ถั่วลิสง


 
            ถั่วดิน (ภาคเหนือ, อีสาน) ถั่วคุด (ประจวบคีรีขันธ์) (วุฒิ วุฒิธรรมเวช, 2540, 225)
 
            เป็นพืชล้มลุกอายุสั้นไม่เกิน 1 ปี เป็นไม้พุ่มเตี้ย ตามกิ่งก้านมีขน ต้นสูงไม่เกิน ๘๐ เซนติเมตร ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก ใบย่อยรูปขอบขนาน กว้าง 1.5 – 2.0 เซนติเมตร ยาว 2 – 5เซนติเมตร ดอกสีเหลือง ออกตรงง่ามใบกับต้น ดอกออกเป็นกระจุก ลักษณะเหมือนดอกถั่วชนิดอื่นๆ ผลเป็นฝักเจริญอยู่ใต้ดิน เปลือกฝักสีเหลืองอ่อน เปลือกหนา ฝักกลมยาว 1 – 5 เซนติเมตร ภายในฝักมีเมล็ดสีเนื้ออมม่วง จำนวน 1 – 6 เมล็ด ออกดอกช่วงหน้าฝน และออกผลช่วงหน้าหนาว เมื่อออกดอกออกผลแล้วต้นจะตาย (รังสรรค์ จันต๊ะ และรัตนา พรหมพิชัย, 2542, 2635-2636)
 
        
            ไม่มีข้อมูลสารอาหาร สำหรับทางอาหาร ในล้านนานอกจากนำถั่วดินมาต้มและนึ่งกินแล้ว ยังใช้เมล็ดผสมกับข้าวนึ่งทำเป็นข้าวต้มมัดใส่ข้าววิตู ข้าวเม่า ข้าวหลาม หรือทำเป็นไส้ขนมเทียนก็ได้ ตามตลาดหรือตามงานวัดต่างๆ แม่ค้ามักจะนำถั่วดินต้ม หรือถั่วดินตากแห้งคั่วใส่ถุงเล็กๆ พร้อมเกลือป่นขาย คนไทใหญ่ใช้ถั่วลิสงประกอบอาหาร เช่น แกงฮังเล น้ำพริกคั่ว เป็นต้น (รังสรรค์ จันต๊ะ และรัตนา พรหมพิชัย, 2542, 2635-2636)
        
เมล็ด รสมันหวาน บำรุงไขข้อ บำรุงเส้นเอ็น บำรุงร่างกาย บำรุงไขมัน ให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย แก้ปลายเท้า เหน็บชา บำรุงน้ำนม น้ำมันจากเมล็ด ช่วยหล่อลื่นลำไส้ ระบายท้อง ใบ รสมัน ตำพอกแผลฟกช้ำ แผลมีหนองเรื้อรัง ลดความดันโลหิตสูง (วุฒิ วุฒิธรรมเวช, 2540, 225)
 
 
 
            

รังสรรค์ จันต๊ะ และรัตนา พรหมพิชัย. (2542). ถั่วดิน. ใน สารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคเหนือ (เล่ม 5, หน้า 2635-2636). กรุงเทพฯ: มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์.

วุฒิ วุฒิธรรมเวช. (2540). สารานุกรมสมุนไพร: รวมหลักเภสัชกรรมไทย. กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์.