Find Picture of      By     
Thai Version English Version
หน้าแรก
       
 
ดูภาพตามหมวดหมู่ ความเป็นมา บุญเสริม สาตราภัย อดีตล้านนาจากภาพถ่าย ผู้มีอุปการะคุณ เพิ่มรูปของคุณ ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
  
  สงกรานต์ ที่ถนนท่าแพ พ.ศ. 2497
กลับไปหน้าแสดงรายการภาพ  

คลิกที่รูปด้านบนเพื่อดูรูปขนาดใหญ่



สงกรานต์ ที่ถนนท่าแพ พ.ศ. 2497
หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ เชียงใหม่
สงกรานต์; เชียงใหม่; สงกรานต์ -- เชียงใหม่; ถนนท่าแพ
สงกรานต์; เชียงใหม่ -- ความเป็นอยู่และประเพณี

             ประเพณีสงกรานต์หรือที่คนเมืองเรียกว่า ป๋าเวณีปีใหม่เมือง เป็นเทศกาลที่ผู้คนมีความสุขสนุกสนานมาก เด็กๆ ได้ออกมาเล่นสาดน้ำกันให้คลายร้อนโดยไม่มีใครว่าเพราะเป็นประเพณีที่สาวๆ แต่งตัวสวยงามทัดดอกไม้สีเหลืองออกไปทำบุญและเล่นน้ำสงกรานต์ หนุ่มๆ ได้ออกมาเล่นน้ำหยอกเย้าสาวๆ โดยไม่ถือว่าเป็นการแทะโลมเกี้ยวพาราสี สำหรับผู้ใหญ่ก็ถือว่าสงกรานต์เป็นงานบุญใหญ่ประจำปี ต่างพากันช่วยตระเตรียมข้าวของสำหรับทำบุญกันอย่างคึกคัก
             วันสงกรานต์หรือมหาสงกรานต์ตรงกับวันที่ 13 เมษายน หมายถึงวันที่พระอาทิตย์ย้ายจากกลุ่มดาวมีนสู่กลุ่มดาวเมษ ซึ่งนับเป็นวันครบรอบ 12 ราศี หรือเป็นเวลา 1 ปี และเป็นที่มาของการกำหนดให้วันที่ 13 เมษายนเป็นวันขึ้นปีใหม่ ก่อนที่จอมพล ป. พิบูลสงครามจะเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่มาเป็นวันที่ 1 มกราคมตามแบบสากล
             เทศกาลสงกรานต์ในเมืองจัดเป็นเทศกาลที่ยิ่งใหญ่และยาวนาน โดยเริ่มต้นอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 13-15 เมษายน แต่จริงๆ แล้วประชาชนเริ่มเล่นสงกรานต์ก่อนวันที่ 13 และเลิกเล่นหลังจากวันที่ 15 โดยเฉพาะเด็กๆ ในเขตอำเภอรอบนอกมักจะออกมาเล่นน้ำสงกรานต์ตั้งแต่วันที่ 10 เรื่อยมาจนวันที่ 17-18 เมษา เพราะช่วงนี้เป็นช่วงที่อากาศร้อนจัดเด็กๆ จึงออกมาเล่นน้ำให้คลายร้อน
             ในเทศกาลสงกรานต์มีประเพณีสำคัญหลายประการที่ชาวเชียงใหม่ยึดถือปฏิบัติ แต่ละประเพณีล้วนมีความหมายและสัมพันธ์กับวิถีชีวิตของผู้คนในสังคม ธรรมชาติ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่รอบตัวแทบทั้งสิ้น ประเพณีต่างๆ เริ่มจากวันที่ 13 จนถึง 15 เมษายนดังนี้
             วันที่ 13 เมษา หรือวันสังขานต์ล่อง ถือว่าเป็นวันสิ้นสุดของปีและส่งท้ายปีเก่า ในวันนี้ชาวเมืองจะได้ยินเสียงปืนและจุดประทัดกันตั้งแต่เช้ามืด เพราะชาวบ้านยิงปืนเพื่อขับไล่ปู่สังขานต์ย่าสังขานต์หรือตัวเสนียดจัญไร มีการทำความสะอาดบ้าน ปัดกวาดหิ้งพระ ชำระสระสรงพระพุทธรูป กวาดขยะมูลฝอยและนำไปเผา ชำระร่างกายให้สะอาดผ่องใส แต่งกายด้วยเสื้อผ้าใหม่ อาจารย์มณี พยอมยงค์กล่าวว่า หากเป็นผู้หญิงเมื่อชำระร่างกายสะอาดแล้ว ให้ใส่เสื้อผ้าใหม่ ทัดดอกไม้เป็นนามปี เช่นหากเกิดปีชวดให้ทัดดอกจำปา เป็นต้น
              นอกจากนั้น ในวันนี้ ยังมีการจัดขบวนแห่พระพุทธรูปสำคัญประจำเมืองคือ พระพุทธสิหิงค์ และพระเสตังคมณี ไปตามถนนต่างๆ เข้าสู่บริเวณพุทธสถาน หลังจากนั้นจึงอาราธนาพระพุทธสิหิงค์ สู่ที่ประดิษฐาน ณ ปะรำพิธีที่จัดไว้ ณ วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าไปนมัสการและสรงน้ำ
