Tha Thai Version Eng Version Eng  
     
˹á лླբͧҹ ླҹ ҹླҹ 㹾Ըաҹ ػФس ԧǢͧ
 
 
 
 
แบบสอบถามความคิดเห็น
 
Last update: 07/19/2012
 
 
สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์
เว็บไซต์และฐานข้อมูลประเพณีล้านนา โดย
สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
และ
สำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

อนุญาตให้ใช้ได้ตาม
สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ
แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง
 
by
ผู้รู้ด้านประเพณีล้านนา
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ มณี พยอมยงค์
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ มณี พยอมยงค์
�����������ศาสตราจารย์เกียรติคุณ มณี พยอมยงค์ หรืออาจารย์มณี หรือพ่อครูมณี ปราชญ์แห่งล้านา และศิลปินแห่งแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พ.ศ. ๒๕๔๕ เป็นชาวเชียงใหม่โดยกำเนิด เกิดเมื่อวันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ.๒๔๗๓ ที่บ้านขี้เหล็กน้อย ตำบลขี้เหล็ก อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ เป็นบุตรของนายไชย และนางต่อม พยอมยงค์ สมรสกับนางสาวบุญยิ่ง สุขุมินท มีบุตรธิดา ๒ คน เป็นชาย ๑ คน หญิง ๑ คน ช่วงหลังจากเกษียณอายุราชการ อาจารย์มณีประสบปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับการมองเห็น อาจารย์มณีได้ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๕๒ เวลาประมาณ ๐๓.๐๐ น. ณ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ด้วยโรคติดเชื้อในกระแสเลือด สิริอายุ ๗๙ ปี
เกียรติคุณของอาจารย์มณี เป็นผู้มีผลงานวัฒนธรรมล้านนาโดยตลอดจนวาระสุดท้ายของชีวิต ผู้ได้รับการยกย่องให้เป็นปราชญ์แห่งล้านนา ด้วยความที่บิดาเป็นผู้คงแก่เรียน อาจารย์มณีจึงได้แบบอย่างที่ดี และได้เรียนรู้วิชาจากบิดา โดยเฉพาะด้านพิธีกรรมต่างๆ ของล้านนา เมื่ออายุได้ ๑๕ ปี ได้บวชเป็นสามเณร ศึกษาธรรมะจนสอบได้เปรียญ ๓ ประโยค และนักธรรมชั้นเอก และสอบได้เปรียญ ๔, ๕, ๖ ตามลำดับ เมื่ออายุ ๓๑ ปี ได้ลาสิกขาบทและเข้าศึกษาต่อจนจบในระดับปริญญาตรี คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเข้าศึกษาต่อ ในระดับปริญญาโท สาขาภาษาและวรรณคดีไทย คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร ตามลำดับ ช่วงที่อยู่ในสมณเพศ ท่านเป็นนักเทศน์ในลักษณะทำนอง (ใส่กาพย์) ที่มีชื่อเสียง ชอบเขียนหนังสือ โดยมีพระยาอนุมานราชธน หลวงวิจิตรวาทการ และพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ (น.ม.ส.) เป็นแบบอย่าง ทำให้ซึมซับและกลายเป็นผู้เขียนที่เขียนหนังสือได้อย่างน่าอ่าน มีสำนวนเรียบง่าย แต่ลึกซึ้ง (อภิวันท์ พันสุข, ๒๕๕๐, หน้า ๔๓; สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ, ๒๕๔๕)
อาจารย์มณีเป็นผู้ทีมีผลงานทั้งด้านวัฒนธรรมล้านนา และด้านทางด้านวิชาการที่มีมาตรฐานเป็นจำนวนมาก เป็นผู้ปฏิบัติงานด้านวัฒนธรรมล้านนาที่มีบทบาทในการชี้แนะสังคมเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมมาอย่างสม่ำเสมอ ได้อุทิศตนในการถ่ายทอดความรู้แก่นักศึกษาและบุคคลในสถาบันต่างๆ ทั่วประเทศมาเป็นเวลานานกว่า ๕๐ ปี นับว่าเป็นผู้สร้างสรรค์ อนุรักษ์ ส่งเสริม สืบสาน และเผยแพร่ผลงานทางด้านวัฒนธรรมอันหลากหลายที่มีประโยชน์อันเป็นแบบอย่างที่ดีแก่สังคม

ประวัติการทำงานของอาจารย์มณี มีดังนี้

พ.ศ. ๒๕๐๕-๒๕๐๖ ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ และเขียนบทความลงหนังสือพิมพ์คนเมืองรายวัน
พ.ศ. ๒๕๐๖-๒๕๐๗ ครูพิเศษ โรงเรียนปริยัติธรรม วัดพ้นอ้นอำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่
พ.ศ. ๒๕๐๘ ครูโรงเรียนวัดวาลุการาม อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่
พ.ศ. ๒๕๐๙ ครูใหญ่ โรงเรียนวัดสุวรรณาวาส อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่
พ.ศ. ๒๕๑๐ โอนย้ายไปรับราชการในคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
พ.ศ. ๒๕๑๑-๒๕๑๒ ครูประจำคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
พ.ศ. ๒๕๑๕ อาจารย์ประจำคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
พ.ศ. ๒๕๒๑ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
พ.ศ. ๒๕๒๖ รองศาสตราจารย์ประจำคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
พ.ศ. ๒๕๓๑ ศาสตราจารย์ประจำคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
พ.ศ. ๒๕๓๕-๒๕๕๒ ข้าราชการบำนาญ และได้รับพระราชทานเกียรติบัตร เป็นศาสตราจารย์เกียรติคุณของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในหน่วยงานต่าง ๆ

รายการอ้างอิง
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ. ครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ ๒ ภาคเหนือ. กรุงเทพฯ: สำนักงาน.
อภิวันท์ พันสุข. (๒๕๕๐). ศ.ดร. มณี พยอมยงค์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์. ร่มพยอม, ๙(๑), ๔๓-๔๙.


