Find Picture of      By     
Thai Version English Version
หน้าแรก
       
 
ดูภาพตามหมวดหมู่ ความเป็นมา บุญเสริม สาตราภัย อดีตล้านนาจากภาพถ่าย ผู้มีอุปการะคุณ เพิ่มรูปของคุณ ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
  
  โบสถ์คริสตจักรที่ 1 หลังเดิม บนถนนสายเชียงใหม่-ลำพูน เมื่อ พ.ศ. 2516
กลับไปหน้าแสดงรายการภาพ  

คลิกที่รูปด้านบนเพื่อดูรูปขนาดใหญ่



โบสถ์คริสตจักรที่ 1 หลังเดิม บนถนนสายเชียงใหม่-ลำพูน เมื่อ พ.ศ. 2516
หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ เชียงใหม่
คริสตจักรเพรสไบทีเรียนที่ 1; ถนนเชียงใหม่-ลำพูน; โบสถ์คริสต์จักรที่ 1
คริสตจักรเพรสไบทีเรียนที่ 1; ถนนเชียงใหม่-ลำพูน; โบสถ์คริสต์จักรที่ 1

             โบสถ์คริสตจักรที่ 1 เป็นภาพสะท้อนของการขยายตัวของแนวความเชื่อใหม่ในภาคเหนือคือคริสตศาสนานิกายโปรแตสแตนท์ คณะอเมริกันเพรสไบทีเรียน หรือที่คุ้นกันในชื่อของชุมชนชาวคริสเตียน มิชชันนารีคณะแรกที่เดินทางมาถึงเชียงใหม่คือ ศาสนาจารย์เดเนียล แมคกิลวารี และครอบครัว เดินทางมาถึงเชียงใหม่ในวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2410 ตรงกับรัชสมัยของพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ (พ.ศ. 2399-2412) วัตถุประสงค์ที่สำคัญคือ การเผยแผ่ศาสนา การจัดตั้งโรงเรียน และการรักษาพยาบาล
             เมื่อแรกมาถึงยังไม่ได้สร้างคริสตจักรถาวร ผู้แทนเจ้าหลวงเชียงใหม่อนุญาตให้พักอยู่ที่ศาลาพักสาธารณะสำหรับประชาชนซึ่งตั้งอยู่บริเวณประตูเมืองทางด้านทิศตะวันออก ศาลาพักหลังนี้สร้างโดยข้าราชการเมืองระแหง ที่สร้างเพื่อเป็นการทำบุญตามประเพณีในพุทธศาสนา เป็นศาลาที่สร้างอย่างมั่นคงแข็งแรง หลังคามุงกระเบื้อง พื้นศาลาปูด้วยไม้สักอย่างดี คณะมิชชันนารีได้ใช้ศาลาแห่งนี้เป็นที่อยู่อาศัยและเป็นศูนย์กลางในการเผยแผ่ศาสนาเป็นเวลาปีกว่า ก่อนสร้างคริสตจักรถาวรคือ คริสตจักรเพรสไบทีเรียนที่ 1 เชียงใหม่ บนถนนเชียงใหม่-ลำพูน
             ศาสนาจารย์เดเนียล แมคกิลวารี เล่าอย่างขบขันถึงความรู้สึกของชาวเมืองที่เห็นพวกตนเดินทางขึ้นมาเผยแผ่ศาสนาว่า มีผู้หญิงตัวขาวและเด็กด้วย หมู่เฮาต้องไปดูกัน เวลาที่ชาวบ้านชอบมากคือ เวลารับประทานอาหาร เพราะอยากดูว่า ฝรั่งกินอย่างไร กินอะไร พวกเราแทบไม่มีเวลาตอนกลางวัน วันใดเลยที่จะได้นั่งรับประทานอาหารอย่างเงียบๆ โดยไม่มีผู้จ้องดู ชาวบ้านต่างพูดกันว่า พวกฝรั่งไม่นั่งกินข้าวบนพื้นหรือใช้มือกินแบบพวกเรา ซึ่งเป็นการที่  หมู่เฮาต้องไปดูกัน”  การมามุงดูของชาวเมืองก็มีประโยชน์อยู่บ้างคือ การได้พูดคุยพร้อมกับการเผยแผ่ศาสนาไปด้วย
             ในปี พ.ศ. 2411 พระเจ้ากาวิโลรส สุริยวงศ์ ได้ยกพื้นที่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำปิงให้กับคณะมิชชันนารี ทางคณะมิชชันนารีจึงได้ใช้พื้นที่นี้สร้างคริสตจักรเพรสไบทีเรียนที่ 1 เชียงใหม่ ระยะแรกสร้างเป็นอาคารไม้ไผ่ ต่อมาในปี พ.ศ. 2432-2434 ได้มีรื้ออาคารไม้ไผ่ และสร้างอาคารหลังใหม่เป็นอาคารเป็นสถาปัตยกรรมแบบตะวันตกหลังแรกในเชียงใหม่ ออกแบบและก่อสร้างโดย ดร. มาเรียน เอ.ชีค.
             การทำงานในระยะแรกทำควบคู่ไปกับการรักษาพยาบาลแผนใหม่ โรคสำคัญที่เป็นกันมากคือไข้มาเลเรียเรื้อรัง โรคคอหอยพอก และไข้ทรพิษ การรักษาพยาบาลทำให้คณะมิชชันนารีมีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับมาก จนอาจกล่าวได้ว่าการเผยแผ่ศาสนาในระยะแรกนั้นไม่ค่อยได้ผลมากเท่ากับการรักษาพยาบาล ทั้งนี้เพราะทางการเองมิได้ให้การสนับสนุนมากนัก จะเห็นได้จากในวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2411 พระเจ้ากาวิโลรส สุริยวงศ์ สั่งประหารหนานชัย และน้อยสุริยะ 2 ใน 7 คนของผู้นับถือศาสนาคริสต์ในเชียงใหม่ขณะนั้น โดยอ้างว่า การละทิ้งศาสนาประจำชาติ เป็นกบฏต่อฉัน จึงต้องลงโทษอย่างนี้ ทำให้มีผู้คนกลัวกันมากจนไม่มีใครกล้านับถือศาสนาคริสต์อีก จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2412 มีการออกพระราชกฤษฎีกาของเจ้าพระยาเทพวรชุน ที่ปรึกษาราชการในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีความว่า ถ้าผู้ใดจะชอบใจถือศาสนาใด ก็ให้ผู้นั้นถือได้ตามชอบใจ และในปีพ.ศ. 2413 พระเจ้ากาวิโลรส สุริยวงศ์ถึงแก่พิราลัย จากปัจจัยดังกล่าวทำให้มีคนเข้ามานับถือคริสต์ศาสนาเพิ่มมากขึ้น
             นอกจากเผยแผ่ศาสนาและการรักษาพยาบาลแล้ว ทางคณะมิชชันนารีได้ตั้งโรงเรียนแฟรนเนอร์ในบริเวณใกล้เคียงกัน ผู้ก่อตั้งคือ มิสซิสแฟรนเนอร์ เนอร์ ซึ่งเดินทางเข้ามาทำงานในเชียงใหม่ สมัยเดียวกันกับศาสนาจารย์เดเนียล แมคกิลวารี รับนักเรียนทั้งชายและหญิง โรงเรียนนี้ได้เลิกกิจการไป ในปี พ.ศ. 2466 นักเรียนที่ยังเรียนอยู่ก็ให้ไปรวมกับโรงเรียนพระราชชายา (โรงเรียนดาราวิทยาลัย)
             ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โบสถ์หลังนี้เป็นที่ตั้งของกองทหาร หอระฆังของโบสถ์เป็นที่ตั้งของปืนต่อสู้อากาศยาน
             ในปี พ.ศ. 2511 ได้มีการสร้างคริสตจักรเพรสไบทีเรียนที่ 1 เชียงใหม่หลังใหม่ที่ถนนเจริญราษฎร์ (โบสถ์หลังปัจจุบัน) เป็นโบสถ์ที่ทันสมัยมากในขณะนั้น ออกแบบโดย ศาสนาจารย์ เทเลอร์ พอตเตอร์ ซึ่งเป็นแบบที่ชนะเลิศการประกวดออกแบบของสถาบันสถาปนิกแห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกา
             ในวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2511 ได้มีการจัดพิธีอำลาโบสถ์เก่าและเดินทางไปโบสถ์ใหม่ ในการทำพิธีอำลาโบสถ์ มีวงดุริยางค์ของโรงเรียนปรินส์รอแยลวิทยาลัยนำขบวน ศาสนาจารย์ ศิษยาภิบาล และเจ้าหน้าที่คริสตจักร พร้อมกับสมาชิกเข้าสู่พระวิหารหลังใหม่

