... ตัวเรามาจากไหน สังคมเรามีพัฒนาการมาอย่างไร ... คำถามเหล่านี้เป็นคำถามที่คนเรามักจะถามตัวเองอยู่เสมอ ทั้งเพราะโดยจิตสำนึกแล้ว คนส่วนใหญ่ย่อมอยากรู้เรื่องอดีตของตัวเอง อดีตอันเป็นรากฐานของปัจจุบัน จากความสงสัยและอยากรู้ ทำให้คนในยุคปัจจุบันหันกลับไปศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับอดีตของตน และสังคมตนเองอยู่เสมอมา
เครื่องมือสำคัญในการศึกษาเกี่ยวกับอดีต คือร่องรอยการกระทำของมนุษย์ในแต่ละยุคสมัยที่ยังเหลือ ตกทอดมาจนถึงปัจจุบัน ที่เรียกกันว่า หลักฐานประวัติศาสตร์ ซึ่งมีทั้งหลักฐานที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร และหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษร
หลักฐานชนิดที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร หมายถึง ร่องรอยของมนุษย์ในอดีตที่ไม่เป็นตัวอักษร เช่น ศาสนสถาน เครื่องมือเครื่องใช้ และภาพวาด เป็นต้น การใช้หลักฐานกลุ่มนี้ จึงต้องศึกษาจาก ชนิดวัตถุ โครงสร้างสถาปัตยกรรม ลวดลายและรูปที่ปรากฏอยู่ในตัวหลักฐาน สิ่งเหล่านี้สะท้อนถึงแนวความเชื่อของสังคม ความรู้ในเชิงช่าง และภูมิปัญญาของสังคม
เมื่อมนุษย์สามารถคิดค้นตัวอักษรขึ้นมาใช้ในชีวิตประจำวันได้แล้ว ตัวอักษรจึงเข้ามามีบทบาทเป็น สื่อกลาง ในการบันทึกและเล่าเรื่องราวต่างๆของสังคม เรื่องราวเหล่านี้จะปรากฏอยู่ในรูปของจารึก ตำนาน พระราชพงศาวดาร วรรณกรรม และบันทึกต่างๆ เป็นต้น
สิ่งที่น่าสนใจคือ แม้ว่ามนุษย์จะรู้จักใช้ตัวอักษร จะรู้จักใช้ตัวอักษรในการบันทึกเรื่องราวแล้วก็ตาม แต่มิได้หมายความว่า การบันทึกเรื่องราวโดยไม่ใช้ตัวอักษรจะหมดไป แต่กลับตรงกันข้าม หลักฐานชนิดนี้ดูจะมีบทบาทมากขึ้น เพราะได้กลายเป็นหลักฐานที่นำมาตรวจสอบและสนับสนุนหลักฐานชนิดลายลักษณ์อักษรได้เป็นอย่างดี หลักฐานทั้งสองชนิดถูกนำมาเชื่อมเข้าเป็นสายโซ่และเครือข่ายขององค์ความรู้ เพื่อเล่าเรื่องราวในแต่ละยุคที่ผ่านมา เช่น วัดในเชียงใหม่ที่มีมากกว่า 200 วัด ทั้งวัดที่ยังมีพระจำพรรษาอยู่และวัดร้าง วัดเหล่านี้บางวัดสร้างมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์มังราย เช่น วัดเชียงมั่น วัดพระสิงห์ วัดสวนดอก และวัดเจ็ดยอด เป็นต้น จำนวนมากของวัดเหล่านี้เป็นหลักฐานที่ดีสามารถนำไปสนับสนุนหลักฐานกลุ่มตำนานและจารึก ที่กล่าวถึงการสร้างเชียงใหม่ เป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาลังกาวงศ์ของชุมชนในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำตอนบนมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 20 รวมทั้งสะท้อนถึงความมั่งคั่ง ความรู้ทางด้านเชิงช่าง และความศรัทธาของผู้คนในยุคสมัยนั้นๆ ด้วย
ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา เป็นสมัยของการขยายตัวของอาณานิคมตะวันตก ที่มาพร้อมกับ การยึดครองดินแดนโดยรอบ นอกจากการขยายอำนาจแล้ว ตะวันตกยังได้นำความรู้แบบใหม่เข้ามาพร้อมกับ การศึกษาแผนใหม่ รวมทั้งมีการหลั่งไหลเข้ามาของ “ผลิตภัณฑ์” จากโลกตะวันตก เป็นจำนวนมากอย่างต่อเนื่องและยาวนาน สิ่งเหล่านี้นำมาสู่ความเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงในสังคมไทยทุกๆ ด้าน ทั้งทางด้านการพัฒนาประเทศ แนวความคิดและรสนิยมของผู้คน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของวิถีชีวิต ความเป็นอยู่และข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ที่ล้วนนำมาหรือลอกเลียนแบบมาจากโลกตะวันตกแทบทั้งสิ้น ในบรรดาสิ่งใหม่เหล่านี้ได้มีผลิตภัณฑ์ชนิดหนึ่ง ซึ่งต่อมากลายเป็นสิ่งที่มีคุณูปการต่อการบันทึกเรื่องราวของวิถีชีวิตของผู้คนแต่ละยุคสมัยได้เป็นอย่างดี คือ กล้องถ่ายรูป-ภาพถ่าย ซึ่งมีผู้คนนิยมเล่นกันมากทั้งในกรุงเทพฯ และเมืองต่างๆ ปัจจุบันได้มีการรวบรวมภาพถ่าย เหล่านี้เก็บไว้ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ เพื่อให้ผู้คนได้เข้าไปศึกษาค้นคว้าได้
ปัจจุบัน แม้นักวิชาการไม่น้อยที่ใช้ภาพถ่ายของนักเล่นกล้องในอดีตร่วมกับหลักฐานชนิดอื่นๆ ในการอธิบายสังคมของภาพถ่ายนั้นๆ ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบภาพถ่ายกับจิตรกรรมฝาผนัง แล้วพบว่ากล้องถ่ายรูปสามารถถ่ายทอดสิ่งที่เกิดขึ้นได้อย่างตรงไปตรงมา มิสามารถปรุงแต่งได้ ต่างกับภาพจิตรกรรมฝาผนัง ซึ่งเป็นภาพที่เกิดขึ้นจากจินตนาการของผู้เขียนที่อยากให้เป็น ฉะนั้นอาจกล่าวได้ว่า ภาพถ่ายเป็นหลักฐานชนิดไม่เป็นลายลักษณ์อักษรที่สามารถบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับวิถีชีวิต ผู้คน อารมณ์และความรู้สึกได้เป็นอย่างดี บางครั้งการบรรยายเป็นลายลักษณ์อักษร ยังไม่สามารถสะท้อนภาพดังกล่าวได้ดีเท่า
เมืองเชียงใหม่มีคลังภาพถ่ายเกี่ยวกับเมืองเชียงใหม่ที่อุดมสมบูรณ์ เกิดจากการเล่นกล้องของ นายบุญเสริม สาตราภัย รูปภาพดังกล่าวเป็น เหมือนจิ๊กซอว์ หลายๆ ตัว ที่ช่วยเติมเต็มเรื่องราวของอดีตล้านนาในช่วง 60 ปีมาแล้ว ได้เป็นอย่างดี ตัวอย่างเช่น
ภาพความเติบโตของธุรกิจการค้าในเมืองเชียงใหม่ ภาพรถติดบริเวณถนนวิชชยานนท์ ซึ่งเป็น ที่ตั้งของกาดหลวง (ตลาดวโรรส) กาดต้นลำไย (ตลาดต้นลำไย)และกาดเจ๊กโอ๊ว (ตลาดนวรัฐ) |
 |
ในปี พ.ศ.2495 และภาพขบวนรถแลมเบร็ตต้าจำนวนมากที่นำหน้าขบวนนางงามในปี พ.ศ. 2504 เป็นภาพที่ประสานสอดคล้องกับหลักฐานเอกสารเป็นจำนวนมากที่กล่าวถึงความมั่งคั่งของเมืองเชียงใหม่ ซึ่งมาจากการเจริญเติบโตของการเป็นศูนย์กลางการค้าในเขตตอนบนของเมืองเชียงใหม่ |
