เตา


 
            เตา (ภาคเหนือ) เทา (ภาคอีสาน) (ผักพื้นบ้านอาหารไทย, 2548, 36; บุญยัง ชุมศรี และชรินทร์ แจ่มจิตต์, 2542, 2879)
 
            เป็นตะไคร่น้ำชนิด Spirogyra มีสีเขียวและเป็นเส้นยาวอย่างเส้นผม ไม่มีใบ ไม่มีดอก สืบพันธ์ได้ด้วยการขยายตัวให้มีปริมาณมากกว่าเดิม เกิดในน้ำนิ่ง หรือน้ำไหลเอื่อยๆ เพียงเล็กน้อยในระดับความลึก ประมาณ 6 นิ้ว ส่วนเทาที่ติดตามหินผาใต้น้ำในแม่น้ำโขง ซึงเป็นน้ำลึกค่อนข้างเชี่ยว เรียกว่า ไก มีลักษณะหยาบกว่าเทาในนา หรือในหนอง นำมารับประทานได้เช่นกัน (บุญยัง ชุมศรี และชรินทร์ แจ่มจิตต์, 2542, 2879)
 
        
            เบต้าแคโรทีน วิตามินเอ (ผักพื้นบ้าน อาหารไทย, 2548, 36) ชาวล้านนาใช้เตามาประกอบอาหารประเภทยำ เรียกว่า ยำเตา มีส่วนผสมสำคัญคือปูนา (น้อย จำรัส, 2550, สัมภาษณ์) คนรุ่นก่อนเรียกยำเตาว่า ลาบเขียว ว่ากันว่า ไม่นิยมรับประทานเทาระหว่างคนต่างครอบครัว เพราะมีความเชื่อว่า มักจะแหนงหน่ายกันในภายหลัง ซึ่งความเชื่ออย่างนี้มีอาหาร 3 อย่าง คือ ยำเตา แกงหอย และเนื้อเป็ด อาจเป็นเพราะว่า เมื่อก่อนบ้านเมืองอุดมสมบูรณ์ เตาเป็นของหาง่าย การที่เพื่อนมาหาทักที จะทำยำเตาเป็นอาหารให้เพื่อนรับประทาน เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ ส่วนแกงหอยนั้น ต้องใช้ปากดูด ทำให้ดูไม่เรียบร้อยทั้งเสียงและกิริยา และเป็ด เป็นเนื้อสัตว์ที่มีความเหนียว ขนมาก ทำยาก กว่าจะทำเสร็จ ก็ใช้เวลามาก (บุญยัง ชุมศรี และชรินทร์ แจ่มจิตต์, 2542, 2879) สำหรับคนอีสานใช้เตาทำลาบ ส่วนผสมสำคัญคือมะเขือขื่นและน้ำปลาร้า นอกจากนี้ นำมารับประทานเป็นผักสดจิ้มน้ำพริก (ผักพื้นบ้าน อาหารไทย, 2548, 36) การกินเทา และไก ต้องระวังด้วย เพราะเมื่อกินแล้ว จะทำให้อุณหภูมิในร่างกายลดลงอย่างมาก อีกทั้งความดันโลหิต และน้ำตาลในเลือด ก็จะลดลงอีกด้วย (บุญยัง ชุมศรี และชรินทร์ แจ่มจิตต์, 2542, 2879)
 
            ตลอดปี
 
 
            

น้อย จำรัส. (2550). สัมภาษณ์. 22 มิถุนายน.

บุญยัง ชุมศรี และชรินทร์ แจ่มจิตต์. (2542). เทา. ใน สารานุกรมวัฒนธรรม
ไทยภาคเหนือ
(เล่ม 6, หน้า 2879-2880). กรุงเทพฯ: มูลนิธิสารานุกรม
วัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์
.

ผักพื้นบ้าน อาหารไทย. (2548). กรุงเทพฯ: แสงแดด.