จากอดีตสู่ปัจจุบัน
เครื่องเขินในสังคมล้านนาจากอดีตถึงปัจจุบัน
เครื่องเขินเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ที่ทำจากไม้โดยเฉพาะไม้ไผ่ เพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน เช่นเดียวกับเครื่องปั้นดินเผาที่พบอยู่ทั่วไปในแหล่งโบราณคดีต่างๆ เนื่องจากเครื่องเขินส่วนใหญ่ทำจากไม้ไผ่ซึ่งเป็นวัสดุที่หาได้ทั่วไปพอๆ กับดิน แต่การใช้เครื่องปั้นดินเผามีข้อจำกัดกว่าคือ แตกหักง่ายไม่เหมาะกับการนำติดตัวไปในขณะเดินทาง ในขณะที่เครื่องเขินมีน้ำหนักเบาและคงทนสามารถนำไปไหนมาไหนง่ายกว่า อีกทั้งหากเทียบราคาของเครื่องเขินกับของใช้ชนิดเดียวกันที่ทำจากวัสดุอื่นแล้ว เครื่องเขินจะมีราคาถูกกว่า เช่น แอ็บหมาก หรือเชี่ยนหมาก ซึ่งเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็นของคนล้านนาในอดีตเพราะคนกลุ่มนี้ส่วนหนึ่งมีวัฒนธรรมการกินหมากในชีวิตประจำวัน “...สมัยก่อนชาวล้านนากินหมากแบบของกินเล่น จนกลายเป็นกิจกรรมในสังคม ดังนั้นทุกครัวเรือนต่างมีขันหมากหรือเชี่ยนหมากประจำบ้าน และบางครอบครัวอาจมีขันหมากมากว่า 1 ชิ้น...” วัสดุที่นิยมใช้ในการทำแอ็บหมากคือ เงินและเครื่องเขิน แต่แอ็บที่ทำด้วยเงินมีราคาแพง “...คนที่ไม่มีเงินพอจะซื้ออับเงินได้ก็ใช้อับเครื่องเขินแทน...”
เครื่องมือเครื่องใช้ที่เรียกว่า “เครื่องเขิน”
เครื่องเขินเป็นงานหัตถกรรมชนิดหนึ่งซึ่งทำจากไม้ โดยเฉพาะไม้ไผ่ซึ่งพบอยู่ทั่วไปในล้านนา ไม้ไผ่ที่นิยมนำมาทำเครื่องเขินคือ ไผ่เฮียะทั้งนี้เพราะมีลักษณะลำต้นเรียวตรงขนาดลำต้นไม่ใหญ่นัก เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 4-6 เซนติเมตร และมีลำปล้องยาวมากประมาณ 40-60 เซนติเมตรซึ่งจัดเป็นไม้ไผ่ที่มีลำปล้องยาวที่สุด เนื้อบางและเบา สามารถขึ้นรูปภาชนะที่ต้องการความบางเป็นพิเศษได้ง่ายแม้จะเป็นภาชนะขนาดใหญ่ก็ตาม และเมื่อเคลือบทาด้วยยางรักแล้วก็จะมีความแข็งแรงทนทานเช่นเดียวกับไม้ชนิดอื่น “...การที่ไม้ไผ่มีปล้องยาวและเรียวตรงทำให้ขึ้นรูปภาชนะได้ง่ายทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ นอกจากนั้นไผ่เฮียะยัง เหนียวและไม่แตกทำให้สามารถจักตอกเป็นเส้นได้ง่าย...”แต่อย่างไรก็ตามไผ่เฮียะยังมีข้อเสียอยู่บ้างคือ มอดชอบไชกินเนื้อไม้ดังนั้นช่างจึงเลือกไม้ที่มีอายุไม่เกิน 2-3 ปี และนำไปแช่ในน้ำผสมกำมะถันต้มประมาณ 30 นาทีก่อนที่จะนำมาสานขึ้นรูป
ขั้นตอนการทำเครื่องเขิน ในการทำเครื่องเขินแต่ละชิ้นต้องใช้ความรู้ความสามารถและมีความชำนาญมาก รวมทั้งยังต้องใช้เวลาเกือบอาทิตย์กว่าจะได้ชิ้นงานแต่ละชิ้น ขั้นตอนสำคัญในการผลิตที่สำคัญมีดังนี้
- ขั้นตอนการขึ้นรูปและทารัก
- จักตอกไม้ไผ่เป็นเส้นขนาดเล็ก-ใหญ่ตามต้องการ
- ขึ้นรูปภาชนะด้วยการขดหรือสาน
- ทารักรองพื้นและผึ่งให้แห้ง
- พอกสมุกรัก เมื่อแห้งนำมาขัดให้เรียบ
- ทารักและผึ่งให้แห้ง ขั้นตอนนี้ทำ 2-3 ครั้ง และขั้นตอนสุดท้ายเป็นการทารักเงา
- ขั้นตอนการทำลวดลายบนเครื่องเขิน
การทารักเงาเป็นขั้นสุดท้ายของการทำเครื่องเขิน แต่ส่วนใหญ่ผู้ใช้นิยมเครื่องเขินที่มีการตกแต่งลวดลาย ซึ่งขึ้นอยู่กับความนิยมของแต่ละชุมชน เช่น ชุมชนภาคกลางนิยมลวดลายรดน้ำและถมมุก (ฝังมุก) ในเชียงตุงนิยมทำรักกระแหนะ และรักกระแหนะปิดทองซึ่งทำให้เครื่องเขินมีราคาสูงมาก ในภาคเหนือนิยมการเขียนลายทั้งลายทอง ลายสีแดงด้วยการทางหางหรือชาด การฮายลาย และการทำรักกระแหนะ เป็นต้น ส่วนในกลุ่มปกาเกอะญอบ้านแม่ต๋อม อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ นิยมทำลวดลายด้วยการขูดยางรักออกจนเห็นเนื้อไม้ไผ่ตามแนวนอนรอบขอบปาก หรือขูดเป็นเส้นยืนสั้นๆ รอบภาชนะ หรือไม่ทำลวดลายใดๆ เลย ช่างผลิตเล่าว่า “...เครื่องเขินแบบนี้เป็นที่นิยมใช้กันในกลุ่มปกาเกอะญอทั่วไปโดยนำไปใช้ทั้งในพิธีกรรมและในชีวิตประจำวัน ลูกค้าสำคัญของเขามาจากชุมชนกระเหรี่ยงแถบแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน...”
