Find Picture of      By     
Thai Version English Version
หน้าแรก
       
 
ดูภาพตามหมวดหมู่ ความเป็นมา บุญเสริม สาตราภัย อดีตล้านนาจากภาพถ่าย ผู้มีอุปการะคุณ เพิ่มรูปของคุณ ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
  
  พลตรีมหาอำมาตย์โท เจ้าจักรคำขจรศักดิ์
กลับไปหน้าแสดงรายการภาพ  

คลิกที่รูปด้านบนเพื่อดูรูปขนาดใหญ่



พลตรีมหาอำมาตย์โท เจ้าจักรคำขจรศักดิ์
หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ เชียงใหม่
พลตรีและมหาอำมาตย์โท เจ้าจักรคำขจรศักดิ์; เจ้านายฝ่ายเหนือ
กษัตริย์และผู้ครองนคร--ลำพูน

พลตรีมหาอำมาตย์โท เจ้าจักรคำขจรศักดิ์>/b>

            พลตรีและมหาอำมาตย์โท เจ้าจักรคำขจรศักดิ์ ราชองครักษ์พิเศษ นายทหารพิเศษประจำกองทัพบก พระนามเดิม เจ้าน้อยจักรคำ สมภพ วันพุธ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีกุน สัปตสก ตรงกับวันที่ 19 พฤษภาคม พุทธศักราช 2418 จุลศักราช 1237 ที่คุ้มหลวงนครลำพูน เป็นโอรสองค์ที่ 3 ของเจ้าอินทยงยศโชติ เจ้าผู้ครองนครลำพูนองค์ที่ 9 กับแม่เจ้ารถแก้ว มีภาดาและภคินีร่วมเจ้าบิดาเจ้ามารดา ดังนี้
            1. เจ้าหญิงมุกดา ณ ลำพูน
            2. เจ้าชายตุ้ย ณ ลำพูน (ถึงแก่อนิจกรรมตั้งแต่เยาว์วัย)
            3. เจ้าจักรคำขจรศักดิ์ ณ ลำพูน
            4. เจ้าหญิงแก้วมาเมือง ณ ลำพูน
            5. เจ้าหญิงหล้า ณ ลำพูน
            มีภาดาและภคินีร่วมเจ้าบิดา 2 องค์ คือ
            1. เจ้าชายสายเขียว ณ ลำพูน เกิดจากหม่อมบัวจีน
            2. เจ้าหญิงทิพนวล ณ ลำพูน เกิดจากหม่อมคำเที่ยง
            เมื่อเจริญวัยได้ศึกษาอักขระสมัยไทยเหนือในสำนักวัดพระธาตุหริภุญชัย (คณะหลวง) เมืองลำพูน และศึกษาหนังสือไทยในสำนักหลวงศรีทิพบาล ต่อมาพุทธศักราช 2429 ชนมายุได้ 11 ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณรในสำนักนั้นอยู่ 6 พรรษา ต่อมาเมื่อชนมายุได้ 21 ปี ได้สมรสกับเจ้าหญิงขานแก้ว ธิดาองค์โตของเจ้าบุรีรัตน์ แห่งนครลำพูน (เจ้าน้อยพรหมเทพ) กับเจ้าสุนา มีราชบุตรและราชธิดา ด้วยกัน 4 องค์ คือ
            1. เจ้าหญิงลำเจียก ณ ลำพูน
            2. เจ้าหญิงวรรณรา ณ ลำพูน
            3. เจ้าชายพงศ์ธาดา ณ ลำพูน
            4. เจ้าชายรัฐธาทร ณ ลำพูน
            หลังจากที่แม่เจ้าขานแก้ว ถึงแก่อนิจกรรมแล้ว เจ้าจักรคำขจรศักดิ์ได้สมรสครั้งที่สองกับเจ้าหญิงแขกแก้ว ธิดาองค์เล็กของเจ้าบุรีรัตน์ แห่งนครลำพูน (เจ้าน้อบพรหมเทพ) กับเจ้าสุนา มีราชบุตรด้วยกัน 1 องค์ คือ
            1. เจ้าชายวรทัศน์ ณ ลำพูน (อดีต ส.ส. จังหวัดลำพูน และอดีตรัฐมนตรีสั่งราชการกระทรวงมหาดไทยในสมัย ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี)
            เจ้าจักรคำขจรศักดิ์ ยังมีราชบุตรและราชธิดา เกิดจากชายา และหม่อมอื่นๆ อีก 3 องค์ ดังนี้
            1. ราชบุตรที่กำเนิดจากเจ้าส่วนบุญ คือ เจ้าชายพัฒนา ณ ลำพูน
            2. ราชบุตรที่กำเนิดจากหม่อมแว่นแก้ว คือ เจ้าชายสุริยา ณ ลำพูน
            3. ธิดาที่กำเนิดจากหม่อมคำแยง คือ เจ้าหญิงประกายคำ ทองใหญ่ ณ อยุธยา
