Find Picture of      By     
Thai Version English Version
หน้าแรก
       
 
ดูภาพตามหมวดหมู่ ความเป็นมา บุญเสริม สาตราภัย อดีตล้านนาจากภาพถ่าย ผู้มีอุปการะคุณ เพิ่มรูปของคุณ ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
  
  จอมพล ป. พิบูลสงคราม และท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม ทำพิธีเปิดสมาคมส่งเสริมวัฒนธรรมสตรีศรีลานนาไทย
กลับไปหน้าแสดงรายการภาพ  

คลิกที่รูปด้านบนเพื่อดูรูปขนาดใหญ่



จอมพล ป. พิบูลสงคราม และท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม ทำพิธีเปิดสมาคมส่งเสริมวัฒนธรรมสตรีศรีลานนาไทย
บุญเสริม สาตราภัย
จอมพล ป. พิบูลสงคราม; นายกรัฐมตรี; ป. พิบูลสงคราม; ละเอียด พิบูลสงคราม
ป. พิบูลสงคราม, จอมพล; นายกรัฐมตรี; ละเอียด พิบูลสงคราม, ท่านผู้หญิง

จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีคนที่ 3 ของสยาม เดิมชื่อ แปลก ขีตะสังคะ ท่านจบการศึกษาชั้นมัธยมที่โรงเรียนวัดเขมาภิรตาราม จังหวัดนนทบุรี หลังจากนั้นได้เข้าเรียนในโรงเรียนนายร้อยทหารบก โรงเรียนเหล่าทหารปืนใหญ่ และโรงเรียนเสนาธิการทหารบกรุ่นที่ 10 ในปี พ.ศ. 2467 ได้เดินทางไปศึกษาต่อ ณ ประเทศฝรั่งเศส เมื่อกลับมาถึงสยามท่านได้ดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้ากองตรวจอากาศสำหรับทดลอง กรมจเรทหารปืนใหญ่ ได้รับบรรดาศักดิ์และราชทินนามเป็นหลวงพิบูลสงครามและพันตรีหลวงพิบูลสงครามตามลำดับ นอกจากทำงานประจำแล้ว ท่านยังเป็นอาจารย์สอนในโรงเรียนเสนาธิการทหารบกและโรงเรียนทหารปืนใหญ่ รวมทั้งเขียนบทความด้านการทหารปืนใหญ่เผยแพร่ในวารสารด้านทหารอีกด้วย
ในปีพ.ศ. 2469 ขณะที่ศึกษาอยู่ ณ ประเทศฝรั่งเศส ท่านกับนักเรียนไทยอีก 7 คน ที่เรียนในยุโรปได้ร่วมกันก่อตั้งคณะราษฎร ซึ่งเป็นคณะที่ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย ในปี พ.ศ. 2475
หลังจากการปฏิวัติ 2475 ท่านได้เริ่มทำงานทางการเมืองในตำแหน่งต่างๆ ไปพร้อมกับการทำงานทางการทหาร เช่น มีตำแหน่งเป็นกรรมการราษฎรในคณะผู้บริหารราชการแผ่นดิน พร้อมกับการคุมกำลังทัพในตำแหน่งรองผู้บัญชาการทหารปืนใหญ่ เป็นรัฐมนตรีลอยในสมัยที่พระยามโนปกรณ์นิติธาดาเป็นนายกรัฐมนตรีและเป็นรัฐมนตรีกลาโหมในรัฐบาลนายพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา ตำแหน่งทางการเมืองสูงสุด คือ การเป็นนายกรัฐมนตรีและดำรงตำแหน่งถึง 2 สมัย คือ สมัยแรก ระหว่างปี พ.ศ. 2481-2487 และสมัยที่ 2 ระหว่างปี พ.ศ. 2491-2500 รวมสองสมัยเป็นเวลา 15 ปี นับว่าเป็นนายกรัฐมนตรีที่อยู่ในตำแหน่งนานที่สุด
เมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการทหารบกและรัฐมนตรีกลาโหมในขณะนั้นได้ทำการปฏิวัติยึดอำนาจ ทำให้จอมพล ป. พิบูลสงครามและครอบครัวต้องลี้ภัยออกนอกประเทศ ไปอยู่ ณ ประเทศกัมพูชา และญี่ปุ่น ตามลำดับ
ท่านได้ถึงแก่อสัญกรรม ณ ประเทศญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2507
งานที่ทำให้ท่านมีชื่อเสียงมาก คือ การสร้างชาติไทย ในสมัยที่ท่านดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยแรก การดำเนินการครั้งนี้แม้จะใช้เวลาเพียง 6 ปีเท่านั้น และนโยบายบางอย่างได้เลิกล้มไปหลังจากที่ท่านพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในระยะแรกไปแล้วก็ตาม แต่นโยบายบางอย่างยังมีผลต่อโครงสร้างความคิด วัฒนธรรมของไทยในด้านต่างๆ เช่น การแต่งกาย การกินอยู่ ภาษาและวรรณคดีของคนไทยทั่วทั้งประเทศ