ที่มาของคำว่า “เครื่องเขิน”
จนปัจจุบันนี้ยังไม่สามารถบอกได้ว่าชื่อ “เครื่องเขิน” มีที่มาอย่างไร วิถี พานิชพันธ์ให้ข้อคิดเห็นว่า ผู้สร้างคำศัพท์เครื่องเขินเป็นคนกรุงเทพฯ โดยบัญญัติตามชื่อของแหล่งผลิตและช่างผู้ผลิต
...ประมาณกลางพุทธศตวรรษที่ 25 เมื่อมีการผนวกล้านนาเข้ากับประเทศสยามแล้วเรียกว่ามณฑลพายัพ ราชสำนักภาคกลางได้จัดส่งข้าราชการขึ้นมายังมณฑลพายัพ ซึ่งสันนิษฐานว่าคนกลุ่มนี้น่าจะเป็นผู้สร้างคำศัพท์ว่า เครื่องเขิน โดยอ้างว่าคนกรุงเทพฯ นิยมซื้อของที่ระลึกแต่ไม่ทราบว่าจะเรียกอย่างไร จึงใช้ชื่อของแหล่งผลิตและกลุ่มช่างทำ...
จากคำอธิบายของวิถี พานิชพันธ์ ในข้างต้นทำให้ต้องกลับไปศึกษาเอกสารสมัยก่อนการปกครองระบบเทศาภิบาล แต่จากการตรวจสอบเอกสารที่กล่าวถึงเรื่องหัตถกรรมของกลุ่มคนในเขตภาคกลางก่อนสมัยรัชกาลที่5 แล้ว ไม่พบคำว่าเครื่องเขินในความหมายของภาชนะดังกล่าวแต่อย่างใด ตัวอย่างของเอกสารที่ได้ตรวจสอบประกอบด้วย
อักขราภิธานศรับท์ งานรวบรวมคำไทยและแปลความหมายของคำไทยเป็นภาษาต่างประเทศของ ดร.แดนบีช แบรดเลย์ ซึ่งเป็นงานที่ทำมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ต่อมาจนถึงต้นรัชกาลที่ 5 ในงานเล่มนี้ไม่ปรากฏคำว่า “เขิน” แต่ปรากฏคำว่า “ถมดำ” ซึ่งหมายถึง “...ทาศรีดำ ใส่ศรีดำ เป็นชื่อเครื่องภาชนะทั้งปวงที่ถมยาดำนั้น เช่นขันถมเมืองละคอน...” สันนิษฐานว่าศรีดำและถมยาดำนั้นคงจะหมายถึงการทำภาชนะลงรักและการทำเครื่องถมยาดำนั่นเอง
เซอร์ จอห์น เบาว์ริง ทูตชาวอังกฤษที่เดินทางเข้ามาเจรจาทำสนธิสัญญาเบาว์ริงและได้เขียนหนังสือเรื่อง The Kingdom and People of Siam ในสมัยรัชกาลที่ 4 หนังสือเล่มนี้กล่าวถึงยางรักว่าเป็นผลผลิตตามธรรมชาติที่สำคัญและทำรายได้ และในบทที่กล่าวถึงงานหัตถกรรมในสยามไม่ได้กล่าวถึงเครื่องเขินแต่อย่างใดแต่มีคำอธิบายเกี่ยวกับการทำเครื่องประดับมุก “...เปลือกหอยมุกจำนวนมากถูกใช้ฝังลงไปบนเนื้อไม้...”
บาทหลวง ปาลเลกัวซ์ สังฆนายกคณะมิชชันนารีโรมันคาทอลิกประจำประเทศยามในสมัยรัชกาลที่ 3-4 ท่านอยู่ในกรุงเทพฯ ประมาณ 24 ปี และเขียนหนังสือเรื่องเล่าเรื่องกรุงสยาม ซึ่งเป็นเรื่องเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมสยาม ในหนังสือเล่มนี้กล่าวถึงยางรักและการนำยางรักมาใช้ในประโยชน์ต่างๆ “...เขาใช้ยางรักนี้ทาปกหนังสือ กระเช้าเครื่องตู้เล็กๆ และที่มากที่สุดคือ ลงรักไม้หรือพระพุทธรูปเพื่อปิดทอง การปิดทองโดยวิธีลงรักนี้มีความคงทนถาวรมากและไม่ลอกเมื่อต้องฝนหรือแดด...”
จากข้อความที่ยกมาทั้งหมดแสดงให้เห็นว่าสังคมในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาในสมัยรัชกาลที่4-5 ยังไม่ได้เรียกภาชนะแบบนี้ว่าเครื่องเขินเหมือนที่เรียกกันในสมัยหลัง และที่น่าสังเกตอีกประการหนึ่งคือในพจนานุกรมภาษาถิ่นภาคเหนือก็ไม่พบคำว่า “เครื่องเขิน” แต่พบคำว่า “เขิน” ซึ่งหมายถึง
“...คนไทยในแคว้นเชียงตุงรัฐฉาน หรือคนที่มาจากรัฐเชียงตุง ขึนก็ว่า
ก. (คำกริยา) โผล่ขึ้นเหนือน้ำ, น้ำลด, น้ำสูงไม่ได้ระดับ
ว. (คำวิเศษณ์) ขาด, ไม่ครบ...”
การที่อธิบายว่า “เครื่องเขิน” มาจากชื่อของแหล่งผลิตและช่างผู้ผลิตนั้นเนื่องมาจาก กลุ่มผู้ผลิตเครื่องเขินในเชียงใหม่คือ กลุ่มไทยเขิน ซึ่งตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านวัวลายและบ้านนันทาราม อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ คนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มตระกูลไทลื้ออาศัยอยู่ในเขตเมืองเชียงตุงและตั้งถิ่นฐานหนาแน่นอยู่บริเวณลุ่มน้ำเขิน ด้วยเหตุนี้จึงเรียกกลุ่มไทลื้อลุ่มน้ำเขินว่า ชาวไทเขิน มีหลักฐานว่าคนกลุ่มนี้โยกย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐานในเชียงใหม่ในช่วงเก็บผักใส่ซ้าเก็บข้าใส่เมืองในสมัยพระเจ้ากาวิละ “...เข้าตีเอาบ้านสะต๋อย สอยไร ท่าช้างบ้านนา บ้านทุ่งอ้อ งัวลาย ได้หมื่นขวาวัวลายมา...” วิถี พานิชพันธ์ กล่าวว่าในกลุ่มชาวไทเขินที่อพยพมาอยู่เมืองเชียงใหม่ล้วนเป็นช่างฝีมือทั้งสิ้น มีความชำนาญในการทำเครื่องเขิน เครื่องโลหะ งานทอผ้า งานกระดาษ งานจักสาน และการลงรัก แต่มีข้อน่าสังเกตว่าในปัจจุบันการทำเครื่องเขินเชียงตุงและบ้านวัวลายมีลักษณะการทำลวดลายที่แตกต่างกัน กล่าวคือช่างเขินเชียงตุงนิยมใช้เทคนิครักกระแหนะในการทำลวดลาย ส่วนช่างเขินล้านนานิยมใช้เทคนิคฮายลายหรือลายขุด ความแตกต่างดังกล่าวอาจจะเนื่องมาจากความนิยมในการใช้เครื่องเขินในปัจจุบันลดลงอย่างมาก ทำให้ช่างทำเครื่องเขินลดลงไปอย่างมาก เหลือเพียง 2-3 หลังคาเรือนเท่านั้น และกลุ่มช่างที่หายไปอาจเป็นกลุ่มช่างรักกระแหนะก็เป็นได้ เพราะวิถี พานิชพันธ์ กล่าวว่า “...กลุ่มในเวียงเชียงใหม่ใช้รักกระแหนะปั้นเป็นลายดอกไม้หรือกดจากแม่พิมพ์แล้วปิดทอง...”