            ในระหว่างชนมายุได้ 26 ปี ได้ทรงไปศึกษาวิชาการปกครองที่โรงเรียนวังหลังในกรุงเทพฯ ศึกษาได้ 2 ปี จึงกลับขึ้นมารับราชการในสำนักของเจ้าอินทยงยศโชติ เจ้าบิดา
            ในฐานะเป็นเจ้าผู้ครองนคร เจ้าจักรคำขจรศักดิ์ดำรงองค์ไว้ในฐานะเป็นร่มศรีมหาโพธิ์ของชาวลำพูน มีหฤทัยเยือกเย็น เต็มไปด้วยพรหมวิหารธรรม มีอัธยาศียกว้างขวางเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่ประชาชนผู้เข้าไปเฝ้าด้อนรับด้วยไมตรีเป็นอย่างดี วางองค์เป็นพ่อเมืองปกครองชาวลำพูน เป็นเหมือนบิดากับบุตร ซึ่งเป็นปัจจัยให้ได้รับขนานนามเรียกตามพื้นเมืองว่า “พ่อเจ้า” จัดเป็นนาครภินันทนะ คือ เป็นที่ยินดีแห่งชาวเมือง
            ในฐานะเป็นข้าราชการ เจ้าจักรคำขจรศักดิ์มีหฤทัยซื่องตรงดำรงในสุจริตจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ ราชจักรีวงศ์และรัฐบาลเป็นลำดับมา ได้พยายามปฏิบัติราชกรณียกิจสนองพระเดชพระคุณ ตามโอกาสเต็มความสามารถจนเป็นที่ทรงพระมหากรุณาโปรดปราน ปรากฎเกียรติคุณอันไพศาลพิเศษ จัดเป็นราชกิจจาภิวรรธนะ คือ ช่วยให้ราชการเจริญรุ่งเรือง
            ในฐานะเป็นพุทธมามกะ เจ้าจักรคำขจรศักดิ์มีศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา อุทิศองค์บรรพชาเป็นสามเณร เมื่อได้ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าผู้ครองนครแล้ว ได้บำเพ็ญตนเป็นอุบาสกรักษาศีล ฟังธรรมในพรรษาฤดู ทุกวันธรรมสวนะ ตั้งแต่ พ.ศ. 2468 มาจนถึง พ.ศ. 2485 และใน พ.ศ. 2486 โรคได้กำเริบจนไม่สามารถจะรักษาอุโบสถได้ตลอดพรรษา ถึงอย่างนั้นก็ยังอุตสาหะรักษาตามคราวที่โอกาสอำนวยให้นี้ แสดงอัธยาศัยของท่านว่าเป็นผู้มั่งคั่งในพระพุทธศาสนาเพียงไร ได้บริจาคทรัพย์ บำรุงค่าภัตตาหารตามอารามต่างๆ มีวัดพระธาตุหริภุญชัย เป็นต้น และสร้างถาวรวัตถุในพระพุทธศาสนาเป็นอันมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้สร้างวัด โดยทุนของท่านเป็นอนุสาวรีย์เฉลิมนามาภิไธยวัดหนึ่ง คือวัดจักรคำภิมุข ตำบลสันต้นธง อำเภอเมือง และอุปถัมภ์กุลบุตรให้ได้บรรพชา อุปสมบทเป็นภิกษุสามเณรเป็นจำนวนมาก ในส่วนวัดพระธาตุหริภุญชัยได้บำรุงเป็นพิเศษ ได้เป็นประมุขรื้อทองจังโกที่หุ้มพระเจดีย์ที่ประดิษฐานพระบรมธาตุหริภุญชัย ซึ่งถึงความชำรุดทรุดโทรมแล้วปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ทั้งหมด นอกจากนี้ได้รับเป็นองค์อุปถัมภ์พระศรีวิชัยซึ่งขึ้นมาจากกรุงเทพมหานคร ให้อยู่จำพรรษา ณ วัดจามเทวี ซึ่งเป็นปัจจัยให้ได้สร้างวัดนั้นอันร้างเหลือแต่ซากให้สมบูรณ์ เป็นวัดที่สวยงามขึ้นอีกวัดหนึ่งในลำพูน และรับอุปัฏฐากท่านพระศรีวิชัยจนถึงมรณภาพ แม้ภิกษุสงฆ์ไม่นิยมว่าภายในจังหวัดลำพูนหรทอต่างจังหวัด หากขัดสนด้วยจตุปัจจัยเพื่อการก่อสร้างวัดหรืออน่างอื่น เมื่อมาขอบิณฑบาตก็ยินดีบริจาคทรัพย์ถวายตามสมควรแก่ฐานานุรูป ไม่เคยปฏิเสธ ปริมาณทรัพย์ที่บริจาคฝากฝังไว้ในพระพุทธศาสนาตั้งแต่ต้นจนอวสารราวสองแสนกว่าบาท เท่าที่ค้นพบหลักฐานตามที่ท่านได้จดไว้รวมเป็นรายการย่อๆ นั้นมีดังนี้
            1. สร้างวัดจักรคำภิมุข มีวิหาร กุฏิ ศาลาบาตร กำแพง บ่อน้ำ และโรงเรียนสำหรับวัด คิดเป็นราตาเงิน 15,000 บาท
