|
กรรมกรชาวจีนในการก่อสร้างอุโมงค์ขุนตาน |
|
|
|
|
|
|
|
|
อุโมงค์ขุนตาน
อุโมงค์ขุนตาน เป็นอุโมงค์รถไฟที่มีความยาวมากที่สุดในประเทศไทย คือยาว 1,362 เมตร เป็นอุโมงค์ที่เจาะโดยวิศวกรชาวเยอรมัน ชื่อ มร. อี. ไฮเซนโฮเฟอร์ เมื่อ พ.ศ. 2456
มร. อี. ไฮเซนโฮเฟอร์ ได้เข้ารับราชการในกรมรถไฟหลวงเมื่อปลายรัชกาลที่ 5 ซึ่งสมัยนั้นทางกรมรถไฟหลวงได้จ้างชาวเยอรมันทำงานเป็นช่างเทคนิค และงานในหน้าที่อื่นๆ เป็นจำนวนเกือบถึง 250 คน
มร. อี. ไฮเซนโฮเฟอร์ ได้สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนเทคนิคที่เมืองมูนิค (Munich) ประเทศเยอรมันนี ซึ่งก่อนสำเร็จการศึกษาได้เคยมีประสบการณ์เกี่ยวกับการก่อสร้างทางรถไฟในประเทศเยอรมันนีที่โฮ้ธโดนิกสเตน และการสร้างอุโมงค์ที่ออเรนเบอร์กในเวสปาเลีย กับสร้างประตูน้ำและทำนบในแม่น้ำ ออมเบอร้าดใกล้แฟรงค์เฟิร์สมาแล้ว จากในหนังสือ German Railroad Man in Siam ซึ่ง มร. อี. ไฮเซนโฮเฟอร์เขียนไว้เมื่อ พ.ศ. 2505 ได้เล่าเรื่องการสร้างทางรถไฟสายเหนือและการขุดเจาะอุโมงค์ขุนตานว่า
เนื่องจากทางสายนี้วางทอดไปตามป่าดงดิบ คนงานจึงเป็นไข้มาลาเรียและอหิวาตกโรค เสียชีวิตเป็นจำนวนพันคน ซึ่งร้อยละ 90 ที่เสียชีวิตเป็นคนจีน แม้แต่ชาวเยอรมันโดยเฉพาะ มร. อี. ไฮเซนโฮเฟอร์ก็เป็นไข้มาลาเรียด้วยเช่นกัน
สำหรับการขุดเจาะอุโมงค์ซึ่งมีอยู่ 2 แห่ง ยาว 109 เมตร และ 1,362 เมตร ได้ใช้คนงานจีนทำงานเกี่ยวกับดิน ส่วนการขุดเจาะอุโมงค์ภูเขาใช้คนงานจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย เนื่องจากกรรมกรจีนไม่ยอมเข้าไปทำงานในอุโมงค์ เพราะคนจีนเหล่านั้นเชื่อว่าในอุโมงค์มีภูติผีปีศาจสิงอยู่ จึงเกิดความกลัว
นอกจากอุปสรรคดังกล่าวแล้วยังมีอุปสรรคอื่นๆ อีก เช่น เสือมาคาบเอาคนงานไปกินเป็นอาหาร ตลอดจนกระทั่งม้าและล่อที่เอามาไว้ใช้งานซึ่งขังไว้ในคอกเวลากลางคืนก็ได้ถูกเสือมาขโมยเอาไปกินถึงกับต้องขัดห้างบนต้นไม้ดักยิ่งเสือในเวลากลางคืน
มร. อี. ไฮเซนโฮเฟอร์ เล่าว่าครั้งหนึ่ง วิศวกรเยอรมัน 2 คน กับตำรวจไทยคนหนึ่งได้ยิงเสือแล้วตามรอยเลือดไป จู่ๆ เสือก็พรวดพราดเข้ากัดและตะปบวิศวกรเยอรมันชื่อ เอซเซนเบรนเนอร์ ซึ่งเดินนำหน้า เอซเซนเบรนเนอร์จึงยิงปืนพกถึง 6 นัดก็ไม่สามารถจะสกัดหรือยับยั้งเสือได้เลย เอซเซนเบรนเนอร์ถูกกัดที่แขนขวาและถูกตะปบที่หัวเข่าอาการสาหัส ต้องหามไปรักษาที่จังหวัดแพร่ ต่อมาได้ส่งตัวมาทางรถไฟมารักษาที่บางกอกเนิสซิ่งโฮม ในการนี้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ราชองครักษ์มาเยี่ยมและสอบถามอาการตลอดเวลาที่รักษาอยู่ เรื่องเดือดร้อนอีกเรื่องหนึ่งก็คือ ทาก ส่วนอันตรายจากงูพิษ ปรากฏว่าคนงานไม่เคยถูกงูกัดเลย สำหรับงูนี้ มร. อี. ไฮเซนโฮเฟอร์ได้จับงูที่หายากส่งไปที่พิพิธภัณฑ์สัตวศาสตร์ขั้นต้นที่แฮนโนเวอร์เสมอ
