|
พระราชพิธีพระราชทานเพลิงศพ พลตรี เจ้าราชบุตร (วงษ์ตะวัน ณ เชียงใหม่) เมื่อวันที่ ๑๓ มกราคม พ.ศ. ๒๕๑๖ |
|
|
|
|
|
|
|
|
พระราชพิธีพระราชทานเพลิงศพ พลตรี เจ้าราชบุตร (วงษ์ตะวัน ณ เชียงใหม่)
������������พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานเพลิงศพ พลตรี เจ้าราชบุตร (วงษ์ตะวัน ณ เชียงใหม่) ที่เมรุวัดสวนดอก จังหวัดเชียงใหม่ ในวันเสาร์ ที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2516
������������พลตรี เจ้าราชบุตร (วงษ์ตวัน ณ เชียงใหม่) ได้ถึงพิราลัยเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ.2515 ณ โรงพยาบาลนครเชียงใหม่ ความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทล้นเกล้าฯ ทั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้ทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพวงมาลาไปตั้งที่ศพ
������������ ในการพระราชทานเพลิงศพ พลตรี เจ้าราชบุตร ก็ได้ทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์และพระราชทานเลื่อนโกศประกอบเกียรติยศศพจากโกศแปดเหลี่ยมเป็นโกศไม้สิบสองประกอบศพ พร้อมทั้งบำเพ็ญพระราชกุศลพระราชทานในการออกเมรุ ณ คุ้มวงษ์ตวัน จังหวัดเชียงใหม่ ยิ่งกว่านั้นยังได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เชิญโกศศพขึ้นประดิษฐานบนราชรถ เคลื่อนกระบวนอิสริยยศ เชิญศพจากคุ้มวงษ์ตวันไปสู่วัดสวนดอก ตั้งกระบวนอิสริยยศเชิญโกศศพเวียนเมรุ แล้วเชิญโกศศพขึ้นตั้งบนจิตกาธาน
������������ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้ทรงพระกรุณาเสด็จพระราชดำเนินไปยังพลับพลาวัดสวนดอก ทรงทอดผ้าไตร พระสงฆ์บังสุกุล แล้วเสด็จขึ้นเมรุพระราชทานเพลิง (ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 61, 2516 หน้า (1))
ประวัติ พลตรีเจ้าราชบุตร (วงษ์ตวัน ณ เชียงใหม่)
������������ พลตรี เจ้าราชบุตร (วงษ์ตวัน ณ เชียงใหม่) ผู้บังคับการพิเศษกรมผสมที่ 7 ราชองครักษ์พิเศษ และอดีตสมาชิกวุฒิสภาได้ถึงพิราลัยเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2515 ณ โรงพยาบาลนครเชียงใหม่ เวลา 12.10 น. ด้วยพระโรคชรา ชนมายุได้ 86 ปี 18 วัน โดยมีอาการเจ็บป่วยเข้ารับการรักษา ณ โรงพยาบาลเพียง 4 วันเท่านั้น ทั้งที่ก่อนหน้านี้ท่านก็มีสุขภาพสมบูรณ์ดีอยู่ทุกประการ
������������ ต้นตระกูลของพลตรี เจ้าราชบุตร เมื่อสืบสาวย้อนหลังไปแล้ว พบว่าเป็นผู้ที่ได้ทำประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติมาแล้วทั้งสิ้น ซึ่งจะสังเกตได้จากตำแหน่งหน้าที่ของท่านเหล่านั้น เจ้าราชบุตรจึงได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ลูกไม้ย่อมหล่นไม่ไกลต้น เป็นคำกล่าวของคนไทยที่มีความจริง การสืบสายในวงศ์ตระกูลของท่าน หรือตระกูล ณ เชียงใหม่ นับตั้งแต่ต้นจนมาถึงตัวท่านเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 300 ปี นั้น มีดังต่อไปนี้