 |
|
อีกภาพหนึ่งที่มีคุณค่ามาก คือภาพไฟไหม้ตลาด กาดหลวงและกาดต้นลำไย ในปี พ.ศ.2511 ซึ่งเป็นที่เล่าขานกันมานานจากรุ่นสู่รุ่น แต่เมื่อมาถึงรุ่นปัจจุบันนั้น ความรู้สึกสูญเสียและความโศกเศร้าค่อยๆ จางลง หรืออาจจะไม่เข้าใจเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นแล้ว
|
แต่จากภาพถ่ายที่ยังคงเหลือมาจนถึงปัจจุบัน ได้แสดงถึงภาพปรากฏการณ์และความรู้สึกของคนในเหตุการณ์อย่างไม่เปลี่ยนแปลง ภาพความตกใจ ความลุกลี้ลุกลนโกลาหล
|
|
 |
 |
|
สีหน้าที่แสดงความสูญเสีย ดูจะเป็นสิ่งที่แสดงถึงความสูญเสียของผู้คนได้ดียิ่งกว่าตัวอักษรใดๆ ที่ได้บรรยายไว้ในเอกสารต่างๆ
|
สะพานนวรัฐก็เช่นกัน หากไม่มีภาพถ่ายขัวเหล็ก เราคงจะจินตนาการไม่ได้เลยว่า ขัวเหล็กมีลักษณะอย่างไร การเปลี่ยนแปลงจากขัวเหล็กมาเป็นขัวปูน นอกจากเป็นเพราะขัวเหล็กเริ่มผุพังแล้ว ภาพในอดีตของเชียงใหม่ยังแสดงถึงการเติบโตของเมืองเชียงใหม่ที่มีผู้คนขึ้นมาตั้งถิ่นฐานทำมาหากินมากขึ้น รถราเพิ่มมากขึ้น การติดต่อและความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนสองฝั่งแม่น้ำปิงเพิ่มความถี่และต่อเนื่องมากขึ้น ทำให้ขัวเหล็กเล็กและแคบไปไม่สามารถรองรับความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้

|
ภาพถ่ายทำให้เราได้เห็นแม้กระทั่งอดีตที่ไม่มีวันหวนกลับ อย่างเช่นวัดเจดีย์สูงและเส้นทางคมนาคมทางน้ำจากเหนือลงใต้ วัดเจดีย์สูงเป็นวัดที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำปิง ในเขตอำเภอฮอด จากการสำรวจเส้นทางแม่น้ำปิงจากเหนือลงใต้ พบว่ามีวัดจำนวนมากตั้งเรียงรายจากเชียงใหม่ลงสู่อยุธยาและกรุงเทพฯ ตามลำดับ
|
 |
ซึ่งการสร้างวัดเป็นจำนวนมากดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงการที่แม่น้ำปิงเป็นเส้นทางคมนาคมสายหลักจากเชียงใหม่ลงสู่หัวเมืองตอนล่าง ก่อนที่รถไฟจะมาถึงเชียงใหม่ และในขณะเดียวกันวัดต่างๆ เหล่านี้ยังสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อของผู้คนที่สัญจรไปมาบนเส้นทางคมนาคมสายนี้อีกด้วย
นอกจากนั้น โครงสร้างสถาปัตยกรรมลวดลายปูนปั้นของวัดและของที่นำออกจากกรุวัดเหล่านี้ ยังแสดงให้เห็นถึงฝีมือเชิงช่างและความมั่งคั่งของผู้คนล้านนาในช่วงพุทธศตวรรษที่ 20-22 ได้เป็นอย่างดี แต่เมื่อเขื่อนภูมิพลสร้างเสร็จ วัดต่างๆ จมอยู่ใต้น้ำ ทำให้เรื่องราวต่างๆ ที่กล่าวมาเหลือเพียงอดีตที่เล่าขานกันปากต่อปากเท่านั้น |
|
คณะทำงานโครงการห้องสมุดที่มีชีวิต (Living Library) |
|
เพื่อพัฒนาสังคมการเรียนรู้ ส่วนกิจกรรมจัดทำและเผยแพร่ข้อมูลภาคเหนือ |
|
กรกฎาคม 2551 |
|