Find Picture of      By     
Thai Version English Version
หน้าแรก
       
 
ดูภาพตามหมวดหมู่ ความเป็นมา บุญเสริม สาตราภัย อดีตล้านนาจากภาพถ่าย ผู้มีอุปการะคุณ เพิ่มรูปของคุณ ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
  
  หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล แถลงข่าวเตรียมสร้างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อพ.ศ. 2503
กลับไปหน้าแสดงรายการภาพ  

คลิกที่รูปด้านบนเพื่อดูรูปขนาดใหญ่



หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล แถลงข่าวเตรียมสร้างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อพ.ศ. 2503
หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ เชียงใหม่
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่; หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล
-

หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

            ฯพณฯ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล เกิดวันที่ ๒๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๔๖ เป็นบุตรของเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี (ม.ร.ว. เปีย มาลากุล) และท่านผู้หญิงเสงี่ยม พระเสด็จสุเรนทราธิบดี (สกุลเดิม วสันตสิงห์) ท่านสมรสกับท่านผู้หญิงดุษฎีมาลา มาลากุล ณ อยุธยา ท่านทั้งสองไม่มีบุตรธิดา ฯพณฯ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีเกียรตินิยมทางภาษาสันสกฤต (B.A. Honors) และปริญญาโททางอักษรศาสตร์ จากมหาวิทยาลัย Oxford ประเทศอังกฤษ หลังจากจบการศึกษาแล้ว ท่านได้เข้ารับราชการและได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสามัญศึกษา ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ตามลำดับ

            ระหว่างที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ งานที่สำคัญที่ ฯพณฯ ม.ล.ปิ่น มาลากุล ได้ดำเนินงานตามนโยบายและสร้างผลงานที่ภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง คือ การก่อตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยศิลปากร พระราชวังสนามจันทร์ ซึ่งมีการเตรียมงานและวางรากฐานการบริหารและการจัดการที่มั่นคง จนทำให้มหาวิทยาลัยทั้งสองเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำในปัจจุบัน

            ในการดำเนินการจัดตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่นั้น ฯพณฯ ม.ล.ปิ่น มาลากุล ได้บันทึกไว้ว่า “...การตั้งมหาวิทยาลัยในส่วนภูมิภาค ตามความเรียกร้องของประชาชน ที่ประชุมเห็นว่าน่าจะจัดตั้งมหาวิทยาลัยที่จังหวัดเชียงใหม่...ด้วยเป็นความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง...” พ.ศ. ๒๕๐๓ คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้จัดตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อให้เปิดทำการสอนใน พ.ศ.๒๕๐๗ ซึ่งจะเป็นมหาวิทยาลัยส่วนภูมิภาคแห่งแรก ฯพณฯ ม.ล.ปิ่น มาลากุลในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งท่านได้ใช้เวลาเตรียมการอย่างสุขุมรอบคอบ เป็นขั้นตอน มีความชัดเจนในการดำเนินงาน ตั้งแต่การกำหนดความมุ่งหมายในการดำเนินงาน หน้าที่และวงงาน นโยบายการจัดตั้ง การสำรวจพื้นที่ การวางผังมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ การจัดเตรียมหลักสูตรและการสอน และการเตรียมอาคารสถานที่

            ในส่วนของการวางแผนการจัดเตรียมอาคารสถานที่แห่งนี้ สะท้อนให้เห็นวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล ของฯพณฯ ม.ล. ปิ่น มาลากุล ต่อการขยายตัวในอนาคตของมหาวิทยาลัย แนวคิดของท่าน จะคำนึงถึงทั้งด้านการบริหาร การเรียนการสอน การอำนวยความสะดวกต่อนักศึกษา อาทิเช่น ตึกอำนวยการ หอสมุดกลาง สนามกีฬา ที่พักสำหรับอาจารย์ หอพักนักศึกษา โรงละคร (Amphi Theater) บริการอื่นๆ สำหรับอาจารย์ และนักศึกษา ได้แก่ ไปรษณีย์ ธนาคาร โรงเรียนประถมศึกษาขนาดย่อมสำหรับบุตรหลานและเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นผลพวงให้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีที่ทำการไปรษณีย์ ธนาคาร โรงเรียนสาธิต หาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้บริการประชากรของมหาวิทยาลัย จวบจนปัจจุบัน ฯพณฯ ม.ล.ปิ่น มาลากุล ได้วางรากฐานทางการศึกษาสำหรับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่อย่างทันสมัย ทัดเทียมอารยประเทศ โดยครอบคลุมทั้งสาขาวิทยาศาสตร์และอักษรศาสตร์ รวมทั้งสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้บัณฑิตของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นบัณฑิตที่สมบูรณ์ เมื่อ ฯพณฯ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ได้ปฏิบัติภารกิจในการดำเนินการก่อตั้ง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่สำเร็จลุล่วงตามวัตถุประสงค์แล้ว ท่านยังคงมีความผูกพันกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยในระยะแรกท่านยังได้ปฏิบัติภารกิจที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งนับเป็นเรื่องสำคัญยิ่งประการหนึ่งที่ทำให้กิจการของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เจริญรุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว

            ในปีพุทธศักราช ๒๕๑๖ สภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในคราวประชุมเมื่อวันที่ ๒๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๑๖ ได้ลงมติเป็นเอกฉันท์อนุมัติปริญญาศิลปศาสตร์ดุษฏีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (ศึกษาศาสตร์) แก่ ศาสตราจารย์ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ในฐานะเป็นผู้ที่เพียบพร้อมด้วยคุณวุฒิและความสามารถที่สูงส่ง ได้อุทิศกำลังกายและกำลังความคิดในการพัฒนาการศึกษาของชาติอย่างแท้จริง อีกทั้งยังเป็นผู้ที่มีความศรัทธาอย่างแรงกล้าต่อการศึกษาของชาติ พยายามส่งเสริมอาชีพ สวัสดิการและวิทยฐานะของครูให้ดีขึ้น ได้แสดงเจตนารมณ์ในการส่งเสริมความก้าวหน้าทางการศึกษาอยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการดำเนินการมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้มีส่วนสำคัญ ริเริ่มก่อตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการดำเนินการจัดตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และดำรงตำแหน่งกรรมการภามหาวิทยาลัยอีกประการหนึ่งด้วย

            ในปีพุทธศักราช ๒๕๓๐ ในโอกาสที่ ฯพณฯ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล มีอายุครบ ๗ รอบ ๘๔ ปี และในฐานะที่ท่านเป็นบุคคลสำคัญในการดำเนินงานจัดตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ชาวมหาวิทยาลัยเชียงใหม่รำลึกถึงตลอดมา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จึงได้จัดงาน วันกตเวทิตาคุณ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ขึ้นในวันที่ ๒๒ กันยายน พ.ศ.๒๕๓๐
ในปีพุทธศักราช ๒๕๓๒ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีนโยบายส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยเป็นศูนย์ทางศิลปวัฒนธรรมของล้านนา ตลอดจนมีส่วนร่วมในการดำเนินกิจกรรมด้านศิลปวัฒนธรรมของท้องถิ่น มหาวิทยาลัยจึงประสงค์จะจัดสร้างหอศิลป์เพื่อเป็นพิพิธภัณฑ์และแหล่งความรู้ในทางศิลปวัฒนธรรมให้แก่คณาจารย์ ข้าราชการ นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ฯพณฯ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล จึงได้มอบเงินจำนวน ๗๕๐,๐๐๐ บาท เป็นทุนในการดำเนินงานมหาวิทยาลัยจึงได้ปรับปรุงอาคารสโมสรนักศึกษาเดิมให้เป็นหอศิลป์ และใช้ชื่อว่า หอศิลป์ปิ่นมาลา และมหาวิทยาลัยได้กราบบังคมทูลอัญเชิญสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานเปิดหอศิลป์ปิ่นมาลา ในวันจันทร์ที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๔ เวลา ๙.๐๐ น.

            ในปีพุทธศักราช ๒๕๓๒ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ดำเนินการปรับปรุงหอศิลป์ปิ่นมาลาและจัดทำเป็นหอประวัติมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (หอศิลป์ปิ่นมาลา) เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมและให้ความรู้เกี่ยวกับความเป็นมาของมหาวิทยาลัย และใช้เป็นสถานที่ในการจัดนิทรรศการที่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยอีกแห่งหนึ่ง ในการจัดทำหอประวัติมหาวิทยาลัยเชียงใหม่นั้นได้กำหนดให้มีบริเวณหนึ่งที่จัดทำเป็นหอเกียรติคุณ (Hall of Fame) สำหรับบุคคลที่มีคุณูปการต่อมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และบุคคลท่านแรกที่มหาวิทยาลัยได้เลือกสรรเพื่อประกาศยกย่องให้ปรากฏในหอเกียรติคุณ คือ ฯพณฯ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ซึ่งมหาวิทยาลัยได้จัดทำประติมากรรมรูปเหมือน ฯพณฯ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล เทคนิคบรอนซ์ ขนาดสูง ๖๕ เซนติเมตร กว้าง ๓๕ เซนติเมตร โดยได้รับความอนุเคราะห์จากมหาวิทยาลัยศิลปากร โดยให้อาจารย์ถนอมจิตร์ ชุ่มวงค์ อาจารย์ประจำภาควิชาประติมากรรม คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ เป็นผู้ดำเนินการ การดำเนินการดังกล่าวเพื่อเป็นการแสดงกตเวทิตาคุณที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีต่อ ฯพณฯ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล และเป็นอนุสรณ์ให้ชนรุ่นหลังได้รำลึกถึงผู้มีพระคุณสืบไป

รายการอ้างอิง
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. (๒๕๕๔). ประวัติมหาวิทยาลัยเชียงใหม่. ค้นเมื่อวันที่ ๒๐
            มีนาคม ๒๕๕๔ จาก library.cmu.ac.th/pinmala/cmu_build.php
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.สำนักหอสมุด
เชียงใหม่
ntic@lib.cmu.ac.th
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.สำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ
เชียงใหม่
itsc@itsc.cmu.ac.th
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ , ผู้ให้ทุนสนับสนุน
อุษณีย์ ธงไชย, ที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญประจำโครงการ
2503
image/jpeg(.jpeg .jpe .jpg)
1 ภาพ; ขาวดำ; 8x10 นิ้ว
BS-CM-CMU003
ท่านอาจจะบันทึกหรือพิมพ์รูปภาพเพื่อการวิจัยและการศึกษาค้นคว้า ถ้าท่านต้องการใช้สำหรับวัตถุประสงค์อื่น ท่านต้องติดต่อสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อขออนุญาตใช้
 
สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์
เว็บไซต์และฐานข้อมูลภาพล้านนาในอดีต โดย สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
อนุญาตให้ใช้ได้ตาม สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง

     
     
  Copyright © 2008 Northern Thai Information Center (NTIC), Chiang Mai University. All Rights Reserved.
239 Huay Kaew Rd., Mueang District , Chiang Mai, Thailand 50200
Tel. 0 5394 4514, 0 5394 4517
ntic@lib.cmu.ac.th
 
/* */