ความเป็นมาของโครงการ
สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตระหนักถึงความสำคัญของการเป็นแหล่งรวบรวมองค์ความรู้และการให้บริการข้อมูลท้องถิ่นภาคเหนือ โดยได้กำหนดให้เป็นหนึ่งในพันธกิจหลักของสำนักหอสมุด และได้กำหนดยุทธศาสตร์ในการพัฒนาศูนย์ข้อมูลท้องถิ่นภาคเหนือในแผนกลยุทธ์ สำนักหอสมุด ระยะ ๕ ปี (พ.ศ.๒๕๕๕-๒๕๕๙) ด้วย ทั้งนี้ เพื่อพัฒนาการเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านข้อมูลท้องถิ่นภาคเหนือที่พร้อมให้บริการ และสนับสนุนการเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ของประชาคมในมหาวิทยาลัยและสังคมภาคเหนือ
ตั้งแต่ปีงบประมาณ ๒๕๕๐ เป็นต้นมา สำนักหอสมุดได้กำหนดแนวคิดในการให้บริการข้อมูลภาคเหนือ ผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์ทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย จึงได้ร่วมมือกับสำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ (ชื่อเดิม สำนักบริการคอมพิวเตอร์) ในการจัดทำและเผยแพร่ข้อมูลภาคเหนือในรูปแบบ e-Northern Information ในลักษณะมัลติมีเดีย และได้กำหนดเป็นกิจกรรมหนึ่งในโครงการบูรณาการห้องสมุดที่มีชีวิต (Living Library) เพื่อพัฒนาสังคมการเรียนรู้ ซึ่งในปีแรกนี้ ได้ร่วมกันจัดทำและเผยแพร่ข้อมูล “อาหารพื้นบ้านล้านนา” ผ่านเว็บไซต์ของสำนักหอสมุด ที่ http://lannainfo.library.cmu.ac.th/lannafood เพื่อเผยแพร่ข้อมูลภาคเหนือ และอนุรักษ์ สืบสาน พัฒนา เผยแพร่เอกลักษณ์ศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาล้านนา ตลอดจนดำเนินงานด้านบริการสารนิเทศที่สนองต่อนโยบายอาหารปลอดภัย (Food Safety) ของรัฐบาล ในรูปแบบที่สามารถค้นหาข้อมูลได้ในรูปมัลติมีเดีย อย่างสะดวกรวดเร็ว ทุกที่ทุกเวลา และเผยแพร่ได้อย่างกว้างขวาง ในปีงบประมาณ ๒๕๕๒ นี้ ได้ปรับปรุงเว็บไซต์เป็นภาษาอังกฤษ ทำให้เป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้บริการอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น
ในปีงบประมาณ ๒๕๕๑ สำนักหอสมุดและสำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศได้ร่วมกันจัดทำและเผยแพร่ข้อมูล “ภาพล้านนาในอดีต” ผ่านเว็บไซต์ของสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ http://lannainfo.library.cmu.ac.th/picturelanna โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมและเผยแพร่ภาพล้านนาในอดีต เปรียบเทียบกับภาพปัจจุบันและคำอธิบายภาพในรูปสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เผยแพร่ข้อมูลภาคเหนือที่มีคุณค่าต่อการศึกษาค้นคว้าและวิจัย และปลุกจิตสำนึกในการรักษามรดกทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ความรักและหวงแหนความเป็นล้านนาของผู้คนในภาคเหนือ โดยในปี ๒๕๕๑ ดำเนินการเผยแพร่ภาพล้านนาในอดีตเฉพาะเชียงใหม่ ลำพูน แม่ฮ่องสอน และเชียงราย ซึ่งเป็นผลงานของนายบุญเสริม สาตราภัย และเผยแพร่ชีวประวัติของท่าน ในฐานะบุคคลสำคัญด้านการบันทึกภาพประวัติศาสตร์ของล้านนาและนักเล่าอดีตล้านนาจากภาพถ่าย ฐานข้อมูลภาพล้านนาในอดีต เป็นฐานข้อมูลภาพล้านนาฐานแรกของประเทศไทย ที่ให้ข้อมูลประกอบภาพอย่างละเอียด สามารถอ้างอิงได้ และมีมาตรฐานในการจัดเก็บและการสืบค้นข้อมูลตามมาตรฐานสากล ทำให้ผู้ใช้สามารถสืบค้นผ่านโปรแกรมค้นหา (search engine) ซึ่งเป็นจะประโยชน์ต่อผู้รับบริการเป็นอย่างกว้างขวาง ในปี ๒๕๕๒ นี้ ได้จัดทำเว็บไซต์และฐานข้อมูลเป็นภาษาอังกฤษ เพื่อให้ฐานข้อมูลสามารถเผยแพร่ได้อย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น
ในปีงบประมาณ ๒๕๕๒-๒๕๕๓ สำนักหอสมุดและสำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศได้ร่วมกันจัดทำและเผยแพร่ข้อมูล “ประเพณีล้านนา” ผ่านเว็บไซต์สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ http://lannainfo.library.cmu.ac.th/lannatradition โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมและเผยแพร่ประเพณีล้านนาในรูปสื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านเว็บไซต์และในรูปสื่อวิดีทัศน์ เป็นสร้างแหล่งข้อมูลประเพณีล้านนาให้แก่นักศึกษา อาจารย์ และประชาชนทั่วไป อีกทั้ง เป็นการสนับสนุนข้อมูลเพื่อการท่องเที่ยวในภาคเหนือเชิงวัฒนธรรม การทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมล้านนาในด้านข้อมูล อันเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาค้นคว้าอย่างกว้างขวาง ตลอดจนปลุกจิตสำนึกให้ชาวล้านนารู้สึกหวงแหน ตระหนักถึงคุณค่าของศิลปวัฒนธรรม และร่วมแรงร่วมใจอนุรักษ์ในแนวทางที่ถูกต้องและเหมาะสมต่อไป