            2. สร้างกุฏิวัดพระธาตุหริภุญชัย (คณะหลวง) 3,000 บาท
            3. เป็นหัวหน้ารื้อทองจังโก้หุ้มพระธาตุหริภุญชัย และปฏิสังขรณ์ มีปิดทองหุ้มองค์พระธาตุและบริจาคทรัพย์ร่วมในการนี้หลายคราว รวมเป็นเงินที่สิ้นไป 4,000 บาท
            4. ทอดกฐินตามอารามต่างๆ รวม 20 ครั้ง คิดเป็นเงิน 6,000 บาท
            5. เป็นสหายในการบุญแห่งการฉลองวัดต่างๆ นำไทยทานไปร่วมการกุศลหลายสิบครั้งเฉพาะที่เป็นเงิน 2,579.20 บาท
            6. ทำสังเค็ตและสังค์ถวายตามอารมณ์ที่มีการฉลองรวม 1,000 ชุด คิดเป็นเงิน 5,000 บาท
            7. ถวายสลากในงานประเพณีประจำปี ที่วัดพระธาตุหริภุญชัยตามคราวที่มาถึงทุกปี เสมอด้วยอายุ คิดเป็นเงิน 2,500 บาท
            รวมเป็นเงินที่ปรากฏตามรายการ 38,579.20 บาท
            นอกจากนี้ ได้เป็นผู้อุปถัมภ์กุลบุตรให้บรรพชาเป็นสามเณร 40 รูป พระภิกษุ 18 รูป ที่จดเป็นรายการไว้เพียงเท่านี้ แต่ที่ปล่อยให้ผ่านไปมีเป็นจำนวนมาก หากจะประมวลลงในปฏิปทาของพุทธศาสนิกสัตบุรุษ ก็ยุติด้วยคำว่า พุทธศาสนานูปถัมภก
            โดยฐานะเป็นกุลบดี เป็นผู้ทำหน้าที่พ่อบ้านอย่างครบครัน มีหฤทัยเปี่ยมด้วยพรหมวิหารธรรม บำรุงเลี้ยงชายาและโอรสธิดาด้วยความรักใคร่สนิท เฉพาะโอรสได้บำรุงให้ได้รับการศึกาศิลปวิทยาการสำเร็จชั้นปริญญาและที่ส่งออกศึกษาในหน้าที่เป็นได้ด้วยดี โอรสเหล่านี้โดยมากล้วนตั้งตนได้เป็นหลักฐานและได้อยู่ในวงราชการบริหารราชกิจในหน้าที่เป็นไปด้วยดี เป็นปัจจัยให้ดำรงวงศ์สกุล ณ ลำพูน ถาวรไปตลอดกาลนาน จัดเป็นกุลโสภนะ คือยังสกุลให้งาม
            ประชวร
            เจ้าจักรคำขจรศักดิ์ ได้เริ่มประชวรด้วยโรคเนื้องอกในกระเพาะปัสสาวะ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2486 แพทย์ได้ถวายการรักษาพยาบาลจนสุดความสามารถ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเสรีเริงฤทธิ์ได้ถวายแนะนำให้เสด็จไปรักษาองค์ที่โรงพยาบาลศิริราช กรุงเทพมหานคร ในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2486 ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีได้รับเป็นผู้อุปถัมภ์ เป็นคนไข้ของ ฯพณฯ มีเจ้านายข้าราชการเป็นจำนวนมาก อาทิเช่น คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างๆ และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ผู้น้อยในกระทรวงต่างๆ ทบวงและกรมต่างๆ ตลอดจนท่านผู้มีเกียรติที่คุ้นเคย ได้กรุณาเสด็จเยี่ยม และไปเยี่ยมฟังอาการประชวรเสมอ โดยเฉพาะ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีได้บัญชาให้นายแพทย์ประจำโรงพยาบาลรายงานอาการประชวรเสนอ ฯพณฯ ทุกๆ วันตลอดเวลาที่อยู่โรงพยาบาล
            ต่อมาเมื่อทรงรู้สึกว่าอาการมีแต่ทรงกับทรุด จึงขอลา ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีกลับไปรับการรักษาที่คุ้มหลวงลำพูน เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2486 ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีได้กรุณาบัญชาให้กรมรถไฟจัดรถพิเศษโดยเฉพาะ 1 หลัง ไปส่งจนถึงลำพูน

