ขิง


 
            ขิงเผือก ขิงหยวก ขิงบ้าน (รัตนา พรหมพิชัย, 2542, 694)
 
            เป็นพืชล้มลุก มีเหง้าใต้ดิน สูงประมาณ 1 เมตร ใบรูปพาย กาบใบยาวหุ้มลำต้น ดอกเล็กๆ เป็นช่อทรงกระบอกตั้งออกจากเหง้าใต้ดิน กาบสีแดง กลีบสีเหลืองอมเหลือง นิยมปลูกไว้ปรุงอาหาร ปลูกได้ทั่วประเทศ ขยายพันธุ์โดยการแยกหน่อ ขิงชนิดที่หัวเล็กกว่าและฉุนกว่า เรียกว่า ขิงแครง หรือขิงป่า ขิงเขา ขิงแคลง (ชาวล้านนาเรียก ขิงแกง) เหมือนขิงบ้าน แต่ขนาดเล็กกว่า รสเผ็ดและขมกว่าขิงบ้าน ขึ้นตามป่าเขาทั่วไป สรรพคุณ แรงกว่าขิงบ้าน (วุฒิ วุฒิธรรมเวช, 2540, 134-135)
 
        
            มีโปรตีน คาร์โบไฮเดรต แคลเซียม เหล็ก ฟอสฟอรัส ไนอาซิน วิตามินซี เส้นใย (ผักพื้นบ้าน อาหารพื้นเมือง, 2550, 38) ชาวล้านนา ใช้ทั้งเหง้าและใบในการปรุงอาหาร ทั้งอาหารคาวและหวาน เหง้าใช้เป็นส่วนผสมน้ำพริกขิง เป็นเครื่องปรุงแกงฮังเล ใบ ใช้เป็นส่วนผสมแกงแค แอ็บปลา แอ็บอีฮวก (ลูกอ๊อด) เพื่อดับคาว และเพิ่มกลิ่นหอมให้กับอาหาร .ใช้ใบสดเป็นเครื่องเคียง ยำหน่อไม้ คั่วหน่อไม้ หรือใช้ผัดลงไปกับคั่วหน่อไม้ เหง้าอ่อน นำไปดอง เป็นขิงอ่อนดอง ใช้เป็นเครื่องเคียงเหมี้ยง (รัตนา พรหมพิชัย, 2542, 694-695)
        
เหง้า รสหวานเผ็ดร้อน แก้ท้องอืด จุกเสียด แน่นเฟ้อ คลื่นไส้อาเจียน แก้หอบไอ ขับเสมหะ แก้บิด สารสำคัญในน้ำมันหอมระเหย จะออกฤทธิ์กระตุ้นการบีบตัวของกระเพาะอาหารและลำไส้ ใช้เหง้าแก่ทุบหรือบดเป็นผง ชงน้ำดื่ม แก้อาการคลื่นไส้อาเจียนแก้จุกเสียด แน่นเฟ้อ เหง้าสด ตำและคั้นเอาแต่น้ำผสมกับน้ำมะนาว เติมเกลือเล็กน้อย จิบแก้ไอ ขับเสมหะ ข้อควรระวัง น้ำขิงที่เข้มข้นมากๆ จะออกฤทธิ์ตรงข้ามกัน คือระงับการบีบตัวของลำไส้ ควรใช้ในปริมาณที่พอดี ต้น รสเผ็ดร้อน ขับลมให้ผายเรอ แก้จุกเสียด แก้ท้องร่วง ใบ รสเผ็ดร้อน บำรุงกำเดา แก้ฟกช้ำ แก้นิ่ว แก้ขัดปัสสาวะ แก้โรคตา ฆ่าพยาธิ ดอก รสเผ็ดร้อน แก้โรคประสาทซึ่งทำใจให้ขุ่นมัว ช่วยย่อยอาหาร แก้ขัดปัสสาวะ ราก รสหวานเผ็ดร้อนขม แก้แน่ แก้เสมหะ เจริญอาหาร แก้ลม แก้บิด บำรุงเสียงให้ไพเราะ ผล รสหวานเผ็ด บำรุงน้ำนม แก้ไข้ แก้คอแห้ง เจ็บคอ แก้ตาฟาง เป็นยาอายุวัฒนะ

สำหรับขิงแครง หรือขิงป่า ใช้เหง้า เป็นยาแก้ไข แก้พรรดึก แก้ลมพานไส้ จุกเสียดแน่น นอนไม่หลับ คลื่นเหียนอาเจียน (วุฒิ วุฒิธรรมเวช, 2540, 134-135)

ข้อบ่งใช้ทางเภสัชกรรมล้านนา เป็นส่วนประกอบในตำรับยาเลือดขึ้น ยาผีเครือสันนิบาต ยาคอแห้ง ยากินข้างบ่ลำ ยาไอเกี่ยวลม ((จีรเดช มโนสร้อย และอรัญญา มโนสร้อย, 2537, 90)
 
 
 
            

จีรเดช มโนสร้อย และอรัญญา มโนสร้อย. (2537). เภสัชกรรมล้านนา: ตำรับยาสมุนไพรล้านนา. กรุงเทพฯ: สถาบันการแพทย์แผนไทย.

รัตนา พรหมพิชัย. (2542). ขิง. ใน สารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคเหนือ (เล่ม 2, หน้า 694-695). กรุงเทพฯ: มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์.

วุฒิ วุฒิธรรมเวช. (2540). สารานุกรมสมุนไพร: รวมหลักเภสัชกรรมไทย. กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์.