Find Picture of      By     
Thai Version English Version
หน้าแรก
       
 
ดูภาพตามหมวดหมู่ ความเป็นมา บุญเสริม สาตราภัย อดีตล้านนาจากภาพถ่าย ผู้มีอุปการะคุณ เพิ่มรูปของคุณ ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
  
  ประชาชนเล่นน้ำสงกรานต์ บริเวณสี่แยกอุปคุต บนถนนท่าแพ พ.ศ. 2497
กลับไปหน้าแสดงรายการภาพ  

คลิกที่รูปด้านบนเพื่อดูรูปขนาดใหญ่



ประชาชนเล่นน้ำสงกรานต์ บริเวณสี่แยกอุปคุต บนถนนท่าแพ พ.ศ. 2497
บุญเสริม สาตราภัย
สงกรานต์; เชียงใหม่; สงกรานต์ -- เชียงใหม่; ถนนท่าแพ
สงกรานต์; เชียงใหม่ -- ความเป็นอยู่และประเพณี

ประเพณีสงกรานต์หรือที่คนเมืองเรียกว่า ป๋าเวณีปีใหม่เมือง เป็นเทศกาลที่ผู้คนมีความสุขสนุกสนานมาก เด็กๆ ได้ออกมาเล่นสาดน้ำกันให้คลายร้อนโดยไม่มีใครว่าเพราะเป็นประเพณีที่สาวๆ แต่งตัวสวยงามทัดดอกไม้สีเหลืองออกไปทำบุญและเล่นน้ำสงกรานต์ หนุ่มๆ ได้ออกมาเล่นน้ำหยอกเย้าสาวๆ โดยไม่ถือว่าเป็นการแทะโลมเกี้ยวพาราสี สำหรับผู้ใหญ่ก็ถือว่าสงกรานต์เป็นงานบุญใหญ่ประจำปี ต่างพากันช่วยตระเตรียมข้าวของสำหรับทำบุญกันอย่างคึกคัก
วันสงกรานต์หรือมหาสงกรานต์ตรงกับวันที่ 13 เมษายน หมายถึงวันที่พระอาทิตย์ย้ายจากกลุ่มดาวมีนสู่กลุ่มดาวเมษ ซึ่งนับเป็นวันครบรอบ 12 ราศี หรือเป็นเวลา 1 ปี และเป็นที่มาของการกำหนดให้วันที่ 13 เมษายนเป็นวันขึ้นปีใหม่ ก่อนที่จอมพล ป. พิบูลสงครามจะเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่มาเป็นวันที่ 1 มกราคมตามแบบสากล
เทศกาลสงกรานต์ในเมืองจัดเป็นเทศกาลที่ยิ่งใหญ่และยาวนาน โดยเริ่มต้นอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 13-15 เมษายน แต่จริงๆ แล้วประชาชนเริ่มเล่นสงกรานต์ก่อนวันที่ 13 และเลิกเล่นหลังจากวันที่ 15 โดยเฉพาะเด็กๆ ในเขตอำเภอรอบนอกมักจะออกมาเล่นน้ำสงกรานต์ตั้งแต่วันที่ 10 เรื่อยมาจนวันที่ 17-18 เมษา เพราะช่วงนี้เป็นช่วงที่อากาศร้อนจัดเด็กๆ จึงออกมาเล่นน้ำให้คลายร้อน
ในเทศกาลสงกรานต์มีประเพณีสำคัญหลายประการที่ชาวเชียงใหม่ยึดถือปฏิบัติ แต่ละประเพณีล้วนมีความหมายและสัมพันธ์กับวิถีชีวิตของผู้คนในสังคม ธรรมชาติ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่รอบตัวแทบทั้งสิ้น ประเพณีต่างๆ เริ่มจากวันที่ 13 จนถึง 15 เมษายนดังนี้
วันที่ 13 เมษา หรือวันสังขานต์ล่อง ถือว่าเป็นวันสิ้นสุดของปีและส่งท้ายปีเก่า ในวันนี้ชาวเมืองจะได้ยินเสียงปืนและจุดประทัดกันตั้งแต่เช้ามืด เพราะชาวบ้านยิงปืนเพื่อขับไล่ปู่สังขานต์ย่าสังขานต์หรือตัวเสนียดจัญไร มีการทำความสะอาดบ้าน ปัดกวาดหิ้งพระ ชำระสระสรงพระพุทธรูป กวาดขยะมูลฝอยและนำไปเผา ชำระร่างกายให้สะอาดผ่องใส แต่งกายด้วยเสื้อผ้าใหม่ อาจารย์มณี พยอมยงค์กล่าวว่า หากเป็นผู้หญิงเมื่อชำระร่างกายสะอาดแล้ว ให้ใส่เสื้อผ้าใหม่ ทัดดอกไม้เป็นนามปี เช่นหากเกิดปีชวดให้ทัดดอกจำปา เป็นต้น
นอกจากนั้น ในวันนี้ ยังมีการจัดขบวนแห่พระพุทธรูปสำคัญประจำเมืองคือ พระพุทธสิหิงค์ และพระเสตังคมณี ไปตามถนนต่างๆ เข้าสู่บริเวณพุทธสถาน หลังจากนั้นจึงอาราธนาพระพุทธสิหิงค์ สู่ที่ประดิษฐาน ณ ปะรำพิธีที่จัดไว้ ณ วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าไปนมัสการและสรงน้ำ