พ.ศ. ๒๔๘๕ - ๒๔๘๖ ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔โรงเรียนขี้เหล็กน้อยประสาทศิลป์
พ.ศ. ๒๔๘๗ บวชเป็นสามเณร ณ วัดขี้เหล็กน้อย และเรียนนักธรรมตรีที่โรงเรียนนักธรรมวัดสันคะยอม
พ.ศ. ๒๔๘๘ เรียนนักธรรมสำนักวัดอินทราราม (ขี้เหล็กหลวง) สอบได้นักธรรมชั้นตรี ขณะเดียวกันได้เรียนเทศน์กัณฑ์มัทรีด้วย
พ.ศ. ๒๔๙๓ สอบได้เปรียญ ๓ ประโยค และนักธรรมชั้นเอก ได้รับคำสั่งให้เป็นครูนักธรรมชั้นโทและสอนบาลีชั้นมูล ๑ - ๒ และสอบวิชาครูมูลได้
พ.ศ. ๒๔๙๙ - ๒๕๐๐ สอบได้เปรียญ ๔, ๕, ๖
พ.ศ. ๒๕๐๒ สอบได้วิชาครูประโยคประถม (พ.ป.) และสอบเทียบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายแผนกอักษรศาสตร์
พ.ศ. ๒๕๐๙ สอบได้วิชาครูประโยคมัธยม (พ.ม.)
พ.ศ. ๒๕๑๔ จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
พ.ศ. ๒๕๑๙ จบการศึกษาระดับปริญญาโท สาขาศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต (ภาษาและวรรณคดีไทย) มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร
พ.ศ. ๒๕๔๘ -๒๕๔๙ ได้รับปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ภาษาและวรรณกรรมล้านนา จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ผลงานที่ได้รับการเผยแพร่

เป็นผลงานระหว่างพ.ศ. ๒๕๐๑ - ๒๕๕๐ มีดังนี้
มณี พยอมยงค์. (๒๕๐๑). ค่าวซอพุทธประวัติ: วรรณกรรม แห่ง เวียงเหนือ. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์พระสิงห์การพิมพ์.
มณี พยอมยงค์. (๒๕--). ไปวัดแบบคนเมือง. [เชียงใหม่: ม.ป.พ.].
มณี พยอมยงค์. (๒๕๑-). ตำราแต่งโคลงของลานนาไทย. เชียงใหม่: [ม.ป.พ.].
มณี พยอมยงค์. (๒๕๑๑). ตำราเรียนหนังสือลานนาไทย. เชียงใหม่: โรงพิมพ์กลางเวียง.
มณี พยอมยงค์. (๒๕๑๓). ประวัติและวรรณคดีลานนา. เชียงใหม่: คนเมืองการพิมพ์.
มณี พยอมยงค์ และคณะนักศึกษาที่เรียนวิชา Ed.F 208. (๒๕๑๔). คุณค่าทางวัฒนธรรม. เชียงใหม่: คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
มณี พยอมยงค์. (๒๕๑๔). สารรักของพระยาพรหมโวหาร. เชียงใหม่: คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
มณี พยอมยงค์. (๒๕๑๕). โคลงหงส์ผาคำ. เชียงใหม่: โครงการวิจัยและรวบรวมเอกสารลานนาไทย ศูนย์คติชนวิทยาลานนาไทย วิทยาลัยครูเชียงใหม่.
มณี พยอมยงค์. (๒๕๑๖). ประวัติและวรรณคดีลานนา. เชียงใหม่: มิตรนราการพิมพ์.
มณี พยอมยงค์. (๒๕๑๙). การวิเคราะห์และเปรียบเทียบมหาชาติฉบับภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคอีสานและภาคใต้. วิทยานิพนธ์การศึกษามหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.
มณี พยอมยงค์. (๒๕๑๙). การศึกษาเชิงวิเคราะห์โคลงปทุมสังกา. เชียงใหม่: สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
ประเสริฐ ณ นคร และมณี พยอมยงค์. (๒๕๒๐). โคลงพรหมทัต วรรณกรรมชั้นเยี่ยมของลานนาไทย. เชียงใหม่: [ม.ป.พ.].
มณี พยอมยงค์. (๒๕๒๒). คติสอนใจล้านนาไทย. เชียงใหม่: ธารทองการพิมพ์.
มณี พยอมยงค์. (๒๕๒๓). นิราศโตเกียว. เชียงใหม่: คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
มณี พยอมยงค์. (๒๕๒๓). พจนานุกรมลานนาไทย. เชียงใหม่: คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
มณี พยอมยงค์. (๒๕๒๔). วัฒนธรรมลานนาไทย. กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ.
มณี พยอมยงค์. (๒๕๒๕). การศึกษาเชิงวิเคราะห์วรรณคดีลานนาไทย เรื่อง โคลงอมรา . เชียงใหม่: สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