            พิราลัย
            ครั้นมาถึงวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2486 เวลา 22.00 น. ณ คุ้มหลวงลำพูน ในท่ามกลางแห่งประยูรญาติ พร้อมด้วยพระสงฆ์และนายแพทย์ ด้วยความเอาใจใส่ในอาการโดยความหวังจะให้บรรเทาทุกขเวทนานั้น วิญญาณของเจ้าจักรคำขจรศักดิ์ก็ได้ละจากสังขารโดยอาการสงบ พลตรีและมหาอำมาตย์โท เจ้าจักรคำขจรศักดิ์ เป็นเจ้าผู้ครองนครลำพูน เมื่อ พ.ศ. 2454 จนถึง พ.ศ. 2486 รวมเป็นเจ้าผู้ครองนครลำพูน 32 ปี และรวมสิริมายุ 69 ปี
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.สำนักหอสมุด
เชียงใหม่
ntic@lib.cmu.ac.th
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ , ผู้ให้ทุนสนับสนุน
นเรนทร์ ปัญญาภู, ผู้รวบรวมข้อมูล
-
image/jpeg(.jpeg .jpe .jpg)
1 ภาพ; ขาวดำ; 5x7 นิ้ว
HLP-LP-NR057
© ห้องฮูปลำพูน
ท่านอาจจะบันทึกหรือพิมพ์รูปภาพเพื่อการวิจัยและการศึกษาค้นคว้า ถ้าท่านต้องการใช้สำหรับวัตถุประสงค์อื่น ท่านต้องติดต่อสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อขออนุญาตใช้
 
สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์
เว็บไซต์และฐานข้อมูลภาพล้านนาในอดีต โดย สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
อนุญาตให้ใช้ได้ตาม สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง

     
     
  Copyright © 2008 Northern Thai Information Center (NTIC), Chiang Mai University. All Rights Reserved.
239 Huay Kaew Rd., Mueang District , Chiang Mai, Thailand 50200
Tel. 0 5394 4514, 0 5394 4517
ntic@lib.cmu.ac.th
 
/* */