������������ เจ้าพระยาสุระวฤาชัยสงคราม (ทิพช้าง) เป็นเจ้าเมืองนครลำปาง ในสมัยกู้ชาติจากการครอบครองและย่ำยีของพม่า เมื่อ พ.ศ. 2275 ท่านสมรสกับเจ้าแม่พิมพาเทวี และให้กำเนิดเจ้าฟ้าชายแก้ว ซึ่งเป็นเจ้าเมืองนครลำปางองค์ต่อมา เจ้าฟ้าชายแก้วสมรสกับแม่เจ้าจันตา และให้กำเนิดเจ้าหลวงเศรษฐีคำฝั้นซึ่งเป็นเจ้าผู้ครองนครและให้กำเนิดเจ้ามหาพรหมคำคงได้เป็นเจ้าราชวงษ์เชียงใหม่ เจ้าราชวงษ์เชียงใหม่สมรสกับเจ้าบัวคำ และให้กำเนิดเจ้าอินทวิชยานนท์ซึ่งได้เป็นเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 7 พระเจ้าอินทวิชยานนท์กับแม่เจ้าเขียว ให้กำเนิดพลตรีเจ้าแก้วนวรัฐ ได้เป็นเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 9 ซึ่งเป็นองค์สุดท้ายของจังหวัดเชียงใหม่ พลตรีเจ้าแก้วนวรัฐสมรสกับแม่เจ้าจามรี และให้กำเนิดพลตรี เจ้าราชบุตร อย่างไรก็ดี ตระกูล ณ เชียงใหม่ มีเครือญาติในตระกูลรวมกันทุกสายในปัจจุบันนี้ได้มากกว่าพันคน ซึ่งไม่สามารถจะนำมาบันทึกในที่นี้ได้
������������ พลตรีเจ้าราชบุตรสมรสกับเจ้าหญิงจันทร สกุลเดิม ณ เชียงใหม่ มีธิดาคือเจ้าหญิงวงศ์จันทร์ ต่อมา พลตรี เจ้าราชบุตรได้สมรสกับเจ้าหญิงภัทรา สกุลเดิม ณ ลำพูน มีธิดา 2 คน คือ เจ้าหญิงพงศ์แก้ว และเจ้าหญิงระวีพันธุ์ ต่อมา เจ้าราชบุตรได้สมรสกับหม่อมศรีนวล ซึ่งเดิมอยู่ในตระกูลนันทขว้าง แห่งจังหวัดลำพูน หม่อมศรีนวลเป็นสุภาพสตรีที่มีเกียรติท่านหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่ ได้ทำชื่อเสียงให้แก่วงศ์ตระกูล และวงการสตรีของจังหวัดเชียงใหม่เป็นอันมาก ได้ทำกิจกรรมสาธารณประโยชน์หลายประการ และได้เป็นผู้จัดการแทบทุกอย่างแทนเจ้าราชบุตร ในการเตรียมการรับเสด็จราชอาคันตุกะทุกๆ คราว ในบั้นปลายของชีวิตเจ้าราชบุตรได้พำนักอยู่อย่างสุขสบาย ณ คุ้มวงษ์ตวัน
������������ พลตรี เจ้าราชบุตรประสูติเมื่อวันศุกร์ ขึ้น 5 ค่ำ เดือน 6 ปีจอ อัฐศก จุลศักราช 1248 ตรงกับวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2429 เมื่อเป็นเด็กมีฉายาเรียกเล่นว่า เจ้าหมู เมื่อ พ.ศ. 2440 ได้เข้าเรียนหนังสือไทยที่โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ ต่อมา พ.ศ. 2441 ได้ย้ายไปเรียนที่โรงเรียนราชวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร เมื่อ พ.ศ. 2444 ได้ย้ายกลับมาอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ และได้อุปสมบทเป็นสามเณรหนึ่งพรรษา ที่วัดหอธรรม ซึ่งปัจจุบันรวมเข้าเป็นวัดเดียวกันกับวัดเจดีย์หลวง เมื่อเป็นเด็กท่านเคยติดตามเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ลงไปยังกรุงเทพมหานคร เพื่อกระทำพิธีทูลเกล้าฯ ถวายต้นไม้เงินและต้นไม้ทอง ตามประเพณีอันเป็นราชบรรณาการแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในครั้งนั้นพระราชชายาเจ้าดารารัศมี ซึ่งเป็นพระราชชายาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและยังคงประทับอยู่ในพระบรมมหาราชวัง พระราชชายาได้ทรงนำเจ้าราชบุตรเข้าเฝ้าถวายตัวด้วย เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จแปรพระราชฐานไปประทับอยู่ที่พระราชวังบางปะอิน ท่านก็ได้ตามเสด็จไปเฝ้าอยู่ใกล้ชิดพระยุคลบาท จนกระทั่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานนามว่า วงษ์ตวัน ต่อมาได้ถวายตัวเพื่อเข้ารับราชการเป็นมหาดเล็กในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฏราชกุมาร เมื่อพระบาทสมเด็จพระมกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เจ้าราชบุตรเป็นมหาดเล็กลำดับศักดิ์ หุ้มแพรทองคำ และพระราชทานเสมาทองคำลงยามีพระปรมาภิธัยย่อ ว.ป.ร. พร้อมด้วยเข็มข้าหลวงเดิม
