Find Picture of      By     
Thai Version English Version
หน้าแรก
       
 
ดูภาพตามหมวดหมู่ ความเป็นมา บุญเสริม สาตราภัย อดีตล้านนาจากภาพถ่าย ผู้มีอุปการะคุณ เพิ่มรูปของคุณ ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
  
  สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ทรงสรงน้ำองค์พระบรมธาตุหริภุญชัย วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร จังหวัดลำพูน
กลับไปหน้าแสดงรายการภาพ  

คลิกที่รูปด้านบนเพื่อดูรูปขนาดใหญ่



สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ทรงสรงน้ำองค์พระบรมธาตุหริภุญชัย วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร จังหวัดลำพูน
หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ เชียงใหม่
สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี; วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร; ลำพูน
รำไพพรรณี, สมเด็จพระนางเจ้า, 2447-2527

การเสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลฝ่ายเหนือของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี พุทธศักราช 2469

            พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพิมพ์หนังสือ “จดหมายเหตุการณ์เสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลพายัพ พุทธศักราช 2469 เพื่อพระราชทานในวโรกาสวันขึ้นปีใหม่ พ.ศ. 2474” ในหนังสือได้กล่าวถึงเหตุการณ์ในวันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2469 อันเป็นวันเริ่มแรกที่เสด็จพระราชดำเนินประพาสภาคเหนือในครั้งนั้นว่า
             เวลาเช้า เจ้าพนักงานได้ตั้งโต๊ะหมู่ทองที่สถานีจิตรลดา เชิญพระชัยวัฒน์ประจำรัชกาลปัจจุบันประดิษฐานตั้งเครื่องสักการะบูชา ทอดเครื่องนมัสการ ทรงแท่นทรงกราบ 2 พระที่ตั้งอาสนสงฆ์ นิมนต์พระสงฆ์มานั่งยังอาสนะ 10 รูป มีสมเด็จพระวนรัตน์วัดเบญจมบพิตเป็นประธาน เวลา 8 นาฬิกาเป็นประถมฤกษ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่รัชกาลที่ 7 ทรงเครื่องสนามทหารบก ประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่ง พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชินีจากพระราชวังดุสิตไปประทับยังสถานีจิตรลดา ทรงเครื่องนมัสการพระชัยวัฒน์ประจำรัชกาลปัจจุบันพร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชินีแล้ว มีพระราชดำรัสด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการที่ได้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทส่งเสด็จพอสมควรแล้วเสด็จขึ้นประทับรถไฟพระที่นั่งพิเศษพร้อมด้วยข้าราชบริพารตามเสด็จเวลา 8.10 นาฬิกา รถไฟใช้จักรออกจากสถานีจิตรลดา พระสงฆ์สวดถวายชัยมงคลคาถา ทหารกองเกียรติยศ พระทำวันทยาวุฐ แตรวงบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี
             ต่อไปนี้เป็นคำกราบบังคมทูล และพระบรมราโชวาทแก่บรรดาข้าราชการ พ่อค้า และประชาชน ในจังหวัดต่างๆ ในจังหวัดภาคเหนือตอนบนตามเส้นทางเสด็จ พระราชดำเนินไปยังสถานที่ต่างๆ ของจังหวัดในภาคเหนือ แต่จะขอกล่าวถึงแต่เฉพาะจังหวัดลำพูน
             ในการเสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลพายัพครั้งนี้ได้เสด็จฯ ทั้งรถไฟพระที่นั่ง รถยนต์พระที่นั่ง ทรงช้างพระที่นั่ง ตลอดจนเสลี่ยงพระที่นั่งที่คนแบกหาม เนื่องจากในสมัยก่อนการเดินทางไปยังสถานที่บางแห่งยังเป็นทางทุรกันดาร ซึ่งราษฎรใช้กันเป็นประจำยังไม่มี ถนนตัดผ่านไปถึงมีจึงนับว่าทั้งสองพระองค์ทรงมีพระวิริยะอตุสาหะเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งเป็นพระราชปรารถของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงก่อนถึงเหตุที่จะเสด็จฯ เลียบหัวเมืองมณฑลฝ่ายเหนือในครั้งนั้นดังนี้
             พระราชปรารถของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า หัวเมืองมณฑลฝ่ายเหนือเป็นเมืองที่ตั้งมาเก่าโบราณกาล บางเมืองบางสมัยถึงได้ใช้เป็นราชธานีในสยามประเทศนี้ ทั้งประกอบด้วยเป็นเมืองที่มีนักปราญช์ชั้นเอกเลื่องลือนาม ผู้ทรงไว้ซึ่งความรู้ความสามารถในศิลปวิทยาการต่างๆ จะเห็นได้จากหลักฐานคือ โบราณวัตถุที่ได้ประดิษฐ์คิดสร้างขึ้นด้วยฝีมืออันประณีตบรรจงของนายช่างผู้เชี่ยวชาญสมัยโบราณ ซึ่งยังมีเป็นพยานอย่างในบัดนี้ตามที่ปรากฎแล้วและที่ค้นพบใหม่อยู่เนืองๆ ทั้งหัวเมืองในมณฑลพายัพนับว่ายังไม่มีสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินในกรุงรัตนโกสินทร์พระองค์ใดได้เคยเสด็จพระราชดำเนินไปเลย จริงอยู่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จไปแล้ว แต่เสด็จไปเมื่อยังมิได้ราชาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์ราชาธิราช เพราะฉะนั้นหากครั้งนี้ได้เสด็จไปยังมณฑลพายัพ ก็ต้องนับว่าพระองค์เป็นสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน ในกรุงรัตนโกสินทร์พระองค์แรกที่ได้เสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปยังมณฑลนั้น
             อีกประการหนึ่ง การเสด็จพระราชดำเนินเลียบหัวเมืองมณฑลน้อยใหญ่ ยังเป็นโอกาสให้ได้ทอดพระเนตรภูมิประเทศถิ่นฐานบ้านเมืองทรงทราบความเป็นไปอันเนื่องด้วยสุขด้วยทุกข์ ตลอดถึงการทำมาหาเลี้ยงชีพของข้าขอบขัณฑ์สีมาอาณาจักรทั่วไปได้ทรงพบเห็นสิ่งต่างๆ มากอย่าง สำหรับจะได้นำมาเป็นเครื่องทรงพระราชดำริดัดแปลงแก้ไขสิ่งที่พ้นสมัยผดุงสิ่งที่ดีอยู่แล้วให้คงดีตลอดไปและพยายามให้ดียิ่งๆ ขึ้นสมกับที่ทรงดำรงตำแหน่งพระประมุขของชาติพระราชจรรยาเช่นนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมชนกาธิราชและสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชได้ทรงประพฤติเป็นทิฏฐานคติมาก่อนแล้วนั้น ทั้งเป็นการทรงแสดงความเคารพต่อสมเด็จพระบรมชนกาธิราชและสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชด้วยอีกส่วนหนึ่ง
             เนื่องด้วยพระราชปรารถดังกล่าวแล้วจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กำหนดวันที่ 6 มกราคม พ.ศ.2469 เป็นวันพระฤกษ์ที่จะเสด็จพระราชดำเนินโดยทางรถไฟขึ้นไปยังมณฑลพายัพมีกำหนดเวลาประมาณเดือนเศษ จึงเสด็จกลับคืนสู่กรุงเทพพระมหานคร
             คำถวายพระพรชัยเมืองลำพูน เจ้าจักรคำขจรศักดิ์ อ่านคำกราบบังคมทูลพระกรุณาถวายพระพรชัยมงคล
             “สรวมชีพ ข้าพระพุทธเจ้าเหล่าพสกนิกรในใต้พระบวรบงกชมาศบาทยุคล อันพึ่งพระบรมราชสมภารอยู่ทั่วทุกแห่งแหล่งตำบลในเขตต์ จังหวัดลำพูนร่วมสมานฉันท์ให้ข้าพระพุทธเจ้ากราบบังคมทูลให้ทรงทราบ ซึ่งความยินดีที่ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทกับทั้งสมเด็จพระบรมราชินีเสด็จมายังมณฑลพายัพในครั้งนี้ แล้วทรงพระราชอุตสาหะเสด็จมาให้ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายได้โอกาสกราบถวายบังคมถึงเมืองนครลำพูน ทั้งนี้ก็ด้วยพระกรุณาเป็นมูลแห่งพระราชอุตสาหะเสด็จมาโปรดเกล้าฯ ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายในวันนี้จึงพากันชื่นชมยินดีในพระเดชพระคุณเป็นล้นเกล้าฯ หาที่สุดมิได้
