ถั่วฝักยาว


 
            ถั่วซั้ง ถั่วยาว ถั่วไส้หมู (รังสรรค์ จันต๊ะ และรัตนา พรหมพิชัย, 2542, 2634-2635) บ่าถั่ว (ประทุม อุ่นศรี, 2550, สัมภาษณ์; ศรีวรรณ จำรัส, 2550, สัมภาษณ์; ประธาน นันไชยศิลป์, 2550, สัมภาษณ์)
 
             มีถิ่นกำเนิดในจีนและอินเดีย เป็นเถาล้มลุก ลำต้นมีขนเล็กน้อยหรือแทบไม่มีขนเลย ใบเป็นใบประกอบ มีใบย่อย 3 ใบ ใบบนสุดกลมรี อีก 2 ใบ ข้างๆ กลมรี เบี้ยวเล็กน้อย ดอกเป็นช่อ แต่ละช่อมีดอกย่อย 2-3 ดอก กลีบดอกลักษณะคล้ายผีเสื้อ สีม่วงอ่อนหรือสีขาวออกเหลือง ผลเป็นฝัก ยาวประมาณ 20-60 เซนติเมตร ห้อยลง นิยมปลูกในเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนพฤศจิกายน ถั่วที่มีลักษณะคล้ายถั่วฝักยาวนี้คือ ถั่วปี (แต่มีขนาดสั้นกว่าและฝักสีขาวกว่า) และถั่วบ่าแป (มีขนาดสั้นและเล็กกว่า นิยมปลูกไว้กินเมล็ดในฝัก) (รังสรรค์ จันต๊ะ และรัตนา พรหมพิชัย, 2542, 2634-2635)
 
        
            มีคาร์โบไฮเดรต เส้นไย โปรตีน แคลเซียม ฟอสฟอรัส เหล็ก วิตามินเอ วิตามินบี1 วิตามินบี2 ไนอาซิน และวิตามินซี (ผักพื้นบ้าน อาหารพื้นเมือง, 2549, 49) ทางอาหารนั้น ชาวล้านนานิยมปลูกถั่วซั้งโดยทั่วไป และนำฝักอ่อนประกอบอาหารประเภทแกงใส่ผักชะอม ปลาย่าง เนื้อหมู หรือเนื้อควาย เรียกว่า แกงบ่าถั่วใส่ผักหละ หรือจะแกงบ่าถั่วอย่างเดียวก็ได้ หรือนำมามาประกอบอาหารประเภทคั่ว เช่น คั่วบ่าเขือบ่าถั่ว นอกจากนั้น ในระยะหลังยังนำมาตำดิบ ใส่ส้มตำมะละกอ หรือใช้เป็นผักจิ้มน้ำพริกปลา น้ำพริกอ่อง ลาบปลา ลาบหมู ลาบวัว ลาบควาย เป็นต้น (รังสรรค์ จันต๊ะ และรัตนา พรหมพิชัย, 2542, 2634-2635; ประทุม อุ่นศรี, 2550, สัมภาษณ์; ศรีวรรณ จำรัส, 2550, สัมภาษณ์)
        
ฝักสดเคี้ยวแก้ท้องอืดแน่นเฟ้อ เปลือกฝักระงับปวด แก้บวม ปวดเอว กระหายน้ำ ตกขาว ปัสสาวะขัด ใบแก้หนองใน ปัสสาวะมีหนอง และรากเป็นยาเจริญอาหาร แก้ฝี เป็นต้น รังสรรค์ จันต๊ะ และรัตนา พรหมพิชัย, 2542, 2635)
 
            ตลอดปี
 
 
            

ประทุม อุ่นศรี. (2550). สัมภาษณ์. 25 มิถุนายน.

ประธาน นันไชยศิลป์. (2550). สัมภาษณ์. 3 กรกฎาคม.

รังสรรค์ จันต๊ะ และรัตนา พรหมพิชัย. (2542). ถั่วซั้ง/ถั่วยาว. ใน สารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคเหนือ (เล่ม 5, หน้า 2634-2635). กรุงเทพฯ: มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์.

ศรีวรรณ จำรัส. (2550). สัมภาษณ์. 18 มิถุนายน.