การดำเนินนโยบายดังกล่าว รัฐบาลจะสั่งงานออกมาในรูปของรัฐนิยม สภาวัฒนธรรมแห่งชาติ ประกาศของสำนักนายกรัฐมนตรี และโครงการบำรุงราษฏร ของนายกรัฐมนตรี คำขวัญหนึ่งที่ดูจะสะท้อนการดำเนินนโยบายของจอมพล ป. พิบูลสงครามได้เป็นอย่างดี คือ ‘เชื่อผู้นำ ชาติพ้นภัย’ ในที่นี้จะขอยกตัวอย่างการดำเนินนโยบายการสร้างชาติไทย ดังนี้
การออกรัฐนิยม รัฐนิยมเปรียบเสมือนประกาศิตของรัฐบาลที่ประชาชนต้องพร้อมใจกันปฏิบัติ ในช่วงระยะเวลา 6 ปี ที่รัฐบาลได้ออกรัฐนิยมทั้งสิ้น 12 ฉบับ เช่น การเปลี่ยนชื่อประเทศจากสยามเป็นไทย เพื่อให้ต้องตามชื่อชนชาติ ประชาชนไทยต้องรู้จักเคารพธงชาติ เพลงชาติ และเพลงสรรเสริญพระบารมี มีการออกระเบียบไว้อย่างชัดเจนว่า ต้องเคารพเวลาใด และวาระใด วางระเบียบในเรื่องการแต่งกายให้เรียบร้อย เป็นต้น
สภาวัฒนธรรม สภาดังกล่าวนี้ตั้งขึ้นเนื่องจากมองเห็นความจำเป็นของการส่งเสริมวัฒนธรรมของชาติ ดังนั้นจึงได้มีการจัดตั้งสภาวัฒนธรรมขึ้นตามพระราชบัญญัติวัฒนธรรมแห่งชาติ พุทธศักราช 2485 โดยแบ่งงานเป็น 5 สำนัก คือ
1.สำนักวัฒนธรรมทางจิตใจ เช่น ตราพระราชบัญญัติจัดงานให้ผู้ไร้อาชีพ เดือนกันยายน พ.ศ. 2484 และนโยบายการกินดีอยู่ดีด้วยการอบรมสั่งสอนให้ประชาชนรู้จักกินหมู เป็ด ไก่ เนื้อ ผัก ไข่ไก่ ไม่ใช่กินข้าวกับน้ำพริก หรือกินสัตว์เลื้อยคลานที่ไม่สมควรเป็นอาหารเป็นต้น
2.การสร้างชาติทางระเบียบประเพณี เช่นประกาศให้วันที่ 24 มิถุนายน ของทุกปีเป็นวันชาติ เปลี่ยนปีใหม่จากวันสงกรานต์ที่ 13 เมษายน มาเป็นวันที่ 1 มกราคม การยกเลิกบรรดาศักดิ์ตั้งแต่ชั้นเจ้าพระยา พระยา พระ หลวง ขุน ตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2485 และประกาศกระทรวงมหาดไทยแนะนำให้คนไทยแต่ตัวตามระเบียบที่วางไว้ เพื่อให้เป็นที่เชิดหน้าชูตาของชาติ เช่น ผู้ชายต้องสวมหมวก รองเท้า หุ้มส้นถุงเท้า เสื้อนอกและกางเกงขายาว ผู้หญิงมีหมวก กระโปรง เสื้อนอกคลุมไหล่ รองเท้าหุ้มส้นหรือรัดส้น เป็นต้น
3.การสร้างชาติทางศิลปกรรม เช่น การออกพระราชกฤษฎีกากำหนดวัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2485 มาตราที่ 9 ที่ว่า คนไทยจะต้องส่งเสริมความเจริญก้าวหน้าทางศิลปกรรม มีการตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากร ในปี พ.ศ. 2486 กำหนดให้มีการรำวงมาตรฐาน และสนับสนุนให้ข้าราชการหญิงชายได้หยุดงานในวันพุธบ่ายเพื่อฝึกซ้อมรำวง สร้างวัฒนธรรมกัน เป็นต้น
4.การสร้างชาติทางวรรณกรรม รัฐบาลถือว่าชาติที่เจริญ คนต้องรู้หนังสือ จึงจัดให้มีการส่งเสริมการศึกษาผู้ใหญ่ และการปรับปรุงตัวอักษรไทยให้มีความกะทัดรัด เรียนง่าย อ่านง่าย โดยตัดสระที่ซ้ำและไม่งดงามเสีย เช่น งดใช้สระ ใ ฤ ฤา ฦ ฦา งดใช้พยัญชนะ ฃ ฅ ฌ ฎ ฏ ฐ ฑ ฒ ณ ศ ษ และ ฬ วางระเบียบการใช้คำต่างๆ เช่นคำสรรพนาม บุรุษที่ 1 ให้ใช้คำว่า ฉัน และท่าน สำหรับบุรุษที่ 2 เป็นต้น
5.การสร้างชาติทางสตรี รัฐบาลมีจุดมุ่งหมายยกฐานะสตรีให้เท่าเทียมชาย เช่นมีการจัดตั้งกองทหารหญิง โรงเรียนนายร้อยและนายสิบสำหรับผู้หญิง และการออกประกาศเรื่องวัฒนธรรมผัวเมีย เป็นต้น แม้ในเชียงใหม่ยังได้มีการตั้งสมาคมส่งเสริมวัฒนธรรมสตรีศรีลานนาไทยตามนโยบายการสร้างชาติทางสตรีของรัฐบาลด้วย
การดำเนินนโยบายของรัฐบาลประสบความสำเร็จอย่างมาก ก็เพราะมีสื่อทั้งวิทยุและหนังสือพิมพ์ช่วยในการเผยแพร่อย่างกว้างขวาง และแม้ว่าเมื่อจอมพลป. พิบูลสงคราม ได้พ้นตำแหน่งไปแล้ว มีคำสั่งของรัฐบาลชุดใหม่ให้ยกเลิกนโยบายการสร้างชาติดังกล่าวแล้วก็ตาม แต่ระเบียบประเพณีบางอย่างก็ยังคงอยู่