อย่างไรก็ตามหากมีการเรียกเครื่องมือเครื่องใช้แบบนี้ว่า “เครื่องเขิน” มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5จริงชื่อนี้อาจจะไม่แพร่หลายมากนัก ทั้งนี้เพราะแม้แต่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพซึ่งเป็นพระบรมวงศานุวงศ์ที่เสด็จขึ้นมาที่ล้านนาในสมัยที่มีการจัดระบบการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล ยังตรัสเรียกงานหัตถกรรมแบบนี้ว่า “เครื่องลงรัก” ดังจะเห็นได้จากในครั้งที่พระองค์เสด็จประพาสพม่าเมื่อปี พ.ศ.2478 ตรงกับรัชกาลที่ 8 พระองค์ได้เสด็จไปหมู่บ้านเครื่องเขินในพุกามและทรงเล่าว่า “...ใครไปเมืองพุกามก็ตั้งหน้าไปหาซื้อของลงรักด้วย เมื่อพวกกรมการมาหา ฉันถามเขาว่าจะหาซื้อเครื่องลงรัก ด้วยประการใดดี...”
คัวฮัก คัวหาง : เครื่องเขินของคนล้านนา
จากการที่เครื่องเขินเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ที่เป็นเครื่องจักสานแล้วลงรักและทาชาด ทำให้คนล้านนาเรียกเครื่องมือเครื่องใช้กลุ่มนี้ว่า “คัวฮัก คัวหาง” ตามรูปแบบวัสดุที่ใช้ คัวฮัก คัวหาง เกิดจากการผสมผสานของคำ 3 คำ ดังนี้
- คัว หมายถึง ครัว ซึ่งในภาษาถิ่นภาคเหนือหมายถึง วัตถุ, สิ่งของ, เครื่องใช้, เครื่องประกอบ
- ฮัก หมายถึง รัก ซึ่งในภาษาถิ่นภาคเหนือหมายถึง ชื่อพรรณไม้ขนาดใหญ่ ยางเป็นพิษใช้ลงพื้นทาสิ่งของต่างๆ
- หาง หมายถึง ชาด
คาร์ล บ็อค ซึ่งเดินทางเข้ามาในล้านนาในสมัยรัชกาลที่ 5 กล่าวว่า เครื่องเขินเป็นที่นิยมมากในหมู่คนล้านนา “...สิ่งของต่างๆ ที่ทำด้วยเครื่องเขินก็เป็นสิ่งของที่ต้องการกันมาก... จอกน้ำ ชามข้าว และเครื่องใช้ในบ้านอื่นๆ ก็ทำด้วยเครื่องเขินทั้งสิ้น...”
สันนิษฐานว่าการใช้คัวฮักคัวหางในล้านนาคงจะมีมานานแล้ว ทั้งนี้เพราะล้านนาเป็นดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยวัสดุที่นำมาใช้ในการทำเครื่องเขิน โดยเฉพาะไม้ไผ่และยางรัก
ไม้ไผ่ นับเป็นไม้สำคัญที่มีอยู่ทั่วไป ซึ่งจะเห็นจากการบรรยายของกลุ่มนักเดินทางในล้านนา เช่น โคลงมังทรารบเชียงใหม่ วรรณกรรมเล่าเรื่องการเดินทางจากเชียงใหม่ไปยังพม่า
...คราวนี้เช้าเช่นแจ้ง เหน็ดหนาว
เผียวไผ่หนามเรียงราว ยาดเนื้อ...
ไปปลงป่าไผ่ยั้ง ยามแลง...
หนังสือเรื่อง ล้านนาไทยในแผ่นดินพระพุทธเจ้าหลวงซึ่งเป็นบันทึกประจำวันเกี่ยวกับการเดินทางมายังหัวเมืองเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือระหว่างปี พ.ศ. 2440-2441 ของปิแอร์ โอร์ต ผู้ช่วยที่ปรึกษากฎหมายชาวเบลเยี่ยมในบันทึกฉบับนี้กล่าวถึงความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้ในล้านนาซึ่งเป็นป่าไม้เบญจพรรณไว้ว่า “...เราเดินทางในป่าซึ่งมีต้นไม้ใหญ่สลับด้วยป่าไผ่และต้นสักตลอดวัน... บางวัน เดินทางไปในป่าละเมาะสลับด้วยกอไผ่...” นอกจากใช้ทำเครื่องเขินแล้วไม้ไผ่ยังมีประโยชน์ในด้านอื่นๆ เช่น เป็นส่วนประกอบของการสร้างบ้าน ทำเสื่อ และต่อแพ เป็นต้น
ยางรักในสมัยโบราณยางรักเป็นส่วยสำคัญชนิดหนึ่งที่ต้องส่งให้กับรัฐบาลกลาง “...เผิ้งซาบมาบมิ้น เตาเหล้าเตาขนม... น้ำรักลินคั้ง... เกิดมีในแคว้นเจ้าตนใด ก็ยื่นถวายเจ้าตนนั้น...”
