มะกรูด


 
            บ่าขูด (ภาคเหนือ) (รัตนา พรหมพิชัย, 2542, 50) ส้มมะกรูด (ภาคกลาง) ส้มกรูด ส้มถั่วผี (ภาคใต้) มะหูด (หนองคาย) (กัญจนา ดีวิเศษ และคณะ, 2542, 179)
 
            เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก ลำต้นเป็นไม้เนื้อแข็ง ผิวเปลือกลำต้นเรียบ ลำต้นและกิ่งก้านมีหนาแหลม ต้นสูง 2 – 8 เมตร ประกอบไปด้วย ใบ มีใบย่อยเพียงใบเดียว ใบค่อนข้างหนา มีสีเขียวแก่ มีกลิ่นหอม ใบมีลักษณะคล้ายใบไม้ 2 ใบ ต่อกันอยู่ มีสีเขียวแก่ พื้นผิวใบเรียบเกลี้ยง เป็นมัน มีกลิ่นหอม ดอก มีสีขาว คล้ายดอกมะนาว มีกลิ่นหอม ผลมัขนาดเท่าผลมะนาว ผิวเปลือกนอกขรุขระ ขั้วหัวท้ายของผลเป็นจุก ผลอ่อนเป็นสีเขียวแก่ เมื่อสุกจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองสุก (กัญจนา ดีวิเศษ และคณะ, 2542, 179)
 
        
            น้ำมะกรูดมีกรด citric วิตามินซี คาร์โบไฮเดรต เส่นใย โปรตีน แคลเซียม ฟอสฟอรัส เหล็ก วิตามินเอ วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 ไนอาซิน และน้ำมันหอมระเหย (ผักพื้นบ้าน อาหารพื้นเมือง, 2550, 67) ทางอาหาร ใช้ใบสด มาปรุงอหารช่วยดับกลิ่นคาว ใส่แกงเผ็ด ต้มยำ ต้มโคล้ง ผลใช้ผลสด นำมาประกอบอาหาร ผลผ่าซีกใส่แกงเทโพ และขนมจีนน้ำพริก นำจากผลมะกรูด ใช้ใส่ปลาเจ่า หลนปลาร้า แกงส้ม แกงคั่ว เป็นต้น ผิวมะกรูดใช้เป็นเครื่องเทศ เป็นส่วนผสมของเครื่องแกง ชาวล้านนาใช้นำจากผลมะกรูดแต่งรสแกง เช่น แกงปลา หรือแกงสัตว์น้ำ ใบใช้ใส่แกงฟักหม่น (ฟักเขียว) แกงโฮะ ตำขนุน (ตำบ่าหนุน) แกงอ่อม (แกงเนื้อสัตว์) ใบหั่นฝอยใส่ในพริกแห้งย่างป่น ใช้จิ้มกับ เห็ดนึ่ง หน่อโอ่ ใบทอดกรอบรับประทานเป็นเครื่องเคียง ลาบหมู ลาบไก่ หลู้ (รัตนา พรหมพิชัย, 2542, 50; เทียนชัย สุทธนิล, 2550, สัมภาษณ์)
        
ผล ใช้ผลสด นำมาดอง ใช้เป็ยาฟอกเลือดในสตรี ขับลมในลำไส้ ขับระดู แก้ลมจุกเสียด แก้โรคลักปิดลักเปิด และบำรุงประจำเดือน หรือใช้ผลสด นำมาผิงไฟให้เกรียมแล้ว ละลายให้เข้ากับน้ำผึ้ง ใช้ทาลิ้นเด็กเมื่อเกิดใหม่ ผลสดเผาไฟ นำมาสระผม ทำให้ผมดกดำ หรือนำมาผลิตเป็นแชมพูมะกรูด (กัญจนา ดีวิเศษ และคณะ, 2542, 179) ผิวมะกรูดใช้เป็นส่วนผสมของเครื่องหอม เช่น เทียนอบ น้ำผลมะกรูดใช้ล้างมือล้างเท้าจากที่แช่น้ำในนา ผ่าแล้วนำมาต้มกับพืชบางชนิด เพื่อทำยาสระผม ข้อบ่งใช้ทางเภสัชกรรมล้านนาใช้เป็นส่วนประกอบในตำรับ ยาเสียบลมก้อน และเปลือกผลมะกรูดเป็นส่วนประกอบในตำรับ ยาเจริญกินข้าวลำ (ยาเจริญอาหาร) เป็นต้น (รัตนา พรหมพิชัย, 2542, 50)
 
            ตลอดปี
 
 
            

กัญจนา ดีวิเศษ และคณะ, ผู้รวบรวม. (2542). ผักพื้นบ้านภาคกลาง. กัญจนา ดีวิเศษ บรรณาธิการ. นนทบุรี: โครงการพัฒนาตำรา สถาบันการแพทย์แผนไทย.

เทียนชัย สุทธนิล. (2550). สัมภาษณ์. 19 มิถุนายน.

ผักพื้นบ้าน อาหารพื้นเมือง. (2550). กรุงเทพฯ: บริษัท ฟ้าอภัย จำกัด.

รัตนา พรหมพิชัย. (2542). กรูด, บ่า.. ใน สารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคเหนือ (เล่ม 1, หน้า 50-51). กรุงเทพฯ: มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์.