|
ภาพถ่ายทางอากาศ เมืองเชียงใหม่ ถ่ายจากสะพานนวรัฐ ไปทางเชิงดอยสุเทพ เมื่อ พ.ศ. 2505 |
|
|
|
|
|
|
|
|
ในปีพ.ศ. 1839 พญามังรายโปรดให้...ตั้งราชมณเฑียร...ขุดคือ(คู) ก่อปราการกำแพงเวียงทั้งมวล ...พญามังรายแลพระยาทั้งสองจึงพร้อมกันเบิกนามเมืองว่า นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่...
ข้อความดังกล่าวนับเป็นจุดเริ่มต้นของการวางรากฐานศูนย์กลางอาณาจักรล้านนา ในบริเวณพื้นที่ระหว่างดอยสุเทพกับแม่น้ำปิง และมีการพัฒนากันมาอย่างต่อเนื่องจากพื้นที่ว่างเปล่าจนเป็นเมืองขนาดใหญ่ที่รู้จักกันในนามเมืองเชียงใหม่ มีผู้คนหลั่งไหลกันเข้ามาทำมาหากินและตั้งถิ่นฐานอยู่ ณ ที่แห่งนี้เป็นจำนวนมาก
จากสมัยราชวงศ์มังราย จนถึงยุคการค้าทางเรือระหว่างเชียงใหม่กับกรุงเทพฯ ยุคการค้าทางรถไฟตั้งแต่พ.ศ. 2464 ต่อเนื่องมาถึงยุคที่รัฐบาลวางนโยบายการพัฒนาประเทศที่มุ่งเน้นให้ภาคเหนือเป็นพื้นที่สำคัญในการผลิตสินค้าการเกษตร เป็นยุคที่มีผู้คนหลั่งไหลเข้ามาตั้งถิ่นฐานทำมาหากินในเชียงใหม่กันหนาแน่นมากขึ้น กลุ่มคนเหล่านี้ประกอบด้วย กลุ่มจีนฮ่อจากยูนนาน คนจีนจากเมืองท่าตอนล่าง ชาวพม่า ชาวไทยใหญ่ และชนกลุ่มน้อยจากพม่าที่เข้ามารับจ้างในบริษัททำไม้ รวมทั้งพวกฝรั่งที่คนเมืองเรียกว่า พวกกุลาขาว ซึ่งประกอบด้วย พ่อค้าอังกฤษ ซึ่งเป็นกลุ่มทำไม้และทำการค้าระหว่างเมืองเชียงใหม่กับพม่าตอนล่าง รวมทั้งกลุ่มหมอสอนศาสนาชาวอเมริกันที่เข้ามาเผยแผ่ศาสนาและการรักษาพยาบาลแผนใหม่ เข้ามาช่วยรักษาโรคต่างๆ ที่ชาวบ้านเป็นอย่างเรื้อรัง เช่น โรคมาลาเรีย และโรคคอหอยพอก เป็นต้น
ในบรรดากลุ่มพ่อค้าดังกล่าว พ่อค้าจีนนับเป็นพ่อค้ากลุ่มใหญ่ที่สุด ส่วนหนึ่งอพยพมาจากกรุงเทพฯ ตั้งแต่ยุคการค้าทางเรือ ต่อเนื่องมาจนถึงการค้าทางรถไฟ พ่อค้าจีนเป็นพ่อค้ากลุ่มเดียวที่ทำการค้าติดต่อกับกรุงเทพฯ เพราะมีความชำนาญและคุ้นเคยกับการค้าทางเรือ รวมทั้งมีความสัมพันธ์กับพ่อค้ากรุงเทพฯ อีกด้วย พ่อค้าคนจีนเหล่านี้กลายเป็นกลุ่มที่มีบทบาทและเป็นกลไกสำคัญของการพัฒนาทางด้านธุรกิจของเชียงใหม่ในเวลาต่อมา