ในระหว่างที่ทำการเจาะอุโมงค์วางรางรถไฟทางเหนืออยู่นั้น มร. อี. ไฮเซนโฮเฟอร์ ได้ปลูกจำนวน 20 หลังอยู่ในป่า ซึ่งบ้านเหล่านี้ได้กลายเป็นบ้านรับรองพระบรมวงษานุวงศ์และเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ที่ สนพระทัยและสนใจมาดูการขุดเจาะอุโมงค์หลายครั้ง เช่น เมื่อครั้ง พ.ศ.2452 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งทรงเป็นมกุฎราชกุมารก็ได้เสด็จทอดพระเนตรการจุดเจาะอุโมงค์ด้วยความสนพระทัย
ในวโรกาสนั้น มร. อี. ไฮเซนโฮเฟอร์ ได้ถวายคำอธิบายเกี่ยวกับการคำนวณการเจาะอุโมงค์ทั้งสองด้าน ให้ทะลุถึง ณ จุดที่ต้องการ พร้อมกันนี้ก็ได้จุดชนวนไดนาไมท์ทำการระเบิดถวายให้ทอดพระเนตร ปรากฏว่าได้ระเบิดหินทะลุเป็นรัศมีกว้างประมาณ 60 เซนติเมตร ซึ่งนับเป็นการเปิดทางขั้นต้น
ส่วนการขุดเจาะอุโมงค์ขุนตาน เมื่อพ.ศ.2456 ก็ใช้วิธีเจาะเข้าไปในภูเขาพร้อมกันทั้งสองด้านเหมือนกับอุโมงค์ขนาดสั้นที่เคยเจาะมาแล้ว ในการสร้างทางรถไฟสายเหนือนี้ได้มีอุปสรรคและปัญหาต่างๆ หลายอย่างเพราะคนงานไม่เคยทำงานสร้างทางรถไฟมาก่อน ตลอดจนไม่เคยเห็นอุโมงค์ แม้แต่การใช้ไดนาไมท์เจาะระเบิดภูเขาก็ไม่เคย ตลอดจนเครื่องมือเครื่องใช้ก็มีไม่พร้อม เช่น เครื่องอัดอากาศ ซึ่งมร. อี. ไฮเซนโฮเฟอร์ ต้องประดิษฐ์เครื่องระบายอากาศขึ้นเอง ในระหว่างทำการก่อสร้างทางตอน ลำปาง-เชียงใหม่อยู่นั้น ได้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ขึ้น ทำให้เหล็กสะพานที่สั่งซื้อจากประเทศเยอรมันนีไม่สามารถส่งเข้ามาอีก มร. อี. ไฮเซนโฮเฟอร์จึงใช้ไม้เนื้อแข็งทำสะพานแทน ส่วนสะพานสูงใกล้ๆ อุโมงค์ มร. อี. ไฮเซนโฮเฟอร์ก็ได้วางรางลัดเลาะไปตามเขาแล้วยกระดับรางให้สูงขึ้น เพื่อสะดวกในการวางรางเข้าไปสู่อุโมงค์ และกรรมกรที่ทำงานในอุโมงค์ลึกๆ ทั้งกลางวันและกลางคืนไม่มีแสงสว่างในขณะ การทำงานจึงมีการใช้ตะเกียงชนิดหนึ่งที่เรียกว่า โคมเป็ด เพราะมีรูปคล้ายเป็ดโตขนาด 2 เดือน แต่เป็นเป็ดไม่มีหัวไม่มีขา ตรงคอเป็นมีรูให้ใส่ตะเกียงยื่นออกมา บนหลังมีห่วงให้เอาลวดหรือเชือกร้อยหิ้วได้แขวนได้ ในท้องมีเชื้อเพลิงคือน้ำมันก๊าซผสมน้ำมันมะพร้าว
เมื่อการสร้างทางรถไฟสองด้านของอุโมงค์ที่เขาพลึงเสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่ปรากฏว่าอุโมงค์ยังสร้างไม่เสร็จ มร. อี. ไฮเซนโฮเฟอร์จึงต้องทำการลำเลียงหัวรถจักร รถบรรทุกและวัสดุในการก่อสร้างข้ามภูเขาดังกล่าว
