Find Picture of      By     
Thai Version English Version
หน้าแรก
       
 
ดูภาพตามหมวดหมู่ ความเป็นมา บุญเสริม สาตราภัย อดีตล้านนาจากภาพถ่าย ผู้มีอุปการะคุณ เพิ่มรูปของคุณ ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
  
  ต้นฉำฉาสองฝั่งถนนสายเชียงใหม่-สันกำแพง เมื่อพ.ศ. 2535
กลับไปหน้าแสดงรายการภาพ  

คลิกที่รูปด้านบนเพื่อดูรูปขนาดใหญ่



เปรียบเทียบภาพถ่ายในปัจจุบัน
ต้นฉำฉาสองฝั่งถนนสายเชียงใหม่-สันกำแพง เมื่อพ.ศ. 2535
บุญเสริม สาตราภัย
ถนนเชียงใหม่-สันกำแพง; ต้นฉำฉา
ถนนเชียงใหม่-สันกำแพง; จามจุรี (ต้นไม้); ถนน -- เชียงใหม่

             หลังจากสงครามครั้งที่ 2 เป็นต้นมา มีปัจจัยอย่างน้อย 2 ประการที่ทำให้รัฐบาลเร่งพัฒนาการคมนาคมทั่วประเทศ ปัจจัยประการที่ 1 เป็นปัจจัยทางด้านยุทธศาสตร์คือ ป้องกันการแทรกแซงของลัทธิคอมมิวนิสต์ ซึ่งมีความเข้มแข็งและกำลังคุกคามประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แทบทุกประเทศในขณะนั้น จะเห็นได้ว่าในช่วงเวลาดังกล่าวประเทศต่างๆ ในแถบนี้ล้วนมีปัญหาการต่อสู้ระหว่างลัทธิคอมมิวนิสต์กับลัทธิประชาธิปไตยกันอย่างหนัก
             ปัจจัยประการที่ 2 : เป็นปัจจัยทางด้านการเกษตรเพื่อส่งออก ซึ่งเป็นผลมาจากการพัฒนาประเทศภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1-4 (พ.ศ. 2504-2524) ที่เปลี่ยนนโยบายในการผลิตทางด้านการเกษตรจากการเกษตรเพื่อยังชีพมาเป็นการผลิตเพื่อขายเพื่อ ตอบสนองความต้องการของตลาด รวมทั้งเพื่อรองรับการขยายตัวของระบบอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นอีกกลไกหนึ่งที่รัฐบาลสนับสนุนให้มีการขยายตัวมากขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการแปรรูปผลผลิตทางด้านการเกษตร เช่น โรงสีข้าว และโรงงานน้ำตาล เป็นต้น จากปัจจัยดังกล่าวทำให้รัฐบาลหันมาเร่งพัฒนาโครงสร้างเศรษฐกิจพื้นฐาน เพื่อช่วยให้การผลิตในภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมขยายตัวมากขึ้น โดยเฉพาะการสร้างถนน เพื่อเชื่อมโยงชนบทเข้ากับเมือง และเชื่อมโยงภูมิภาคเข้ากับเมืองหลวง
             การสร้างถนนนอกจากเพื่ออำนวยความสะดวกในการขยายอำนาจรัฐเข้าไปถึงภูมิภาคที่มีปัญหาจากการคุกคามของกองกำลังติดอาวุธของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยหรือประเทศเพื่อนบ้านแล้ว ยังเป็นเส้นทางของการระบายสินค้าเกษตรที่ผลิตขึ้นในเชิงพาณิชย์เข้าสู่ส่วนกลางเพื่อส่งไปยังต่างประเทศอีกต่อหนึ่ง
             สำหรับพื้นที่ในเขตภาคเหนือซึ่งเป็นแหล่งเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของประเทศนั้น ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1-4 (พ.ศ.2504-2524) ได้กำหนดให้จังหวัดเชียงใหม่ ลำปาง และลำพูน เป็นศูนย์กลางความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ พร้อมกับกำหนดแนวทางการพัฒนาภาคเหนือไว้ดังนี้คือ การกระจายรายได้และปรับปรุงโครงสร้างการผลิต โดยให้ความสำคัญแก่เขตชนบทที่ยากจนและเขตเมืองที่มีปัญหาด้านเศรษฐกิจและการว่างงานสูง โดยการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรและใช้ทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพ สำรวจหาแหล่งทรัพยากรใหม่ การพัฒนาการเกษตรกับอุตสาหกรรมแปรรูปผลผลิตการเกษตร
