กล้วยน้ำว้า


 
            กล้วยมณีอ่อง มะลิอ่อง เจก ยะไข่ สะกุย แหลก กล้วยใต้ (กรมส่งเสริมการเกษตร, 2550)
 
            ต้น เป็นพืชล้มลุก ลำต้นเทียมเกิดจากกาบใบหุ้มซ้อนกัน มีขนาดใหญ่สูง 2 – 4 เมตร ใบ ใบสีเขียวขนาดใหญ่เป็นแผ่นยาว เส้นของใบขนานกัน ก้านใบเห็นชัดเจน ดอก เป็นดอกช่อลักษณะห้อยลง ยาว 25 – 30 ซม. เรียกว่า “ปลี” มีกาบหุ้มสีแดงม่วงเส้นใบขนานกัน ดอกย่อยออกเป็นแผง ดอกมีฐานดอกเป็นดอกตัวเมียส่วนปลายเป็นดอกตัวผู้ เมื่อดอกตัวเมียเริ่มเจริญเป็นผลดอกตัวผู้จะเริ่มร่วงหล่นไป ช่อดอกเจริญเป็นเครือกล้วย ผล ผลจะติดกันเป็นแผง เรียกว่า “หวี” ประกอบซ้อนกันหลายหวีเรียกว่า “เครือ” เครือละประมาณ 7 – 8 หวี เมื่อออกผลใหม่จะมีสีเขียวเมื่อสุกจะเป็นสีเหลือง แต่ละต้นจะให้ผลครั้งเดียวแล้วตายไป (กรมส่งเสริมการเกษตร, 2550)
 
        
            มีกรดแอมิโน วิตามินเอ บี และซี แคลเซียม เหล็ก โพแทสเซียม ทองแดง สารแทนนิน (ผักพื้นบ้าน อาหารพื้นเมือง, 2550, 32) กล้วยสุก ได้ชื่อว่าเป็นผลไม้เพิ่มพลัง เพราะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้นได้อย่างรวดเร็ว นอกนั้นยังมีโปรตีน แคลเซียม ฟอสฟอรัส ธาตุหล็ก วิตามินเอ วิตามินซีสูง สำหรับกล้วยดิบ แม้คุณค่าทางอาหารจะด้อยกว่า แต่ก็มีประโยชน์ช่วยรักษากระเพาะอาหารเป็นแผล และท้องร่วง ปลีกล้วยมีวิตามินซีสูง ใช้เป็นอาหารบำรุงน้ำนมใรหญิงที่คลอดบุตรใหม่ๆ (ทวีทอง หงษ์วิวัฒน์, 2548, 71) ชาวล้านนาใช้หัวปลี ปรุงอาหารประเภทแกงเป็น แกงปลี เชื่อว่าช่วยเพิ่มน้ำนมให้กับหญิงหลังครรภ์ (รัตนา พรหมพิชัย, 2542, 58) ใช้เป็นส่วนผสม ในการทำยำจิ๊นไก่ ต้มจิ้มน้ำพริก ใช้ลำต้น หรือหยวก ปรุงอาหารประเภทแกงเป็น แกงหยวก กล้วยดิบ นำมาปรุงอาหาร เป็นแกงกล้วยดิบ ซอยใส่ยำน้ำส่า หรือหลู้น้ำส่า (กากที่เหลือจากการต้มเหล้า) ผลสุก นำมาทำขนม เช่น ขนมกล้วย ข้าวต้มหัวหงอก ขนมวง กล้วยนึ่ง (ประทุม อุ่นศรี, 2550, สัมภาษณ์; ศรีวรรณ จำรัส, 2550, สัมภาษณ์)
        
หยวกกล้วยมีรสจืด หัวปลีมีรสมันอมฝาดเย็นเล็กน้อย สรรพคุณแก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้โรคเกี่ยวกับลำไส้ แก้โรคโลหิตจาง ผลกล้วยดิบมีรสฝาด สรรพคุณสมานรักษาอาการท้องเสีย รักษาแผลในกระเพาะ (กรมส่งเสริมการเกษตร, 2550)
 
            ตลอดปี
 
 
            

 

กรมส่งเสริมการเกษตร. (2550). ผักพื้นบ้าน. ค้นวันที่ 10 มิถุนายน 2550 จาก http://singburi.doae.go.th/acri

ทวีทอง หงษ์วิวัฒน์. (2547). สารานุกรมผัก. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: แสงแดด.

ประทุม อุ่นศรี. (2550). สัมภาษณ์. 25 มิถุนายน.

ผักพื้นบ้าน อาหารพื้นเมือง. (2550). กรุงเทพฯ: บริษัท ฟ้าอภัย จำกัด.

รัตนา พรหมพิชัย. (2542). กล้วย. ใน สารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคเหนือ (เล่ม 1, หน้า 55-58). กรุงเทพฯ: มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์.

ศรีวรรณ จำรัส. (2550). สัมภาษณ์. 18 มิถุนายน.