มณี พยอมยงค์. (๒๕๒๕). วัฒนธรรมลานนา. เชียงใหม่: คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
มณี พยอมยงค์. (๒๕๒๕). ประเพณีสู่ขวัญควายของลานนาไทย. เชียงใหม่: คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
มณี พยอมยงค์. (๒๕๒๕). ประวัติและวรรณคดีลานนา. กรุงเทพฯ: องค์การค้าของคุรุสภา.
มณี พยอมยงค์. (๒๕๒๖). ธรรมมุลลกัณฑ์ไตร. เชียงใหม่: ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ วิทยาลัยครูเชียงใหม่.
มณี พยอมยงค์. (๒๕๒๗). การวิเคราะห์ปัญหาและเหตุการณ์ในสังคมไทยปัจจุบัน: เอกสารคำสอน. เชียงใหม่: คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
มณี พยอมยงค์. (๒๕๒๗). ตำราเรียนหนังสือลานนาไทย. เชียงใหม่: คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
มณี พยอมยงค์ และ นรินทร์ชัย พัฒนพงศา. (๒๕๒๗). วิถีชีวิตและค่านิยมของชาวลานนาไทย. เชียงใหม่: คณะศึกษาศาสตร์, คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
มณี พยอมยงค์. (๒๕๒๘). ประเพณีนักขัตฤกษ์ของล้านนาไทยและนิทานจากคร่าว อุทาหรณ์. กรุงเทพฯ: คณะกรรมการโครงการส่งเสริมหนังสือตามแนวพระราชดำริ.
มณี พยอมยงค์. (๒๕๒๙). ประเพณีสิบสองเดือนล้านนาไทย. เชียงใหม่: ส.ทรัพย์การพิมพ์.
มณี พยอมยงค์. (๒๕๒๙). วัฒนธรรมล้านนาไทย. กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช.
มณี พยอมยงค์. (๒๕๓-?). ประวัติชีวิตและผลงานของเจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่. [เชียงใหม่: ม.ป.พ.].
นรินทร์ชัย พัฒนพงศา และมณี พยอมยงค์. (๒๕๓๑). พิธีกรรมและความเชื่อทางเกษตรกับการยอมรับวิทยาการแผนใหม่ของเกษตรกรเชียงใหม่. เชียงใหม่ : มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
มณี พยอมยงค์. (๒๕๓๓). คร่าวพุทธประวัติ. เชียงใหม่: ธารทองการพิมพ์.มณี พยอมยงค์. (๒๕๓๔). ขึดขวง. เชียงใหม่: [ม.ป.พ.].
มณี พยอมยงค์. (๒๕๓๔). เทียนส่องใจ : คติสอนใจชาวล้านนาไทย: รวมบทวิทยุในรายการข่าวภาคเช้าสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จังหวัดเชียงใหม่. บรรณาธิการ สมโชติ อ๋องสกุล. เชียงใหม่: คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
มณี พยอมยงค์. (๒๕๓๓). ตำราเรียนหนังสือลานนาไทย. เชียงใหม่: ส.ทรัพย์การพิมพ์.
มณี พยอมยงค์. (๒๕๓๓). พิธีบวงสรวง และประวัติวัดโชติการาม (วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร). [เชียงใหม่: ม.ป.พ.].
มณี พยอมยงค์. (๒๕๓๓). ภาษาไทย ภาษาถิ่น ไม่สิ้นสูญ. เชียงใหม่: คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ; โครงการศูนย์ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม.
มณี พยอมยงค์. (๒๕๓๕). การส่งสการในพิธีพระราชทานเพลิงศพท่านอาจารย์ไกรศรี นิมมานเหมินท์ วันเสาร์ที่ 21 พฤศจิกายน 2535 ณ วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร จังหวัดเชียงใหม่. เชียงใหม่: [ม.ป.พ.].
มณี พยอมยงค์. (๒๕๓๕). ปันพร. เชียงใหม่: ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม สถาบันราชภัฏเชียงใหม่.
มณี พยอมยงค์ และศิริรัตน์ อาศนะ. (๒๕๓๘). เครื่องสักการะในล้านนาไทย. กรุงเทพฯ: ธนาคารไทยทนุ.
มณี พยอมยงค์. (๒๕๓๘). พิธีขึ้นเสาเอกบ้าน [วีดิทัศน์]. [เชียงใหม่: ม.ป.พ.].
มณี พยอมยงค์. (๒๕๓๙). คร่าวร่ำ 700 ปี เมืองเชียงใหม่. เชียงใหม่: ดาวคอมพิวกราฟิก.
มณี พยอมยงค์, ผู้บรรยาย. (๒๕๔๐). สงกรานต์และขันโตก: ประเพณียิ่งใหญ่แห่งดินแดนล้านนาไทย [วีดิทัศน์]. กรุงเทพฯ : บริษัท 2020 เวิลด์ มีเดีย.
มณี พยอมยงค์. (๒๕๔๐). ในห้องไอซียู. เชียงใหม่: ดาวคอมพิวกราฟิก.
มณี พยอมยงค์. (๒๕๔๑). ตำราเรียนหนังสือลานนาไทย. (พิมพ์ครั้งที่ ๓). เชียงใหม่: ดาวคอมพิวกราฟิก.
มณี พยอมยงค์. (๒๕๔๖). สารพจนานุกรมล้านนา. เชียงใหม่: ดาวคอมพิวกราฟิก.
มณี พยอมยงค์. (๒๕๔๗). ประเพณีสิบสองเดือนล้านนาไทย. (พิมพ์ครั้งที่ 5 ฉบับปรับปรุงเพิ่มเติม). เชียงใหม่: ส.ทรัพย์การพิมพ์.
มณี พยอมยงค์. (๒๕๕๐). เทียนส่องใจ : คติสอนใจชาวล้านนาไทย. เชียงใหม่: คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
มณี พยอมยงค์. (๒๕๕๐). พระมหาชนกและภริยามาตา. เชียงใหม่: มูลนิธิพระบรมธาตุดอยสุเทพ.



ผลงานอื่นๆ

พ.ศ. ๒๕๒๕ - ๒๕๓๐
ได้เผยแพร่รายการวัฒนธรรมประเพณีต่าง ๆ ออกอากาศทาง สถานีวิทยุ ส.ว.ท. เชียงใหม่ ว.ป.ถ. และ ม.ก.เชียงใหม่ ในรายการ ประโลมขวัญ,เทียนส่องใจ, พุทธประทีป ฯลฯ
พ.ศ. ๒๕๓๘-๒๕๔๐
1. ประพันธ์ร้อยกรอง เป็นฉันท์ลักษณ์ล้านนาสลับกับฉันทลักษณ์ภาคกลาง ชื่อ " คร่ำวร่ำ ๗๐๐ ปี เมืองเชียงใหม่ " เพื่อถวายเป็นราชกุศล แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดชในวโรกาสกาญจนาภิเษก ครองราชย์มาครบ ๕๐ ปี
2. ประพันธ์บทร้อยกรองลงในหนังสือ " สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามยรมราชกุมารี กวีศรีประชา" ในหัวข้อ " ดั่งจันทวรรณโสมแสงส่องหล้า " ซึ่งกรมศิลปากรจัดพิมพ์เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในวโรกาสทรงเจริญพระชนมายุ ๔๐ พรรษา พุทธศักราช ๒๕๓๘