จากการกำหนดแผนพัฒนาดังกล่าว นำมาสู่การเร่งพัฒนาเขตพื้นที่ภาคเหนือในหลายๆ ด้าน เช่น การนำเทคโนโลยีทางด้านการเกษตรเข้ามาใช้ในการพัฒนาเพื่อเพิ่มผลผลิต เช่น ปลูกพืชพันธุ์ใหม่ การใช้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ ยาฆ่าแมลง และใช้เครื่องจักรในระบบการผลิต รวมทั้งการสร้างคลองชลประทาน การพัฒนาถนนและทางหลวงเพื่ออำนวยความสะดวกและรวดเร็วในการขนส่งสินค้าระหว่างแหล่งเพาะปลูกกับแหล่งแปรรูปและแหล่งส่งออก
             การขยายตัวทางด้านการคมนาคมในเขตภาคเหนือหลังจากที่ทางรถไฟมาถึงเชียงใหม่ในปี พ.ศ. 2464 รัฐบาลได้มีนโยบายสร้างถนนอย่างต่อเนื่อง จะหยุดชะงักไปบ้างระหว่างในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ถนนที่สร้างในช่วงแรกๆ มีทั้งทางต่าง ซึ่งหมายถึงเส้นทางของวัวต่างในเมืองที่อยู่ในเขตภูเขาสูง ทางเกวียนในพื้นที่ราบ และถนนในเขตเมือง จนกระทั่งหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อความต้องการผลผลิตทางด้านการเกษตรสูงขึ้นและรถยนต์เข้ามามีบทบาทในการขนส่งมากขึ้น ทำให้รัฐบาลได้เร่งพัฒนาเส้นทางคมนาคมอย่างต่อเนื่องและรวดเร็วขึ้น รวมทั้งมีการสร้างสำนักงานแขวงการทางเชียงใหม่ ที่หน้าโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ เพื่อดูแลการสร้างถนนในเชียงใหม่
             ในปี พ.ศ. 2495 รัฐบาลได้ตราพระราชบัญญัติการก่อสร้างทางหลวงแผ่นดิน โดยมีสาระสำคัญคือให้กรมทางหลวงแผ่นดินสร้างทางให้เสร็จ 88 สาย ภายใน 4 ปี (2495-2498) เฉพาะในภาคเหนือมีถึง 18 สาย เช่น จากชัยนาท ถึงเกาะคา จ.ลำปาง เถิน – ลี้ – ลำพูน ร้องกวาง – งาว ฝาง – เชียงราย ลำพูน – ลำปาง แม่แจ่ม – แม่ฮ่องสอน
             นอกจากนั้น ยังได้มีการซ่อมแซมและขยายถนนสายต่างๆ เช่น เชียงใหม่ – ฮอด เชียงใหม่ – สันกำแพง เชียงใหม่ – สันทราย เชียงใหม่ – เชียงดาว – ฝาง เชียงใหม่ – ลำพูน
             ระหว่างปี พ.ศ. 2510-2530 มีถนนสายสำคัญๆ ในภาคเหนือสร้างเสร็จ และมีการปรับปรุงถนนสายต่างๆ ดังนี้
1. ถนนที่สร้างเสร็จ เช่น
พ.ศ.2512 ถนนสายเชียงใหม่ – ลำปาง (สาย 11) และสายเชียงใหม่ – ฮอด
พ.ศ.2513 ถนนสายนครสวรรค์ – เชียงราย
พ.ศ.2519 ถนนสายเชียงใหม่ – เชียงราย
2. พ.ศ. 2523 ได้เริ่มปรับปรุงถนนดินลูกรังระหว่างอำเภอต่างๆ ดังนี้
ถนนสายอำเภอแม่ริม กับอำเภอสะเมิง
ถนนจากบ้านแม่มาลัย อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ไปยังอำเภอปาย จังหวัด
แม่ฮ่องสอน
3. พ.ศ. 2529-2531 สร้างถนนเชื่อมต่อระหว่างอำเภอปายกับอำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน
4. พ.ศ.2521-2530 ปรับปรุงถนนเชื่อมระหว่างถนนสายหลักของจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งติดต่อกับอำเภอรอบนอก เช่น อมก๋อย แม่แจ่ม แม่วาง พร้าว และสะเมิง รวมทั้งได้มีการสร้างถนนจากอำเภอเข้าสู่หมู่บ้านในชนบทหรือหมู่บ้านในเขตภูเขา เป็นต้น
