Find Picture of      By     
Thai Version English Version
หน้าแรก
       
 
ดูภาพตามหมวดหมู่ ความเป็นมา บุญเสริม สาตราภัย อดีตล้านนาจากภาพถ่าย ผู้มีอุปการะคุณ เพิ่มรูปของคุณ ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
  
  โรงแรมพรพิงค์บนถนนเจริญประเทศ ถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2530
กลับไปหน้าแสดงรายการภาพ  

คลิกที่รูปด้านบนเพื่อดูรูปขนาดใหญ่



โรงแรมพรพิงค์บนถนนเจริญประเทศ ถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2530
หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ เชียงใหม่
ย่านช้างคลาน; โรงแรมพรพิงค์ทาวเวอร์
ย่านช้างคลาน; การค้าขาย; เชียงใหม่-การค้า

             ย่านช้างคลานและถนนเจริญประเทศตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปิง ตรงข้ามกับย่านท่าแพและกาดหลวง เข้าใจว่าแต่เดิมคงจะเป็นพื้นที่ติดต่อกัน ดังข้อความที่ปรากฏในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ที่กล่าวว่า บริเวณนี้เป็น ...กลางทุ่งหนองช้างคลาน ... ซึ่งสอดคล้องกับคำบอกเล่าของผู้คนในแถบนี้ว่า ...สมัยก่อนคนเชื้อสายแขกละแวกนี้เลี้ยงวัวกันทุกบ้าน เช้าก็ปล่อยให้กินหญ้าเป็นฝูงใหญ่ทางแถบช้างคลานจนถึงบริเวณสนามบินซึ่งยังเป็นทุ่งนา...
             ผู้คนเริ่มทยอยเข้ามาตั้งถิ่นฐานแถบนี้มากขึ้นในยุคของการค้าทางเรือและทางรถไฟ มีหลักฐานว่าก่อนที่ทางรถไฟจะมาถึง ท่าเรือวัดชัยมงคลเป็นท่าเรือขึ้นลงที่สำคัญ เล่ากันว่าขบวนเรือหางแมงป่องมักจะแวะมาขอพรที่วัดนี้ก่อนล่องเรือไปค้าขายที่กรุงเทพฯ เสมอ เพราะถือกันว่าจะมีชัย มีโชคลาภ และมีความปลอดภัยกลับมาตามชื่อวัด
             เมื่อรถไฟมาถึงและสะพานข้ามแม่น้ำปิงสร้างเสร็จ ทำให้มีผู้คนหลั่งไหลเข้ามาตั้งบ้านเรือนอยู่อาศัยและทำการค้าขายตามริมฝั่งแม่น้ำและบริเวณย่านช้างคลานมากขึ้น ประจักษ์พยานของความหนาแน่นของชุมชนคือมีโรงเรียนใหญ่ๆ ถึง 3 แห่ง คือ โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย โรงเรียนเรยีนาเชลี และโรงเรียนพระหฤทัยคอนแวนต์ นอกจากนั้นในเขตนี้ยังเป็นที่ตั้งของหน่วยงานที่สำคัญอีกหลายแห่ง เช่น กงสุลอังกฤษซึ่งตั้งอยู่ทางทิศเหนือของวัดชัยมงคล และสำนักงานใหญ่ของกรมป่าไม้ที่ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของวัดชัยมงคล สำนักงานแห่งนี้เป็นหน่วยงานของกรมป่าไม้ที่ตั้งขึ้นเป็นแห่งแรกในเมืองไทย
             ชุมชนที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานแถบนี้ประกอบด้วยชุมชนหลากหลายเชื้อชาติ ทั้งชาวพื้นเมือง ชาวจีนฮ่อ ชุมชนเชื้อสายแขก และชุมชนฝรั่ง
             ชุมชนบ้านฮ่อ ตั้งอยู่ระหว่างถนนเจริญประเทศและถนนช้างคลาน หน้าไนท์บาซาร์ ฮ่อหมายถึง คนจีนที่อพยพมาจากยูนนาน คนกลุ่มนี้มีความสัมพันธ์กับเมืองต่างๆ ในล้านนามาตั้งแต่สมัยราชวงศ์มังรายและต่อเนื่องมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ บ้างเดินทางค้าขายไปมา บ้างเข้ามาตั้งถิ่นฐาน บ้างก็เข้ามารับราชการในราชสำนัก การอพยพครั้งสำคัญของชาวจีนฮ่อเกิดขึ้นในช่วงที่จีนเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบคอมมิวนิสต์ ในช่วงนั้นมีพลเรือนและกองกำลังทหารจีนในมณฑลยูนนาน รวมตัวกันต่อต้านรัฐบาลจีนคอมมิวนิสต์และถูกกวาดล้างอย่างหนัก ทำให้ชาวจีนฮ่ออพยพไปยังดินแดนต่างๆ รวมทั้งในเขตภาคเหนือของไทยด้วย ชาวจีนฮ่อเป็นชุมชนที่นับถือศาสนาอิสลาม และมักจะตั้งชุมชนอยู่รอบๆ มัสยิดซึ่งเป็นศูนย์กลางของความเชื่อ และการทำพิธีกรรม ทั้งนี้เพราะชาวจีนฮ่อเป็นชุมชนที่เคร่งครัดในศาสนาอย่างสูง ปัจจุบันในย่านนี้มีมัสยิดใหญ่ตั้งอยู่ ชื่อ มัสยิดเฮดายาตุลอิสลาม (บ้านฮ่อ) หรือเรียกสั้น ๆ ว่า มัสยิดอิสลามบ้านฮ่อมีชุมชนจีนฮ่อตั้งทำมาหากินอยู่โดยรอบ มีทั้งร้านอาหารและร้านขายของซึ่งมีลักษณะเฉพาะของชุมชนอิสลาม
             ชุมชนเชื้อสายแขก แต่เดิมคนเมืองเรียกชุมชนเชื้อสายแขกว่า กุลวา คนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่อพยพมาจากประเทศปากีสถานที่เรียกว่า แขกปาทาน แต่ก็มีบางส่วนที่อพยพมาจากประเทศอินเดีย คนกลุ่มนี้เดินทางผ่านประเทศพม่าเข้ามาตั้งถิ่นฐานในเมืองต่างๆ ของดินแดนล้านนา สำหรับในเชียงใหม่เข้ามาตั้งถิ่นฐานทำมาหากินอยู่ในเขตช้างคลานเชื่อมต่อกับถนนเจริญประเทศ อาชีพที่สำคัญของคนกลุ่มนี้คือการค้าปศุสัตว์ จากคำบอกเล่าของคนเก่าแก่กล่าวว่า ในสมัยก่อนคนเชื้อสายแขกละแวกนี้เลี้ยงวัวและฆ่าวัวกันทุกบ้าน ฆ่าเสร็จก็นำไปขายที่ตลาดต่างๆ เช่น ตลาดประตูเชียงใหม่ ตลาดต้นลำไย และตลาดสันป่าข่อย เป็นต้น เหตุผลหนึ่งที่ชุมชนเชื้อสายแขกฆ่าวัวเป็นอาชีพ เนื่องจากชาวพุทธไม่ทำเพราะถือว่าการฆ่าสัตว์เป็นบาป อีกอาชีพที่เกี่ยวเนื่องกับการเลี้ยงวัวคือ รีดนมวัวขาย ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นชุมชนเชื้อสายแขกที่มีอาชีพขายผ้าอยู่ในตลาดวโรรส
             ปัจจุบันการฆ่าวัวในแถบนี้มีน้อยลง แต่สิ่งที่หลงเหลืออยู่คือ ร้านอาหารของชาวมุสลิมที่มีส่วนประกอบของเนื้อวัว ซึ่งเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปในกลุ่มของคนเก่าแก่ในเชียงใหม่
             ชุมชนฝรั่ง หมายถึงชาวตะวันตกหรือที่คนเมืองเรียกว่า  กุลาขาว” ชุมชนฝรั่งฝั่งนี้เป็นกลุ่มที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก (คริสตัง) ซึ่งเดินทางเข้ามาเผยแผ่ศาสนาในปี พ.ศ. 2475 ศูนย์กลางของคนกลุ่มนี้อยู่ที่วัดพระหฤทัยคอนแวนต์ มีโรงเรียนของกลุ่มลูกหลานในละแวกนี้ 3 แห่ง คือ โรงเรียนพระหฤทัยคอนแวนต์ โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย และโรงเรียนเรยีนาเชลีวิทยาลัย นอกจากกลุ่มคณะบาทหลวงแล้วยังมีชุมชนฝรั่งและสำนักงานของชุมชนฝรั่งในแถบนี้อีกหลายแห่งคือ สถานกงสุลอังกฤษ (ซึ่งแต่เดิมตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำปิง ในปัจจุบันได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของโรงแรมเดอะเจดีย์ สำหรับสถานกงสุลได้ย้ายไปอยู่ที่ถนนถนนบำรุงราษฎร์ ตำบลวัดเกตุ) สถานกงสุลฝรั่งเศส และสำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบุรพาทิศ (Ecole Française d’Extrême-Orient) ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2518 หากเทียบกับชุมชนฝรั่งทางฝั่งตะวันออกแล้ว ชุมชนกลุ่มนี้เป็นชุมชนขนาดเล็กกว่า ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคณะนักบวชและครูผู้สอน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นคนไทย หรือคนพื้นเมือง (ดูในหัวข้อโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย)