พ.ศ. ๒๕๓๐-ปัจจุบัน
1. ให้การฝึกอบรมการเทศน์มหาชาติทำนองล้านนาและการขับร้องและการขับร้องบายศรีสู่ขวัญ แก่พระภิกษุ สามเณร
2. ทูลเกล้าฯ ถวาย บายศรีพระขวัญสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต พระบรมราชีนีนาถ ในวโรกาสพระชนมายุครบ ๕ รอบ พ.ศ. ๒๕๓๖
3. งานกวีที่ได้สร้างสรรค์และเรียบเรียง ได้แก่ นิราศจารึก นิราศเวียงพร้าว นิราศเชียงดาว คร่าวพุทธประวัติ นิราศโตเกียว คำทูนพระขวัญ คำจารึกฐานพระบรมราชานุสาวรีย์สามกษัตริย์ ฯลฯ
4. งานบันทึกเทปเสียง ที่เกี่ยวกับการขับร้องพื้นบ้านล้านนา ได้แก่ ล้านนาคดีโบราณพิธี บายศรีสู่ขวัญ, ล้านนาคดีโบราณพิธี ขึ้นครู ไหว้ครู โยงครู อ้อผญา, ล้านนาคดีโบราณพิธี ประเพณีปีใหม่เมือง, การขับลำนำและสาธิตการขับร้องแบบต่าง ๆ ของล้านนา
5. คำประพันธ์ที่เกี่ยวกับการเรียกขวัญ การบวงสรวงและงานทูลเกล้าฯ ถวายสิ่งของแด่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อาทิ งานถวาย สลุงหลวง ในวโรกาสพระราชพิธีกาญจนาภิเษก และถวาย สลุงกลวง ในวโรกาสพระชนมายุครบ ๖๐ พรรษา สมเด็จพระบรมราชินีนาถ



              
ในที่นี้ ขอนำการประเมินค่าผลงานของศาสตราจารย์เกียรติคุณ มณี พยอมยงค์ โดยสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ เพื่อยกย่องอาจารย์มณี เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พุทธศักราช ๒๕๔๙ ดังนี้

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ มณี พยอมยงค์ได้รับยกย่องว่ามีความรู้ความสามารถหลากหลายในด้านศิลปวรรณกรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี พิธีกรรมและวัฒนธรรม เป็นกวีผู้เชี่ยวชาญในการใช้ฉันทลักษณ์ทั้งของล้านนาและของไทยกลาง ผลงานประเภทคร่าวร่ำขนาดยาวคือ คร่าวพุทธประวัติ และ คร่าวร่ำ ๗๐๐ ปีเมืองเชียงใหม่ เป็นกวีนิพนธ์ร่วมสมัยของล้านนาที่มีคุณค่ายิ่งทั้งในด้านวรรณศิลป์ ด้านการสืบสานวัฒนธรรมทางวรรณศิลป์ของล้านนา ด้านวรรณคดีพระพุทธศาสนาและการสืบสานวัฒนธรรมล้านนาในสังคมไทยร่วมสมัย ผู้ประพันธ์มีความสามารถในการสรรคำ การใช้ภาพพจน์และโวหารกวีต่างๆและที่มีคุณค่ายิ่งคือการนำเสนอวิถีชีวิต วัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อและค่านิยมของล้านนาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