             การพัฒนาเส้นทางคมนาคมที่สะดวก มีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ ทั้งในด้านการค้าและการผลิต การแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างหมู่บ้านกับเมือง และเมืองกับกรุงเทพฯ ทำได้สะดวกและรวดเร็วขึ้นโดยอาศัยถนนที่เชื่อมต่อกันเป็นใยแมงมุมทั่วประเทศดังกล่าว
             ผลพวงอย่างหนึ่งในการสร้างถนนระหว่างเมืองคือการสร้างสถานีรถขนส่งรอบเมืองเชียงใหม่ เพื่อเป็นสถานที่ขนส่งระหว่างเมือง เช่นการสร้างสถานีขนส่งช้างเผือกบนถนนโชตนาเป็นสถานีขนส่งแห่งแรกของเมืองเชียงใหม่ สถานีรถแห่งนี้ทำหน้าที่ขนส่งระหว่างเชียงใหม่กับชุมชนทางเหนือคือ แม่ริม แม่แตง เชียงดาว ฝาง และท่าตอน
รายการอ้างอิง
ชูสิทธิ์ ชูชาติ. (2538).  กาดงัว” (ตลาดวัว) : มิติหนึ่งของการสะท้อน
              ความเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของสังคมชาวนาในภาคเหนือของประเทศไทย.
             เชียงใหม่: สถาบันราชภัฏเชียงใหม่.
ปลายอ้อ ชนะนนท์. (2529). บทบาทนายทุนพ่อค้าที่มีต่อการก่อ
             และขยายตัวของทุนนิยมภาคเหนือของประเทศไทย
             พ.ศ.2464-2523. วิทยานิพนธ์หลักสูตรเศรษฐศาสตรมหาบัณฑิต
             จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
อนุ เนินหาด, พ.ต.ท. (2548). ประวัติชุมชนในเมืองเชียงใหม่.
             เชียงใหม่: นพบุรีการพิมพ์. (สังคมเชียงใหม่เล่ม 10).
อนุ เนินหาด, พ.ต.ท. (2546). สังคมเมืองเชียงใหม่ เล่ม 5.
             เชียงใหม่: นพบุรีการพิมพ์.
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.สำนักหอสมุด
เชียงใหม่
ntic@lib.cmu.ac.th
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.สำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ
เชียงใหม่
itsc@itsc.cmu.ac.th
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ , ผู้ให้ทุนสนับสนุน
อุษณีย์ ธงไชย, ที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญประจำโครงการ
2535
image/jpeg(.jpeg .jpe .jpg)
1 ภาพ; ขาวดำ; 8x10 นิ้ว
BS-CM-RD096
ท่านอาจจะบันทึกหรือพิมพ์รูปภาพเพื่อการวิจัยและการศึกษาค้นคว้า ถ้าท่านต้องการใช้สำหรับวัตถุประสงค์อื่น ท่านต้องติดต่อสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อขออนุญาตใช้
 
สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์
เว็บไซต์และฐานข้อมูลภาพล้านนาในอดีต โดย สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
อนุญาตให้ใช้ได้ตาม สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง

     
     
  Copyright © 2008 Northern Thai Information Center (NTIC), Chiang Mai University. All Rights Reserved.
239 Huay Kaew Rd., Mueang District , Chiang Mai, Thailand 50200
Tel. 0 5394 4514, 0 5394 4517
ntic@lib.cmu.ac.th
 
/* */