ในชุมชนเก่าบางแห่งเช่น หมู่บ้านยางหลวง อำเภอแม่แจ่ม ยังมีประเพณีพิเศษออกไปซึ่งแทบจะไม่พบในที่อื่นแล้วคือ  ประเพณีล่องสังขานต์” ชาวบ้านจะช่วยกันต่อแพหยวกกล้วย และตกแต่งอย่างสวยงาม ก่อนจะจัดขบวนแห่งไปประกอบพิธีที่ริมแม่น้ำโดยการนำแป้งข้าวเจ้าปั้นเป็นก้อนเช็ดตามหน้าตา เนื้อตัว ดูดซับสิ่งชั่วร้ายออกไปจากตัวแล้วจึงนำก้อนแป้งใส่ลงแพนำไปลอยในแม่น้ำ คำว่า  ล่อง” ใน  ล่องสังขานต์” น่าจะหมายถึง การนำแพไปล่องในแม่น้ำนี้ก็อาจเป็นได้
วันที่ 14 เมษายน หรือวันเนาว์ ซึ่งคนเมืองเรียกว่า วันเน่า ในวันนี้จะไม่ทำอะไรที่ไม่เป็นมงคล ไม่ด่าทอหรือทะเลาะวิวาทกัน หากมีการทะเลาะวิวาทกันจะถือว่าจะไม่เป็นมงคลตลอดปี วันเนาว์นี้คนเมืองถือว่าเป็นวันดา หมายถึงวันตระเตรียมข้าวของสำหรับทำบุญในวันรุ่งขึ้น ฉะนั้นในตอนเช้าต่างพากันไปตลาดจับจ่ายซื้อข้าวของเพื่อทำอาหารและขนมสำหรับทำบุญในวันรุ่งขึ้น ขนมที่นิยมทำกันคือขนมจ็อก (ขนมเทียน) ข้าวแตน (นางเล็ด) ข้าวแคบ (ข้าวเกรียบ) ขนมวง และขนมเกลือ เป็นต้น
ตอนบ่ายหนุ่มๆ สาวๆ จะพากันไปขนทรายจากแม่น้ำ เพื่อนำไปก่อเจดีย์ทรายในวันและตกแต่งเจดีย์ทรายด้วยตุงที่สวยงาม ในเชียงใหม่คนมักนิยมไปขนทรายกันที่แม่น้ำปิง ใกล้ๆ สะพานนวรัฐ เพราะในช่วงนี้น้ำปิงจะลดลงจนสามารถลงไปขนทรายได้ ฉะนั้นจะเห็นว่าในวันนี้จะเห็นผู้คนต่างพากันถือขันเงิน (สมัยก่อน) หรือถังน้ำลงไปขนทรายในน้ำปิง และเล่นน้ำกันอย่างสนุกสนาน การขนทรายเข้าวัดในวันเนาว์นี้ ถือว่าเป็นการทำบุญที่ได้อานิสงส์มากเท่ากับเม็ดทราย หรือบางคนกล่าวว่า เป็นการทำบุญเพื่อชดใช้กรรมที่เกิดขึ้นทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ ซึ่งมากมายเหมือนเม็ดทรายที่เหยียบติดเท้าออกมาจากวัด ส่วนทรายที่ได้นั้นทางวัดจะนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป
วันที่ 15 เมษายน หรือที่เรียกว่า วันพญาวัน ซึ่งถือเป็นวันเริ่มต้นศักราชใหม่ และเป็นวันทำบุญใหญ่ ในวันนี้ชาวบ้านจะเริ่มต้นชีวิตด้วยการไปทำบุญ  ทานขันข้าว” เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษ พ่อแม่ ปู่ย่าตายาย ญาติมิตร หรือเพื่อนพ้องที่ล่วงลับไปแล้ว รวมทั้งมีการทำบุญอัฐิของญาติผู้ใหญ่ที่ถึงแก่กรรมไปแล้วด้วย มีการสรงน้ำพระและไหว้พระธาตุประจำปีเกิดของตนเอง
ในตอนบ่ายเป็นพิธีรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ที่ตนเคารพนับถือ เป็นการรำลึกถึงบุญคุณผู้ใหญ่และขอพรให้ชีวิตมีความสุขไปตลอดปี ผู้ใหญ่จะผูกฝ้ายขาวที่ข้อมือ เพื่อเป็นการรับขวัญและเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต เครื่องสำหรับดำหัวประกอบด้วย ขันข้าวตอกดอกไม้ ธูปเทียน น้ำขมิ้นส้มป่อย หมากพลู เมี่ยง บุหรี่ และของกินเช่น ขนม นม และผลไม้ บางครั้งอาจจะมีเสื้อ ผ้าซิ่น ผ้าขาวม้า ปัจจุบันที่นิยมกันมากคือผ้าเช็ดตัว เนื่องจากหาง่ายและเป็นของที่ใช้กันเป็นประจำ ในเชียงใหม่จะมีการจัดพิธีดำหัวผู้ว่าในวันนี้ด้วย ในพิธีนี้ นอกจากจะมีข้าราชการในเมืองแล้ว ยังมีขบวนดำหัวจากอำเภอรอบนอก เข้ามาร่วมดำหัวด้วย การสรงน้ำพระและการรดน้ำดำหัวอาจจะทำหลังวันพญาวันได้อีกหลายวัน

