พริกไทย


 
            พริกน้อย โฮ่วเจีย (จีน) (วุฒิ วุฒิธรรมเวช, 2540, 314; กัญจนา ดีวิเศษ และคณะ, 2542, 165)
 
            ต้น เป็นพรรณไม้เถาเลื้อยเป็นสีเขียวตลอดปี ลำต้นมีความสูงประมาณ 5 เมตร รากฝอยออกบริเวณข้อเพื่อใช้ยึดเกาะพันกับไม้ค้าง หรือพืชอื่นๆ เถาจะมีข้อปล้องเห็นได้ชัด ใบ เป็นใบเดี่ยวเรียงสลับกัน ลักษณะใบจะรีใหญ่ มีความยาว 8-16 ซม. และกว้าง 4-7 ซม. ตรงปลายใบแหลม ขอบใบเรียบ ท้องใบสีเขียวอมเทา และมีเส้นใบนูน ส่วนหลังใบสีเขียวเข้ม ดอก จะออกเป็นช่อจากข้อ ช่อดอกสีขาว ยาวประมาณ 10 ซม. ส่วนก้านดอกร่วมยาวพอๆ กับก้านใบ ผล มีลักษณะกลม จะออกเป็นพวง เป็นช่อทรงกระบอกกลมยาว ช่อผลนั้นสีเขียว ส่วนผลแก่สีเหลืองและสีแดง ภายในมีเมล็ดกลม เมล็ดเดี่ยว (กัญจนา ดีวิเศษ และคณะ, 2542, 165) แหล่งปลูกแรก ๆ ปลูกมากบริเวณชายฝั่งตะวันออก ได้แก่ จันทบุรี และตราด ต่อมาขยายพื้นที่เพาะปลุกมายังภาคใต้ จังหวัดตรัง มีชื่อเป็นแหล่งพริกไทยคุณภาพดีเป็นที่ต้องการของตลาดยุโรปมาก ในสมัยรัชกาลที่ 2 ฝรั่งรูจักกันในนาม พริกไทยตรัง (ทวีทอง หงษ์วิวัฒน์, 2547, 168) พริกไทยขาวกับพริกไทยดำ เป็นเพียงกรรมวิธีการเตรียมที่แตกต่างกัน มิใช่พริกไทยต่างพันธุ์ พริกไทยขาวคือพริกไทยดำลอกเปลือกออก ส่วนพริกไทยดำ คือพริกไทยสดตากแห้ง การทำพริกไทยดำนั้น ใช้พริกที่แก่เต็มที่ โดยสังเตว่าสีของเมล็ดนั้น ออกส้มหรือไม่ก็แดง ตากแดดทั้งซังบนลานซีเมนต์ เพื่อไล่ความชื้นออก จากนั้นนำมานวดเอาซังหรือรวงออกแล้วตากแดดอีกสัก 3 แดด จนเมล็ดแห้งดำ ระหว่างที่ตาก ต้องคอยเกลี่ยเมล็ดทุกวัน พอดำได้ที่แล้ว เอามาเข้าเครื่องฝัดฝุ่นละอองออก จึงจะบรรจุใส่กระสอบรอการจำหน่ายได้ (ทวีทอง หงษ์วิวัฒน์, 2547, 168) การทำพริกไทยขาว หรือพริกไทยล่อน ใช้พริกไทยที่มีผลสุกในหนึ่งรวงประมาณ 3-4 ผลขึ้นไป เลือกเก็บเฉพาะพริกหัวเหลืองเท่านั้น เอาพริกไทยทั้งหมดมากองสุม แล้วคลุมด้วยกระสอบให้อับ เพื่อให้พริกไทยเปื่อย บ่มไว้อย่างนี้ประมาณ 2-3 วัน พอมีกลิ่นเหม็น เอาออกมาแช่น้ำประมาณ 1 สัปดาห์ เพื่อให้เปลือกหลุดล่อนออกมา ล้างน้ำให้สะอาดจนหมดกาก นำไปตากแห้ง 3-4 แดดจัด (ทวีทอง หงษ์วิวัฒน์, 2547, 168)
 
        
            ไม่มีข้อมูลทางสารอาหาร สำหรับทางอาหารนั้น เมล็ดอ่อน ใช้ใส่ผัดเผ็ดต่างๆ และผัดฉ่า เมล็ดแก่ตากแห้งใช้เป็นเครื่องเทศ เป็นเครื่องชูรสอาหารหลายอย่าง (กัญจนา ดีวิเศษ และคณะ, 2542, 165) ชาวล้านนาใช้เมล็ดแก่พริกไทยดำเป็นเครื่องปรุงพริกลาบ หรือน้ำพริกลาบ (ประธาน นันไชยศิลป์, 2550, สัมภาษณ์)
        
ใบ รสเผ็ดร้อน แก้ลมจุกเสียดแน่น แก้ปวดมวนท้อง
ดอก รสร้อน แก้ตาแดง เนื่องจากความดันโลหิตสูง
เมล็ด รสเผ็ดร้อน แก้ลมอัมพฤกษ์ แก้ลมลั่นในท้อง บำรุงธาตุ แก้ท้องอืดเฟ้อ แก้เสมหะเฟื่อง แก้มุตกิจ
เถา รสร้อน แก้อุระเสมหะ และแก้อติสาร
ราก รสร้อน ขับลมในลำไส้ แก้ปวดท้อง แก้ลมวิงเวียน และช่วยย่อยอาหาร (กัญจนา ดีวิเศษ และคณะ, 2542, 165; วุฒิ วุฒิธรรมเวช, 2540, 314)
 
            ฤดูฝน (กัญจนา ดีวิเศษ และคณะ, 2542, 165)
 
 
            

กัญจนา ดีวิเศษ และคณะ, ผู้รวบรวม. (2542). ผักพื้นบ้านภาคกลาง. กัญจนา ดีวิเศษ บรรณาธิการ. นนทบุรี: โครงการพัฒนาตำรา สถาบันการแพทย์แผนไทย.

ทวีทอง หงษ์วิวัฒน์. (2547). สารานุกรมผัก. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: แสงแดด.

ประธาน นันไชยศิลป์. (2550). สัมภาษณ์. 3 กรกฎาคม.

วุฒิ วุฒิธรรมเวช. (2540). สารานุกรมสมุนไพร: รวมหลักเภสัชกรรมไทย. กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์.