ฟักทอง


 
            ฟักทอง (ภาคกลาง) บ่าฟักแก้ว บ่าน้ำแก้ว (ภาคเหนือ) หมากฟักเหลือง (ไทใหญ่-แม่ฮ่องสอน) หมักอื้อ หมักคี้ส่า เหลืองคี้ส่า (รัตนา พรหมพิชัย, 2542, 4905) น้ำเต้า (ภาคใต้) (กัญจนา ดีวิเศษ และคณะ, 2548, 167)
 
            ต้น เป็นพรรณไม้ล้มลุกปีเดียว ลำต้นเป็นเถาเลื้อยไปตามพื้นดิน และต้องมีหลักยึด ตามลำต้นมีมือไว้เกาะปลายมีเกาะแยกเป็นหนวด 3-4 เส้น ลำต้นอ่อนมักเป็น 5 เหลี่ยมหรือกลม เถายาว ใหญ่ และมีขนสากๆ ปกคลุมทั่วไป ใบ เป็นใบเดี่ยวออกตามลำต้น ใบของฟักทองเป็นแผ่นใหญ่สีเขียวเนื้อใบนุ่ม ใบรูปร่าง 5-7 เหลี่ยม หรือเกือบกลม ขอบใบมีหยักเว้าลึก 5-7 หยัก หรือแยกออกเป็น 5 หยัก กว้าง 10-20 ซม. ยาว 15-30 ซม.มีขนสากๆ มือปกคลุมอยู่ทั่วทั้งใบ ดอก เป็นดอกเดี่ยวออกตามง่ามใบและที่ส่วนยอดของเถา ลักษณะของดอกเป็นรูปกระดิ่งสีเหลือง ในดอกตัวเมียเมื่อบานเต็มที่แล้ว จะมองเห็นผลเล็กๆ ติดอยู่ที่ใต้กลีบดอก ผล มีขนาดใหญ่หรือมีรูปร่างและขนาดแตกต่างกันตามพันธุ์ อาจมีรูปร่างตั้งแต่กลมจนถึงค่อนข้างแป้น ผลลักษณะเป็นพูกลมจะมีทั้งทรงแบนและทรงสูง เปลือกของผลจะแข็งมีทั้งสีเขียวหรือสีน้ำตาลแดงขึ้นกับ ชนิดของฟักทอง เนื้อในผลสีเหลืองอมส้มหรือเหลืองอมเขียว มีเมล็ดจำนวนมากเมล็ด รูปไข่ แบน (กรมส่งเสริมการเกษตร, 2550)
 
        
            มีแคลเซียม ฟอสฟอรัส ธาตุเหล็ก วิตามินเอ วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 ไนอาซิน วิตามินซี (ผักพื้นบ้าน อาหารพื้นเมือง, 2550, 66) เป็นผักสุขภาพชั้นดี มีเบต้าแคโรทีนมาก ป้องกันมะเร็ง โดยฌพาะที่กระเพาะปัสสาวะ เนื่องจากมีธาตุเหล็ก วิตามินซี วิตามินบี 1 และวิตามิน บี 2 เหมาะเป็นอาหารลดน้ำหนัก เพราะมีเส้นใยมาก ไขมันน้อย แคลอรี่ต่ำ (ทวีทอง หงษ์วิวัฒน์, 2547, 97) ทางด้านอาหารของชาวล้านนานั้น ใช้ยอดอ่อน ใบอ่อน ดอก ผลอ่อน เป็นผักลวกจิ้มน้ำพริก ใช้แกงใส่ปลาร้า หรือใส่เนื้อหมู ตามชอบ ยอดซอยเป็นชิ้นเล็ก คั่วใส่ใข่ เรียกว่าคั่วยอดบ่าฟักแก้ว ใช้เป็นส่วนผสมของแกงแค คั่วแค ผลแก่ ใช้แกง เรียก แกงบ่าฟักแก้ว นิยมแกงใส่หมู และใบโหระพา ใช้คั่วใส่ไข่ หรือเนื้อหมู นึ่งจิ้มน้ำพริก เช่น น้ำพริกอ่อง น้ำพริกตาแดง น้ำพริกหนุ่ม น้ำพริกปลาร้า เป็นต้น ใช้ทำขนมหวาน เช่น ขนมบ่าฟักแก้ว (ขนมฟักทอง) เมล้ดใช้เมล้ดสด หรือตากแห้ง คั่วกับเกลือ รับประทานเป็นของขบเยวอย่างเมล็ดแตงโม (รัตนา พรหมพิชัย, 2542, 4905-4906)
        
เมล็ด ขับพยาธิตัวตืด ขับปัสสาวะ บำรุงร่างกาย
ราก บำรุงร่างกาย แก้ไอ ถอนพิษของฝิ่น
น้ำมันจากเมล็ด บำรุงประสาท
เยื่อกลางผล พอกแก้ฟกช้ำ แก้ปวดอักเสบ (กัญจนา ดีวิเศษ และคณะ, 2548, 167)

 
            ตลอดปี (กัญจนา ดีวิเศษ และคณะ, 2548, 167)
 
 
            

กรมส่งเสริมการเกษตร. (2550). ผักพื้นบ้าน. ค้นวันที่ 10 มิถุนายน 2550 จากhttp://singburi.doae.go.th/acri

กัญจนา ดีวิเศษ และคณะ, ผู้รวบรวม. (2548). ผักพื้นบ้านภาคเหนือ. เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ บรรณาธิการ. พิมพ์ครั้งที่ 2. นนทบุรี: ศูนย์พัฒนาตำราการแพทย์แผนไทย.

ทวีทอง หงษ์วิวัฒน์. (2547). สารานุกรมผัก. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: แสงแดด.

ผักพื้นบ้าน อาหารพื้นเมือง. (2550). กรุงเทพฯ: บริษัท ฟ้าอภัย จำกัด.

รัตนา พรหมพิชัย. (2542). ฟักแก้ว, บ่า. ใน สารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคเหนือ (เล่ม 9, หน้า 4905-4906). กรุงเทพฯ: มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์.