รายการอ้างอิง
มณี พยอมยงค์. (2533). ประเพณีสิบสองเดือน ล้านนาไทย. (พิมพ์ครั้งที่ 2).
เชียงใหม่: ส.ทรัพย์การพิมพ์.
สุดารา สุจฉายา. (2540). เชียงใหม่ แดนแห่งต้นธารศูนย์กลางของอาณาจักร
และศิลปวัฒนธรรมล้านนา. กรุงเทพฯ: สารคดี.
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.สำนักหอสมุด
เชียงใหม่
ntic@lib.cmu.ac.th
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.สำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ
เชียงใหม่
itsc@itsc.cmu.ac.th
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ , ผู้ให้ทุนสนับสนุน
อุษณีย์ ธงไชย, ที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญประจำโครงการ
2497
image/jpeg(.jpeg .jpe .jpg)
1 ภาพ; ขาวดำ; 8x10 นิ้ว
BS-CM-SK024
ท่านอาจจะบันทึกหรือพิมพ์รูปภาพเพื่อการวิจัยและการศึกษาค้นคว้า ถ้าท่านต้องการใช้สำหรับวัตถุประสงค์อื่น ท่านต้องติดต่อสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อขออนุญาตใช้
 
สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์
เว็บไซต์และฐานข้อมูลภาพล้านนาในอดีต โดย สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
อนุญาตให้ใช้ได้ตาม สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง

     
     
  Copyright © 2008 Northern Thai Information Center (NTIC), Chiang Mai University. All Rights Reserved.
239 Huay Kaew Rd., Mueang District , Chiang Mai, Thailand 50200
Tel. 0 5394 4514, 0 5394 4517
ntic@lib.cmu.ac.th
 
/* */