ยางรักมีคุณสมบัติในการประสานพื้นผิว กันความชื้นและรักษาเนื้อไม้ให้คงทน รวมทั้งมีคุณสมบัติทางด้านการตกแต่งให้มีความงาม เช่นงานลงรักปิดทอง ปิดทองร่องชาดและงานกรุกระดาษ เป็นต้น จากคุณสมบัติดังกล่าวทำให้ยางรักมีความสำคัญมากในสังคมล้านนา เพราะจากการศึกษาพบหลักฐานว่า ชุมชนในล้านนานิยมใช้รักในงานต่างๆ ทั้งของใช้ในวิถีชีวิตประจำวัน และในงานที่เกี่ยวเนื่องกับศาสนาโดยเฉพาะการสร้างวัดและพระพุทธรูปต่างๆ ดังจะเห็นได้จากที่คาร์ลบ็อคเล่าถึงการตกแต่งวิหารวัดพระธาตุลำปางหลวงว่า “...วิหารนี้สร้างเปิดโล่งไม่มีกำแพง เว้นแต่ด้านหลังสุดที่มีแท่นบูชา... จากพื้นนี้มีเสาไม้สักต้นมหึมาลงรักจนหนาและทาสีแดง ไว้คอยรับน้ำหนักหลังคา... ตรงหน้าพระพุทธรูปองค์ใหญ่มีพระพุทธรูปองค์เล็กๆ อีกมากมาย บางองค์เป็นทองสำริด ส่วนมากเป็นไม้แต่ทุกองค์ปิดทองหมด...” และการบูรณะวัดพระบรมธาตุดอยสุเทพในสมัยพระเจ้ากาวิละก็ได้มีการใช้ยางรักและชาดเช่นเดียวกัน “...มีมโนประสาทศรัทาพร้อมกันสร้างแปลงฉัตรของอันประจิตรริสนา ทารักหางติดคำ กระทำให้มีผิวพรรณวรรณวิภูสิตาแล้วทั่วดีงาม …
นอกจากใช้ในล้านนาแล้ว ยางรักยังเป็นสินค้าออกที่สำคัญของอาณาจักรล้านนาอีกด้วย ยางรักเหล่านี้จะถูกส่งลงไปกรุงศรีอยุธยาและส่งออกไปยังนอกอาณาจักร มีหลักฐานกล่าวว่าการส่งยางรักลงสู่หัวเมืองตอนล่างทำต่อเนื่องมาจนถึงสมัยที่ล้านนาตกเป็นเมืองประเทศราชของกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งมีหลักฐาน ระบุว่าในปี พ.ศ.2382 เชียงใหม่ส่งยางรักที่ได้จากขุนยวมให้กับกรุงเทพฯ ถึง 537 ทะนาน (1 ทะนาน = 20 ลิตร)
จากการมีวัตถุดิบที่ดีเป็นจำนวนมาก ทำให้สังคมล้านนามีการผลิต “คัวฮัก คัวหาง” ใช้กันเองในครัวเรือน “... ทุกๆ ครอบครัวจะต้องมีคนหนึ่งหรือสองคนที่รู้จักทำเครื่องเขินเป็นของใช้ในครัวเรือนของตนเองได้ ...” นอกจากใช้กันเองภายในครัวเรือนแล้ว ยังมีการผลิตเพื่อขายและแลกเปลี่ยนด้วย “... อับ(แอ็บ) งามๆ อันใหญ่ที่ช่างฝีมือดีทำ มีราคาประมาณ 6 รูปี แต่ที่เห็นขายกันอยู่ตามร้านเป็นฝีมือช่างพม่าและเงี้ยว ซึ่งมีคุณภาพด้อยกว่าฝีมือลาวและอาจซื้อได้ในราคา 1 รูปีขึ้นไป...”
รูปแบบของเครื่องเขินในล้านนาคาร์ล บ๊อค กล่าวว่า คนล้านนาทำ “...หีบหมาก... จอกน้ำ ชามข้าว และเครื่องใช้ในบ้านอื่นๆ ด้วยเครื่องเขินทั้งสิ้น...”จากการสำรวจพบว่า “เครื่องใช้ในบ้านอื่นๆ” ที่ชาวล้านนานิยมทำด้วยเครื่องเขิน ประกอบด้วย เอิบหรือหีบผ้าสำหรับใช้ใส่เสื้อผ้าหรือของใช้มีค่า ขันโตกสำหรับวางสำรับอาหาร ปุง ภาชนะใส่เมล็ดพืชสำหรับการเพาะปลูก มีลักษณะคล้ายกล่องข้าวเหนียว บุงหรือเปี้ยดสำหรับใส่ของหาบไปตลาด หรือบางครั้งเอาไว้ใส่ข้าวสาร โอหาบเป็นภาชนะที่มีหน้าที่เดียวกับบุง ซ้าปอมหรือซ้าป้อมเป็นของใช้ส่วนตัวที่ผู้หญิงมักเอาไว้ใส่เงินเหมือนจะเป็นกระเป๋าสตางค์ ส่วนใหญ่มีการประดับตกแต่งอย่างสวยงาม จนอาจกล่าวได้ว่าซ้าปอมเป็นเครื่องเขินชิ้นที่สวยงามที่สุดที่ใช้ถือออกสังคมได้
เครื่องเขิน : วัฒนธรรมร่วมของกลุ่มคนในเอเชีย
จากการศึกษาของนักวิชาการพบว่า วัฒนธรรมการใช้และการผลิตเครื่องเขิน เป็นวัฒนธรรมร่วมของกลุ่มคนในเอเชียทั้ง พม่า ลาว และเวียตนาม รวมทั้งจีนและญี่ปุ่นด้วย ดังมีตัวอย่างดังนี้
เครื่องเขินในพม่ามีแหล่งผลิตอยู่ที่หมู่บ้านในเมืองพุกาม “...เครื่องลงรักนั้นทำกันตามบ้านแห่งละเล็กละน้อย โดยปกติจะมีคนอื่นมารับซื้อจากผู้ทำรวบรวมเอาไปเที่ยวขาย...” นอกจากนั้นทางพม่ายังตั้งโรงเรียนช่างรักเพื่อสร้างคนที่มีความรู้ในการทำเครื่องเขินจนสามารถใช้ประกอบอาชีพต่อไปในอนาคตได้ “...โรงเรียนช่างรักที่รัฐบาลตั้ง ณ เมืองพุกาม วิธีที่เขาจัดการถูกใจฉันมาก ด้วยเขาถือหลักว่า จะหัดนักเรียนให้ไปทำของลงรักขายเป็นอาชีพโดยลำพังตนในวันหน้า...”
เครื่องเขินในญี่ปุ่น ญี่ปุ่นเป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีการผลิตเครื่องเขินใช้ในชีวิตประจำวัน ยางรักที่ใช้ในการผลิตส่วนหนึ่งนำเข้าจากกรุงศรีอยุธยา หลักฐานสำคัญที่แสดงให้เห็นว่ามีการนำเข้ายางรักจากกรุงศรีอยุธยาไปญี่ปุ่นคือ รายชื่อและปริมาณสินค้าในบัญชีของสำเภาจีนที่ส่งไปยังเมืองนางาซากิ ประเทศญี่ปุ่น ในปี พ.ศ.2254 ในบัญชีดังกล่าวปรากฏรายการสินค้าจากอยุธยาดังต่อไปนี้ “...ไม้ฝาง 880,900 ชั่ง น้ำตาลกรวด 7,700 ชั่ง รัก 30,000 ชั่ง...” ญี่ปุ่นเรียกยางรักว่า “สี” “...สี (รัก) โดยเฉพาะที่ตีตราไว้ว่า “รักสีดำ” จะนำเข้ามาเป็นขวดหรือโอ่ง เช่น สั่งเข้ามาหนัก 12,000 ชั่ง บรรจุไว้ในขวดหรือโอ่ง 36 ขวดหรือโอ่ง เป็นต้น...”
