Find Picture of      By     
Thai Version English Version
หน้าแรก
       
 
ดูภาพตามหมวดหมู่ ความเป็นมา บุญเสริม สาตราภัย อดีตล้านนาจากภาพถ่าย ผู้มีอุปการะคุณ เพิ่มรูปของคุณ ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
  
  สนามบินเชียงใหม่ เมื่อพ.ศ. 2513
กลับไปหน้าแสดงรายการภาพ  

คลิกที่รูปด้านบนเพื่อดูรูปขนาดใหญ่



สนามบินเชียงใหม่ เมื่อพ.ศ. 2513
หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ เชียงใหม่
สนามบินเชียงใหม่
สนามบิน--เชียงใหม่

             สนามบินเชียงใหม่หรือเดิมชื่อ สนามบินสุเทพ ตั้งขึ้นในปีพ.ศ. 2464 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่รถไฟมาถึงเชียงใหม่ ตรงกับรัชสมัย เจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 9 (พ.ศ. 2452-2482) การตั้งสนามบินเชียงใหม่เป็นพระดำริของ นายพลโท หม่อมเจ้าบวรเดช อุปราชมณฑลพายัพในขณะนั้น โดยเลือกพื้นที่บริเวณเชิงดอยสุเทพ ซึ่งขณะนั้นมีสภาพเป็นป่าไผ่ เมื่อสนามบินสร้างเสร็จได้มอบให้อยู่ในการดูแลของกระทรวงกลาโหม
             พร้อมกับที่มีการสร้างสนามบิน ได้มีการรวบรวมเงินจากเจ้าผู้ครองนคร เจ้านายฝ่ายเหนือ ข้าราชการ พ่อค้าและประชาชน เพื่อจัดซื้อเครื่องบินให้กองทัพไว้ใช้ในราชการ เงินที่ได้จากการรวบรวมครั้งนี้นำไปจัดซื้อเครื่องบินแบบเบร์เกต 14 เป็นเครื่องบินทิ้งระเบิดสองที่นั่ง ปีกสองชั้นขนาดใหญ่และมีพิสัยการบินไกลที่สุดของประเทศในขณะนั้น ต่อมาได้ดัดแปลงเป็นเครื่องบินโดยสารให้ชื่อว่า จังหวัดเชียงใหม่ 1
             ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2466 ได้มีการเปิดสนามบินอย่างเป็นทางการ และเครื่องบินจังหวัดเชียงใหม่ 1 ได้บินมาแตะพื้นรันเวย์สนามบินเชียงใหม่เป็นปฐมฤกษ์ สร้างความดีใจให้กับประชาชนชาวเชียงใหม่อย่างมาก ทางจังหวัดได้จัดให้มีการเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ที่สนามบินติดต่อกัน 4 วัน 4 คืน ระหว่างวันที่ 16-19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2466 และในงานยังได้มีการร่วมสมทบเงินจัดซื้อเครื่องบินได้อีกหนึ่งลำ คือ เครื่องบินจังหวัดเชียงใหม่ 2
             จากนั้นเป็นต้นมาเชียงใหม่กลายเป็นศูนย์กลางการคมนาคมทางอากาศในภาคเหนือ มีเส้นทางบินระหว่างกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ และเชียงใหม่-แม่ฮ่องสอน อยู่ภายใต้การควบคุมของกรมอากาศยาน จนกระทั่งในปีพ.ศ. 2447 กิจการการบินได้โอนเข้าไปสังกัดบริษัทขนส่งจำกัด ที่ตั้งขึ้นในปีเดียวกันนี้เอง
             ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 บริษัทขนส่งจำกัดต้องเลิกกิจการไป เพราะกองทัพอากาศต้องใช้สนามบินเชียงใหม่ในกิจการทางทหารเพื่อป้องกันภัยทางอากาศ มีการตั้งกองบินน้อยผสมที่ 90 ขึ้นเพื่อเป็นฐานในการส่งกำลังทางอากาศและสนับสนุนกำลังทางภาคพื้นดิน
             ในปีพ.ศ. 2498 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สนามบินเชียงใหม่ได้กลับมาเป็นสนามบินพานิชย์อีกครั้ง โดยมีบริษัท 2 แห่ง เข้ามาดำเนินกิจการคือ บริษัทเดินอากาศและบริษัท POAS จำกัด เครื่องบินที่ใช้เป็นเครื่องบินแบบ ดีซี 3 ดาโกต้า มีเส้นทางบิน จากกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ และกรุงเทพฯ- สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมีเชียงใหม่เป็นที่แวะพักระหว่างทาง
             ระหว่างสงครามเวียตนามในปีพ.ศ. 2500 กองทัพอากาศได้รับความช่วยเหลือทางด้านงบประมาณจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกา เพื่อปรับปรุงสนามบินเชียงใหม่ให้เป็นสนามบินที่สามารถรองรับเครื่องบินที่มีขนาดใหญ่ขึ้นและมากลำขึ้น จึงมีการปรับปรุงให้เป็นสนามบินคอนกรีตเสริมเหล็กทั้งลานจอดและทางวิ่ง พร้อมกับสร้างอาคารสนามบินเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 2 ชั้น มีหอบังคับการบินตั้งอยู่ด้านบนอาคาร ในขณะที่ทำการปรับปรุงสนามบินนั้นได้มีการปิดสนามบินถึง 3 ปี
             สนามบินเชียงใหม่ได้เปิดเป็นทางการอีกครั้งในวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2503 และในปีเดียวกันนั้นทางรัฐบาลได้ออกพระราชบัญญัติจัดระเบียบข้าราชการกระทรวงกลาโหม พุทธศักราช 2503 ตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ได้มีการจัดตั้งหน่วยกำลังทางอากาศ และหน่วยบินปฏิบัติราชการสนามชายแดนที่สนามบินเชียงใหม่ โดยสั่งการให้บรรจุกองบินผสมประจำการที่สนามบินเชียงใหม่ ต่อมาได้ยกฐานะเป็นฐานบินเชียงใหม่ และในวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2519 ได้เปลี่ยนเป็น กองบิน 4 ฝูงบิน 41 ตามลำดับ
             จากการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้มีการพัฒนาและขยายสนามบินให้กว้างขวางมากขึ้น เช่นในปีพ.ศ. 2525 ได้มีการเวนคืนที่ดินทางทิศใต้ของสนามบิน เพื่อขยายทางวิ่งและลานจอดเครื่องบิน ให้สามารถรองรับการจอดเครื่องบินโดยสารแบบโบอิ้ง 747 ได้ และในวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2527 ได้มีมติของคณะรัฐมนตรี ให้แยกท่าอากาศยานเชียงใหม่ออกจากกรมการบินพานิชย์ ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2531 โดยแบ่งความรับผิดชอบออกเป็น 2 ส่วน คือ กองบิน 41 เป็นผู้รับผิดชอบทางด้านการทหารและการท่าอากาศยานเป็นผู้รับผิดชอบด้านการบินพานิชย์

