|
สร้างกาดใหม่ งานสร้างห้องใต้ดินตลาดต้นลำไย |
|
|
|
|
|
|
|
|
กาดทั้งสามตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำปิงบนถนนสองสายที่เชื่อมต่อกันคือ ถนนช้างม่อยและถนนวิชยานนท์ กาดหลวงตั้งอยู่ในบริเวณที่เป็นจุดเชื่อมต่อของถนนทั้งสองสาย กาดเจ๊กโอ้วตั้งอยู่ทางทิศเหนือตรงข้ามกาดหลวงทางฝั่งถนนช้างม่อย ในขณะที่กาดต้นลำไยตั้งอยู่ตรงข้ามกาดหลวงทางฝั่งถนนวิชยานนท์ กาดทั้งสามตั้งขึ้นในช่วงที่การค้าทางเรือระหว่างเชียงใหม่และกรุงเทพฯ มีความเจริญเติบโตมาขึ้น ในช่วงนั้นมีเรือสินค้าเข้ามาจอดรับส่งสินค้าที่ท่าน้ำทางฝั่งตะวันตกเป็นจำนวนมาก ท่าเรือสำคัญทางฝั่งนี้คือ คุ้มท่าซึ่งตั้งอยู่หน้าคุ้มเจดีย์กิ่ว (ปัจจุบันคือสถานกงสุลอเมริกัน) ท่าเรือแห่งนี้เป็นท่าเรือสำหรับจอดขบวนเรือของเจ้าหลวงและเรือหางแมงป่องที่เดินทางไปมาระหว่างเชียงใหม่และกรุงเทพฯ
เล่ากันว่า ในแต่ละวันมีเรือมาจอดเรียงรายยาวจากคุ้มท่าจนถึงคุ้มเจ้าแก้วนวรัฐ (ปัจจุบันคือกาดเจ๊กโอ้ว) ในขณะเดียวกันก็มีผู้คนค่อยๆ ทยอยเข้ามาตั้งถิ่นฐานทำมาหากิน บางคนเป็นพ่อค้าคนกลางซื้อขายสินค้าที่มาจากกรุงเทพฯ และซื้อสินค้าจากภาคเหนือส่งลงไปขายที่กรุงเทพฯ บางคนทำการค้ากับพ่อค้าคนกลางขายสินค้าอุปโภคและบริโภค เช่น อาหาร พืชผัก เนื้อสัตว์ ของแห้ง และเสื้อผ้า เป็นต้น เมื่อรถไฟมาถึงเชียงใหม่ สะพานข้ามน้ำปิงสร้างเสร็จก็ยิ่งทำให้มีผู้คนหลั่งไหลเข้ามาตั้งร้านค้าทำมาหากินหนาแน่นมากขึ้น ทำให้ตลาดทั้งสามแห่งนี้ค่อยๆ เติบโตขึ้นตามการหลั่งไหลของผู้คนที่เข้ามาทำมาหากิน
กาดหลวงหรือตลาดวโรรส ตั้งอยู่ในบริเวณที่เคยเป็นข่วงเมรุหรือสุสานเก่าของเจ้านายฝ่ายเหนือ ในปีพ.ศ. 2452 พระราชชายาเจ้าดารารัศมีโปรดให้ย้ายสุสานไปไว้รวมกันที่วัดสวนดอก และในปีพ.ศ. 2453 พระองค์ได้พัฒนาพื้นที่นี้ขึ้นเป็นกาด เพื่อให้คนได้แลกเปลี่ยนซื้อขายกัน ชื่อกาดวโรรสนำมาจากพระนามของเจ้าอินทวโรรสสุริยวงศ์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ พระองค์ที่ 8
กาดต้นลำไย หรือตลาดต้นลำไย ในหนังสือเรื่องเล่าจาวกาด เล่ม 2 กล่าวว่า เดิมบริเวณนี้เป็นแหล่งเลี้ยงช้างและที่อาบน้ำช้างของเจ้าหลวงผู้ปกครองเมืองเชียงใหม่ ต่อมาหลวงโยนการพิจิตร (หม่องปันโหย่ว อุปโยคิน) เข้ามาขอเช่าที่เพื่อใช้เป็นที่เลี้ยงช้างชักลากซุง ล่องตามน้ำปิงของบริษัทบอร์เนียวและบอมเบย์เบอร์มา พร้อมกับสร้างห้องแถวติดแม่น้ำปิงให้คนงานอาศัยอยู่ ทำให้บริเวณนี้กลายเป็นชุมชนย่อยๆ และมีพ่อค้าแม่ค้าทยอยนำสินค้ามาตั้งขายใต้ต้นลำไยให้กับคนงานและคนที่สัญจรไปมา เมื่อแรกตั้งมีลักษณะเป็นกาดก้อมเล็กๆ ต่อมาได้พัฒนาขึ้นเป็นตลาดขนาดใหญ่ เรียกว่ากาดต้นลำไย