             อันเมืองลำพูนนี้ไซร้ แม้เป็นราชธานีเก่าก่อนเมืองอื่นในมณฑลพายัพตั้งแต่สร้างเมืองเชียงใหม่ขึ้นในที่ใกล้แล้ว ก็กลายเป็นแต่สาขาของเมืองเชียงใหม่มาทั้งในสมัยเมื่อประเทศลานนามีความเจริญรุ่งเรือง และเมื่อเสื่อมทรามความเจริญ ตกอยู่ในอำนาจของชาติอื่น ต่อถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เมื่อได้ทรงกู้หัวเมืองมณฑลพายัพให้กลับคืนเป็นของไทยได้หมดแล้ว จึงได้โปรดให้ตั้งเมืองลำพูนขึ้นต่างหาก และให้ขึ้นตรงต่อกรุงเทพมหานคร และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ต้นตระกูล ณ ลำพูน ปกครองฉลองพระเดชพระคุณจึงตั้งวงค์ตระกูลมีเชื้อสายสืบมา และเมืองลำพูนก็คงเป็นเมืองใหญ่เมืองหนึ่งอยู่ในมณฑลพายัพ มาจนบัดนี้ พระมหากรุณาธิคุณอันใดซึ่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมราชวงค์ได้ทรงโปรดเกล้าฯ แก่ชาวเมืองอื่นในมณฑลพายัพก็ดี หรือหน้าที่ราชการอันใดเป็นโอกาสซึ่งหัวเมืองในมณฑลพายัพได้สนองพระเดชพระคุณก็ดี ชาวเมืองลำพูนก็ได้รับผลแห่งแห่งมหากรุณา และโอกาสที่ทำความชอบดีเสมอเหมือนกับเมืองอื่น เมืองลำพูนจึงได้มีความเจริญสุขสถาพรถึงเพียงนี้ เป็นเหตุให้ประชาชนมั่นคงในความกตัญญูกตเวทีต่อใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทอยู่เป็นนิจนิรันดร ครั้นมาประสพโอกาสอันนับว่าเป็นมงคลอันยอดยิ่ง ด้วยทรงพระกรุณาเสด็จมาให้ได้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถึงบ้านเมือง จึงบังเกิดความชื่นชมโสมนัสจัดการเตรียมรับเสด็จโดยเต็มกำลัง และพร้อมกันมาสู่ที่เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทในเวลานี้เพื่อจะขอบพระเดชพระคุณและถวายพระพรชัยมงคลขออำนาจคุณพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอันพระบรมสารีริกธาตุสถิตเป็นหลักอยู่ในหริภุญชัยนคร เป็นศาสนานุสรของชนทั้งหลายกับทั้งคุณแห่งพระธรรมเจ้าและพระสงฆ์เจ้าจงบันดาลคุ้มครองป้องกันสรรพอุปัททอันตราย อย่าให้พ้องพานในใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาททั้งสองพระองค์เป็นนิจกาล ขอให้ทรงประสพแต่พระบรมสุขเกษมสานต์ สรรพสิริสวัสดิ์ พิพัฒนมงคลพระชนมายุสถาพร ให้ทรงชนะศัตรูหมู่ดัสกรทั้วทิศานุทิศเจริญพระเกียรติคุณวิมลยฤทธิ์เสด็จสถิตเป็นที่พึ่งของข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายจิรฐิติกาลเทอญด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ”
             พระราชดำรัสตอบสำหรับเมืองลำพูน ณ พระวิหารหลวง วัดพระธาตุหริภุญชัย วันที่ 26 มกราคม 2469
             “ขอท่านทั้งหลายจงรับความขอบใจ ทั้งในตัวเราและในสมเด็จพระราชินีที่ท่านทั้งหลายได้พร้อมกันต้อนรับและอวยชัยให้พรเราทั้งสองด้วยความจงรักภักดีในวันมาถึงเมืองลำพูนวันนี้ ฝ่ายเราก็มีความยินดีที่ได้มีโอกาสมาเห็นเมืองลำพูน และได้มาพบท่านทั้งหลาย ตลอดจนประชาชนชาวเมืองลำพูนทุกชั้นบรรดาศักดิ์