ผลงานของศาสตราจารย์เกียรติคุณ มณี พยอมยงค์มีอยู่เป็นจำนวนมาก อาจแบ่งได้เป็น ๔ ประเภท คือ ประเภทกวีนิพนธ์ทั้งลายลักษณ์และมุขปาฐะ ผลงานการปริวรรตวรรณคดีล้านนาจากต้นฉบับตัวเขียน ผลงานเขียนเกี่ยวกับวัฒนธรรมและประเพณีของล้านนาและตำรารวมทั้งผลงานวิจัยทางวิชาการ
ผลงานด้านกวีนิพนธ์
ผลงานด้านกวีนิพนธ์มีอยู่เป็นจำนวนมาก ได้แก่ คร่าวซอพุทธประวัต โคลงนิราศโตเกียวโคลงนิราศจาริก โคลงนิราศเวียงพร้าว นิราศเชียงดาว คำทูนพระขวัญบายศรีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระบรมราชินีนาถและพระบรมวงศานุวงศ์ คร่าวร่ำ 700 ปี เมืองเชียงใหม่และคำจารึกฐานพระบรมราชานุสาวรีย์สามกษัตริย์ ศาสตราจารย์เกียรติคุณมณี พยอมยงค์มีความสามารถด้านคร่าวเป็นพิเศษและยังสามารถใช้ฉันทลักษณ์ประเภทโคลงชนิดต่างๆ เป็นผู้สืบสานและสร้างสรรค์วรรณกรรมล้านนาร่วมสมัยทั้งที่เป็นลายลักษณ์และมุขปาฐะ เป็นผู้ประกอบพิธีกรรมในโอกาสสำคัญต่างๆ อาทิ พิธีสู่ขวัญ การทูนพระขวัญ งานถวายสลุงหลวง และการเทศน์ทำนองต่างๆ เป็นต้น
ผลงานกวีนิพนธ์เรื่องสำคัญที่ทรงคุณค่าทางวรรณศิลป์อย่างเด่นชัดคือ วรรณกรรมคร่าวร่ำ 700 ปี เมืองเชียงใหม่ เป็นวรรณกรรมคร่าวร่ำล้านนาร่วมสมัยเรื่องสำคัญ ด้านฉันทลักษณ์ประเภทคร่าวเล่าเรื่องคู่ขนานกับฉันลักษณ์ประเภทโคลง กาพย์ และร่าย เพื่อนำเสนอประวัติศาสตร์และโบราณคดีของเมืองเชียงใหม่ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งจนถึงปัจจุบัน เนื้อหาแบ่งเป็น ๑๑ บท ผู้ประพันธ์สืบสานขนบการแต่งวรรณคดีพุทธศาสนาโดยเริ่มจากบทอาศิรวามและปฐมเหตุ ประวัติผู้ประพันธ์ประวัติศาสตร์การสร้างเมืองเชียงใหม่จากตำนานโยนกนาคนคร สมัยลวจังกราช พญาลาวเม็ง พญาเม็งรายอันเป็นยุครุ่งเรืองของนพบุรีศรีนครพงค์เชียงใหม่ กษัตริย์ผู้ครองนครเชียงใหม่ทุกพระองค์จนเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ การบูรณะปูชนียสถานในเชียงใหม่ เรื่องราวของครูบาศรีวิชัย ยุคสงครามโลกครั้งที่สองจนถึงเชียงใหม่สมัยเทคโนโลยี การขยายตัวของเมืองและสิ่งก่อสร้างแบบตะวันตกจนถึงการเฉลิมฉลองเชียงใหม่ ๗๐๐ ปี
ลักษณะเด่นของวรรณกรรมเรื่องนี้อยู่ที่ผู้แต่งใช้กลวิธีเล่าเรื่องแบบคู่ขนานคือเล่าเรื่องด้วยคร่าวใช้สำนวนโวหารล้านนาแล้วเล่าด้วยโคลงสี่ โคลงสามและโคลงสองโดยใช้ภาษาไทยกลางเพื่อให้ผู้อ่านไม่เข้าใจภาษาล้านนาเข้าใจเป็นลักษณะเฉพาะที่ผู้ประพันธ์สร้างสรรค์ขึ้นทำให้มีคุณค่าทั้งต่อสังคมล้านนาและสังคมไทย ผู้ประพันธ์ยังสอดแทรกแนวคิดในโครงเรื่องย่อยเพื่อให้ความรู้ด้านศิลปวัฒนธรรม ประเพณีและวิถีชีวิตของชาวล้านนา นำเหตุการณ์ในอดีตมาเป็นอุทาหรณ์เพื่อแนะแนวทางการประพฤติปฎิบัติในชีวิตปัจจุบัน ส่วนคุณค่าด้านวรรณศิลป์ ใช้สำนวนโวหารที่สื่อสุนทรียรสทั้งเสียงและความหมาย ไพเราะด้วยท่วงทำนองและคุณค่าทางวรรณศิลป์ เช่นตอนพรรณนาการสวรรคตของพญาเม็งราย ใช้คร่าวพรรณนาเหตุการณ์ที่ขุนนางและประชาชนร่ำไห้ด้วยความโศกเศร้า
๖๐๒. แสนสงสารภูบาล เลิศล้า ทรงเดชกล้าเรืองรณ
หลายเขตแคว้นแล่นมาน้อมตน สร้างแผ่นดินดล ล้านนาใหญ่กว้าง
โกลาหล ฝูงคนรอบข้าง ตกสะเกิ๊ด ครางคลั่งไคล้
๖๐๓. ท้าวขุนเสนา ไพร่ไทยใบไม้ ร้องร่ำไห้โรทา
นาง นาฏไท้ เรือนใหญ่เคหา กัลยาณ์ แวดล้อมอ้อมเข้า
มเหสี เทวีแห่งเจ้า แสนอาดูรเดาเดือดร้อน
เหตุการณ์ตอนเดียวกันแต่งเป็นโคลงสี่สุภาพและร่ายโคลงสี่สุภาพ
๑๒๖. มังรายสวรรคตเศร้า ทั้งเมือง
ใจไพร่ใจขุนเปลือง หม่นไหม้
พฤกษาหุบเหี่ยวเหลือง ไปทั่ว
เสียงคร่ำครวญโหยไห้ ทั่วท้องเวียงพิงค์ร่าย
๑๒๗. อำมาตย์ทั้งหลายใจร้าว ปกป่าวกันทั่วเมือง
ทูลแจ้งเรื่องข่าวสวรรคต แด่ทรงยศไชยสงคราม
ดังไฟลามใจท้าว สั่นระร้าววรกาย?
ผู้ประพันธ์เล่าเรื่องราวพัฒนาการของเชียงใหม่ด้วยศรัทธาและความรักในถิ่นฐานล้านนาอันเป็นบ้านเกิด อาณาจักรแห่งนี้เคยรุ่งเรืองทางศิลปวัฒนธรรมอย่างยิ่ง แม้จะล่มสลายไปตามกาลเวลาแต่สิ่งมีค่าทั้งมวลทั้งด้านภาษา อักษร วรรณกรรม สถาปัตยกรรม ประติมากรรม จิตรกรรมและศิลปกรรมทั้งหลายยังคงสืบทอดมาสู่คนยุคปัจจุบัน วรรณกรรมเรื่องนี้จึงเป็นวรรณกรรมร่วมสมัยที่โยงใยอดีตกาลอันยาวไกลมาสู่ยุคโลกาภิวัตน์ และเทคโนโลยีอย่างผสมผสานกลมกลืน
๗๕๓. เชียง คำกล่าวนี้ คือเมือง
ใหม่ มุ่งความรุ่งเรือง ยิ่งแล้ว
เมือง เอกศิลป์ประเทือง ใจชื่น
งาม ภูมิภาคแผ้ว เด่นด้วยคนงาม
๗๕๔. เชียง เมืองแต่ก่อนกี้ เบาราณ
ใหม่ มากจิตรการ รุ่งหล้า
ถา ปนาสถาน ท่องเที่ยว
วร ลักษณ์เด่นฟ้า ยิ่งล้นธรณี
๗๕๕. เชียง นัคเรศนี้ ไพศาล
ใหม่ ด้วยศิลป์ตระการ ยิ่งล้น
เมือง คนใฝ่พบพาน มาแอ่ว
หลวง ใหญ่เป็นเมืองต้น แห่งล้านนาไทย
