มะเม่า


 
            เหม้า หมากเหม้า บ่าเหม้า (ภาคเหนือ) มะเม่า ต้นเม่า หมากเม่า (ภาคกลาง)
 
            พืชตระกูลมะเม่านี้มีด้วยกัน 170 ชนิด กระจายอยู่ในเขตร้อนของอัฟริกา เอเซีย ออสเตรเลีย หมู่เกาะของอินโดนีเซีย เกาะต่าง ๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิก มะเม่ามีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Antidesma thwaitesianum ที่พบมากในประเทศไทยมีอยู่ด้วยกัน 5 พันธุ์ คือ มะเม่าสร้อย มะเม่าไข่ปลา มะเม่าควาย มะเม่าดง และมะเม่าหลวง มะเม่าเป็นไม้ยืนต้นไม่ผลัดใบ ต้นสูง 5-10 เมตร มะเม่าเมื่อโตเต็มที่จะมีขนาด 4 คนโอบ อายุยืนยาว มะเม่าเป็นไม้พื้นเมืองเนื้อแข็ง แตกกิ่งก้านมาก กิ่งแขนงแตกเป็นพุ่มทรงกลม ใบเป็นใบเดี่ยว ผิวใบเรียบเป็นมันทั้งสองด้าน สีเขียวสด ใบออกหนาแน่นเป็นร่มเงาได้ดี ดอกขนาดเล็กสีขาวอมเหลือง ออกดอกเป็นช่อยาวตามซอกใบและปลายกิ่ง ช่อดอกเป็นแบบ raceme คล้ายช่อดอกพริกไทย ดอกแยกเพศกันอยู่คนละต้นเป็นแบบ dioecious ออกดอกช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน สุกในเดือนสิงหาคม-กันยายน ผลมีขนาดเล็กเป็นพวง ภายใน 1 ผลประกอบด้วย 1 เมล็ด เปลือกหุ้มเมล็ดแข็ง ผลดิบสีเขียวอ่อนหรือเขียวเข้ม มีรสเปรี้ยว พอสุกจะเปลี่ยนเป็นสีแดงและม่วงดำในที่สุด ผลสุกจะมีรสหวานอมเปรี้ยวปนฝาด ขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และตามหัวไร่ปลายนาของทุกภาคในประเทศไทย จังหวัดกาญจนบุรีมีต้นมะเม่าเกิดขึ้นในป่าเป็นจำนวนมาก (โอภาษ บุญเส็ง, 2550) ขยายพันธุ์ ด้วยการตอนกิ่ง (กรมส่งเสริมการเกษตร, 2550)
 
        
            ผลมะเม่า 100 กรัม ให้พลังงานแก่ร่างกาย 75.20 กิโลแครอรี ประกอบด้วย โปรตีน 0.63 กรัม เยื่อใย 0.79 กรัม คาร์โบไฮเดรต 17.96 กรัม แคลเซียม 13.30 มิลลิกรัม เหล็ก 1.44 มิลลิกรัม วิตามินซี 8.97 มิลลิกรัม วิตามินบี 1 4.50 ไมโครกรัม วิตามินบี 2 0.03 ไมโครกรัม วิตามินอี 0.38 (โอภาษ บุญเส็ง, 2550 (ข้อมูลจาก กองวิทยาศาสตร์ชีวภาพ มหาวิทยาลัยราชมงคลอิสานสกลนคร) ปัจจุบันสถาบันวิจัยและฝึกอบรมการเกษตร จังหวัดสกลนคร ได้นำเอาผลของ มะเม่า ไปผลิตเป็นไวน์ เรียกว่าไวน์มะเม่า รสชาติอร่อยไม่แพ้ไวน์จากต่างประเทศ และทำน้ำมะเม่าเข้มข้น (กรมส่งเสริมการเกษตร, 2550) ชาวล้านนา นิยมนำใบและยอดอ่อนของมะเม่าควาย หรือเหม้าตาควาย (ภาคเหนือ) มะเม่าหลวง หรือเหม้าเสี้ยน (ภาคเหนือ) ใส่แกงเห็ดเผาะ (แกงเห็ดถอบ) แกงเห็ดตับเต่า (แกงเห็ดห้า)
        
ต้น, ราก มีรสจืด แก้กษัย ขับปัสสาวะ บำรุงไต แก้มดลูกพิการ แก้ตกขาว เส้นเอ็นพิการ แก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย แก้มดลูกอักเสบช้ำบวม ขับโลหิต และน้ำคาวปลา (กรมส่งเสริมการเกษตร, 2550; วุฒิ วุฒิธรรมเวช, 2540, 363)

ข้อบ่งใช้ทางเภสัชกรรมล้านนา ใช้มะเม่าควาย หรือเหม้าตาควาย เป็นส่วนประกอบของยามะโหก (ยารักษาโรคกระษัย) (รัตนา พรหมพิชัย, 2542, 7626)
 
 
 
            

กรมส่งเสริมการเกษตร. (2550). ถาม-ตอบ ปัญหาการเกษตร. ค้นวันที่ 20 มิถุนายน 2550 จาก http://3w.doae.go.th/webboard/view.asp?room=7&ID=1405

รัตนา พรหมพิชัย. (2542). เหม้า. เหม้าตาควาย เหม้าสาย. ใน สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ (เล่ม 15, หน้า 7625-7626). กรุงเทพฯ: มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์.

วุฒิ วุฒิธรรมเวช. (2540). สารานุกรมสมุนไพร: รวมหลักเภสัชกรรมไทย. กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์.

โอภาษ บุญเส็ง. (2550). ไวน์มะเม่า...ที่สังขละบุรี. กสิกร,80(2)ค้นวันที่ 13 พฤศจิกายน 2550 จาก http://www.doa.go.th/th/ShowArticles.aspx?id=2962