ญี่ปุ่นมีเครื่องมือเครื่องใช้หลายชนิดที่นิยมทาด้วยยางรัก เช่น กระปุกเครื่องหอมซึ่งเป็นอุปกรณ์ชิ้นหนึ่งในพิธีชงชา กระปุกเครื่องหอมที่ใช้ในพิธีนี้มี 2 ชนิดคือ กระปุกเครื่องเขิน และกระปุกเครื่องเคลือบ กระปุกทั้ง 2 ชนิดนี้จะแบ่งหน้าที่กันอย่างชัดเจน กล่าวคือกระปุกเครื่องเขินใช้สำหรับใส่เครื่องหอมบูชาพระและใช้ดม ส่วนกระปุกเครื่องเคลือบนิยมใช้เป็นภาชนะบรรจุเครื่องหอมในพิธีชงชา นอกจากกระปุกเครื่องหอมแล้ว ชาวญี่ปุ่นยังนิยมนำยางรักไปใช้ในงานหัตถกรรมอื่นๆ อีกด้วย เช่น กล่องลงรัก และหมอนสูงลงรัก เครื่องใช้เหล่านี้ คงจะเป็นของที่นิยมใช้กันทั่วไปในสังคมของชาวญี่ปุ่น รวมทั้งส่งเป็นสินค้าออกซึ่งส่วนหนึ่งอาจจะส่งมาขายให้กับชาวญี่ปุ่นที่ออกมาตั้งถิ่นฐานนอกประเทศ ทั้งนี้เพราะมีหลักฐานการส่งออกเครื่องใช้กลุ่มนี้ในรายการสินค้าของสำเภาสยามที่เดินทางกลับจากญี่ปุ่นในปี พ.ศ.2225 “...ทองแดง 157,300 ชั่ง เหล็ก 2,500 ชั่ง กล่องลงรัก 8 ใบ หมอนไม้สูงลงรัก 10 ใบ กล่องลงรักขนาดเล็ก 6 ใบ หัตถกรรมลงรัก 10 ใบ ลูกเกาลัด 40 ถุง และเต้าเจี้ยวมิโซะ 15 โอ่ง/ไห เป็นต้น...”
เครื่องเขินในจีน จีนเรียกการลงรักว่า “ชี่” ชาวจีนนำยางรักมาใช้กับภาชนะเครื่องเรือนและศิลปวัตถุ รวมทั้งใช้รักษาบันทึกทางประวัติศาสตร์ที่จารึกไว้บนไม้ไผ่ พวกเขากล่าวว่าได้รู้จักการลงรักมานานแล้วและเป็นผู้เผยแพร่ความรู้นี้ให้กับเมืองต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ “...ชาวจีนรู้จักคุณสมบัติในการป้องกันเนื้อไม้ของยางที่ได้จากกิ่งของต้นรักมาอย่างน้อย 3,000 ปีมาแล้ว และแพร่หลายไปทั่วเอเชียอาคเนย์ ... ชิ้นงานตัวอย่างเก่าแก่ที่สุดของจีนเท่าที่รู้อยู่ในสมัยราชวงศ์ซาง (ค.ศ. 1523-1028 ปีก่อนคริสต์ศักราช)...” สำหรับยางรักนั้นมีหลักฐานว่าเป็นของภายในประเทศจีนเอง “...ประเทศจีนเป็นต้นกำเนิดของต้นไม้ชนิดนี้ และมีการปลูกด้วย...” และสันนิษฐานว่าจีนคงมีการนำเข้ายางรักจากสยามด้วย
ดังจะเห็นจากหลักฐาน เซอร์ จอห์น เบาว์ริง ที่กล่าวว่า “...ต้นรักให้น้ำยางชั้นดีใช้เป็นยาเคลือบที่มีราคาสูงในการทำเครื่องเขินที่ประเทศจีน...” มีหลักฐานการพบชิ้นส่วนของ “เครื่องเขิน” ที่นำเข้าจากจีนในแหล่งเรือจมที่อ่าวไทย 2 แหล่ง คือ
- แหล่งเรือจมรางเกวียน แหล่งโบราณคดีแห่งนี้ประกอบด้วยเรือจม 1 ลำ จมอยู่ในแนวร่องน้ำคราม ห่างจากฝั่งบ้านบางเสร่ อำเภอสัตหีบ ไปทางตะวันตกประมาณ 10 กิโลเมตร และห่างจากเกาะรางเกวียนไปทางเหนือราว 800 เมตร นักโบราณคดีบางคนเรียกเรือรางเกวียนว่า เรืองาช้าง และเรือเหรียญอีแปะ เพราะพบงาช้างและเหรียญอีแปะ ซึ่งเป็นเหรียญเงินของจีนเป็นจำนวนมาก กล่าวคือพบงาช้างประมาณ 25-30 กิ่ง และเหรียญอีแปะอีกประมาณ 200 กิโลกรัม นอกจากงาช้าง เหรียญอีแปะ และสินค้าอื่นอีกจำนวนมาก เช่น เครื่องปั้นดินเผา แท่งทองแดง และคันฉ่องแล้ว ยังได้พบชิ้นส่วนของเครื่องเขินลงพื้นสีดำลวดลายสีแดง 1 ชิ้น อยู่ท่ามกลางสินค้าต่างๆ ซึ่งนักวิชาการกล่าวว่า เมื่อดูจากลวดลายแล้วน่าจะเป็นเครื่องเขินของจีนหรือญี่ปุ่น
- แหล่งเรือจมสีชัง 1. แหล่งโบราณคดีแห่งนี้ประกอบด้วยเรือจม 1 ลำ จมอยู่ในแนวร่องน้ำลึกประมาณ 31 เมตร ห่างจากเกาะสีชังราว 3 กิโลเมตร ในบริเวณนี้ได้พบสิ่งของเป็นจำนวนมาก เช่น เครื่องปั้นดินเผาจีนชนิดดี ก้อนตะกั่ว และชิ้นส่วนของเครื่องเขินของจีนลายมังกรและกิเลน การพบเครื่องเขินในปริมาณน้อยเช่นนี้สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นของใช้ในเรือมากกว่านำเข้ามาเป็นสินค้า
“เครื่องเขิน” ในสังคมล้านนาปัจจุบัน
ในสมัยปัจจุบันเมื่อ พลาสติก อลูมิเนียม และสแตนเลส เข้ามามีบทบาทในการผลิตเครื่องมือเครื่องใช้ ทำให้คัวฮัก คัวหาง หรือเครื่องเขินลดลงอย่างรวดเร็วจนเกือบหมดไปจากสังคมล้านนา ที่ยังคงอยู่ก็กลายสถานะเป็นของสะสม ของที่ระลึกและของประดับตกแต่งบ้านเรือน และเมื่อเทียบราคาของ “คัวฮัก คัวหาง” กับคัวพลาสติกแล้วคัวฮักคัวหางจะมีราคาสูงมาก นอกจากนั้นพลาสติกยังสามารถผลิตเครื่องมือเครื่องใช้ได้หลากหลายรูปแบบมากกว่า ด้วยเหตุนี้คนในยุคปัจจุบันเป็นจำนวนมากไม่รู้จักและไม่เคยเห็น หรือเคยเห็นก็ไม่ทราบว่าของใช้เหล่านี้คืออะไร ปัจจัยที่ทำให้เครื่องเขินหายไปจากสังคมประกอบด้วย