รายการอ้างอิง
แมคกิลวารี, เดเนียล. (2544). กึ่งศตวรรษในหมู่คนไทยและคนลาว: อัตชีวประวัติ
             ของ ศาสนาจารย์เดเนียล แมคกิลวารี ดี.ดี. จิตราภรณ์ ตันรัตนกุล (แปล).
              (พิมพ์ครั้งที่ 2)กรุงเทพฯ: มติชน.
บุญเสริม สาตราภัย. (2550). ล้านนา...เมื่อตะวา. เชียงใหม่: Bookworm.
ประวัติโบสถ์. เชียงใหม่: หอประวัติศาสตร์ คริสตจักรเพรสไบทีเรียนที่ 1
              เชียงใหม่.
สงวน โชติสุขรัตน์. (2515). คนดีเมืองเหนือ. กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์.
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.สำนักหอสมุด
เชียงใหม่
ntic@lib.cmu.ac.th
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.สำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ
เชียงใหม่
itsc@itsc.cmu.ac.th
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ , ผู้ให้ทุนสนับสนุน
อุษณีย์ ธงไชย, ที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญประจำโครงการ
2516
image/jpeg(.jpeg .jpe .jpg)
1 ภาพ; ขาวดำ; 8x10 นิ้ว
BS-CM-CH006
ท่านอาจจะบันทึกหรือพิมพ์รูปภาพเพื่อการวิจัยและการศึกษาค้นคว้า ถ้าท่านต้องการใช้สำหรับวัตถุประสงค์อื่น ท่านต้องติดต่อสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อขออนุญาตใช้
 
สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์
เว็บไซต์และฐานข้อมูลภาพล้านนาในอดีต โดย สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
อนุญาตให้ใช้ได้ตาม สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง

     
     
  Copyright © 2008 Northern Thai Information Center (NTIC), Chiang Mai University. All Rights Reserved.
239 Huay Kaew Rd., Mueang District , Chiang Mai, Thailand 50200
Tel. 0 5394 4514, 0 5394 4517
ntic@lib.cmu.ac.th
 
/* */