|
หอแสดงสินค้าในงานฤดูหนาวจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อพ.ศ. 2508 |
|
|
|
|
|
|
|
|
งานฤดูหนาวเป็นงานรื่นเริงประจำปีของเมืองเชียงใหม่ จัดขึ้นในราวปลายเดือนธันวาคมถึงต้นเดือนมกราคม ซึ่งเป็นช่วงฤดูหนาวที่เชียงใหม่มีความสวยงามมากที่สุด อากาศเย็นสบาย ธรรมชาติสวยงาม ดอกไม้กำลังบานสะพรั่ง พืชผักผลไม้อุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะพืชเมืองหนาวเช่น ส้ม สตรอเบอรี่ เป็นต้น ปัจจุบันงานฤดูหนาวเชียงใหม่จัดในบริเวณที่ว่างของส่วนราชการด้านหลังศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่หลังใหม่
งานฤดูหนาวเป็นงานที่สืบเนื่องมาจาก งานแสดงพืชผล ซึ่งเป็นงานแสดงผลผลิตของนักเรียน โรงเรียนฝึกหัดครูช้างเผือก (ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่) ในปีพ.ศ. 2474 การจัดงานดังกล่าวได้ชะงักไป ต่อมาพระยาอนุบาลพายัพกิจ (ปุ่น อาสนจินดา) ซึ่งเป็นปลัดมณฑลพายัพได้จัดงานขึ้นใหม่และเปลี่ยนมาเป็นงานฤดูหนาว จัดเป็นงานรื่นเริงประจำปีของชาวเชียงใหม่ โดยมีวัตถุประสงค์ในการจัดงาน 3 ประการด้วยกัน คือ ประการที่ 1 เพื่อหาเงินบำรุงด้านการศึกษา ประการที่ 2 เพื่อหาเงินช่วยเหลือด้านการสาธารณสุขโดยเฉพาะเด็กกำพร้า และประการที่ 3 เพื่อหาเงินสนับสนุนการเพาะปลูก สัตว์ พาหนะและปศุสัตว์
เงินดังกล่าวได้จากค่าเช่าร้านและค่าบัตรผ่านประตู บัตรผ่านประตูจะมีหมายเลขบัตรกำกับเพื่อใช้ในการออกรางวัล ซึ่งเป็นรางวัลใหญ่และมีมูลค่ามาก จนกลายเป็นสิ่งที่ดึงดูดให้คนซื้อบัตรเที่ยวงานเป็นจำนวนมาก แม้แต่กรรมการซึ่งสามารถเข้าฟรีได้ก็ยังนิยมซื้อบัตรผ่านประตูเพื่อเสี่ยงโชครับรางวัลเช่นกัน ด้วยเหตุนี้ทำให้การจัดงานฤดูหนาวในแต่ละครั้งทำรายได้ให้กับผู้จัดไม่น้อยทีเดียว
จากงานแสดงพืชผลพัฒนามาสู่งานฤดูหนาว มีรูปแบบที่เปลี่ยนแปลงไปหลายประการ ทั้ง สถานที่จัดงาน และเนื้อหาในการจัดงานมีความหลากหลายมากขึ้น
สถานที่จัดงานมีการเปลี่ยนแปลงหลายครั้งคือ พ.ศ. 2491 จัดที่โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย พ.ศ. 2497 จัดที่สนามกีฬาเทศบาล และต่อมาย้ายไปจัดในบริเวณที่ว่างของส่วนราชการด้านหลังศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่หลังใหม่ บนถนนสายเชียงใหม่-แม่ริม ซึ่งเป็นสถานที่จัดงานฤดูหนาวมาจนถึงทุกวันนี้
ความหลากหลายในเนื้อหาการจัดงาน งานฤดูหนาวเป็นงานออกร้านของหน่วยงานต่างๆ ทั้งหน่วยงานราชการ และร้านค้าเอกชน เช่น การออกร้านของกาชาดเชียงใหม่ การอธิบายกิจกรรมต่างๆ ของกรมชลประทาน การจัดแสดงผลิตภัณฑ์ของกระทรวงเศรษฐการ การแสดงกฏจราจรของตำรวจ การเล่นทิ้งระเบิดปลอมๆ ของฝูงบินผสมที่ 21 และการแสดงกิจกรรมต่างๆ ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตัวอย่างร้านเอกชน เช่น ร้านเชียงใหม่สามิต ร้านนิยมพานิช ร้านซิงเกอร์ ปั๊มเอสโซ่ และร้านของบริษัทไทยสงวน เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีการออกร้านของหน่วยงานต่างประเทศในเชียงใหม่อีกด้วย เช่น ร้านของสหภาพพม่า และร้านของสำนักงานแถลงข่าว (B.I.S) เป็นต้น