วรรณกรรมเรื่องนี้ยังให้คุณค่าทางสังคม ตามขนบของการแต่งคร่าว คร่าวประเภทร่ำบันทึกประวัติเหตุการณ์ มีลักษณะคล้ายจดหมายเหตุเป็นทำนอง เล่าเรื่องราวต่างๆ เนื้อเรื่องอาจเป็นการบันทึกเหตุการณ์สำคัญ บันทึกการปลูกสร้างสิ่งสำคัญ โบราณสถาน ความเชื่อของสังคมล้านนา เป็นต้น วรรณกรรมคร่าวร่ำ ๗๐๐ ปี เมืองเชียงใหม่ มีเนื้อหาที่ให้ความรู้ความเข้าใจวรรณกรรมล้านนาอย่างหลากหลาย ตลอดจนแสดงให้เห็นความเชื่อ ค่านิยม และวิถีชีวิตของผู้คนในสังคมล้านนาตั้งแต่อดีตสืบทอดมาจนปัจจุบัน
ส่วนในเชิงสังคม ผู้แต่งมีแนวคิดในการนำเสนอในการเสนอภาพประวัติศาสตร์ล้านนาและวิถีชีวิตล้านนา คือ ด้านประวัติศาสตร์ ถือว่าเป็นประเด็นสำคัญ ผู้แต่งได้ให้ความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ล้านนาตั้งแต่ยุคก่อนการสร้างล้านนา ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงของของสังคมล้านนาในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างเมือง การสร้างโบราณสถาน และการรับเอาพุทธศาสนาเข้ามาในสังคมล้านนา
ด้านความเชื่อของชาวล้านนาที่ปรากฏสัมพันธ์กับวิถีชีวิต คือความเชื่อเรื่องขวัญ ฤกษ์ยาม ความฝัน กฎแห่งกรรมและความเชื่อในการสร้างเมืองต่างๆ ความเชื่อดังกล่าวยังคงสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน
ด้านประเพณี ที่กล่าวถึงในวรรณกรรมส่วนใหญ่เป็นประเพณีทีเกี่ยวข้องกับกษัตริย์ล้านนา ประเพณีการแต่งงานกล่าวถึงขั้นตอนการแต่งงานอย่างชัดเจนตั้งแต่การหาฤกษ์ยามจนกระทั่งการทำพิธี ประเพณีที่เกี่ยวกับการตาย ขั้นตอนการจัดพระราชพิธีถวายพระเพลิงศพอย่างละเอียดแจ่มชัดนอกจากนี้ยังกล่าวถึงประเพณีการเคารพนับถือบรรพบุรษของชาวล้านนา คือประเพณีบวงสรวงเสาอินทขิล
ด้านค่านิยมที่ปรากฏมีความสัมพันธ์กับวิถีชีวิตล้านนา ได้แก่ ค่านิยมความสนุกสนานบันเทิง เพราะชาวล้านนามักจัดมหรสพในงานมงคลและอวมงคล ค่านิยมด้านอาหาร ค่านิยมเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาที่เข้ามามีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิต เช่นการสร้างวัด การสร้างเจดีย์ต่างๆ การต้อนรับแขก ค่านิยมด้านการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่าชาวล้านนาให้ความสำคัญต่อการศึกษา
วรรณกรรมที่ดีเด่นอีกเรื่องหนึ่งคือ คร่าวพุทธประวัติ ประพันธ์ด้วยฉันทลักษณ์คร่าวของล้านนาจำนวน ๑๕๒๖ บท เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๐ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อสรรเสริญคุณพระรัตนตรัยที่พระพุทธเจ้าเป็นปฐมเนื่องในวโรกาสที่พระพุทธศาสนาดำรงมากึ่ง ๕๐๐๐ พระวสาและเพื่อสืบสานฉันทลักษณ์แบบล้านนาไทย เนื้อหาแบ่งเป็น ๑๓ บท เริ่มจากการไหว้พระรัตนตรัย กล่าวถึงผู้ประพันธ์ จุดมุ่งหมายในการประพันธ์ พุทธประวัติเริ่มจากประสูติจนถึงปรินิพพาน และจบลงด้วยปัจฉิโมวาท คร่าวพุทธประวัติเป็นวรรณกรรมพุทธศาสนาร่วมสมัยของล้านนาที่มีลักษณะดีเด่นในเชิงวรรณศิลป์ ทั้งกลวิธีการเล่าเรื่องและโวหารกวี ในการกล่าวถึงพุทธประวัติแต่ละตอนมีทั้งข้อมูลรายละเอียดและพรรณนาโวหารที่ให้ภาพพจน์และอารมณ์สะเทือนใจ เช่นตอนเจ้าชายสิทธัตถะจะเสด็จออกจากเมือง ทรงอาลัยอาวรณ์พระนางพิมพาและราหุลเยี่ยงมนุษย์ปุถุชนแต่ในที่สุดก็ทรงตัดสินพระทัยเพื่อพระโพธิญานอันจะช่วยมวลมนุษย์และสัตว์โลกให้พ้นสังสารวัฏ
๕๔๙. หนึ่งรักพิมพา คิดหาคะค้อย หนึ่งรักลูกหน้อยบุตตา
ใจหนึ่งใคร่ละ หนีไปไกลตา เป็นพระพุทธา ทรงธรรมโลกไหว้
จิใจลังเล เรรนร้อนไหม้ ตัดสินอันใดยากนัก?
๕๕๔. ดั่งภูเขาหลวง พันพวงอ่วงทับ หายใจบ่ได้เป็นคราว
ทุกข์พรากเมียรัก เพื่อนข้างกันหนาว ทุกข์ใจยืนยาว เหลือผาหนีบแหน้น
ความทุกข์ถั่วถม อารมณ์ขอดแข้น เหมือนหทัยเรียมจะม้าง
ตอนพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพาน มิเพียงแต่บรรดาพุทธสาวกที่โศกเศร้า ร่ำไห้ ธรรมชาติและมวลเทวดาต่างก็หวั่นไหวโศกสลด เป็นตอนที่ดีเด่นในเชิงวรรณศิลป์อีกตอนหนึ่ง
๑๔๙๘. ส่วนพระสัมมา เจ้าโคตมะ สุคตเอกอ้าทรงญาน
เข้าสู่ฌาณะ ทรงอรหันต์ เนวสัญญัง ม้วยมิดออกเข้า
ปัจฉิมยาม ไขตามไต่เต้า สายอรุณเรืองร่ามฟ้า
๑๔๙๙. น้ำหมอกเหมยฝน ตกลงวาดว้า ตามเฟยกิ่งหญ้าดินดอน
เหมือนแสงแห่งเพชร เรืองรองขาวผอน จิ้งหรีดแมงชอน กลับรังพอกเต้า
องค์พระสัตถา พุทธาท่านเจ้า มหาโคดมเรืองฤทธิ์
๑๕๐๐. เข้าสู่นิพพาน สังขารมอดมิด ดับจวนสิ้นวิญญาน์
สู่ธรรมธาตุ อันเป็นสุขา บ่คืนกลับมา โลกาแหล่งหล้า
เกิดโกลาหล ภายบนเมฆฟ้า เป็นอันธการ์มืดมิด
๑๕๐๑. แสงจันทรา ยำหวาเหือดฤทธิ์ บ่ไขส่องแจ้งแดนดิน
คงคาแม่น้ำ ห้วงกระแสสินธุ์ ตีคลื่นฟองภินท์ ปูปลาตื่นเต้น
กระเสือกกระสน ทารนล่นเหล้น ทังปลาอานนท์เดชนัก
๑๕๐๒. หวั่นไหวกายา ดินหนาคึกคัก ไหวหวั่นถ้วนสากล
เทพาเทพทิพย์ มืดมิดตัวตน ก็ผายดอกลง บูชาพระเจ้า