รายการอ้างอิง
บุญเสริม สาตราภัย. (2546). เชียงใหม่กับภัยทางอากาศ. กรุงเทพฯ : สายธาร.
______________. (2522). ลานนาไทยในอดีต. เชียงใหม่ : ช้างเผือกการพิมพ์.
______________. (2550). ล้านนา...เมื่อตะวา. เชียงใหม่ : Bookworm.
บุญเสริม สาตราภัย และสังคีต จันทนะโพธิ. (2520). อดีตลานนา. กรุงเทพฯ :
             เรืองศิลป์.
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.สำนักหอสมุด
เชียงใหม่
ntic@lib.cmu.ac.th
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.สำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ
เชียงใหม่
itsc@itsc.cmu.ac.th
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ , ผู้ให้ทุนสนับสนุน
อุษณีย์ ธงไชย, ที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญประจำโครงการ
2513
image/jpeg(.jpeg .jpe .jpg)
1 ภาพ; ขาวดำ; 8x10 นิ้ว
BS-CM-GB015
ท่านอาจจะบันทึกหรือพิมพ์รูปภาพเพื่อการวิจัยและการศึกษาค้นคว้า ถ้าท่านต้องการใช้สำหรับวัตถุประสงค์อื่น ท่านต้องติดต่อสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อขออนุญาตใช้
 
สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์
เว็บไซต์และฐานข้อมูลภาพล้านนาในอดีต โดย สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
อนุญาตให้ใช้ได้ตาม สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง

     
     
  Copyright © 2008 Northern Thai Information Center (NTIC), Chiang Mai University. All Rights Reserved.
239 Huay Kaew Rd., Mueang District , Chiang Mai, Thailand 50200
Tel. 0 5394 4514, 0 5394 4517
ntic@lib.cmu.ac.th
 
/* */