             เมืองลำพูนนี้ ควรนับว่าเป็นเมืองสำคัญเพราะเป็นราชธานีของอาณาเขตต์หริภุญชัย ซึ่งตั้งมาเก่าก่อนเมืองอื่นๆ ในมณฑลนี้และมีพระธาตุหริภุญชัยมหาเจดีย์สถาน อันเป็นหลักแห่งตำนานการอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาให้รุ่งเรืองในสยามประเทศแต่ปางก่อนอยู่เป็นสำคัญซึ่งสมควรยกย่องว่าไทยชาวมณฑลนี้ได้เคยมีศรัทธาสามารถเป็นอย่างยอดเยี่ยมในศิลปาคม การสร้างพระพุทธเจดีย์ และความพากเพียรเรียนรู้มคธภาษา จนสามารถแต่คัมภีร์พุทธวัจนาธิบายได้ประโยชน์มาจนทุกวันนี้ แต่บ้านเองในลานนาถึงกาลวิบัติ พระพุทธศาสนาก็เศร้าหม่อง จนสังฆมณฑลเสื่อมทรามระส่ำระสายมาช้านาน แม้เมื่อถึงอาณาเขตต์ลานนาได้คืนมารวมเป็นอันเดียวกันกับประเทศสยามแล้วก็ดี การฟื้นพระพุทธศาสนาในมณฑลพายัพต้องรอมาอีกช้านาน ด้วยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลแต่ก่อนๆ ต้องทรงจัดการป้องกันอริราชศัตรูภายนอกและวางระเบียบการปกครองภายในพระราชอาณาเขตต์ ทั้งเป็นสมัยเมื่อการคมนาคมยังลำบากอยู่ มาจนถึงรัชกาลสมเด็จพระปิยมหาราช พระบรมชนกนาถของเรา จึงได้เริ่มทรงจัดการฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในมณฑลนี้มาโดยทรงพระราชดำริจะให้พุทธจักร และอาณาจักรเจริญรุ่งเรืองสมกับสมัยเป็นต้นว่าในการสั่งสอนประชาชนทั้งหลาย ให้รัฐบาลเอาเป็นธุระสั่งสอนส่วนคดีโลกเป็นอุปการะแก่กันดังนี้ สมเด็จพระบรมเชษฐาของเราก็ได้โปรดให้จัดการสืบมาโดยทางนั้น
             เราขึ้นมาถึงมณฑลพายัพคราวนี้มีความยินดีด้วยได้เห็นความเจริญของบ้านเมืองและประชาชนโดยประการต่างๆดังได้กล่าวแล้ว ณ จังหวัดอื่นๆ จะถือโอกาสนี้กล่าวเพิ่มเติมถึงความยินดีที่ได้สังเกตเห็นความเจริญรุ่งเรืองในส่วนพระศาสนา และการศึกษาในมณฑลเป็นต้นว่าพระสงฆ์เถรานุเถระ ซึ่งทรงคุณธรรมความเลื่อมใส ได้มีฐานันดรถึงเป็นพระราชาคณะและพระครูก็มีทุกจังหวัด ยังเหล่าพระสงฆ์ซึ่งเอาใจใส่เล่าเรียนพระพุทธวัจนะมีความรู้ถึงเป็นนักธรรมก็มากขึ้นทุกปี แม้พระภิกษุสงฆ์สามัญซึ่งอยู่ตามอารามในบ้านเมืองก็สำรวม สักขาวินัย เคร่งครัดขึ้นกว่าแต่ก่อน ทั้งนี้ได้ชัดว่าเพราะพระพุทธศาสนารุ่งเรืองข้น ยังอีกประการหนึ่งเมื่อเราได้เห็นโรงเรียนและเด็กนักเรียนทั้งชายหญิงจำนวนมากมายมีแพร่หลายทั่วไปทุกจังหวัด ก็รู้สึกโสมนัสด้วยเห็นว่าจะเป็นประโยชน์แก่ประชาชนยิ่งนักในภายหน้า อนึ่งชาวมณฑลพายัพนี้ เราเชื่อว่ามีอุปนิสัยควรจะฝึกหัดให้เป็นพลเมืองดีได้เพราะสังเกตเห็นเช่นลูกเสือก็ดี หรือทหารและตำรวจภูธรก็ดี เมื่อได้รับการฝึกหัดอบรมแล้ว ก็แคล่วคล่องว่องไวและมีอัธยาศัยเป็นสง่าน่าชม เพราะฉะนั้นเราจึงยินดีด้วยความเจริญของการศึกษาซึ่งได้มีในมณฑลพายัพด้วยอีกอย่างหนึ่ง หวังว่าความเจริญดังกล่าวมายังจะยิ่งรุ่งเรืองขึ้นไปในภายหน้า
             เรามาครั้งนี้เป็นทีแรกที่จะได้มาถึงเมืองลำพูนเพราะเราเห็นว่าเป็นเมืองสำคัญอันหนึ่ง ด้วยเหตุดังกล่าวแล้วจึงได้สร้างพระแสงราชศัตราตามแบบอย่าง ซึ่งสมเด็จพระบรมชนกนาถของเราได้ทรงสถาปนาไว้ เพื่อจะมอบให้เป็นเกียรติยศแก่เมืองลำพูนองค์หนึ่ง จะได้รักษาไว้สำหรับชุบทำน้ำพระพิพัฒน์สัตยา และเป็นที่สักการะแทนพระองค์ สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินให้เป็นสวัสดิมงคลขอให้ท่านทั้งหลายจงรับพระแสงราชศัสตราในเวลานี้ พร้อมทั้งพรของเรา ขออานุภาพคุณพระศรีรัตนตรัยและเทพยดาซึ่งอภิบาลรักษาพระมหาธาตุหริภุญชัย จนบันดาลให้ชาวเมืองลำพูนทั้งปวงเจริญด้วยจตุรพิธพรเป็นนินจกาลให้เมืองลำพูนสมบูรณ์พูลสุขทั่วเขตต์จังหวัดทุกเมื่อเทอญ”

