มะรุม


 
            ผักอี่ฮึม ผักอี่ฮุม (เรียกใบและยอดอ่อน) บ่าค้อนก้อม มะค้อนก้อม (ภาคเหนือ) ผักเนื้อไก่ (ฉาน-แม่ฮ่องสอน) บักอีฮุม มักรุม (ภาคอีสาน) รุม (ภาคใต้) กาแน้งเดิง (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) (เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ และกัญจนา ดีวิเศษ, บรรณาธิการ, 2542, 166)
 
            ต้น ลำต้นเป็นพุ่มโปร่งมีเปลือกลำต้นเป็นสีเทาอ่อน ผิวค่อนข้างเรียบ ลำต้นมีความสูง 15-20 เมตร ใบ เป็นใบประกอบแบบขนนก ชนิดที่แตกใบย่อย 3 ชั้น ยาว 20-40 เซนติเมตร ออกเรียงแบบสลับ ใบย่อยยาว 1-3 เซนติเมตร รูปไข่ปลายใบและฐานใบมน ผิวใบด้านล่างสีอ่อนกว่าและมีขนเล็กน้อยขณะที่ใบอ่อนเนื้อใบอ่อนบางมีสีเขียว ใบกว้าง 1-1.5 นิ้ว ใบที่อยู่ปลายสุดมีขนาดใหญ่กว่าใบอื่นๆ ดอก เป็นดอกช่อสีขาวอยู่ตามข้อบริเวณส่วนยอด ดอกมีสีเหลืองนวลมี 5 กลีบ แยกกันเกสรกลางดอกเป็นสีเหลืองเข้ม บานเต็มที่โตประมาณ 1 นิ้ว ผล เป็นฝักกลมยาวสีเขียว เปลือกหนามีคลื่นนูนของเมล็ดตามยาวของฝัก ฝักยาว 20-50 เซนติเมตร ฝักอ่อนมีสีแดงเรื่อๆ ฝักแก่จะมีสีเขียว เมื่อแก่จะแตกเป็น 3 ซีก เมล็ดเป็นรูปสามเหลี่ยมมีปีกบางหุ้ม 3 ปีก เส้นผ่าศูนย์กลางของเมล็ดประมาณ 1 เซนติเมตร (กรมส่งเสริมการเกษตร, 2550) การขยายพันธุ์ การปักชำกิ่งและการเพาะเมล็ด (กัญจนา ดีวิเศษ และคณะ, ผู้รวบรวม, 2542, 213)
 
        
            ฝักมะรุม 100 กรัม ให้พลังงานแก่ร่างกาย 32 กิโลแคลอรี ประกอบด้วย น้ำ 89.9 กรัม คาร์โบไฮเดรต 5.4 กรัม โปรตีน 2.2 กรัม ไขมัน 0.2 กรัม กาก 1.2 กรัม แคลเซียม 9 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 26 มิลลิกรัม เหล็ก 1.5 มิลลิกรัม วิตามินเอ 532 IU วิตามินบี 1 0.05 มิลลิกรัม วิตามินบี 2 0.05 มิลลิกรัม ไนอาซิน 0.6 มิลลิกรัม และวิตามินซี 262 มิลลิกรัม (เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ และกัญจนา ดีวิเศษ, บรรณาธิการ, 2542, 169) ข้อมูลทางอาหาร ยอดอ่อน ดอกอ่อน รสขมหวานเล็กน้อย ฝักอ่อนรสหวาน ชาวล้านนานิยมนำฝักอ่อนมาแกง เรียกว่า แกงบ่าค้อนก้อม ใบอ่อนและยอดอ่อน นำมาเจียว เรียกว่า เจียวผักอี่ฮึม ชาวภาคกลางนิยมนำฝักอ่อนมาแกงส้ม นำดอกมาลวกให้สุก หรือดอง รับประทานกับน้ำพริก ส่วนชาวอีสาน นำใบอ่อน ช่อดอกอ่อน ลวกให้สุก รับประทานเป็นผักร่วมกับแจ่ว ลาบ ก้อย หรือนำไปปรุงเป็นแกงอ่อม ส่วนฝักอ่อน นำไปแกงส้ม หรือแกงลาวได้ ส่วนบางท้องที่ เช่น จังหวัดชัยภูมิรับประทานฝักมะรุมอ่อนสด แกล้มกับส้มตำ คล้ายกับรับประทานถั่วฝักยาว น้ำพริก
        
ใบ รสเฝื่อน รักษาโรคเลือดออกตามไรฟัน ตำพอกรักษาบาดแผล ดอก รสจืด ขับปัสสาวะ บำรุงกำลัง ฝัก รสหวานเย็น ดับพิษร้อน ถอนพิษไข้ แก้ปัสสาวะพิการ เมล็ด รสจืดมัน แก้ไข ตำพอกแก้ปวดตามข้อ แก้บวม เปลือกต้น รสร้อนเฝื่อน ขับลมในลำไส้ ทำให้ผายเรอ แก้ลมขึ้นเบื้องสูง คุมธาตุอ่อนๆ แก้ฝี แก้พยาธิ เป็นยาอายุวัฒนะ ต้มเป็นกระสายยาแก้หอบหืด โบราณว่า เปลือกสด อมไว้ข้างแก้ม เมื่อดื่มสุราแล้วไม่เมา แต่ถ้าดื่มมากๆ ก็ไม่แน่นัก กระพี้ รสเฝื่อน แก้ไข้สันนิบาต ราก รสเผ็ดหวานขม กระตุ้นหัวใจ บำรุงหัวใจ แก้บวม บำรุงไฟธาตุ มีคุณเสมอกุ่มบก (วุฒิ วุฒิธรรมเวช, 2540, 365)

ทางเภสัชกรรมล้านนาพบข้อบ่งใช้หลายอย่าง เช่น เปลือกฝักค้อนก้อมเป็นส่วนประกอบตำรับยาลมลูกหนู ยามีดบาดพร้าบาดลงเลือด หรือปิเลือด ยาเจริญกินเข้าลำ ( ยาเจริญอาหาร ) ส่วนรากใช้เป็นยาทา (รัตนา พรหมพิชัย, 2542, 1309)
 
            ปลายฤดูฝนต้นฤดูหนาว (กัญจนา ดีวิเศษ และคณะ, ผู้รวบรวม, 2542, 213)
 
 
            

กรมส่งเสริมการเกษตร. (2550). ผักพื้นบ้าน. ค้นวันที่ 10 มิถุนายน 2550 จากhttp://singburi.doae.go.th/acri

กัญจนา ดีวิเศษ และคณะ, ผู้รวบรวม. (2542). ผักพื้นบ้านภาคกลาง. กัญจนา ดีวิเศษ บรรณาธิการ. นนทบุรี: โครงการพัฒนาตำรา สถาบันการแพทย์แผนไทย.

เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ และกัญจนา ดีวิเศษ, บรรณาธิการ. (2542). ไม้ริมรั้ว: สมุนไพรกับวัฒนธรรมไทย ตอนที่ 2. นนทบุรี: สถาบันการแพทย์แผนไทย.

รัตนา พรหมพิชัย. (2542). ค้อนก้อม, บ่า. ใน สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ (เล่ม 3, หน้า 1309). กรุงเทพฯ: มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์.

วุฒิ วุฒิธรรมเวช. (2540). สารานุกรมสมุนไพร: รวมหลักเภสัชกรรมไทย. กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์.