             ในชุมชนเก่าบางแห่งเช่น หมู่บ้านยางหลวง อำเภอแม่แจ่ม ยังมีประเพณีพิเศษออกไปซึ่งแทบจะไม่พบในที่อื่นแล้วคือ  ประเพณีล่องสังขานต์” ชาวบ้านจะช่วยกันต่อแพหยวกกล้วย และตกแต่งอย่างสวยงาม ก่อนจะจัดขบวนแห่งไปประกอบพิธีที่ริมแม่น้ำโดยการนำแป้งข้าวเจ้าปั้นเป็นก้อนเช็ดตามหน้าตา เนื้อตัว ดูดซับสิ่งชั่วร้ายออกไปจากตัวแล้วจึงนำก้อนแป้งใส่ลงแพนำไปลอยในแม่น้ำ คำว่า  ล่อง” ใน  ล่องสังขานต์” น่าจะหมายถึง การนำแพไปล่องในแม่น้ำนี้ก็อาจเป็นได้
             วันที่ 14 เมษายน หรือวันเนาว์ ซึ่งคนเมืองเรียกว่า วันเน่า ในวันนี้จะไม่ทำอะไรที่ไม่เป็นมงคล ไม่ด่าทอหรือทะเลาะวิวาทกัน หากมีการทะเลาะวิวาทกันจะถือว่าจะไม่เป็นมงคลตลอดปี วันเนาว์นี้คนเมืองถือว่าเป็นวันดา หมายถึงวันตระเตรียมข้าวของสำหรับทำบุญในวันรุ่งขึ้น ฉะนั้นในตอนเช้าต่างพากันไปตลาดจับจ่ายซื้อข้าวของเพื่อทำอาหารและขนมสำหรับทำบุญในวันรุ่งขึ้น ขนมที่นิยมทำกันคือขนมจ็อก (ขนมเทียน) ข้าวแตน (นางเล็ด) ข้าวแคบ (ข้าวเกรียบ) ขนมวง และขนมเกลือ เป็นต้น
              ตอนบ่ายหนุ่มๆ สาวๆ จะพากันไปขนทรายจากแม่น้ำ เพื่อนำไปก่อเจดีย์ทรายในวันและตกแต่งเจดีย์ทรายด้วยตุงที่สวยงาม ในเชียงใหม่คนมักนิยมไปขนทรายกันที่แม่น้ำปิง ใกล้ๆ สะพานนวรัฐ เพราะในช่วงนี้น้ำปิงจะลดลงจนสามารถลงไปขนทรายได้ ฉะนั้นจะเห็นว่าในวันนี้จะเห็นผู้คนต่างพากันถือขันเงิน (สมัยก่อน) หรือถังน้ำลงไปขนทรายในน้ำปิง และเล่นน้ำกันอย่างสนุกสนาน การขนทรายเข้าวัดในวันเนาว์นี้ ถือว่าเป็นการทำบุญที่ได้อานิสงส์มากเท่ากับเม็ดทราย หรือบางคนกล่าวว่า เป็นการทำบุญเพื่อชดใช้กรรมที่เกิดขึ้นทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ ซึ่งมากมายเหมือนเม็ดทรายที่เหยียบติดเท้าออกมาจากวัด ส่วนทรายที่ได้นั้นทางวัดจะนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป
             วันที่ 15 เมษายน หรือที่เรียกว่า วันพญาวัน ซึ่งถือเป็นวันเริ่มต้นศักราชใหม่ และเป็นวันทำบุญใหญ่ ในวันนี้ชาวบ้านจะเริ่มต้นชีวิตด้วยการไปทำบุญ  ทานขันข้าว” เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษ พ่อแม่ ปู่ย่าตายาย ญาติมิตร หรือเพื่อนพ้องที่ล่วงลับไปแล้ว รวมทั้งมีการทำบุญอัฐิของญาติผู้ใหญ่ที่ถึงแก่กรรมไปแล้วด้วย มีการสรงน้ำพระและไหว้พระธาตุประจำปีเกิดของตนเอง
             ในตอนบ่ายเป็นพิธีรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ที่ตนเคารพนับถือ เป็นการรำลึกถึงบุญคุณผู้ใหญ่และขอพรให้ชีวิตมีความสุขไปตลอดปี ผู้ใหญ่จะผูกฝ้ายขาวที่ข้อมือ เพื่อเป็นการรับขวัญและเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต เครื่องสำหรับดำหัวประกอบด้วย ขันข้าวตอกดอกไม้ ธูปเทียน น้ำขมิ้นส้มป่อย หมากพลู เมี่ยง บุหรี่ และของกินเช่น ขนม นม และผลไม้ บางครั้งอาจจะมีเสื้อ ผ้าซิ่น ผ้าขาวม้า ปัจจุบันที่นิยมกันมากคือผ้าเช็ดตัว เนื่องจากหาง่ายและเป็นของที่ใช้กันเป็นประจำ ในเชียงใหม่จะมีการจัดพิธีดำหัวผู้ว่าในวันนี้ด้วย ในพิธีนี้ นอกจากจะมีข้าราชการในเมืองแล้ว ยังมีขบวนดำหัวจากอำเภอรอบนอก เข้ามาร่วมดำหัวด้วย การสรงน้ำพระและการรดน้ำดำหัวอาจจะทำหลังวันพญาวันได้อีกหลายวัน