รายการอ้างอิง
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ (บรรณาธิการ). (2544). จอมพลป. พิบูลสงคราม
กับการเมืองไทยสมัยใหม่.
กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการ
ตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.
แถมสุข นุ่มนนท์. (2519, มิถุนายน-กันยายน). การเมืองไทย
ยุคเชื่อผู้นำ. วารสารธรรมศาสตร์, 6(1).
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.สำนักหอสมุด
เชียงใหม่
ntic@lib.cmu.ac.th
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.สำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ
เชียงใหม่
itsc@itsc.cmu.ac.th
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ , ผู้ให้ทุนสนับสนุน
อุษณีย์ ธงไชย, ที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญประจำโครงการ
2489
image/jpeg(.jpeg .jpe .jpg)
1 ภาพ; ขาวดำ; 8x10 นิ้ว
BS-CM-PS004
ท่านอาจจะบันทึกหรือพิมพ์รูปภาพเพื่อการวิจัยและการศึกษาค้นคว้า ถ้าท่านต้องการใช้สำหรับวัตถุประสงค์อื่น ท่านต้องติดต่อสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อขออนุญาตใช้
 
สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์
เว็บไซต์และฐานข้อมูลภาพล้านนาในอดีต โดย สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
อนุญาตให้ใช้ได้ตาม สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง

     
     
  Copyright © 2008 Northern Thai Information Center (NTIC), Chiang Mai University. All Rights Reserved.
239 Huay Kaew Rd., Mueang District , Chiang Mai, Thailand 50200
Tel. 0 5394 4514, 0 5394 4517
ntic@lib.cmu.ac.th
 
/* */