ดีดเป่าสีซอ สังคีตไต่เต้า มโหรีรมย์เครื่องทิพย์
( คร่าวพุทธประวัติ, หน้า ๒๑๙)
ตอนท้ายจบลงด้วยโคลงกระทู้สี่สุภาพ ๒ บทแสดงปณิธานกวีและตามด้วยปัจฉิโมวาทเป็นโคลงสี่สุภาพอีก ๓ บทเพื่อย้ำให้บุคคลตั้งอยู่ในความไม่ประมาทเพราะสังขารย่อมมีเสื่อมดับเป็นธรรมดาของโลก
ปัจฉิโมวาท
วยธัมมา สังขารา อัปปมาเทน สัมปาเทถะ
องค์พระสุคตเจ้า จอมไตร
จักเสด็จนิพพานไป อยู่แล้ว
ทรงห่วงหมู่ชนใน แหล่งโลก
จึ่งให้กระจกแก้ว ส่องแจ้งปัญญา
สังขารยามเกิดขึ้น เป็นคน สัตว์เฮย
แก่เจ็บตามผจญ บ่เว้น
เสื่อมสลายสกนธ์ กายแตก ไปแฮ
สิ้นเสื่อมสูญแตกเต้น ตกพื้นธรณี
จงมีสติตั้ง หัทยา
เพียรเพ่งพิจารณา ถี่ถ้วน
อย่ามีปมาทา ในจิต
ตรองไตร่ปัญญาล้วน ให้พ้นสงสาร
(คร่าวพุทธประวัติ)
คร่าวพุทธประวัติ เป็นผลงานประพันธ์ที่แสดงถึงความศรัทธาอย่าแรงกล้าในพระพุทธศาสนาของผู้ประพันธ์ มีความดีเด่นด้านโวหารกวีอันแสดงถึงความสามารถในการประพันธ์ของอาจารย์มณี พยอมยงค์อย่างเด่นชัด
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ มณี พยอมยงค์ยังมีผลงานด้านวรรณศิลป์ในลักษณะวรรณกรรมพิธีกรรมทั้งที่เป็นลายลักษณ์และมุขปาฐะ อาทิ ปันพร หรือคำให้พรของผู้อาวุโสเพื่อให้ผู้รับพรมีความสุขสวัสดี มีทั้งคำพรสำหรับใช้ทูลพระขวัญพระมหากษัตริย์และพระราชวงศ์ชั้นสูง คำพรของพระภิกษุสงฆ์และผู้อาวุโสสำหรับให้พรบุคคลต่างๆในสถานภาพที่แตกต่างกัน คำประพันธ์เกี่ยวกับการเรียกขวัญ การบวงสรวงและงานทูนเกล้าฯถวายสิ่งของต่างๆในวโรกาสสำคัญ เช่น คำทูนพระขวัญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช คำทูนพระขวัญสมเด็จพระนาง เจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เป็นต้น คำบายศรีสู่ขวัญท้าวไกรสอน พรมวิหานและท้าวหนูฮัก ประธานประเทศสาธารณรัฐประชาชนลาว
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ มณี พยอมยงค์ยังมีความสามารถในการแหล่และเทศน์มหาชาติ โดยเฉพาะกัณฑ์กุมาร กัณฑ์มัทรี กัณฑ์มหาราชและนครกัณฑ์ ได้รับยกย่องในวงการเทศน์ว่าเป็นพระนักเทศน์เสียง ด ีแห่งล้านนา มีความสามารถในการขับร้องในพิธีกรรม เช่น บายศรีสู่ขวัญ การโอกาสเวนทานและการบวงสรวงบูชา การทำขวัญนาคหรือเรียกขวัญลูกแก้ว
ผลงานด้านปริวรรต
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ มณี พยอมยงค์ได้ปริวรรตเอกสารโบราณจากอักษรล้านนาเป็นอักษรไทยภาคกลาง เช่น โคลงพรหมทัต คร่าวพญาพรหมโวหาร โคลงอมรา โคลงสุภาษิต คร่าวอุทาหรณ์ ธรรมพิมพาพิลาป คัมภีร์ไต่ถ้อย ชนคำ คัมภีร์อวหารภายเค้า และคัมภีร์อาหารเบื้องปลาย ผลงานการปริวรรตที่ตีพิมพ์เผยแพร่ประกอบบทศึกษาและศัพทานุกรมเป็นการสืบสานวรรณคดีล้านนาให้สังคมร่วมสมัยสามารถเข้าใจและรับรู้คุณค่าของวรรณคดีโบราณเหล่านี้ได้ง่ายขึ้น
ผลงานด้านวิจัย
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ มณี พยอมยงค์มีผลงานวิจัยด้านวรรณคดีล้านนาและคติชนวิทยา ได้แก่ การวิเคราะห์เปรียบเทียบมหาชาติภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้ การศึกษาเชิงวิเคราะห์โคลงอมรา ศึกษาวิถีชีวิต และค่านิยมชาวล้านนาไทย เปรียบเทียบโคลงปทุมสังกา และการวิเคราะห์ค่านิยมทางพิธีกรรมของชาวล้านนาไทย และการวิเคราะห์ค่านิยมทางพิธีกรรมการเกษตรล้านนา งานวิจัยเหล่านี้ศึกษาวรรณคดีอย่างเป็นระบบ เป็นการสร้างองค์ความรู้ด้านวรรณคดีล้านนาและมรดกทางวัฒนธรรม เป็นที่อ้างอิงในวงวิชาการทั่วไป
ผลงานด้านตำราวิชาการ
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ มณี พยอมยงค์ มีผลงานตำราจำนวนมากที่ใช้เป็นแบบเรียนในสถาบันการศึกษาต่างๆและเป็นที่อ้างอิงทางวิชาการ ทั้งผลงานด้านอักษร ภาษา วรรณคดี ประเพณี พิธีกรรม ได้แก่ ตำราหนังสือเรียนหนังสือล้านนา ฉบับที่ ๑,๒ ประวัติและวรรณคดีล้านนา ประเพณีสิบสองเดือนล้านนาไทย เครื่องสักการะในล้านาไทย ปันพร ( ให้พร)และเทียนส่องใจ ( สุภาษิตล้านนา ) นอกจากนี้ยังมีพจนานุกรมได้แก่ พจนานุกรมล้านนาไทยและสารพจนานุกรมซึ่งเป็นผลงานรวบรวมค้นคว้าชิ้นสำคัญซึ่งช่วยให้ผู้สนใจศึกษาศิลปวรรณคดีและประวัติศาสตร์ใช้เป็นคู่มือในการศึกษาของนักศึกษาและนักวิชาการทั่วไป
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ มณี พยอมยงค์ เป็นกวีและปราชญ์แห่งล้านนา ผู้สืบสานและสร้างสรรค์วรรณกรรมล้านนาร่วมสมัย ทั้งวรรณกรรมพุทธศาสนา วรรณกรรมประวัติศาสตร์ วรรณกรรมพิธีกรรม เป็นผู้เชี่ยวชาญทั้งวรรณกรรมลายลักษณ์และวรรณกรรมมุขปาฐะ ทั้งยังเป็นผู้ปฏิบัติงานด้านวัฒนธรรมล้านนา ที่มีบทบาทในการชี้แนะสังคมเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมมาอย่างสม่ำเสมอ เป็นเวลากว่า ๕๐ ปี ด้วยผลงานอันหลากหลายและสืบเนื่อง