รายการอ้างอิง
มณี พยอมยงค์. (2533). ประเพณีสิบสองเดือน ล้านนาไทย. (พิมพ์ครั้งที่ 2).
             เชียงใหม่: ส.ทรัพย์การพิมพ์.
สุดารา สุจฉายา. (2540). เชียงใหม่ แดนแห่งต้นธารศูนย์กลางของอาณาจักร
             และศิลปวัฒนธรรมล้านนา. กรุงเทพฯ: สารคดี.
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.สำนักหอสมุด
เชียงใหม่
ntic@lib.cmu.ac.th
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.สำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ
เชียงใหม่
itsc@itsc.cmu.ac.th
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ , ผู้ให้ทุนสนับสนุน
อุษณีย์ ธงไชย, ที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญประจำโครงการ
2497
image/jpeg(.jpeg .jpe .jpg)
1 ภาพ; ขาวดำ; 8x10 นิ้ว
BS-CM-SK025
ท่านอาจจะบันทึกหรือพิมพ์รูปภาพเพื่อการวิจัยและการศึกษาค้นคว้า ถ้าท่านต้องการใช้สำหรับวัตถุประสงค์อื่น ท่านต้องติดต่อสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อขออนุญาตใช้
 
สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์
เว็บไซต์และฐานข้อมูลภาพล้านนาในอดีต โดย สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
อนุญาตให้ใช้ได้ตาม สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง

     
     
  Copyright © 2008 Northern Thai Information Center (NTIC), Chiang Mai University. All Rights Reserved.
239 Huay Kaew Rd., Mueang District , Chiang Mai, Thailand 50200
Tel. 0 5394 4514, 0 5394 4517
ntic@lib.cmu.ac.th
 
/* */