กาดเจ๊กโอ้วหรือตลาดนวรัฐ ตั้งขึ้นตามชื่อของเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าหลวงองค์ที่ 9 (พ.ศ.2452-2482 ) ทั้งนี้เพราะตั้งอยู่ในบริเวณที่เคยเป็นคุ้มของเจ้าแก้วนวรัฐ ในปีพ.ศ. 2488 เถ้าแก่โอ้ว (นายชู โอสถาพันธุ์) ได้ซื้อคุ้มหลังนี้ และอพยพครอบครัวเข้าไปอยู่ ในปี พ.ศ. 2500 เถ้าแก่โอ้วได้รื้อคุ้มออกและพัฒนาพื้นที่ให้เป็นตลาด เพราะเห็นว่าบริเวณนี้อยู่ติดกับแม่น้ำปิง มีผู้คนสัญจรไปมามาก ประกอบกับตัวคุ้มเองก็ชำรุดและเสื่อมโทรมลงมากแล้ว
เมื่อแรกตั้งกาดทั้งสามยังเป็นลานโล่งๆ ติดตลาดไม่นาน เริ่มตั้งแต่เช้ามืดพอสายหน่อยแดดแรงก็กลับบ้าน เมื่อมีคนเข้ามาค้าขายมากขึ้น จึงมีการสร้างอาคารร้านค้าถาวรเรียงรายอยู่บนสองฝั่งถนน เป็นอาคารไม้บ้าง ตึกบ้าง ความน่าสนใจของกาดทั้งสามนี้คือ การทำมาหากินร่วมกันอย่างลงตัวระหว่างชุมชนต่างเชื้อชาติ ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือชาวจีน ชาวพื้นเมือง และชาวซิกข์ ชาวจีนและชาวพื้นเมืองขายของจิปาถะทั้งของกินและของใช้อยู่ในตลาด ส่วนชาวซิกข์ ที่เรียกว่านายห้าง ตั้งร้านขายผ้าเมตรจากโรงงานอยู่รอบนอกตลาดจากตรอกเล่าโจ๊วอ้อมไปทางถนนช้างม่อยทั้งสองฝั่ง ชาวซิกข์กลุ่มนี้ย้ายมาจากแคว้นปัญจาบ ทางตอนเหนือของอินเดีย นับถือศาสนาซิกข์ ส่วนหนึ่งเป็นนิกายนามธารี ศูนย์กลางของชาวซิกข์กลุ่มนี้อยู่ที่วัดนามธารี บนถนนช้างม่อยตัดใหม่ใกล้ๆ กับกาดหลวงนี้เอง
เมื่อพ.ศ. 2511 ได้เกิดโศกนาฏกรรมที่สร้างความเศร้าโศกให้กับผู้คนในกาดอย่างใหญ่หลวง กล่าวคือในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ได้เกิดเพลิงไหม้ที่กาดต้นลำไยและลามมาที่กาดหลวง ด้วยอาคารที่เป็นไม้ และสินค้าที่เป็นผ้า ทำให้ไฟลุกไหม้อย่างรวดเร็ว ในที่สุดไฟก็เผาผลาญตลาดทั้งสองแห่งเสียหายอย่างยับเยิน ทำให้พ่อค้าแม่ขายประสบปัญหาอย่างมากต้องนำของออกไปขายที่อื่นๆ เช่น บริเวณสี่แยกโรงแรมสุริวงศ์ บนถนนช้างคลาน เป็นต้น ต่อมาจึงได้มีการสร้างตลาดขึ้นใหม่เป็นอาคารแบบตะวันตกตามที่เราเห็นทุกวันนี้ ในสมัยนั้นนับว่าเป็นอาคารที่มีความทันสมัยมาก