รางวัลและเกียรติคุณที่ได้รับ

พ.ศ. ๒๕๓๑ ประกาศนียบัตรเชิดชูเกียรติ ผู้มีผลงานดีเด่นทางกวี จากสถาบันศิลปะและ
วัฒนธรรมแห่งโลกในการประชุมสภากวีโลก ครั้งที่ ๑๐ ณ กรุงเทพมหานคร
พ.ศ. ๒๕๓๑ พ่อตัวอย่าง ในงานวันพ่อแห่งชาติ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2531
พ.ศ. ๒๕๓๑ โล่เชิดชูเกียรติ นักศึกษาเก่าดีเด่นทางวัฒนธรรมของจังหวัดเชียงใหม่
พ.ศ. ๒๕๓๑ โล่เชิดชูเกียรติ นักศึกษาเก่าดีเด่นของคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
พ.ศ. ๒๕๓๓ รางวัลพระราชทาน พระเกี้ยวทองคำ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะที่ได้
สร้างเกียรติประวัติการทำนุบำรุงและส่งเสริมภาษาไทยอย่างต่อเนื่อง
พ.ศ. ๒๕๓๔ โล่เชิดชูเกียรติ ผู้มีผลงานดีเด่นด้านวัฒนธรรมภาคเหนือ (ล้านนา) สาขา
มนุษยศาสตร์ จากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
พ.ศ. ๒๕๓๕ โล่เชิดชูเกียรติและเกียรติบัตรนักศึกษาเก่าดีเด่นของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
พ.ศ. ๒๕๓๖ โล่เชิดชูเกียรติ ผู้ส่งเสริมและอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีดีเด่น จากชมรมนักข่าว
และโทรทัศน์เชียงใหม่
พ.ศ. ๒๕๓๖ เข็มยกย่องเกียรติคุณวันอนุรักษ์มรดกไทย ผู้มีผลงานดีเด่นทางการอนุรักษ์ภาษา
และวรรณกรรมล้านนา จากจังหวัดเชียงใหม่
พ.ศ. ๒๕๓๗ โล่พระราชทานเชิดชูเกียรติ ปูชนียบุคคลผู้มีผลงานดีเด่น ด้านอนุรักษ์ทางภาษา
และวรรณกรรมอย่างต่อเนื่อง จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราช
กุมารี
พ.ศ. ๒๕๔๕ ครูภูมิปัญญาไทยรุ่นที่ 2 ด้านภาษาและวรรณกรรมจากสำนักงานคณะกรรมการ
การศึกษาแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี
พ.ศ. ๒๕๔๙ ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พุทธศักราช ๒๕๔๙
เครื่องราชอิสริยาภรณ์ ที่ได้รับตามลำดับดังนี้
เบญจมาภรณ์มงกุฎไทย
เบญจมาภรณ์ช้างเผือก
จตุรเบญจมาภรณ์ช้างเผือก
จตุราภรณ์มงกุฎไทย
จตุรถาภรณ์ช้างเผือก
ตริยาภรณ์มงกุฎไทย
ตริยาภรณ์ช้างเผือก
ทวิตรียาภรณ์มงกุฎไทย
ทวิตรียาภรณ์ช้างเผือก
ปถมาภรณ์มงกุฏไทย

Northern Thai Information Center (NTIC),
Chiang Mai University Library in collaboration with Information Technology Service Center
239 Huay Kaew Rd., Mueang District, Chiang Mai, Thailand 50200
Tel: +66 (0) 5394 4514, +66 (0) 5394 4517 email: ntic@lib.cmu.ac.th
Copyright © 2009-2016 Chiang Mai University. All Rights Reserved.