รายการอ้างอิง
บุญเสริม สาตราภัย. (2532). เสด็จลานนา เล่ม 2. กรุงเทพฯ : อักษราพิพัฒน์.
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.สำนักหอสมุด
เชียงใหม่
ntic@lib.cmu.ac.th
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ , ผู้ให้ทุนสนับสนุน
นเรนทร์ ปัญญาภู, ผู้รวบรวมข้อมูล
2469
image/jpeg(.jpeg .jpe .jpg)
1 ภาพ; ขาวดำ; 5x7 นิ้ว
HLP-LP-RL003
© ห้องฮูปลำพูน
ท่านอาจจะบันทึกหรือพิมพ์รูปภาพเพื่อการวิจัยและการศึกษาค้นคว้า ถ้าท่านต้องการใช้สำหรับวัตถุประสงค์อื่น ท่านต้องติดต่อสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อขออนุญาตใช้
 
สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์
เว็บไซต์และฐานข้อมูลภาพล้านนาในอดีต โดย สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
อนุญาตให้ใช้ได้ตาม สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง

     
     
  Copyright © 2008 Northern Thai Information Center (NTIC), Chiang Mai University. All Rights Reserved.
239 Huay Kaew Rd., Mueang District , Chiang Mai, Thailand 50200
Tel. 0 5394 4514, 0 5394 4517
ntic@lib.cmu.ac.th
 
/* */