             ทางด้านถนนเจริญประเทศ นอกเหนือจากชุมชนเชื้อสายแขกและชุมชนฝรั่งแล้ว ยังมีกลุ่มคนเมือง ตั้งถิ่นฐานอยู่โดยทั่วไปบริเวณริมฝั่งน้ำปิง ใกล้ๆกับโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย โรงเรียนเรยีนาเชลี และโรงเรียนพระหฤทัยคอนแวนต์ บางกลุ่มนับถือคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก
             ปัจจุบันย่านนี้ มีความเปลี่ยนแปลงไปมาก มีการตั้งโรงแรมใหญ่ๆ และเกสต์เฮาส์หลายแห่ง เนื่องจากเป็นพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำ โรงแรมรุ่นแรกๆ คือ โรงแรมพรพิงค์และโรงแรมเพชรงาม ต่อมาไม่นาน (พ.ศ. 2548-2550) ได้มีการสร้างโรงแรมระดับ 5 ดาวอีกหลายแห่งเช่นโรงแรมแชงกรีล่า และโรงแรมเดอะเจดีย์ ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่สถานกงสุลอังกฤษเดิม
รายการอ้างอิง
ปลายอ้อ ชนะนนท์. (2529). บทบาทนายทุนพ่อค้าที่มีต่อการก่อ
             และขยายตัวของทุนนิยมภาคเหนือของประเทศไทย
             พ.ศ.2464-2523. วิทยานิพนธ์หลักสูตรเศรษฐศาสตรมหาบัณฑิต
             จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
สงวน โชติรัตน์ . (2516). ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่.
             พระนคร: คณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์
             สำนักนายกรัฐมนตรี.
อนุ เนินหาด, พ.ต.ท. (2543). เชียงใหม่สะปะเรื่องตะวา.
            เชียงใหม่: นพบุรีการพิมพ์.
อนุ เนินหาด, พ.ต.ท. (2544). สังคมเมืองเชียงใหม่ "รุ่น 3".
            เชียงใหม่: นพบุรีการพิมพ์.
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.สำนักหอสมุด
เชียงใหม่
ntic@lib.cmu.ac.th
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.สำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ
เชียงใหม่
itsc@itsc.cmu.ac.th
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ , ผู้ให้ทุนสนับสนุน
อุษณีย์ ธงไชย, ที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญประจำโครงการ
2530
image/jpeg(.jpeg .jpe .jpg)
1 ภาพ; ขาวดำ; 8x10 นิ้ว
BS-CM-RD043
ท่านอาจจะบันทึกหรือพิมพ์รูปภาพเพื่อการวิจัยและการศึกษาค้นคว้า ถ้าท่านต้องการใช้สำหรับวัตถุประสงค์อื่น ท่านต้องติดต่อสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อขออนุญาตใช้
 
สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์
เว็บไซต์และฐานข้อมูลภาพล้านนาในอดีต โดย สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
อนุญาตให้ใช้ได้ตาม สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง

     
     
  Copyright © 2008 Northern Thai Information Center (NTIC), Chiang Mai University. All Rights Reserved.
239 Huay Kaew Rd., Mueang District , Chiang Mai, Thailand 50200
Tel. 0 5394 4514, 0 5394 4517
ntic@lib.cmu.ac.th
 
/* */