การดำเนินการตามโครงการในปี ๒๕๕๒ จัดทำและเผยแพร่ข้อมูลประเพณีล้านนา จำนวน ๓ ประเพณี ได้แก่ ประเพณียี่เป็ง ประเพณีกินแขกแต่งงาน และประเพณีปีใหม่เมืองหรือสงกรานต์ล้านนา ในปี ๒๕๕๓ จัดทำและเผยแพร่ข้อมูลประเพณีสำคัญของล้านนาประจำเดือนต่างๆ อีก จำนวน ๒๐ประเพณี รวมทั้งหมด จำนวน ๒๓ ประเพณี นอกจากการเผยแพร่ข้อมูลในรูปบทความและฐานข้อมูลผ่านเว็บไซต์ และในรูปสื่อวิดีทัศน์ สำหรับการสืบค้นจากฐานข้อมูล ได้จัดทำทางเลือกในการสืบค้นจากคำสำคัญ หัวเรื่อง และผู้แต่ง/เจ้าของผลงาน ที่มีมาตรฐานในการจัดเก็บและการสืบค้นข้อมูลตามมาตรฐานสากล ทำให้ผู้ใช้สามารถสืบค้นผ่านโปรแกรมค้นหา ซึ่งเป็นจะประโยชน์ต่อผู้รับบริการเป็นอย่างกว้างขวาง และเพื่อให้ฐานข้อมูลสามารถเผยแพร่ได้อย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น ในปี ๒๕๕๓ สำนักหอสมุดและสำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ ได้ดำเนินการจัดทำเว็บไซต์และฐานข้อมูลประเพณีล้านนาเป็นภาษาอังกฤษ
ในปีงบประมาณ ๒๕๕๖ สำนักหอสมุด ได้ดำเนินการเพิ่มระเบียนภาพในฐานข้อมูลภาพล้านนาในอดีต ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ โดยได้เผยแพร่ภาพประวัติของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเป็นภาพเหตุการณ์หรือกิจกรรมสำคัญๆ ในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยได้รับความอนุเคราะห์ภาพจากงานโสตทัศนศึกษา สำนักหอสมุด จำนวน ๒๐๐ ภาพ นอกจากนี้ ยังได้รับความอนุเคราะห์จากคุณนเรนทร์ ปัญญาภู นักจดหมายเหตุ ได้ให้ความอนุเคราะห์ภาพสะสมซึ่งเป็นภาพในอดีตของจังหวัดลำพูน จำนวน ๓๐๐ ภาพ
ในปีงบประมาณ ๒๕๕๗ สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้จัดทำและเผยแพร่ข้อมูล “เครื่องเขินล้านนา” ผ่านเว็บไซต์สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ http://lannainfo.library.cmu.ac.th/lannalacquerware โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมและเผยแพร่ข้อมูลภาคเหนือในรูปสื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านเว็บไซต์สำนักหอสมุด รวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับเครื่องเขิน ซึ่งเป็นศิลปหัตถกรรมที่มีคุณค่าของท้องถิ่นล้านนา โดยให้ข้อมูลทางด้านประวัติความเป็นมา กรรมวิธีการผลิต ลวดลายเครื่องเขินในแต่ละท้องถิ่น และภาพสะท้อนจากอดีตถึงปัจจุบันของเครื่องเขิน อีกทั้ง ยังได้รวบรวมข้อมูลภาพและภาพเคลื่อนไหว จากแหล่งผลิตและแหล่งสะสมในภาคเหนือตอนบน ได้แก่ เชียงใหม่ ลำปาง แพร่ น่าน และจากชุมชนชาติพันธุ์ไท ณ เมืองเชียงตุง รัฐฉาน สาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า ทั้งนี้ เพื่อเป็นการอนุรักษ์ สืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นล้านนา และทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นในด้านข้อมูล อันเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาค้นคว้าอย่างกว้างขวาง ตลอดจนปลุกจิตสำนึกให้ชาวล้านนารู้สึกหวงแหน ตระหนักถึงคุณค่าของศิลปวัฒนธรรมของล้านนา
ด้านการสืบค้นจากฐานข้อมูล ได้จัดทำทางเลือกในการสืบค้นจากคำสำคัญ หัวเรื่อง ในการสืบค้น มีมาตรฐานในการจัดเก็บและการสืบค้นข้อมูลตามมาตรฐานสากล โดยมีการเชื่อมโยงคำสำคัญที่เกี่ยวข้องเข้าไว้ด้วยกัน ทำให้ผู้ใช้สามารถสืบค้นผ่านโปรแกรมค้นหา ในตัวเว็บไซต์เอง หรือผ่านโปรแกรมค้นหาจากภายนอก ซึ่งเป็นจะประโยชน์ต่อผู้รับบริการเป็นอย่างกว้างขวาง ตลอดจนเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สามารถเข้าถึงจากระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ทุกที่ทุกเวลา และทันกับความต้องการ โดยได้จัดทำทั้งเนื้อหาภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ทำให้การเผยแพร่สารสนเทศเป็นไปอย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้น