทพฯ:
           มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์.
          .  (2542) น้ำปู.   ใน สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ (เล่ม 6, หน้า 3246-3247).
           กรุงเทพฯ: มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์.
         . (2542).  น้ำพริก.  ใน สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ (เล่ม 4, หน้า 3247-3258). 
           กรุงเทพฯ : มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์.
         . (2542).  ยำ.  ใน สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ (เล่ม 11, หน้า 5515-5521).
           กรุงเทพฯ: มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์.
         . (2542).  ลาบ.  ใน สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ (เล่ม 11, หน้า 5937-5944). 
           กรุงเทพฯ: มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์.
         .  (2542).  ส้าผัก.  ใน  สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ (เล่ม 13, หน้า 6807). กรุงเทพฯ:
           มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์.
         .  (2542).  อ็อก.  ใน  สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ (เล่ม 15, หน้า 7832). กรุงเทพฯ:
           มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์.
         .  (2542).  แอ็บ.  ใน  สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ (เล่ม 15, หน้า 8111-8112).
           กรุงเทพฯ: มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์.
รัตนา พรหมพิชัย และรังสรรค์ จันต๊ะ.  (2542).   หนึ้ง.  ใน สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ 
           (เล่ม 14,หน้า 7339). กรุงเทพฯ: มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์.
วิมลพรรณ ลิขิตเอกราช.  (2545).  ตำนานน้ำพริกล้านนา.  ใน น้ำพริกล้านนา.  ฉลาดชาย รมิตานนท์ 
           (หน้า 33-39). กรุงเทพฯ: ครัวบ้านและสวน.
ศรีวรรณ จำรัส.  (2550).  สัมภาษณ์.  25 เมษายน.
ศิริพร โปร่งคำ.  (2550).  สัมภาษณ์.  20 มิถุนายน.
สมลักษมิ์ นิ่มสกุล  และคณะ. (2546).  คู่มือการดูแลรักษาสุขภาพโดยภูมิปัญญาด้านอาหารการกิน
           ของชาวล้านนา.
กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.
สิรวิชญ์ จำรัส.  (2550).  สัมภาษณ์.  25 เมษายน.
สุนทร บุญมี.  (2549).  ของกิ๋นบ้านเฮา  “อุ๊กไก่”.  ร่มพยอม,  8 (4), 58-59.
สุมาลี ทะบุญ.  (2550).  สัมภาษณ์.  27  มิถุนายน.
อัมพร โมฬีพันธ์.  (2550).  สัมภาษณ์26 มิถุนายน.
อินทร วงค์กุฎ.  (2550).  สัมภาษณ์.  25 มิถุนายน..
อุทิตย์ เป็งมล.  (2550).  สัมภาษณ์.  10 กรกฎาคม.