แม้ว่ากาดทั้งสามนี้ตั้งอยู่ใกล้กัน แต่มิได้แย่งลูกค้ากัน เพราะแต่ละแห่งมีลูกค้าคนละกลุ่มเช่น กาดหลวงเป็นศูนย์กลางของผ้านานาชนิด ทั้งเสื้อผ้าสำเร็จรูป และผ้าเมตร รวมทั้งยังเป็นศูนย์กลางสินค้าของฝาก ตั้งแต่เสื้อผ้าพื้นเมือง พืชผักนานาชนิด และของกินพื้นเมือง กาดเจ๊กโอ้ว เป็นศูนย์กลางของสินค้าจากโรงงานทั้งสินค้าอุปโภคและบริโภค ส่วนกาดต้นลำไย เป็นศูนย์กลางของพืชผลทางการเกษตร ทั้งพืชผักผลไม้ และเนื้อสัตว์ เป็นต้น
ทุกวันนี้แม้จะมีห้างสรรพสินค้าตั้งอยู่ทั่วทุกมุมเมือง คนเชียงใหม่ก็ยังคงผูกพันกับกาดทั้งสามแห่ง ดังจะเห็นได้ว่าทุกๆ วัน ณ พื้นที่นี้จะเต็มไปด้วยรถราหลากชนิดที่นำพาผู้คนจากที่ต่างๆ เข้ามาจับจ่ายซื้อของ โดยเฉพาะช่วงวันหยุดยาวตลาดจะหนาแน่นมาก เนื่องจากมีนักท่องเที่ยวมาจับจ่ายซื้อของกลับไปฝากที่บ้าน ซึ่งเป็นเช่นนี้มานานนับสิบปีมาแล้ว
รายการอ้างอิง
ปลายอ้อ ชนะนนท์. (2529). บทบาทนายทุนพ่อค้าที่มี
ต่อการก่อและขยายตัวของทุนนิยมภาคเหนือของประเทศไทย
พ.ศ.2464-2523. วิทยานิพนธ์หลักสูตรเศรษฐศาสตรมหาบัณฑิต
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
สุภาภรณ์ อาภาวัชรุตม์ (บรรณาธิการ) . (2547). เรื่องเล่าจาวกาด เล่ม 1
และ 2. เชียงใหม่: มูลนิธิสถาบันพัฒนาเมือง.
อุษณีย์ ธงไชย. (2550). แวดเวียงเชียงใหม่. เชียงใหม่:
ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. |
|
|
|
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.สำนักหอสมุด |
|
เชียงใหม่ |
|
ntic@lib.cmu.ac.th |
|
|
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.สำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ |
|
เชียงใหม่ |
|
itsc@itsc.cmu.ac.th |
|
|
|
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ , ผู้ให้ทุนสนับสนุน
อุษณีย์ ธงไชย, ที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญประจำโครงการ
|
|
|
|
2511 |
|
|
|
image/jpeg(.jpeg .jpe .jpg) |
|
|
|
1 ภาพ; ขาวดำ; 8x10 นิ้ว |
|
|
|
BS-CM-MK028 |
|
|
|
ท่านอาจจะบันทึกหรือพิมพ์รูปภาพเพื่อการวิจัยและการศึกษาค้นคว้า ถ้าท่านต้องการใช้สำหรับวัตถุประสงค์อื่น ท่านต้องติดต่อสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อขออนุญาตใช้ |
|
|
|