ในการสร้างอุโมงค์ขุนตานดังกล่าวได้มีพระบรมวงษานุวงศ์และเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่เสด็จมาตรวจงานหลายพระองค์และหลายท่าน อาทิ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุ์วรเดช พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระนเรศวรฤทธิ์ พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน เจ้าพระยาวงษา- นุประพันธ์ เสนาบดีกระทรวงคมนาคม เป็นต้น
โดยเฉพาะขุนเขาตรงกับบ้านพักรับรองของมร. อี. ไฮเซนโฮเฟอร์ที่มีขนาดใหญ่เล็กแตกต่างกันไป พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธินได้ทรงพระเมตตาประทานชื่อให้ภูเขาเหล่านั้นว่า ดอยเวียงเหล็กใหญ่ และดอยเวียงเหล็กน้อย ซึ่งชื่อนี้ต่อมาได้สร้างความเข้าใจผิดให้กับบริษัทที่ค้าขายเกี่ยวกับเหล็ก ถึงกับส่องผู้เชี่ยวชาญมาสำรวจแร่เหล็กในบริเวณดังกล่าวเพราะคิดว่ามีแร่เหล็กตามชื่อ
หลังจากทำการขุดเจาะอุโมงค์ขุนตานมาได้ 4 ปี พอถึงเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2460 ทางอุโมงค์ตอนลำปาง-ขุนตาน และตอนขุนตาน-เชียงใหม่ ก็สร้างเสร็จเรียบร้อย
อุโมงค์ขุนตานเริ่มสร้างในสมัยรัชกาลที่ 6 ซึ่งมีพลเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยยากร กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน เป็นผู้บัญชาการรถไฟหลวงแห่งกรุงสยาม เริ่มดำเนินการสร้างเมื่อปี พ.ศ.2450 แล้วเสร็จในปีพ.ศ.2461 ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 11 ปี ค่าใช้จ่ายรวมทั้งสิ้น 1,362,050 บาท (หนึ่งล้านสามแสนหกหมื่นสองพันห้าสิบบาท) โดยนายช่างชาวเยอรมัน มร. อี. ไฮเซนโฮเฟอร์เป็นวิศวกรควบคุมงาน อุโมงค์มีขนาดกว้าง 5.20 เมตร สูง 5.40 เมตร และยาว 1,352.10 เมตร เพดานผนังอุโมงค์โค้งรัศมี 2.50 เมตร เป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก
รายการอ้างอิง
สุเทพ ชูเชื้อ. (25--). สยามเมื่อวันวาน. กรุงเทพฯ : สหมิตรการพิมพ์.
อนุสรณ์งานฌาปนกิจศพ คุณพ่อประสงค์ ปัญญาภู : สมุดภาพ "ภาพเก่าเล่า
เรื่องเมืองลำพูน". (2552). ม.ป.ท. : ม.ป.พ.
|
|
|
|
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.สำนักหอสมุด |
|
เชียงใหม่ |
|
ntic@lib.cmu.ac.th |
|
|
|
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ , ผู้ให้ทุนสนับสนุน
นเรนทร์ ปัญญาภู, ผู้รวบรวมข้อมูล
|
|
|
|
2450-2461 |
|
|
|
image/jpeg(.jpeg .jpe .jpg) |
|
|
|
1 ภาพ; ขาวดำ; 5x7 นิ้ว |
|
|
|
HLP-LP-KT034 |
|
|
|
© ห้องฮูปลำพูน |
|
|
|
ท่านอาจจะบันทึกหรือพิมพ์รูปภาพเพื่อการวิจัยและการศึกษาค้นคว้า ถ้าท่านต้องการใช้สำหรับวัตถุประสงค์อื่น ท่านต้องติดต่อสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อขออนุญาตใช้ |
|
|
|