การสะสมทุนของกลุ่มตระกูลเหล่านี้ เป็นผลมาจากการทำการค้าระหว่างเชียงใหม่กับกรุงเทพฯ เช่นการรับซื้อข้าว หนังสัตว์ ครั่ง และสินค้าพืชไร่ จากภาคเหนือส่งไปขายที่กรุงเทพฯ และซื้อสินค้าจากกรุงเทพฯ ขึ้นมาขาย สินค้าที่มาจากกรุงเทพฯ มีทั้งสินค้าอุปโภคและสินค้าฟุ่มเฟือย เช่น กระเบื้อง เครื่องแก้ว บุหรี่ น้ำหอม ผ้าขนสัตว์ หมวกฟาง รถจักรยาน รถจักรยานยนต์ รถยนต์ รถบรรทุก จักรเย็บผ้า ปลาแห้ง น้ำมันก๊าด เกลือ น้ำตาล เครื่องเหล็ก เครื่องจักร น้ำมันเบนซิน เป็นต้น สินค้าเหล่านี้มิได้ขายเฉพาะในเมืองต่างๆ ในล้านนาเท่านั้น แต่ยังส่งขึ้นไปขายยังเมืองต่างๆ ในเขตตอนบน เช่น เชียงตุง และหัวเมืองไทยใหญ่ โดยกลุ่มพ่อค้าจีนฮ่อและพ่อค้าไทยใหญ่ที่เดินทางค้าขายไปมาระหว่างเมืองเหล่านี้
เมื่อการค้าเติบโต สินค้าทางการเกษตรภาคเหนือและสินค้าจากกรุงเทพฯ กลายเป็นสินค้าที่ผู้บริโภคต้องการมาก ทำให้การคมนาคมทางน้ำค่อยๆ ลดบทบาทลง มีการสร้างทางรถไฟ สะพาน และถนนเชื่อมระหว่างเมืองมากขึ้นในทุกพื้นที่ รถยนต์ และรถจักรยานยนต์กลายเป็นพาหนะหลักแทนวัวต่างและวัวล้อ พื่อช่วยให้สินค้าถึงมือผู้บริโภคได้รวดเร็วขึ้นและสามารถบรรทุกได้เป็นจำนวนมากขึ้น
ย่านสำคัญที่มีการตั้งถิ่นฐานของผู้คนในยุคนั้น คือ ย่านวัดเกต ย่านสันป่าข่อย ย่านท่าแพ ย่านกาดหลวง และย่านกลางเวียง เป็นต้น ในย่านดังกล่าวจำมีอาคารที่พักและร้านค้าตั้งอยู่อย่างหนาแน่น มีทั้งอาคารตึกแบบยุโรปของคนมีสตางค์ อาคารเรือนไม้และเรือนแถวที่คนพื้นเมืองสร้างไว้ให้ผู้คนอยู่อาศัยและทำการค้าเช่า นอกจากอาคารที่พักและร้านค้าแล้ว ยังมีการสร้างโรงแรมเพื่อเป็นที่พักค้างสำหรับผู้คนที่มาท่องเที่ยวและเข้ามาค้าขายในเมืองเชียงใหม่ รวมทั้งการสร้างแหล่งบันเทิงต่างๆ เช่น โรงภาพยนตร์ในศูนย์กลางชุมชน ที่มีชื่อเสียงมากคือ โรงภาพยนตร์ศรีนครพิงค์ บนถนนช้างม่อยต่อกับถนนราชวงศ์ และโรงภาพยนตร์สุริวงศ์ในย่านท่าแพ เป็นต้น รวมทั้งมีโรงฝิ่นสำหรับชาวจีนที่ติดฝิ่น (โรงฝิ่นเลิกไปเมื่อพ.ศ. 2502 )
ผลพวงสำคัญประการหนึ่งของการตั้งถิ่นฐานกลุ่มคนเหล่านี้คือ การสร้างและทำนุบำรุง ศาสนสถานซึ่งเป็นศูนย์กลางชุมชนในพื้นที่ต่างๆ ทั้งวัดในศาสนาพุทธ มัสยิดของกลุ่มที่นับถือศาสนาอิสลาม โบสถ์ของกลุ่มนิกายคาทอลิกและนิกายโปรเตสแตนท์ รวมทั้งศาลเจ้าของชาวจีน เป็นต้น
ในปัจจุบัน หากเราเดินเข้าไปในตัวเมืองเชียงใหม่ เรายังเห็นร่องรอยของความเจริญดังกล่าวอยู่บ้าง อาคารบางแห่งยังถูกใช้งาน บางแห่งถูกรื้อทิ้ง บางแห่งถูกปรับใช้ เช่นปรับเป็นที่พักอาศัยเป็นที่พักแรมของนักท่องเที่ยวบ้าง เป็นร้านค้าบ้าง และเป็นร้านอาหารบ้าง แต่สิ่งที่โดดเด่นมากในตัวเมืองคือ วัดวาอารามที่ตั้งอยู่ทั่วไป