������������ เมื่อเจ้าราชบุตร กลับมาจังหวัดเชียงใหม่แล้ว ได้เข้ารับราชการฝ่ายมหาดไทยที่ศาลากลางจังหวัด ท่านมีคุณงามความดีในการปฏิบัติงานราชการที่เป็นที่ยอมรับในวงกว้าง จนในรัชสมัยของหระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้าราชบุตรก็ได้สมัครเข้ารับราชการสนองพระมหากรุณาธิคุณในกิจกรรมเสือป่าที่กำลังเป็นที่นิยมในหมู่ข้าราชการพลเรือนในสมัยนั้น จนได้รับพระราชทานยศเสือป่าเป็นนายหมวดเอกเสือป่า และในปี พ.ศ. 2468 ท่านได้รับพระราชทานราชทินนามในฐานะของเจ้านายฝ่ายเหนือของจังหวัดเชียงใหม่ เป็น เจ้าราชบุตร และพอถึง พ.ศ. 2473 ท่านได้รับพระราชทานเลื่อนตำแหน่งทางพลเรือนอีกครั้งหนึ่ง เป็น เสนามหาดไทยเชียงใหม่ (ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 61, 2516 หน้า (15))
������������ ด้านกิจกรรมสาธารณประโยชน์ พลตรี เจ้าราชบุตร เป็นผู้ที่เล็งเห็นความสำคัญของสาธารณประโยชน์และพระศาสนาเป็นอย่างดี จึงได้พยายามสนับสนุนกิจกรรมทั้งสองประเภทด้วยความเต็มใจ ดังนั้น เมื่อมีโอกาสท่านมักจะบริจาคเงินหรือสิ่งของหรือทรัพย์สินสมบัติของท่านเพื่อการกุศลเสมอ เช่น บริจาคเพื่อการก่อสร้างและซ่อมแซมวัด บริจาคสมทบทุนมูลนิธิเพื่อการกุศลทั่วไป และการศึกษา บริจาคเพื่อทำบุญทอดกฐินหรือทอดผ้าป่า สำหรับการช่วยเหลือสาธารณประโยชน์ท่านก็ได้กระทำเป็นการประจำทั้งรายใหญ่และรายเล็ก เช่น การบริจาคช่วยเหลือบรรเทาสาธารณภัย ส่งเสริมการแพทย์และการสาธารณสุข บำรุงห้องสมุด บริจาคเครื่องดนตรีแก่นักศึกษาและสถาบันการศึกษา สมทบทุนในกิจกรรมของกาชาด บริจาคที่ดินเพื่อสาธารณประโยชน์ และในโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมอีกเป็นอันมาก นอกจากนี้ยังมีการสร้างอาคารที่มีความสำคัญมากทางการแพทย์ คือ อาคารเจ้าราชบุตร อันเป็นตึก โคโบลท์ ท่านก็ได้ออกทุนทรัพย์ส่วนตัวสร้างให้แก่โรงพยาบาลนครเชียงใหม่ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นมูลค่าห้าแสนบาท (ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 61, 2516, หน้า 25)
รายการอ้างอิง
ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 61, (2516). (พิมพ์ครั้งที่ 3). กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร.
������������พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พลตรี เจ้าราชบุตร
������������(วงศ์ตวัน ณ เชียงใหม่) ณ เมรุวัดสวนดอก จังหวัดเชียงใหม่
������������วันที่ 12 มกราคม พ.ศ.2516
|
|
|
|
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.สำนักหอสมุด |
|
เชียงใหม่ |
|
ntic@lib.cmu.ac.th |
|
|
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.สำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ |
|
เชียงใหม่ |
|
itsc@itsc.cmu.ac.th |
|
|
|
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ผู้ให้ทุนสนับสนุน |
|
|
|
2516 |
|
|
|
image/jpeg(.jpeg .jpe .jpg) |
|
|
|
1 ภาพ; ขาวดำ; 8x10 นิ้ว |
|
|
|
CMU-CM-NR010 |
|
|
|
© มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ |
|
|
|
ท่านอาจจะบันทึกหรือพิมพ์รูปภาพเพื่อการวิจัยและการศึกษาค้นคว้า ถ้าท่านต้องการใช้สำหรับวัตถุประสงค์อื่น ท่านต้องติดต่อสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อขออนุญาตใช้ |
|
|
|