- ใช้วัสดุใหม่เข้ามาแทนที่ในการผลิตเครื่องมือเครื่องใช้ในครัวเรือน วัสดุใหม่หมายถึง พลาสติก อลูมิเนียม และสแตนเลส โดยเฉพาะสินค้าที่ทำจากพลาสติกสามารถผลิตได้ครั้งละมากๆ และสามารถผลิตเครื่องมือเครื่องใช้ที่หลากหลายรูปแบบตั้งแต่ของใช้ขนาดเล็ก เช่น จาน ชาม ถ้วย แก้วน้ำ ช้อน และตะกร้า ไปจนถึงของที่มีขนาดใหญ่ เช่น โต๊ะ เก้าอี้ และตู้เสื้อผ้า ในขณะที่วัสดุที่ใช้ในการผลิตเครื่องเขินนับวันจะหายากมากขึ้น โดยเฉพาะยางรักซึ่งหายากและมีราคาแพงมากคือกิโลกรัมละประมาณ 500 บาท และจากการที่ยางรักมีราคาแพงและหายากทำให้ผู้ขายมักจะปะปนขยะ เช่น ใบไม้และกิ่งไม้ลงไปในยางรักด้วย สร้างปัญหาให้กับผู้ใช้มาก นอกจากนั้นการผลิตเครื่องเขินยังใช้เวลามากกว่าจะได้ชิ้นงานแต่ละชิ้น เมื่อเทียบกับการผลิตพลาสติก ฉะนั้นเราจึงเห็นเครื่องมือเครื่องใช้พลาสติกเข้ามาวางขายในตลาดแทนที่ของใช้ประเภทเครื่องเขิน ซึ่งหายไปจากตลาดนานมาแล้ว
- การขาดแคลนช่างผู้ผลิต เมื่อความต้องการใช้เครื่องเขินในฐานะเป็นเครื่องใช้ประจำบ้านหมดไป ประกอบกับการผลิตผลงานแต่ละชิ้นค่อนข้างช้า การขายยากเพราะคนไม่นิยมและไม่มีความจำเป็นต้องใช้ ทำให้ช่างมีรายได้น้อย ช่างผู้ผลิตจึงหันไปทำงานอื่นแทนมากขึ้น รวมทั้งลูกหลานส่วนใหญ่ไม่สืบทอดภูมิปัญญาการผลิตอีกต่อไป
จากปัญหาดังกล่าวเหล่านี้ทำให้การผลิตคัวฮักคัวหาง อันเป็นภูมิปัญญาอย่างหนึ่งของสังคมล้านนาได้สูญหายไป บางจังหวัดเช่น แพร่ น่าน และลำปางไม่มีการผลิตอีก เช่นในจังหวัดน่าน เคยมีหมู่บ้านผลิต “คัวฮักคัวหาง” ที่บ้านดอนแก้ว (บ้านพ้อย) ตำบลป่าคา อำเภอท่าวังผา ความรู้ในการทำเครื่องเขินโดยเฉพาะ ขันหมากในหมู่บ้านสืบทอดมาจากเชียงใหม่ เนื่องจากพ่อมูลคนในหมู่บ้านกับครูบาอภิวงศ์เดินทางไปเรียนจากเชียงใหม่ แล้วนำไปถ่ายทอดให้กับคนในหมู่บ้าน จนเป็นที่รู้จักกันในชุมชนเมืองน่านถึงรูปแบบการผลิตขันหมากเครื่องเขินจากแหล่งผลิตดังกล่าวว่า “ขันหมากบ้านพ้อย” รูปแบบเครื่องมือเครื่องใช้ที่ผลิตในหมู่บ้านนี้ประกอบด้วย ซ้าหลอด ซ้าหวด ซองพลู และซองยาเส้น เป็นต้น ของเหล่านี้มีทั้งคนมารับซื้อไปขายและช่างผู้ผลิตนำไปขายเองถึงเชียงแสนและเชียงราย การผลิตคัวฮักคัวหางในสมัยนั้นสามารถสร้างรายได้เลี้ยงครอบครัวได้เป็นอย่างดี แต่การผลิตของหมู่บ้านนี้ได้เลิกไปกว่า 20 ปีแล้ว เนื่องจากคนไม่นิยมใช้ ทางองค์การบริหารส่วนตำบลพยายามเข้ามารื้อฟื้นและฟื้นฟูการผลิตใหม่แต่ก็ไม่ประสบผลต้องเลิกไปในที่สุดเพราะไม่มีตลาดรองรับ ปรากฏการณ์แบบนี้เกิดขึ้นทั่วไปในล้านนา เมืองเชียงใหม่ซึ่งเคยมีการผลิตคัวฮักคัวหางในหลายหมู่บ้าน เช่น บ้านต้นแหน อำเภอสันป่าตองและบ้านนันทาราม อำเภอเมือง แต่ปัจจุบันเหลือแหล่งผลิตใหญ่ๆ เพียง 2 แห่งคือ ที่บ้านนันทาราม ถนนนันทาราม และบ้านศรีปันครัว แต่การผลิตในหมู่บ้านทั้งสองแห่งนี้ก็มีการปรับเปลี่ยนไปทั้งรูปแบบ วัสดุ และเทคโนโลยีในการผลิต
รูปแบบและวิธีการผลิตเครื่องเขินในล้านนาปัจจุบัน
จากการที่คัวฮักคัวหางเคยเป็นเครื่องมือเครื่องใช้จำเป็นในครัวเรือนมากว่า 200 ปี และเป็นงานหัตถกรรมที่มีความสวยงามและประณีต แสดงถึงความรู้และภูมิปัญญาของผู้ผลิต ดังจะเห็นได้ว่า ในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อพระองค์ทรงจัดนิทรรศการในงานฉลองพระนครครบ 100 ปี เพื่อจัดแสดงสิ่งของพื้นเมืองของสยาม เครื่องเขินเป็นงานหัตถกรรมอย่างหนึ่งที่พระองค์ทรงเลือกเพื่อจัดแสดง โดยจัดในห้องที่ 52 รวมกับงานหัตถกรรมเครื่องประดับมุก เครื่องเขินที่จัดแสดงในครั้งนี้คือ “...ถาดที่ทำขึ้นสำหรับให้พระชั้นสามัญใช้ก็ทำอย่างแปลก ดูแน่นหนาและแข็งแรงมากราวกับทำด้วยไม้ แต่ความจริงทำด้วยไม้ไผ่ผ่าเป็นซี่เล็กๆ สานขึ้นเท่านั้น ใช้รัก น้ำมัน และขี้เถ้าพอกแล้วใช้เปลือกมุกประดับให้เป็นลวดลายต่างๆ ส่วนที่เหลือซึ่งไม่ได้ประดับมุกก็ใช้รักทาซ้ำๆ เรื่อยไปจนระดับเสมอกับเปลือกมุกพอดี...”