แม่เหล็กที่ดึงดูดผู้คนเข้าชมงานฤดูหนาวอย่างคับคั่งคือ เวทีประกวดสาวงามซึ่งมีถึง 2 เวที คือเวทีประกวดนางสาวเชียงใหม่ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในปีพ.ศ. 2476 เวทีนี้คัดเลือกสาวงามจากอำเภอต่างๆ ในเชียงใหม่ เฉพาะที่เป็นสาวเชียงใหม่ตั้งแต่กำเนิดเท่านั้น เวทีที่ 2 คือ เวทีประกวดนางสาวถิ่นไทยงามซึ่งคัดเลือกสาวงามจาก 17 จังหวัดภาคเหนือ สาวงามที่ได้รับตำแหน่งส่วนใหญ่มาจาก อ.ป่าซาง จ.ลำพูน และอ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ จนเป็นที่เล่าลือกันว่าอำเภอทั้งสองเป็นอำเภอของสาวงาม และสาวงามเหล่านี้มักจะทำงานเป็นพนักงานต้อนรับของร้านขายของพื้นเมือง เช่น ร้านขายผ้าไหมและร้านผ้าฝ้าย เป็นต้น ทำให้ร้านค้าเหล่านี้ขายสินค้าดีมาก เพราะมักจะมีคนแวะเวียนมาที่ร้านเหล่านี้มิได้ขาดสาย
การประกวดนางงามดังกล่าวเป็นที่สนใจของหญิงสาวในภาคเหนือมาก เพราะการได้รับชัยชนะบนเวทีนี้จะเป็นใบเบิกทางไปสู่เวทีประกวดระดับชาติ คือเวทีนางสาวไทย ซึ่งก็มีสาวงามจากเวทีนี้ได้รับรางวัลจากเวทีระดับชาติหลายคน เช่น นวลสวาท ลังกาพินธุ์ รุ่งทิพย์ ภิญโญ ดวงจันทร์ บุญศรี เนตรทราย ชลาธาร และอรอนงค์ ปัญญาวงศ์ เป็นต้น
การจัดประกวดนางงามทั้ง 2 เวทีในสมัยก่อนนั้น นับเป็นงานใหญ่และเป็นที่สนใจแก่ผู้คนทั่วไป ตอนบ่ายๆ จะมีขบวนแห่สาวงามนั่งรถเปิดประทุนจากโรงแรมรถไฟไปจนถึงเวทีประกวด บางปีมีขบวนม้าและขบวนรถเวสป้านำหน้า สองข้างทางมีผู้คนรอชมเป็นจำนวนมาก ในบางปีมีนางสาวไทยจากกรุงเทพฯ มาช่วยทำให้งานน่าสนใจมากยิ่งขึ้น เช่นในปีพ.ศ. 2508 อาภัสรา หงสกุล นางสาวไทยเดินทางมาร่วมงานและเป็นผู้สวมมงกุฎกับสายสะพายให้นางสาวเชียงใหม่
มีเรื่องเล่าสนุกๆ ของสาวงามในสมัยก่อนคือ สาวงามกับเตาอั้งโล่ ทั้งนี้เพราะในช่วงการประกวดเป็นช่วงที่อากาศในเชียงใหม่หนาวมาก สาวงามที่ใส่ชุดว่ายน้ำค่อยๆ เดินบนเวทีโปรยยิ้มอย่างสวยงามให้ฝูงชน แต่พอเข้าไปหลังเวทีต้องวิ่งอย่างเร็วไปผิงไฟจากเตาอั้งโล่ที่ตั้งเรียงรายเป็นแถวยาวอยู่ด้านหลังเวที
ปัจจุบัน มีคนเชียงใหม่น้อยมากที่ไปเที่ยวงานฤดูหนาว เนื่องจากมีงานรื่นเริงอื่นๆ เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งงานฤดูหนาวยังถูกมองว่ามีลักษณะคล้ายงานวัด ร้านค้าส่วนใหญ่ก็เป็นสินค้าที่ขายอยู่ทั่วไปในตลาดและเวทีประกวดนางงามซึ่งเคยเป็นที่ดึงดูดผู้คนก็คลายมนต์เสน่ห์ลงไป เพราะความนิยมในการดูสาวงามบนเวทีนั้นมีเฉพาะในกลุ่มคนบางกลุ่มเท่านั้น
รายการอ้างอิง
สุดารา สุจฉายา (บรรณาธิการ). (2540). เชียงใหม่ แดนแห่งต้นธาร
ศูนย์กลางของอาณาจักรและศิลปวัฒนธรรมล้านนา.
กรุงเทพฯ: สารคดี.
|
|
|
|
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.สำนักหอสมุด |
|
เชียงใหม่ |
|
ntic@lib.cmu.ac.th |
|
|
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.สำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ |
|
เชียงใหม่ |
|
itsc@itsc.cmu.ac.th |
|
|
|
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ , ผู้ให้ทุนสนับสนุน
อุษณีย์ ธงไชย, ที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญประจำโครงการ |
|
|
|
2508 |
|
|
|
image/jpeg(.jpeg .jpe .jpg) |
|
|
|
1 ภาพ; ขาวดำ; 8x10 นิ้ว |
|
|
|
BS-CM-WF018 |
|
|
|
ท่านอาจจะบันทึกหรือพิมพ์รูปภาพเพื่อการวิจัยและการศึกษาค้นคว้า ถ้าท่านต้องการใช้สำหรับวัตถุประสงค์อื่น ท่านต้องติดต่อสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อขออนุญาตใช้ |
|
|
|