ในตัวเมืองเชียงใหม่ มีทั้งวัดที่ยังมีพระจำพรรษาอยู่และวัดร้างที่เหลือเพียงซากปรักหักพังของวิหารบ้าง องค์เจดีย์มียอด ไม่มียอดบ้าง วัดและศาสนสถานเหล่านี้เป็นผลมาจากความศรัทธาในพุทธศาสนาของบรรพชนล้านนาในอดีตที่สร้างและบูรณะวัดเพื่อเป็นสถานที่ ๆ ให้ผู้คนได้เข้ามาทำบุญ และสะสมบุญเพื่อหวังผลตอบแทนที่ดีในโลกหน้า รวมทั้งเป็นการจรรโลงพุทธศาสนาให้มีอายุครบ 5,000 ปี ตามแนวความเชื่อในพุทธศาสนาอีกด้วย นอกจากนั้นวัดและศาสนสถานดังกล่าวมิได้มีความสำคัญเพียงเป็นสถานที่ทำบุญเท่านั้น แต่จากโครงสร้างสถาปัตยกรรม ลวดลายเชิงช่างและงานวิจิตรศิลป์ที่สวยงามประณีตของแต่ละวัด ยังเป็นเหมือนภาพสะท้อนของภูมิปัญญาล้านนาและเป็นแหล่งรวมความรู้ของชุมชนที่สั่งสมบ่มเพาะมาเป็นเวลานานอีกด้วย
รายการอ้างอิง
บุญเสริม สาตราภัย. (2522). ลานนาไทยในอดีต.
เชียงใหม่: ช้างเผือกการพิมพ์.
บุญเสริม สาตราภัย(2550). ล้านนา...เมื่อตะวา.
เชียงใหม่: Bookworm.
บุญเสริม สาตราภัย และสังคีต จันทนะโพธิ. (2520). อดีตลานนา.
กรุงเทพฯ : เรืองศิลป์.
ปลายอ้อ ชนะนนท์. (2529). บทบาทนายทุนพ่อค้าที่มีต่อ
การก่อและขยายตัวของทุนนิยมภาคเหนือของประเทศไทย
พ.ศ.2464-2523. . วิทยานิพนธ์หลักสูตรเศรษฐศาสตรมหาบัณฑิต
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
|
|
|
|
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.สำนักหอสมุด |
|
เชียงใหม่ |
|
ntic@lib.cmu.ac.th |
|
|
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.สำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ |
|
เชียงใหม่ |
|
itsc@itsc.cmu.ac.th |
|
|
|
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ , ผู้ให้ทุนสนับสนุน
อุษณีย์ ธงไชย, ที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญประจำโครงการ |
|
|
|
2505 |
|
|
|
image/jpeg(.jpeg .jpe .jpg) |
|
|
|
1 ภาพ; ขาวดำ; 8x10 นิ้ว |
|
|
|
BS-CM-VC002 |
|
|
|
ท่านอาจจะบันทึกหรือพิมพ์รูปภาพเพื่อการวิจัยและการศึกษาค้นคว้า ถ้าท่านต้องการใช้สำหรับวัตถุประสงค์อื่น ท่านต้องติดต่อสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อขออนุญาตใช้ |
|
|
|