เห็ดหูหนู


 
            เห็ดหูลัวะ เห็ดหูแมว (รัตนา พรหมพิชัย, 2542, 7618)
 
            เป็นเห็ดที่ขึ้นตามขอนไม้ ดอกเห็ดเป็นแผ่นใสคล้ายวุ้น ด้านหนึ่งของดอกเห็นมีลักษณะมันเป็นเงา มีสีน้ำตาลปนดำ สีน้ำตาลปนแดง หรือสีขาวนวล แล้วแต่ชนิด อีกด้านหนึ่งมีลักษณะเป็นขนละเอียดอ่อนคล้ายกำมะหยี่หรือขนหยาบและมีสีอ่อนกว่า บางชนิดมีก้านสั้นๆ ยึดติดกับขอนไม้ตรงกลางดอกหรือค่อนไปข้างใดข้างหนึ่ง เนื้อเยื่อดอกเห็ดยืดหยุ่นคล้ายวุ้นแต่เหนียว ด้านบนของเห็ดหูหนูส่วนมากมีรอยจีบหรือหยักเป็นคลื่น ขนาดของเห็ดก็แตกต่างกันไปแล้วแต่ชนิดขนาดกว้าง ตั้งแต่ ๒-๑๕ เซนติเมตร (รัตนา พรหมพิชัย, 2542, 7618)
 
        
            ชาวล้านนานำเห็ดหูหนูมาประกอบอาหาร เช่น นำมาแกงใส่ถั่วฝักยาว ผักชะอม หรือใส่แกงแค หรือลวกใส่ยำวุ้นเส้น และต้มจืดวุ้นเส้น (รัตนา พรหมพิชัย, 2542, 7618)
        
ภายในเห็ดจะมีสารอาหารหลายตัวรวมไปถึง “อะดีโนซีน” สารตัวเดียวกับที่มีในกระเทียมและหอมหัวใหญ่ เมื่อทานไปแล้วจะช่วยลดความเหนียวข้นของเลือด ทำให้เลือดไม่เป็นลิ่มเลือดไปอุดตันเส้นเลือดหัวใจ ช่วยลดระดับไขมันในเลือด ทำให้หัวใจแข็งแรง ไม่เกิดอาการหลอดเลือดตีบตัน ช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ที่ตึงเครียดให้คลายตัว ช่วยบำรุงสายตา บำรุงตับ บำรุงผิว ให้เปล่งปลั่งสดใส (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาพ, 2554) ชาวจีนถือว่าเห็ดหูหนูเป็นยาอายุวัฒนะ ช่วยรักษาโรคร้อนใน โลหิตจาง และแก้เจ็บคอได้ ช่วยขับลมในกระเพาะอาหาร ต้มกับน้ำตาลจิบแก้ไอ (นิดดา หงษ์วิวัฒน์ และคณะ, 2548, 301)
 
            ทุกฤดู
 
 
            

รัตนา พรหมพิชัย. (2542).เห็ดหูลวะ.ใน สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ (เล่ม 14, หน้า 7618).กรุงเทพฯ: มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์.

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาพ. (2554). แนะทาน เห็ดหูหนู สรรพคุณ ลดเลือดอุดตัน. ค้นเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2554จาก http://www.thaihealth.or.th/healthcontent

นิดดา หงษ์วิวัฒน์ และคณะ, ผู้รวบรวม.(2548).ผัก 333 ชนิด คุณค่าอาหารและการกิน.ทวีทอง หงษ์วิวัฒน์(บรรณาธิการ). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แสงแดด.