ในปัจจุบันแม้ว่ายังมีการผลิต “คัวฮักคัวหาง” อยู่บ้าง แต่การผลิตก็มีการปรับเปลี่ยนไปมากทั้งวัสดุที่ใช้และวิธีการผลิต
- วัสดุที่ใช้ในการผลิตวัสดุหลักของการผลิตคัวฮักคัวหางคือ ยางรัก ซึ่งในปัจจุบันนี้หายากและราคาแพงมาก บางครั้งมีเศษขยะ เช่น กิ่งไม้ เปลือกไม้ และใบไม้ปะปนอยู่ในยางรัก ต้องกรองเอาเศษขยะออกทำให้ได้ยางรักน้อยลง ประกอบกับยางรักเป็นพืชที่มีพิษและเป็นอันตราย เซอร์ จอห์น เบาว์ริงห์ อธิบายพิษของยางรักไว้ดังนี้ “...ยางรักมีคุณสมบัติที่ระคายเคือง มันไม่เพียงจะกัดผิวหนังทำให้เกิดแผลเป็นหนองแต่ว่าไอระเหยของยางรักนี้เป็นอันตรายกับดวงตาและทำให้เกิดหัวสิวขึ้นบนใบหน้า...” ดร.แดนบีช แบรดเลย์ เรียกอาการแบบนี้ว่า “รักกัด” โดยอธิบายว่า “...รักกัดคือรักดำๆ ลางคนเหนมันเข้า, มันทำให้ตัวคนนั้นเป็นผื่นพรึงบวมขึ้น...” จากเหตุผลดังที่กล่าวมานี้ ทำให้มีการนำวัสดุอื่นเข้ามาแทนที่ยางรักในขั้นตอนการผลิตบางตอนเช่น
- การรองพื้นวัสดุ ซึ่งเป็นขั้นตอนของการตกแต่งพื้นผิวให้เรียบ วัสดุที่ใช้ในการรองพื้นคือ สมุกรัก ซึ่งเป็นส่วนผสมระหว่างขี้เถ้าจากหญ้าคากับยางรัก แต่ในปัจจุบันช่างผลิตได้มีการปรับเปลี่ยนส่วนผสมของสมุกรักโดยใช้วัสดุที่หาง่ายมากขึ้น เช่น กลุ่มช่างบ้านนันทารามแม้จะยังใช้ยางรักอยู่แต่เปลี่ยนจากขี้เถ้าจากหญ้าคามาเป็นดินสอพอง ส่วนในกลุ่มช่างบ้านศรีปันครัวไม่ใช้ทั้งยางรักและขี้เถ้าจากหญ้าคาแต่หันมาใช้กาวลาเท็กซ์ผสมกับขี้เลื่อยแทน แต่ตัวขี้เลื่อยที่ใช้ต้องเป็นขี้เลื่อยจากไม้สักเท่านั้น
- ขั้นตอนการลงรัก แม้ว่าในปัจจุบันยังมีการใช้ยางรักในกลุ่มช่างบ้านนันทารามและกลุ่มช่างปกาเกอะญอบ้านต๋อม อำเภออมก๋อย ก็ตาม แต่ก็มีกลุ่มช่างบางแห่งคือ กลุ่มช่างบ้านศรีปันครัวหันมาใช้สีน้ำมันแทนยางรักและชาด โดยใช้สีดำแทนยางรัก สีแดงแทนชาด เหตุที่ต้องใช้สีดำและสีแดงมากกว่าสีอื่นเพราะเป็นจารีตนิยม โดยเฉพาะเครื่องเขินที่สัมพันธ์เกี่ยวเนื่องในศาสนาและพิธีกรรมต่างๆ เช่น ขันดอกต้องทาสีแดงและสีดำเสมอ รวมทั้งซ้าข้าว (ตะกร้า) ที่ชาวเชียงตุงในรัฐฉานใส่ข้าวของไปวัดส่วนใหญ่ทาด้วยสีแดง ซึ่งพวกเขาเล่าว่าต้องทาสีแดงเพราะซ้าที่ใส่ของไปวัดต้องเป็นสีแดง ซึ่งเป็นเช่นนี้มาตั้งแต่ปู่ย่าตาทวดแล้ว โดยปกติแล้วซ้าแดงนี้ลูกค้าชาวเชียงตุงนิยมซื้อซ้าที่ยังไม่ได้ทาสีไปทำเองมากกว่านิยมซื้อซ้าที่ทาสีแล้ว
การเปลี่ยนแปลงจากยางรักและชาดมาเป็นสีน้ำมันดังกล่าว นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงประโยชน์ใช้สอยของคัวฮักคัวหางด้วย กล่าวคือภาชนะที่ทาด้วยยางรักสามารถใส่อาหารรับประทานได้ แต่การใช้สีน้ำมันแทนยางรักทำให้ภาชนะชิ้นนั้นๆ ไม่สามารถใส่อาหารรับประทานได้ เพราะสีจะเป็นอันตรายต่อร่างกาย ฉะนั้นคัวฮักคัวหางเหล่านี้จึงกลายสถานะเป็นของฝากหรือของที่ระลึกมากกว่าเป็นภาชนะใส่อาหารเหมือนเช่นที่เคยเป็นมา เช่นจานที่นิยมทำในกลุ่มช่างบ้านศรีปันครัวนั้นช่างกล่าวว่าไม่สามารถใช้เป็นจานอาหารได้ แต่ทำขายเพื่อเป็นของที่ระลึกหรือใส่ของแห้งส่วนใบเล็กใช้เป็นแก้วรองน้ำ เป็นต้น
- เดิมการผลิตที่เริ่มจากการจักตอกเป็นเส้น ขึ้นรูปเป็นตัวภาชนะ ทาสมุก ลงรักและทำลวดลาย ขั้นตอนทั้งหมดจะทำเสร็จภายในชุมชนเดียว แต่ปัจจุบันขั้นตอนการผลิตเหล่านี้มีการแยกส่งให้ชุมชนอื่นที่มีความชำนาญกว่าช่วยกันทำ เช่น บ้านศรีปันครัวส่งงานที่ขึ้นรูปแล้ว คือกรอบรูปและจานให้ช่างนันทารามช่วยลงรักให้เพราะในกลุ่มช่างศรีปันครัวไม่ทำงานที่ลงยางรักและชาดแล้ว แต่ใช้สีน้ำมันเข้ามาแทนที่ นอกจากนั้นช่างศรีปันครัวยังส่งปุง (ภาชนะใส่ของคล้ายกับกล่องข้าวเหนียว) ที่ขึ้นรูปเสร็จแล้วให้กับช่างบ้านถวายเพื่อนำไปตกแต่ง เช่น ทาสี ถักหวาย เป็นเส้นร้อยรอบตัวปุงเพิ่มความงามและราคาให้สูงขึ้น
บทสรุป : สถานะของเครื่องเขินในสังคมปัจจุบัน
เมื่อเครื่องใช้ในกลุ่มพลาสติก อลูมิเนียมและสแตนเลสเข้ามาแทนที่ เครื่องเขินซึ่งแม้ว่าจะยังคงมีการผลิตอยู่แต่ก็เหลือน้อยมากและพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปทั้งประโยชน์ใช้สอย วัสดุที่ใช้และวิธีการผลิต จากการสำรวจและทำวิจัยในปัจจุบันพบว่าเครื่องเขินอยู่ในฐานะเป็นของสะสมและของที่ระลึกมากกว่าใช้จริงอย่างที่เคยเป็นมา
เครื่องเขินในฐานะของสะสม หมายถึงการเก็บรักษาเพื่อการอนุรักษ์และการศึกษาภูมิปัญญาของบรรพบุรุษโดยผ่านเครื่องเขิน คนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่สะสมเครื่องเขินโบราณที่ปัจจุบันไม่มีการใช้แล้วกับของใหม่ที่เลียนแบบของเดิมและของที่มีการพัฒนารูปแบบ วัสดุและวิธีการผลิตแบบใหม่
เครื่องเขินในฐานะของที่ระลึก การสะสมเป็นของที่ระลึกส่วนใหญ่เป็นของที่ทำขึ้นใหม่ในปัจจุบันทั้งเลียนแบบของโบราณและรูปทรงใหม่ ความนิยมในการใช้เครื่องเขินในฐานะเป็นของที่ระลึกและของฝากมีมานานแล้ว อย่างน้อยในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 25 เมื่อสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเสด็จไปพุกามและได้รับคำบอกเล่าเรื่องที่รัฐบาลสนับสนุนให้มีการตั้งโรงเรียนสำหรับฝึกช่างทำของลงรักสำหรับขายให้ฝรั่งที่เมืองย่างกุ้ง “...เดี๋ยวนี้รัฐบาลตั้งโรงเรียนช่างรักขึ้นแห่ง ๑ อยู่ไม่ห่างที่พักนัก ที่โรงเรียนนั้นทำแต่ของฝีมือดี และมักทำของแปลกๆ ส่งไปขายฝรั่งที่เมืองร่างกุ้ง...” ข้อความดังกล่าวสอดคล้องกับคำบอกเล่าของนางจันติ๊บ ช่างทำเครื่องเขินที่เชียงตุงที่กล่าวว่า ตอนที่เจ้าฟ้าเชียงตุงยังมีอำนาจอยู่นั้นได้เข้ามาเป็นผู้อุปถัมภ์การทำเครื่องเขินและหาตลาดให้ ตลาดที่สำคัญคือร่างกุ้ง นางจันติ๊บเล่าให้ฟังว่าเจ้าฟ้าเคยนำเครื่องเขินไปขายให้กับฝรั่งที่ร่างกุ้งด้วยตนเอง
จากการกลายเป็นของที่ระลึกนี้เองทำให้ช่างปัจจุบันหันมาผลิตเครื่องเขินในรูปทรงใหม่มากขึ้น เช่น กล่องใส่ทิชชู กล่องสบู่ กรอบรูป โคมไฟ และแก้วกาแฟ เป็นต้น
เครื่องเขินในฐานะของใช้ในชีวิตประจำวัน เครื่องเขินที่ใช้ในชีวิตประจำวันมีอยู่ 2 กลุ่ม คือ
- การใช้ในลักษณะนี้ทำให้เครื่องเขินบางชิ้นต้องเปลี่ยนรูปแบบใช้สอย เช่น นำแอ็บขนาดเล็กไปใส่คลิปหนีบกระดาษ ใช้ขันแดงวางของใช้ เช่น แจกัน กรอบรูป และโทรศัพท์ ใช้โตกเป็นพานใส่ผลไม้ เป็นต้น
- เช่นในกลุ่มปกาเกอะญอยังใช้ภาชนะที่เป็นคัวฮักคัวหางทั้งในชีวิตประจำวันและพิธีกรรม จากการใช้จริงทำให้มีการผลิตเพื่อขายให้ชาวปกาเกอะญอด้วยกัน นายมานะกล่าวว่า “...ตอนนี้ยังทำขายอยู่ ตะกร้าใบเล็ก 40 บาท ใบใหญ่ 50 บาท ส่วนแอ็บราคา 150 บาท ทั้งใบเล็กและใบใหญ่ กลุ่มที่เข้ามาซื้อจะเป็นกลุ่มปกาเกอะญอในแถบแม่สะเรียง...” แต่ตอนนี้ก็ผลิตน้อยลงเพราะคนใช้มีจำกัดและส่วนใหญ่ใช้ในงานประเพณีเท่านั้น ส่วนเครื่องใช้ในครัวเรือนก็หันมาใช้เครื่องใช้พลาสติกซึ่งถูกและหาง่ายกว่า
รายการอ้างอิง
- กรมศิลปากร. กองโบราณคดี. (2531). โบราณคดีสีคราม = Underwater archaeology in Thailand. กรุงเทพฯ: กรม.
- ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จกรมพระยา. (2517). เที่ยวเมืองพม่า. กรุงเทพฯ: คลังวิทยา.
- พจนานุกรมภาษาถิ่นภาคเหนือ. (2539). เชียงใหม่: ส.ทรัพย์การพิมพ์.
- บ็อค, คาร์ล. (2550). ท้องถิ่นสยามยุคพระพุทธเจ้าหลวง (พิมพ์ครั้งที่ 5). กรุงเทพฯ: มติชน.
- เบาว์ริง, เซอร์ จอห์น. (2547). ราชอาณาจักรและราษฎรสยาม = The Kingdom and people of Siam. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย.
- แบรดเลย์, แดนบีช. (2514). หนังสืออักขราภิธานศรับท์ = Dictionary of the Siamese language. กรุงเทพฯ: คุรุสภา.
- ปาลเลกัวซ์, ฌัง บัปติสต์. (2520). เล่าเรื่องกรุงสยาม (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ: ก้าวหน้า.
- เมนซีส์, กาวิน. (2550). 1421 ปีที่จีนค้นพบโลก. กรุงเทพฯ: มติชน.
- โยเนะโอะ, อิชิอิ และโทชิฮารุ, โยชิกาวะ. (2530). ความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น 600 ปี. กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.
- วินัย พงศ์ศรีเพียร. (บก.). (2542). จดหมายเหตุนครเชียงใหม่. กรุงเทพฯ: คณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทย สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี.
- วิถี พานิชพันธ์. (2544). ศิลปะเครื่องเขินในล้านนา. สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่: เชียงใหม่.
- สิงฆะ วรรณสัย. (2522). โคลงเรื่อง มังทรารบเชียงใหม่ (พิมพ์ครั้งที่ 2). เชียงใหม่: ศูนย์หนังสือเชียงใหม่.
- สำนักนายกรัฐมนตรี. คณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์. (2514). ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ จากต้นฉบับใบลาน อักษรไทยยวน. กรุงเทพฯ: สำนัก.
- โอร์ต, ปิแอร์. (2539). ล้านนาไทยในแผ่นดินพระพุทธเจ้าหลวง. กรุงเทพฯ: การันต์.